ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เสียงวิจารณ์ขรมสำหรับการจัดประชุมสัมมนาใหญ่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีเลือกพิกัดสถานที่รีสอร์ทหรู “88 การ์มองเต้” ในพื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เนื่องจากเป็นรีสอร์ทรุกป่าทับลาน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ ทั้งแปลง ซึ่งเป็นหนึ่งในรีสอร์ทที่ถูกกรมอุทยานฯ ดำเนินคดีตามกฎหมายข้อหาบุกรุกป่า โดยมีการจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว 2 ครั้ง
กล่าวสำหรับ รีสอร์ท 88 การ์มองเต้ ตั้งอยู่ ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย กม.225 บ้านไทยสามัคคี หมู่ 6 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เกิดปัญหารุกป่าอุทยานฯ ยืดเยื้อยาวนาน ก่อนหน้านี้ถูกกรมอุทยานฯ ดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าอุทยานฯ ทับลาน แต่เรื่องยังอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด โดยไม่มีท่าทีว่าจะหาข้อยุติได้
ทว่า จู่ๆ กลายมาเป็นสถานที่การจัดสัมมนาใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ หัวข้อ “เสริมศักยภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อตระเตรียมความพร้อมแก่ ส.ส. พปชร. ก่อนการแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 - 22 ก.ค. 2562
ทั้งนี้ บรรยากาศในการสัมมนา เต็มไปด้วย ส.ส. หน้าเก่า - หน้าใหม่ รวมทั้งสมาชิกพรรคฯ ตบเท้าเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง และชื่นมื่น แถมมีเซอร์ไพรส์จาก “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เดินทางมาปิดการสัมมนาของพรรคพลังประชารัฐอีกต่างหาก
ทว่า เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่ตามมาแบบดุเดือดว่า อะไรคือเหตุผลที่พรรคพลังประชารัฐเลือกใช้ “88 การ์มองเต้” เป็นสถานที่จัดงาน โดยเฉพาะ ส.ส.เจ้าของพื้นที่อย่าง “นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม” ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคนหาสถานที่ที่ยอมรับในภายหลังว่า พื้นที่รีสอร์ตนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง
ที่สำคัญคือการที่นายสมศักดิ์อ้างว่า “ในฐานะคนจัดหาสถานที่ ทราบปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว และเป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่จะพา ส.ส.ไปประชุมที่นี่ ก่อนหน้านี้ได้แจ้งหัวหน้าและผู้บริหารพรรครับทราบแล้วว่า ต้องการทำให้เกิดกระแสเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนกว่า 2.4 ล้านคน ที่ประสบปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่ง อ.วังน้ำเขียวเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ประสบปัญหานี้” ก็ฟังดูทะแม่งๆ อยู่ไม่น้อย
รายงานเปิดเผยว่า รีสอร์ต 88 การ์มองเต้ เป็นหนึ่งในรีสอร์ตที่ถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยจับกุมมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2555 สมัยนายดำรงค์ พิเดช เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ พบสิ่งปลูกสร้าง 3 รายการ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 ชุดพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม 34 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 18 รายการ
ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในชั้นอัยการ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ออกคำสั่งประกาศให้รื้อถอนตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติแล้ว แต่ผู้ประกอบการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ดำเนินคดีต่อรีสอร์ตหรือบ้านพักที่บุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน 152 แห่ง หนึ่งในนั้นมี 88 การ์มองเต้ รวมอยู่ในนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณี “ รีสอร์ต 88 การ์มองเต้” บุกรุกป่าเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปเสียก่อนว่า รีสอร์ตแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ บนพื้นที่ที่เดิมเป็นไร่ข้าวโพดไร่มันของชาวบ้าน ต่อมามีการขายมือเปล่าให้นายทุนไม่รู้กี่ทอดระหว่างยังเกิดปัญหายังคาราคาซัง กระทั่ง ภาครัฐมีการดำเนินการในปี 2555 สมัยนายดำรงค์ พิเดช เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายขยายความกรณี “ รีสอร์ท 88 การ์มองเต้” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งทำให้เห็นที่มาและที่ไปของการดำเนินคดี ตลอดรวมถึงการแก้ไขปัญหาเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังความตอนหนึ่งว่า...
