xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง (3) : มายาคติแห่งชัยชนะของเหตุผลกับอุดมการณ์ที่ไม่วันอวสาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 คาร์ล มาร์กซ์
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

แนวคิดอวสานนิยมแบบสุดท้ายเป็นการวิวาททะเกี่ยวกับการนำหลักคิด “เหตุผลนิยม” มาแทนที่ “อุดมการณ์” สำหรับประวัติศาสตร์ของการพัฒนาภูมิปัญญญาของตะวันตก ความพยายามของนักปรัชญาในการนำหลักคิดแบบเหตุผลนิยมเข้ามาแทนที่อุดมการณ์สามารถย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งมีการสร้างขอบเขตเพื่อแบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง “อุดมการณ์” และ “ศาสตร์” ออกจากกัน

คาร์ล มาร์กซ์ เป็นผู้หยิบยกประเด็นอุดมการณ์เข้ามาสู่แวดวงการถกเถียงอย่างเป็นระบบ ในทัศนะของมาร์กซ์ อุดมการณ์เป็นสิ่งผิดพลาดที่แฝงฝังในจิตสำนึกของมนุษย์ เพราะว่าอุดมการณ์ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องมือหรือกลไกในการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นที่ได้เปรียบ

มาร์กซ์อธิบายความคิดของเขาในรูปแบบของ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์” ซึ่งอรรถาธิบายว่า “ศาสตร์” มอบความเป็น “ภววิสัย” และ “วิธีการที่ปลอดจากค่านิยม” ต่อการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ ดังนั้นศาสตร์จะปลดปล่อยมนุษยชาติจากความเป็นทาสของความเชื่อที่ไร้เหตุผล ซึ่งได้แก่ ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติและอคติทั้งปวง และในกรณีนี้คือ อุดมการณ์ทางการเมืองนั่นเอง

อันที่จริงแล้ว การอธิบายของมาร์กซ์ ได้กลายมาเป็นความเชื่อเชิงมายาคติอย่างหนึ่งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในยุคสมัยใหม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือนัยเชิงปัญญาและวัฒนธรรมของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นอย่างหนึ่งคือ การยอมรับอย่างแพร่หลายต่อ “ตัวแบบความเป็นเหตุผล” ของตะวันตก ที่ให้คุณค่าอย่างมากต่อ “เทคโนโลยีและการพัฒนาเทคโนโลยี” ในแง่นี้ความเชื่อแบบ “วิทยาศาสตร์นิยม” (scientism) จึงได้กลายมาเป็นอุดมการณ์แบบใหม่ทดแทนอุดมการณ์แบบเดิม โดยที่ผู้สนับสนุนลัทธิวิทยาศาสตร์นิยมมิได้ตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองเชื่อนั้น แท้จริงแล้วคือรูปแบบอย่างหนึ่งของอุดมการณ์นั่นเอง

“ศาสตร์” จึงมิได้เป็น “ข้อเสนอแย้ง” หรือ เป็นปรปักษ์ของอุดมการณ์ เพราะสามารถกล่าวได้ว่า ศาสตร์โดยตัวของมันเองก็เป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ศาสตร์สามารถเชื่อมโยงกับพลังทางสังคมที่ทรงอำนาจ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ดังนั้น “วิทยาศาสตร์นิยม” จึงเป็นอุดมการณ์ของ “ชนชั้นนำทางเทคโนโลยี”

และเป็นความจริงว่า ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์วิทยาศาสตร์นิยมได้รับประโยชน์จากบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งสนับสนุนเงินทุนจำนวนมหาศาลในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเทคโนโลยี ยิ่งกว่านั้นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์อย่างมีนัยสำคัญมักเกิดขึ้นเสมอในปริมณฑลแห่งความก้าวหน้าของศาสตร์ ดังเห็นได้จากกรณีที่เกี่ยวข้องกับนักนิเวศวิทยา ซึ่งมองว่าศาสตร์และเทคโนโลยีคือสาเหตุสำคัญของวิกฤติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน

เช่นเดียวกันกับนักพหุนิยมทางวัฒนธรรมและนักศาสนานิยม ซึ่งตีความ “เหตุผลนิยม” ในฐานะที่เป็นรูปแบบของ “จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม” เพราะว่าเหตุผลนิยมพยายามเข้าไปรุกรานและกดทับระบบความเชื่อที่มีฐานจากศรัทธา และยังเอื้อต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตะวันตกและวิธีคิดแบบวัตถุนิยมในการทำความเข้าโลกธรรมชาติและโลกทางสังคม

เมื่อใครก็ตามยึดมั่นว่า เหตุผลคือสิ่งดีที่สุดสำหรับมนุษย์ และสังคมที่ดีคือสังคมที่มีเหตุผล เมื่อนั้นพวกเขากำลังสถาปนาความเชื่อหรืออุดมการณ์อีกแบบหนึ่งขึ้นมา และเชื่อว่า “สิ่งที่ตนเองเชื่อ” มีคุณค่าสูงส่งกว่าหรือดีกว่า “ความเชื่อแบบอื่น” นั่นเอง

