ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อีกหนึ่งประเด็นสั่นสะเทือนแวดวงการศึกษา กรณีเด็กนักเรียนหญิง ม.ต้น แบกเป้สะพายน้ำหนักกว่า 10 กก. ไปเรียนอย่างต่อเนื่อง ภายหลังตรวจพบกระดูกสันหลังคดงอ แพทย์สันนิฐานสาเหตุมาจากการแบกของหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นตัวกระตุ้นโรคกระดูกสันหลังคดที่อาจเป็นมาตั้งแต่วัยเด็ก
ทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่าง “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปิ๊งไอเดียให้เด็กใช้ อี-บุ๊ค (E-Book) เพื่อแก้ปัญหากระเป๋านักเรียนหนัก ทว่า กลับตาลปัตรกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่อินุงตุงนัง และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นระลอกที่ 2
ทั้งนี้ ข่าวครึกโครมดีงกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก “นางสุภาพ ดีบุญมี ณ ชุมแพ” ผู้เป็นแม่ของ “น้องโทนี่ - ด.ญ.ปารย์ทองแท้ ดีบุญมี ณ ชุมแพ” นักเรียนหญิงชั้น ม.3 ในจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ลูกสาวมีอาการป่วยกระดูกสันหลังคดงอ ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากต้องสะพายกระเป๋าหนังสือที่มีน้ำหนักมาก 10 - 12 กก. ไปโรงเรียนทุกวัน โดยอาการเริ่มปรากฏตั้งแต่เข้าเรียน ม.1 - ม.3ลูกสาวบ่นปวดหลังปวดไหล่ให้นวดบ่อยครั้ง แต่ไม่คิดว่าอาการรุนแรง กระทั่ง ตรวจพบอาการกระดูกสันหลังคดในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ผศ.นพ.ชัชวาล ศาลติพิพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายข้อมูลว่าโรคกระดูกสันหลังคด ปัจจุบันไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ ส่วนใหญ่มักเกิดกับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นหญิงวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งงานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่า โรคกระดูกสันหลังคดเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมรูปแบบหนึ่งที่ถ่ายทอดจากยายสู่แม่จากแม่สู่ลูกโดยการเอาโครโมโซมเอายีนจากผู้ที่เป็นไปตรวจพบว่าเป็นกลุ่มคล้ายๆ กัน ซึ่งน่าจะเป็นยีนกลุ่มนี้ที่ทำให้หลังคดได้
ทั้งนี้ โรคกระดูกสันหลังคดในวัยรุ่นหญิง หากเป็นแล้วและได้รับสิ่งกระตุ้นให้เป็นหนักขึ้น เช่น หิ้วประเป๋าที่หนักเป็นเวลานานๆ และเป็นประจำ จะเป็นการกระตุ้นให้กระดูกคดงอมากยิ่งขึ้น
สำหรับแนวทางการรักษาจะประเมินจากมุมคดงอของกระดูกว่าหากเป็นไม่มากและอยู่ในวัยเจริญเติบโตอยู่ จะรักษาด้วยการช่วยพยุง เช่น สวมเสื้อพยุง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก แต่หากพบว่ามีมุมมากกว่า 40 องศา อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด
กล่าวสำหรับโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือการคดงอของกระดูกสันหลัง หรือมีลักษณะบิดเบี้ยวไปด้านข้าง ทำให้เสียสมดุลและไม่สวยงาม ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นกับเด็กอายุตั้งแต่ 10 - 15 ปี ซึ่งมักคดไม่มากไม่ทำให้รู้สึกเจ็บอาการไม่รุนแรงไม่ต้องรักษา แต่หากกระดูกสันหลังคดมากต้องเข้ารับการรักษา
ลักษณะอาการอาจทำให้มีอาการปวดหลัง หรือรู้สึกเหนื่อยง่าย รวมทั้งมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ อาทิ แนวสะโพกเอียง, รูปร่างพิการ, ปวดหลัง, มีปัญหาทางระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่าย ปอดบวม ปอดอักเสบ ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าโรคกระดูกสันหลังคดในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งตามประเภทของกระดูกสันหลังคดออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
กระดูกสันหลังคดที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในเด็ก แม้สาเหตุไม่ชัดเจนแต่มีความเป็นไปได้สูงว่าถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อใกล้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ลักษณะการคดของกระดูกสันหลังเห็นชัดเจนเมื่อเด็กอายุ 2 ขวบ หรือในช่วงอายุระหว่าง 8 - 13 ปี
กระดูกสันหลังคดโดยสาเหตุมาจากโรคที่ส่งผลต่อระบบกล้ามเนื้อหรือกระดูก กล่าวคือหากเด็กมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อหรือกระดูกเป็นเวลานานอาจเกิดกระดูกสันหลังคดได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อฝ่อ, โรคสมองพิการ, โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์, เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง ฯลฯ