“...เรื่องนี้ต้องแก้ให้ดีครับ มันแก้ผิดพลาด ผิดจังหวะกันมาตลอด
1. กรมป่าไม้ (เดิม) "ผิด" ที่ไปประกาศทับชุมชนไทยสามัคคี ที่แทบไม่มีสภาพป่าเป็นอุทยานทับลานเมื่อตั้งอุทยานฯ นานนม
2. มีความพยายามที่จะกันพื้นที่ชุมชนออกผ่านกระบวนการเพิกถอนปกติ เมื่อก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 มีการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ป่าจริงๆ ออกเรียบร้อยแล้ว อาจจะรังวัดแล้วด้วยซ้ำ แต่มีเรื่อง "ผิด" คือชาวบ้านก็เตรียมขาย เปลี่ยนมือ และทำมาก่อนโดยตลอด โดยการรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับปฏิบัติในพื้นที่เพราะคิดว่ายังไงก็เพิกถอน ช่วงนั้นคนขายจริงๆ ก็มีส่วนผิดในการรุกป่าสงวนเมื่อสมัยก่อนคอมมิวนิสต์โน่น และยังไม่มีแปลงที่ดิน คนซื้อก็โลภคิดว่าได้ของดีราคาถูกเสี่ยงเอา อย่างนี้เจตนาชัดเจนในการยึดที่ดินของรัฐ และเปลี่ยนมือปั่นราคากันเรื่อยๆ ต่อมามีทั้งที่จะทำธุรกิจ และซื้อเป็นบ้านพักตากอากาศ
3. ระหว่างจะเพิกถอนอยู่แล้ว มีมติ ครม. 41 ให้ชุมชนอยู่กับป่า กรรมการอุทยานฯ ขณะนั้นจึงไม่มีเหตุผลพอที่จะเพิกถอน ให้กลไกมตินี้ไปพิสูจน์สิทธิก่อน ชาวบ้านจริงๆ ที่นี่ถือว่าซวยไปเลยครับ
4. กระบวนการนั้นยืดเยื้อมาถึงวันนี้ 21 ปี ไม่สำเร็จ
5. พื้นที่ที่ไม่มีสภาพป่าแต่ดั้งเดิม ถูกเปลี่ยนมือมาเรื่อยๆ มากขึ้นๆ เจ้าหน้าที่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมันเยอะมาก นโยบายไม่ชัด แถมยังเป็นโอกาสได้ "คุยแนะนำ" อาจจะมีผลประโยชน์กันบ้างในหลายหน่วยงานที่พอรู้ข้อมูลนี้ จากนั้นรีสอร์ตหรูก็ผุดขึ้นเต็ม โดยบางคนก็ไม่เจตนา (ส่วนใหญ่) เพราะไม่ได้รุกป่า แต่ก็อ้างไม่ได้ว่าไม่ผิดเพราะไปยึดถือครอบครองที่ดินที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง หรือไม่มีเลย คือบุกรุกที่รัฐเต็มๆ
6. มีความพยายามจะเพิกถอนมาตลอดจากพื้นที่ แต่ก็น่าจะติดเหตุผลว่า ถ้าสร้างมาตรฐานที่มีคนรุกป่าอุทยานแล้วถอนออกได้ ก็จะทำให้คนรุกป่าจริงๆ ในทั่วประเทศเอาอย่างป่าจะถูกรุกไปเรื่อยๆ
7. ผมไม่รู้เหตุผลของคุณดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯ ปี 55 จริงๆ ที่ไป "เลือก" สมรภูมินี้ไป "ทวงคืนผืนป่า" เพราะทวงไปก็ไม่ได้ "ผืนป่า" แต่ได้หย่อมป่าเล็กๆ ที่สิ่งก่อสร้างคาราคาซัง ประมาณ 300 ร้อยกว่าจุดแทรกอยู่กับไร่ชาวบ้าน ดูแลอย่างไรก็คงยาก ถามว่าถูกต้องตามหน้าที่ไหมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอธิบดีดำรงค์มีกฎหมายรองรับชัดเจน ส่วนวิธีปฏิบัติที่อาจจะมีปัญหานั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง
8. ปัญหานี้ยังไม่มีทางออก เพราะถ้าเพิกถอนก็ขัดกับวิธีการแก้ไขปัญหาที่อื่นๆ อาจจะทำให้เกิดการรุกป่าขยายวงไปอีกในที่อื่นๆ หรือเปล่าก็มีข้อกังวลกัน ให้สิทธิรีสอร์ตซึ่งทำผิดมาก็ไม่เป็นธรรมกับคนอื่น และอีกเรื่องคือ เมื่อเป็นคดีไปแล้วจะยกเลิกก็ไม่ได้ก็ต้องไหลไปถึงฎีกา แต่ระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา ทางกฎหมายมันก็ไปปิดเขาไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นแค่ผู้ต้องหา ระยะเวลาสู้คดีก็เป็นหลายปี
9. ความเห็นของผม พลังประชารัฐมีสิทธิที่จะช่วยคิดแก้ปัญหานี้ในฐานะคนทำงานการเมือง แต่ถึงขั้นไปประชุมใหญ่กันเลยนี่มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีคำถามถึงความเหมาะสมแน่นอน แต่ผิดไหมคงไม่ผิด (กฎหมาย)
10. ถ้ารู้ข้อมูลแบบผมนี่ ในฐานะคนทำงานอนุรักษ์ต้องระมัดระวังมากครับ ในการให้ความคิดความเห็น เรื่องมันซับซ้อน และไม่ใช่เรื่องการบุกรุกทำลายป่าจริงๆ แต่เป็นการคิดผิดถูกแบบตรรกะใครตรรกะมัน ถ้ายังไม่ว่างจริงๆ มีงานอื่นๆ อีกเยอะเอาแรงเอาเวลาไปทำอย่างอื่นน่าจะมีประโยชน์กว่าครับ ใครเกี่ยวข้องโดยตรงก็ว่ากันไป หรืออยากเล่นสนุกๆกันทางการเมืองก็ตามสะดวก”