ถึงตอนนี้เราก็จะเห็นว่า รูปแบบของหลักคิด “อวสานนิยม” ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด “อวสานอุดมการณ์”อวสานประวัติศาสตร์ “การข้ามพ้นความเป็นซ้ายและขวา” และ “ความมีเหตุผลในนามวิทยาศาสตร์นิยม” ต่างก็เป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้กรอบความคิดของ “การคิดเชิงอุดมการณ์” ทั้งสิ้นในวิธีที่แตกต่างกัน โดยที่ผู้คิดหรือผู้เสนอหลักคิดทั้งสี่ข้างต้นนั้นอาจมิได้ตระหนักถึงกรอบคิดที่ดำรงอยู่ในจิตของตนเอง พวกเขาต่างประกาศอย่างอหังการว่า “อุดมการณ์ได้สิ้นสลายไปแล้ว” ทว่า “อุดมการณ์” มิได้สิ้นสลาย เพราะผู้ที่กล่าวว่า อุดมการณ์สิ้นสลายนั้น กลับกำลังเสนออุดมการณ์อีกชุดหนึ่งขึ้นมาแทนอุดมการณ์ที่ตนบอกว่าอวสานนั่นเอง มากกว่าที่แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของแนวความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์ ดังนั้นนับตั้งแต่มีการประดิษฐ์แนวคิด “อุดมการณ์การเมือง” ขึ้นมา เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแนวคิดนี้มีความคงทนต่อการวิพากษ์และยากแก่การพิชิต

มีเหตุผลสำคัญสี่ประการที่ทำให้อุดมการณ์ดำรงอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ประการแรก คือ อุดมการณ์เป็นแนวคิดที่มีความยืดหยุ่นสูง แบบแผนและรูปแบบของอุดมการณ์เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด มีการนิยามใหม่ การรื้อฟื้นใหม่อยู่ตลอดเวลา และในบางกรณีก็มีอุดมการณ์ใหม่ขึ้นมาทดแทนหรือแทนที่อุดมการณ์เก่าที่ล้มเหลวหรือสิ้นสูญไป ดังนั้นโลกของอุดมการณ์มิใช่โลกที่หยุดนิ่ง หากแต่มีพลวัตและปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประวัติศาสตร์

ประการที่สอง ซึ่งเป็นการอธิบายในเชิงลึก นั่นคือ อุดมการณ์เป็นแหล่งรากฐานของความหมายและอุดมคติในการเมือง อุดมการณ์ได้ฉายแสงให้ความกระจ่างแก่บรรดามิติทางการเมืองหลายประการ ซึ่งรูปแบบทางการเมืองอย่างอื่นมิสามารถทำได้ อุดมการณ์มอบเหตุผลแก่ประชาชนในการเชื่อบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวพวกเขาเอง เพราะว่า การอธิบายเกี่ยวกับความเป็นบุคคลของประชาชน จะสมเหตุสมผลเมื่อพวกเขาดำรงอยู่ภายในบริบทของการอธิบายทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่กว่าเท่านั้น

ประการที่สาม อุดมการณ์ทางการเมืองช่วยในการเปรับเปลี่ยนธรรมชาติของระบบการเมือง ในโลกใบนี้ ระบบรัฐบาลมีความหลากหลาย ซึ่งเชื่อมโยงกับหลักการพื้นฐานและค่านิยมเฉพาะบางอย่าง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีรากฐานอย่างลึกซึ้งจากความคิดทางศาสนา โดยเฉพาะสถานภาพแห่งเทวสิทธิของพระมหากษัตริย์ ขณะที่ระบบการเมืองร่วมสมัยของประเทศตะวันตกเกือบทั้งหมดวางอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม โดยทั่วไป รัฐในประเทศตะวันตกยึดถือหลักการ “รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญและการมีอำนาจจำกัดเป็นหลัก และเชื่อว่ารัฐบาลต้องเป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีและเที่ยงธรรม” ส่วนรัฐบาลประเทศจีนมีรากฐานจากอุดมการณ์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ และในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ หลักการที่ยอมรับกันในสากลคือ “แต่ละประเทศควรมีความเป็นอิสระ” ซึ่งมาจากพื้นฐานของอุดมการณ์ชาตินิยม หรือหลักการแห่งกำหนดชะตากรรมของตนเองของแต่ละชาตินั่นเอง

ประการที่สี่ อุดมการณ์มีฐานะเป็นรูปแบบของสิ่งยึดโยงทางสังคมระหว่างกลุ่มทางสังคมหรือชนชั้นทางสังคมที่หลากหลายเข้าด้วย ด้วยชุดของความเชื่อและค่านิยมที่เป็นเอกภาพ โดยปกติ อุดมการณ์ทางการเมืองสัมพันธ์กับชนชั้นทางสังคม เช่น เสรีนิยมสัมพันธ์กับชนชั้นกลาง อนุรักษ์นิยมสัมพันธ์กับชนชั้นสูงที่เป็นถือครองที่ดิน สังคมนิยมสัมพันธ์กับชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ความคิดเหล่านี้สะท้อนประสบการณ์ของชีวิต ผลประโยชน์ และความคาดหวังของชนชั้นทางสังคม อุดมการณ์จึงช่วยส่งเสริมสำนึกแห่งความเป็นเจ้าของและความสมานฉันท์ภายในกลุ่มและชนชั้นทางสังคม

