เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นการต่อกรระหว่างปธน.สหรัฐฯ และผู้ว่าธนาคารกลาง หรือระหว่างผู้นำประเทศและผู้ว่าธนาคารกลางที่ไหนในโลก แม้แต่ในประเทศเผด็จการก็ตาม ผู้นำอาจพยายามแทรกแซงการปรับขึ้นหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง รวมทั้งการควบคุมสภาพคล่องของปริมาณการเงินในตลาด แต่ในประเทศเผด็จการ ก็ยังไม่มีใครเคยออกมาขู่จะปลดผู้ว่าธนาคารกลางในเวทีสาธารณะ อย่างมากก็แค่หว่านล้อมหรือติดต่ออย่างอ้อมๆ เป็นการกระซิบที่ข้างหูมากกว่าออกมาโพนทะนาฟ้องประชาชนหรือข่มขู่ผู้ว่าฯ แสดงฤทธิ์เดชวางอำนาจให้ประชาชนเห็นดังเช่นที่ทรัมป์ได้ทำมาตลอด 1 ปีนี้
ก่อนอื่น ทรัมป์ได้กดดันผู้ว่าฯ หญิงคนแรกของเฟด (นางJanet Yellen) เมื่อเขาเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งที่ทำเนียบขาว เพราะเธอได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับตำแหน่งประธานเฟดในสมัยของโอบามา ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทรัมป์ไม่พอใจ โดยกล่าวหาว่าเธอเป็นพรรคเดโมแครต และจะไม่เป็นกลางทางการเมืองในการควบคุมดูแลนโยบายการเงิน คือ จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลังของเขาได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อความนิยมของเขา ประหนึ่งว่า เธอพยายามขัดขวางการดำเนินนโยบายการคลังที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ด้วยการลดภาษี (คนรวย) และผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้านความโปร่งใสของวอลล์สตรีท (โดยแก้หรือเปลี่ยนกฎหมายที่เกิดขึ้นสมัยโอบามา ที่พยายามป้องกันความไม่โปร่งใสของสถาบันการเงิน) หรือแม้แต่กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และการลงทุน ซึ่งการพยายามเดินหน้าเต็มสูบให้มีการขยายการลงทุนโดยไม่แยแสต่อปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากสารพิษในอุตสาหกรรมต่างๆ
ทรัมป์พูดบ่อยๆ ว่า นางเจเน็ต เยลเลน พยายามสกัดการทำงานของเขา และที่สุดก็ไม่เสนอชื่อเธอเพื่อเป็นประธานเฟด ในวาระที่สองซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประธานเฟด อยู่เพียงวาระเดียว ทั้งๆ ที่เธอดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง แต่ก็ไม่ถึงกับเข้มงวดจนเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้
แล้วทรัมป์ก็เสนอชื่อกรรมการเฟด (ที่เป็นรีพับลิกันคือ นายJerome Powell) ต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นประธานเฟดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2017 (หลังจากทรัมป์ทำงานที่ทำเนียบขาวได้ประมาณ 1 ปีพอดี) โดยหมายมั่นมากว่า นายJerome (หรือ Jay) จะต้องหมอบราบให้กับเขา เหมือนดังธุรกิจที่เขาดำเนินงานกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทรัมป์นั่นเอง
พิธีที่สวนกุหลาบ, ทำเนียบขาว ในวันที่ทรัมป์เปิดตัว Jay Powell ว่าจะเป็นชื่อที่เขาเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาในตำแหน่งประธานเฟด มีหลายคนสังเกตที่ผู้ว่า Jay ได้พยายามแทรกข้อความที่จะบอกถึงจุดยืนของเขาว่า “ผมยึดมั่นที่จะตัดสินใจด้วยข้อมูลที่เป็นรูปธรรม (Objectivity) และอยู่บนพื้นฐานของ the best available evidence (คือหลักฐานข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด) ในกรอบประเพณีที่ยึดถือมาเป็นเวลานานด้านนโยบายการเงิน คือ ความเป็นอิสระของนโยบายการเงิน (monetary policy independence) ขณะที่ทรัมป์อาจทำหูทวนลมต่อข้อความที่ Jay ได้พยายามสื่อถึง...เพราะทรัมป์พูดว่า ที่เขาเลือก Jay Powell ก็เพราะ Jay เข้มแข็ง, ตั้งใจแน่วแน่ และเขาฉลาดมาก
พอ Jay Powell เข้ารับตำแหน่งได้ 1 เดือน เขาก็ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ทันทีในวันที่ 13 ธ.ค. 2017 ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายปี 2017 ของเฟด
ยังตามมาด้วยการทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในวันที่ 21 มี.ค.และ 13 มิ.ย. 2018 (ปีที่แล้ว) ครั้งละ 0.25% ; ปธน.ทรัมป์เริ่มเหลืออด เข้าไปให้สัมภาษณ์ CNBC เมื่อ 19 ก.ค.ว่า เขาไม่ยินดีเลยที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย เป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินและดึงเศรษฐกิจไม่ให้เติบโตทะยานไปข้างหน้า เขาไม่ชอบการขึ้นดอกเบี้ยขณะนี้เลย
นั่นเป็นครั้งแรกที่ทรัมป์แสดงความไม่พอใจอย่างออกนอกหน้าต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
วันรุ่งขึ้น 20 ก.ค. 2018 คราวนี้ละเลงในทวิตเตอร์เต็มที่ โดยยกเอาทั้งจีน (อภิมหาคู่แข่งของทรัมป์) และสหภาพยุโรป รวมทั้งที่อื่นๆ (คงหมายถึงญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้น) ต่างก็ปั่น (manipulate) ค่าเงินของตนและลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำๆ ทั้งนั้น แต่เรากลับไปขึ้นดอกเบี้ยสวนทางทั้งโลก และยิ่งทำให้ค่าของเงินดอลลาร์ทะยานสูงขึ้นๆ ในแต่ละวัน-เป็นการเหนี่ยวรั้งขีดแข่งขันของเรา...เขาตบท้ายว่า “สหรัฐฯ ไม่สมควรถูกลงโทษ (ด้วยการเหนี่ยวรั้งด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นๆ) เนื่องจากเรากำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดีอย่างสวยงามนั่นเอง!”