กล่าวสำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดี 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต พื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานจัดงานสัมมนาใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่าพื้นที่ที่ได้จับกุมดำเนินคดีดังกล่าว อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทั้งแปลง และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 239 (พ.ศ. 2510) กฎกระทรวง ฉบับที่ 812 (พ.ศ. 2521) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 895 (พ.ศ. 2523) ซึ่งกรมป่าไม้ ไม่เคยมอบพี้นที่ดังกล่าวให้ ส.ป.ก. เข้าไปดาเนินการปฏิรูป และพื้นที่ดังกล่าวมิได้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ ส.ป.ก. ตามประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2521
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานงานทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรวังน้ำเขียว ทราบว่าอัยการเจ้าของสำนวนคดีได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว และแจ้งเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหามายังสถานีตำรวจภูธรวังน้ำเขียว เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 แต่สถานีตำรวจภูธรวังน้ำเขียว ก็ไม่ได้ดำเนินการแจ้งให้อุทยานแห่งชาติทับลานทราบ ตามมาตรา 146 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“จากการตรวจสอบเหตุผลที่อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนั้น เนื่องจาก สนง. ส.ป.ก. จ.นครราชสีมา ได้ให้ข้อมูลต่ออัยการ ว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนออัยการพิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า จะต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทาผิดยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ไม่มีการละเว้นให้แก่นายทุนหรือผู้บุกรุกรายใดอย่างเด็ดขาด”อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดี “88 การ์มองเต้” คล้ายกับคดีของ “อิมภูฮิลล์ รีสอร์ต” ซึ่งอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ นายชำนาญ กลิ่นจันทร์ เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากพบว่า นายชำนาญ ได้กระทำการออกเอกสารสิทธิ์ สร.5 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส.ป.ก. ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน
ขณะที่ “นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลานกล่าวภายหลังเข้าพบนายวราวุธ ศิลปอาชาว่า 88 การ์มองเต้บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ จริงและไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ ส.ป.ก.แต่อย่างใด ที่สำคัญผู้ประกอบการยังไม่ได้ยื่นขอความคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง ส่วนที่ดำเนินการต่อได้นั้นเนื่องจากการประกาศมาตรา 22 ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่อดำเนินการรื้อถอนอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่แค่ 88 การ์มองเต้แห่งเดียวที่ทำกิจการต่อและยืนยันว่ากรมอุทยานฯ เตรียมจะประกาศมาตรา 22 เพื่อทำการรื้อถอนอย่างแน่นอน
สำหรับท่าทีของ นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ในฐานะอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวย้ำให้ดำเนินการปิดประกาศรื้อถอนตามมาตรา 22 เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าวชัดเจนว่าอยู่ในเขตอุทยานฯ ทับลาน และไม่ใช่ที่ดิน ส.ป.ก. เพราะกรมอุทยานฯ ไม่เคยมอบที่ดินอุทยานฯ ให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.นครราชสีมา