นอกจากจะช่วยสร้างความเป็นเอกภาพภายในกลุ่มชนชั้นเดียวกันทางสังคมแล้ว อุดมการณ์ยังประสบความสำเร็จในการผสานเชื่อมโยงกลุ่มและชนชั้นที่แตกต่างกันในสังคมอีกด้วย เช่น อุดมการณ์และค่านิยมแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมสร้างความเป็นเอกภาพในประเทศตะวันเกือบทั้งหมด ขณะที่ประเทศมุสลิมก็ถูกเชื่อมโยงด้วยอุดมการณ์อิสลามนิยม การที่อุดมการณ์เป็นแหล่งรากฐานของความคิดและวัฒนธรรมทางการเมืองจึงช่วยส่งเสริมระเบียบและเสถียรภาพของสังคมนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความเป็นเอกภาพของความคิดและค่านิยมทางการเมืองสามารถวิวัฒนาการอย่างเป็นธรรมชาติภายในสังคม หรืออาจได้รับการสร้างและบังคับใช้จากเบื้องบนโดยชนชั้นนำหรือรัฐ เพื่อให้เกิดการเชื่อฟังและมีการควบคุมให้เป็นตามความเชื่อหรืออุดมการณ์ของรัฐ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อุดมการณ์ที่เป็นทางการของระบอบฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ และศาสนานิยม

สภาพการเมืองแบบยุคหลังอุดมการณ์ หรือยุคที่การเมืองละเลยอุดมการณ์มีแนวโน้มเป็นยุคสมัยที่สังคมปราศจากความหวังและไร้วิสัยทัศน์ ดังประเทศตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบและต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ซึ่งเกิดสภาพแห่งกระบวนการลดทอนความเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองลง เป็นสถานการณ์ที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาหรือต่างละทิ้งพื้นฐานทางอุดมการณ์ของตนเอง และนำแนวนโยบายที่คิดว่าจะสร้างคะแนนนิยมแต่พรรคตนเองได้มาใช้เป็นหลัก พรรคการเมืองเหล่านั้นจึงสูญเสียสำนึกแห่งเป้าประสงค์และทิศทางที่จะก้าวไปสู่อนาคต รวมทั้งล้มเหลวในการส่งมอบความผูกพันทางอารมณ์แก่สมาชิกและผู้สนับสนุน

พรรคการเมืองจึงแปรสภาพเป็น “บริษัทการเมือง” ซึ่งเป็นเพียงแหล่งขายผลผลิตหรือสินค้าในรูปแบบบุคลิกของผู้นำหรือนโยบายมากกว่ากระตุ้นสร้างความหวัง และความใฝ่ฝันในชีวิตแก่ประชาชน จึงส่งผลให้จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองต่าง ๆ ลดลงอย่างนัยสำคัญ และอัตราการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนในหลายประเทศตะวันตกก็มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ส่วนบรรดานักการเมืองต่างก็ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังและไร้สำนึกแห่งพันธกิจเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ นำประเทศไปสู่อนาคตที่พึ่งปรารถนา งานการเมืองที่เคยมีชีวิตชีวาและเปี่ยมด้วยความหวังกลายเป็นงานประจำเชิงเทคนิคกฎหมายและนโยบายที่จืดชืดของบรรดาเหล่าผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการประจำ

ประเทศใดที่การเมืองปราศจากการไหลเวียนของกระแสอุดมการณ์จึงเป็นการเมืองที่ไร้เลือดเนื้อ ปราศจากชีวิตชีวาและจิตวิญญาณ กลายเป็นการเมืองแห่งซอมบี้ ทว่ามนุษย์โดยส่วนใหญ่ยังดำรงธรรมชาติดั้งเดิมแห่งความเป็นมนุษย์ พวกเขายังคงเปี่ยมล้นด้วยความเชื่อ ความหวัง ความปรารถนา และความใฝ่ฝันต่อการมีชีวิตและสังคมที่ดี ทั้งยังมีสำนึกแห่งการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสารัตถะหรือแก่นแท้ของอุดมการณ์ ในแง่นี้อุดมการณ์จึงเป็นหลักคิดที่ถูกกำหนดให้ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องและเป็นกระบวนการที่ไร้สุดจบในการวิวัฒนาการทางสังคมและการเมืองของมนุษยชาติ

สำหรับในสัปดาห์ต่อไป ผมจะนำเสนอภูมิทัศน์และพัฒนาการอุดมการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย ซึ่งบางยุคสมัยมีการแข่งขันระหว่างอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างเข้มข้น และบางยุคสมัยมีการแข่งขันไม่มากนัก ทว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีปรากฎการณ์ของการแข่งขันระหว่างอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันก็ปรากฎร่องรอยความหลากหลายของอุดมการณ์ในสนามการเมืองไทยมากขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น