20 ส.ค. (1 เดือนหลังทวิตเตอร์ไม่พอใจต่อการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของ Jay) ในงานเลี้ยงหาเงินเข้าพรรครีพับลิกัน เขาพูดกับเหล่าผู้บริจาคผู้มั่งคั่งถุงเงินของรีพับลิกันว่า เขาผิดหวังมากที่คาดการณ์ผิด คิดว่า Jay Powell จะเป็นประธานเฟดที่ชอบอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ...ที่ไหนได้...กลับตาลปัตรกลายเป็นเข้ามาก็ขึ้นดอกเบี้ยตลอดเวลา
26 กันยา 2018 เจ พาวเวลล์ ขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 (อัตราเพิ่มขึ้น 0.25%) และทรัมป์ออกแถลงข่าวที่นิวยอร์กเลยว่า “โชคร้ายมากที่พวกเขาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง คงเป็นเพราะเรากำลังขยายเติบโตดีเกินไปมั้ง...ผมไม่สนุกด้วยเลย!!”
หลังจากนั้น วันที่ 10 ตุลาคมปีที่แล้วนี้เอง เขาไปปราศรัยที่รัฐเพนซิลเวเนีย (ที่เขาได้เสียงของเหล่าคนงานที่เคยลงคะแนนให้เดโมแครต แต่กลับหันหลังให้เดโมแครต และมาเทคะแนนให้ทรัมป์เมื่อเลือกตั้งปลายปี 2016) คราวนี้เขาโจมตีเฟดเต็มที่ บอกว่า “เฟดบ้าบอไปแล้วที่ขึ้นดอกเบี้ย”
5 วันหลังจากนั้น เขาไปให้สัมภาษณ์ฟอกซ์ว่า “เฟดคือสิ่งที่คุกคามการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ) ที่ใหญ่ที่สุดของเขา เขาบอกว่า เฟดดูเป็นอิสระเหลือเกิน; ดังนั้น ผมเลิกพูดจากับพวกเขาแล้ว...ผมไม่พอใจกับสิ่งที่เขา (ประธาน Jay) กำลังทำอยู่ขณะนี้”
หลังจากนั้น ทรัมป์ก็ไปให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ เช่น วอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า ขณะนี้เฟดกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐฯ มากกว่าประเทศจีนด้วยซ้ำ!
มีการกล่าวของทรัมป์ทำนองอยากปลดประธานเฟด Jay เพราะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขา ซึ่งประธานเจ ก็ถึงกับกล่าวตอบโต้ว่า ไม่มีใครปลดเขาได้ เพราะเขาจะต้องอยู่ครบ 4 ปี ประธานเจพูดเพื่อให้ความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างๆ
และกับสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทั้งโลกในปีนี้ รวมทั้งที่สหรัฐฯ, อียู, จีน ประธานเฟดจึงประกาศลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปี ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่า ประธานเฟดยอมงอให้กับแรงกดดันดุเดือดของทรัมป์หรือไม่? จนประธานเจต้องออกมาแถลงว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยครั้งหน้านี้ไม่เกี่ยวกับแรงกดดันทางการเมือง
ด้านปธน.ทรัมป์ยังออกมาทวีตต่ออีกว่า เฟดลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% เป็นการลดดอกเบี้ยน้อยเกินไป ทำเอาตลาดเงินตลาดทุนสับสนถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางว่า ตกอยู่ใต้การกดดันของฝ่ายบริหารไปแล้วหรือไม่? สร้างความสับสนและความไม่เชื่อถือในธนาคารกลางอย่างยิ่ง
แต่สำหรับทรัมป์ เขาต้องการแสดงอำนาจว่า แม้แต่ธนาคารกลางก็ต้องยอมลงให้เขา ทั้งๆ ที่ความจริง ประธานเจได้พยายามส่งสัญญาญความเป็นอิสระของเขา และคณะกรรมการเฟดมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานแล้วด้วยซ้ำ