พร้อมชี้แจงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะ ส.ป.ก. นครราชสีมา ให้ข้อมูลต่ออัยการว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูป ทั้งๆ ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.แต่อย่างใด ดังนั้นกรมอุทยานฯ ต้องแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. รายนี้ที่ให้ข้อมูลด้วย และที่ผ่านมาก็เคยมีการแจ้งความดำเนินคดีกับอดีตเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ในคดีที่อื่นแล้ว มีแต่กรมอุทยานฯ แจ้งความ ส.ป.ก. ถ้าอุทยานฯ ไปรุกที่ ส.ป.ก. จริงทำไมจึงไม่มีการแจ้งความกลับบ้าง
ส่วนการที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง คนเข้าใจผิดว่าพื้นที่จะตกเป็นของจำเลย ซึ่งไม่ใช่ เพราะพื้นที่ยังเป็นของกรมอุทยานฯ และต้องมีการบังคับใช้มาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 เพื่อให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง นำบริวาร ทรัพย์สินออกไปจากพื้นที่ และฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอีกประมาณไร่ละ 1.3 แสนบาท หากไม่ดำเนินการหัวหน้าอุทยานฯ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
“เรื่องวังน้ำเขียวนี้จะเป็นตัวชี้วัดการทำหน้าที่ของคนที่มาเป็น รมว.ทรัพยากรฯ และต้องทำความเข้าใจกับสังคมว่าเป็นการดำเนินการกับนายทุน ที่มีการซื้อขายที่ดินป่าเปลี่ยนมือกันมา ไม่ได้เป็นการดำเนินการกับชาวบ้านยากจนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนแต่อย่างใด” นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว
นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มาโดยตลอด ขณะที่ชะลอการบังคับใช้มาตรา 22 ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากต้องการหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้
ปัญหาที่จะต้องขบคิดกันต่อไปก็คือ แล้วจะทำอย่างไร เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “อัยการสั่งไม่ฟ้อง” ซึ่งในมุมของกฎหมายถือว่า “คดีสิ้นสุด” แล้ว
และผู้ที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุดก็คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ผมจะสั่งการให้กรมอุทยานฯ และฝ่ายกฎหมายขอคัดสำเนาความเห็นของอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาตามข้อกฎหมายว่ารีสอร์ตดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายใดและฝ่ายใดเป็นผู้อนุญาตมาเสนอผม คงจะได้รู้ว่ามีประเด็นใดบางที่จะมีหลักฐานใหม่ขอให้อัยการพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง”นายวราวุธระบุ
ส่วน “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็พูดแบบรวมๆ และไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะลุยหรือไม่ลุย หรือไม่ อย่างไร โดยกล่าวว่า “รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับเรื่องไปแล้ว อะไรที่เป็นปัญหาอยู่ในกระบวนการไหนก็รับไป ไม่ใช่เอามาตีกันจนทำงานไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง แตะอะไร แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่ช่วยกันแก้แล้วใครจะทำ ทุกเรื่องมีซ้ายมีขวา มีเห็นด้วยไม่เห็นด้วย อะไรก็แก้ไม่ได้ ใช้อำนาจที่มีอยู่เข้าไปแก้ไขยังทำได้แค่นี้ เพราะประชาชนปฏิบัติไหม เคารพกฎหมายพื้นฐานแล้วหรือยัง ต่อไปนี้ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายพื้นฐาน กฎหมายชาวบ้าน”
สำหรับ รีสอร์ต 88 การ์มองเต้ มีบริษัท 88 การ์มองเต้ จำกัด เป็นเจ้าของ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2554 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ให้บริการที่พักและจัดเลี้ยง มี น.ส.วรางคณา เจนธนากุล, นายวราวุธ เจนธนากุล และนายวรพล เจนธนากุล เป็นกรรมการบริษัท
ไม่เพียง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่เลือก “88 การ์มองเต้” สำหรับจัดประชุมสัมมนา ที่ผ่านมายังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนไม่น้อยเลือกรีสอร์ตแห่งนี้
บทสรุปของรีสอร์ตหรูบนผืนป่าอุทยานฯ จะเป็นอย่างไรภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”...ห้ามกะพริบตา!