ข้อมูลวิจัยพบว่าเด็กไทยมีกระดูกสันหลังคดในอัตรา 1 ต่อ 10,000 คน ซึ่งในระยะหลังพบเด็กป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาอาการดังกล่าวของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ส่วนกรณีเด็กนักเรียนไทยแบกกระเป๋าเป้หนักเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายเคยเป็นข่าวดัง รวมทั้งมีการรณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงคุณภาพชีวิตความปลอดภัยของเด็กๆ มาแล้ว ซึ่งทั่วโลกได้กำหนดเกณฑ์น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมไว้อีกด้วย
สำหรับเกณฑ์น้ำหนักของกระเป๋าสะพายนักเรียนทั่วโลกนั้นสัดส่วนเฉลี่ย 10 - 20 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัวของนักเรียน ในส่วนของประเทศไทยใช้เกณฑ์น้ำหนักกระเป๋าเฉลี่ย 15 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัวของนักเรียน
ถ้าพิจารณาเป็นระดับชั้น นักเรียนชั้นประถมฯ ปีที่ 1 - 2 จะต้องมีน้ำหนักกระเป๋าสะพาย ไม่เกิน 3 กก. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 - 4 น้ำหนักกระเป๋าจะไม่เกิน 3.5 กก. นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 - 6 น้ำหนักกระเป๋าจะไม่เกิน 4 กก. และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา น้ำหนักกระเป๋าเฉลี่ยแล้วไม่ควรเกิน 15 กก. ของน้ำหนักนักเรียน
อย่างไรก็ตาม นักเรียนไทยโดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กำลังเผชิญภัยเงียบแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกินมาตรฐานความปลอดภัย เฉลี่ยแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกินค่าความปลอดภัยหลายเท่าตัว
ข้อมูลทางการวิชาการระบุว่า กระเป๋าเป้สะพายหลังหนักเกินไปส่งผลให้ส่วนของกล้ามเนื้อทราปิเซียส (Trapezius) หรือกล้ามเนื้อบ่าทำงานหนักเพราะต้องรับน้ำหนักจากการเกร็งและการกดทับของกระเป๋าในส่วนของกระดูกจะเป็นกระดูกสะบักหลังกับไหปลาร้า แต่กระดูกอาจไม่ส่งผลโดยตรงมากนักเนื่องจากกระดูกบริเวณนี้มีกล้ามเนื้อบ่าขนาดใหญ่คลุมอยู่ ซึ่งในเด็กอายุ 5 - 10 ขวบ กล้ามเนื้อของเด็กมีความยืดหยุ่นค่อนข้างดี ผลกระทบจึงอาจเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนกระเป๋าถือที่มีน้ำหนักมากเกินไปจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อแขนไหล่และกล้ามเนื้อบ่าจนถึงคอ ทำให้กล้ามเนื้อแขนข้างที่ใช้เป็นหลักทำงานหนักมากกว่าอีกทั้งน้ำหนักกระเป๋าทำให้เด็กถูกดึงตัวไปข้างหนึ่ง คอของเด็กจะเอียงต้านไปทิศตรงข้าม ทำให้ส่งผลกระทบถึงคอเกิดอาการเมื่อยล้า และเป็นสาเหตุของอาการกล้ามเนื้ออักเสบชนิดเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของจัดกระเป๋าของนักเรียนว่ามีน้ำหนักมากเกินไปหรือไม่
โดยกล่าวถึงต้นเหตุนักเรียนแบกกระเป๋าหนักเกินมาตรฐาน เพราะนักเรียนใส่ทุกอย่างในกระเป๋าไม่ได้จัดหนังสือสมุดตามตารางสอน ซึ่งนายสุเทพ บอกว่าการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการรู้จักจัดตารางเรียน นำเฉพาะสมุดหนังสือเรียนที่จะเรียนในวันนั้นๆ มาโรงเรียนเท่านั้น
ประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือไอเดียแก้ปัญหาของคุณหญิงกัลยาที่เสนอทางออกให้เด็กใช้ E-Book แทนหนังสือเรียนเพื่อแก้ปัญหากระเป๋านักเรียนหนัก ลดภาระการแบกหนังสือจำนวนหลายเล่มมาเรียน โดยย้ายเนื้อหาในหนังสือมาเป็น E-Book แทน เพราะเอาเข้าจริงๆ วิธีการดังกล่าวนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ยังจะสร้างปัญหาใหม่วุ่นวายตามมาอีก
ที่สำคัญคือ หนังสือเรียนของเด็กยังจำเป็นต้องเป็นหนังสือเป็นเล่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องเรียนรู้ผ่านหนังสือ
ในประเด็นนี้ “ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน” ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและครอบครัว ได้ตั้งคำถามน่าสนใจว่าสมมติวันหนึ่งเด็กเรียน 7 วิชา แล้วทุกวิชาก็ต้องมีหนังสือเรียน 7 เล่ม บางวิชามีแบบฝึกหัด หรือมีหนังสือเสริมอีกต่างหาก และหนังสือแต่ละเล่มก็หนา...ยังไม่นับรวมสมุดจดรายวิชา คำถามก็คือเนื้อหาในหนังสือจำเป็นต้องมีมากมายขนาดพิมพ์ออกมาเป็นเล่มอ้วน ๆ เหมือนคัมภีร์ด้วยหรือ?
...สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เด็กไทยแบกกระเป๋านักเรียนหนัก ไม่เพียงส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย ยังเป็นต้นตอปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ลดทอนประสิทธิภาพในการเรียน ที่สำคัญสะท้อนการศึกษาไทยที่ต้องปฏิรูปจริงจังอีกด้วย!