ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - โศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจผู้คนมากที่สุดคดีหนึ่งในประเทศไทย เห็นทีจะหนีไม่พ้น “คดีแพรวา” ด้วยมีผู้เสียชีวิตจากการที่ น.ส. อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขับรถไปเฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึง 9 ศพ บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า ช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปมประเด็นที่ทำให้ “คดีแพรวา” กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งกระทั่งส่งผลให้แฮชแท็ก #แพรวา 9 ศพ กลับมาติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของไทย เป็นผลมาจากการที่ทางญาติๆ ของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้ข้อมูลตรงกันว่า แม้คดีจะเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยเฉพาะคดีแพ่งที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ “จำเลย” ชดใช้เงินให้ “ผู้เสียหาย” แต่ทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น
คำถามที่ตามมาก็คือ ด้วยเหตุอันใด ทำไม “ครอบครัวแพรวา” ซึ่งประกอบไปด้วยตัว “แพรวา พ่อและแม่” รวมถึง “เจ้าของรถ” ที่ให้ “แพรวา” ยืมไปขับ ถึงนิ่งเงียบต่อคำพิพากษา หัวจิตหัวใจของพวกเขามีปัญหาอันใดหรือไม่
ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปตรวจสอบ “พฤติการณ์แห่งคดี” ในช่วงขึ้นโรงขึ้นศาลก็ยิ่งทำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้สังคมเกิด “อารมณ์ร่วม” และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ล่วงไปถึง “ตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยา” อีกต่างหาก??
นอกจากนี้ คำถามที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เกิดอะไรขึ้น ทำไมการบังคับใช้กฎหมายหรือการบังคับคดีถึงไม่ดำเนินอย่างที่ควรจะเป็น และมีช่องว่างช่องโหว่อยู่ที่ตรงไหน หรือไม่ อย่างไร??
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ครอบครัวแพรวาก็ได้ออกมายืนยันว่า “พร้อมที่จะชดใช้” เช่นเดียวกับราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ออกมาแถลงแสดงความเสียใจและประกาศมอบเงินเพื่อให้ผู้เสียหายใช้ในการ “สืบทรัพย์” จำนวน 500,000 บาท
เปิดเงื่อนปมแห่งคดี
กับการต่อสู้ทวงความยุติธรรม
กล่าวสำหรับคดีนี้นั้น ต้องบอกว่า “สิ้นสุด” ในทางกฎหมายแล้ว โดยในปี 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พิพากษาจำคุกแพรวา 3 ปี ในข้อหาขับรถประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย แต่ลดโทษจากคำให้การ คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติ 3 ปี รวมทั้งให้ทำงานบริการสังคมโดยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่
จากนั้นฝั่งแพรวาได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอลดโทษ ขณะที่ฝั่งญาติผู้เสียชีวิตอุทธรณ์ขอให้ลงโทษหนักขึ้น และเมื่อปี 2557 ศาลอุทธรณ์ลงโทษเพิ่ม แก้โทษรอลงอาญาเพิ่มเป็น 4 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลา 4 ปี ส่วนโทษอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จากนั้นในปี 2558 ฝั่งแพรวายื่นฎีกาขอให้ลดโทษอีก แต่ศาลไม่รับ เนื่องจากไม่มีสาระสำคัญที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลคำพิพากษา จึงให้ยืนตามชั้นอุทธรณ์
นั่นแสดงว่า “แพรวา” มีความผิดจริงโดยไม่มีข้อสงสัย
ส่วนคดีทางแพ่ง กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย 113 ล้านบาท ปี 2558 ศาลชั้นต้นสั่งให้จ่ายชดเชยกว่า 26 ล้านบาท ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์ ปี 2560 ศาลพิพากษาลดวงเงินชดเชยลงเหลือ 19.8 ล้านบาทให้กับญาติมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาทและ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562 ศาลฎีกาของศาลแพ่งให้ชดใช้เหมือนศาลชั้นต้นพิพากษา
จากการตรวจสอบข้อมูลในคำพิพากษาพบว่า “จำเลย” ที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งศาลมีทั้งหมด 4 คนคือ หนึ่ง-แพรวา สอง-พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้เป็นพ่อ สาม-นางนิลุบล อรุณวงศ์ ผู้เป็นแม่ และสี่-นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่แพรวานำไปขับขี่จนเกิดอุบัติเหตุ
ทว่า นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562 จนเวลาล่วงผ่านมากว่า 2 เดือน ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังมิได้รับการติดต่อ รวมถึงไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็นประการใดจนนำซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่า ครอบครัวแพรวาได้ต่อสู้เรื่องนี้อย่างถึงที่สุดจนถึงชั้นฎีกา กระทั่งถูกตั้งคำถามถึง “ความรับผิดชอบ” อย่างที่ควรจะเป็น ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ “คดีเสี่ยรถเบนซ์” ที่เมาแล้วขับซึ่งยอมชดใช้ในทันที ก็ยิ่งเติมอารมณ์เดือดของสังคมให้คุกรุ่นหนักเข้าไปอีก
ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่า แล้วในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา “แพรวาหายไปไหน?” และถ้านับนิ้วตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน เธอก็มีอายุ 25 ปีบริบูรณ์แล้ว
จากการตรวจสอบข้อมูลว่า แพรวานั้นได้เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง จากที่ใช้ “อรชร” มาเป็น บัวบูชา เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ น.ส.รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ รวมทั้งมีการยอมรับจาก พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหมว่า หลังจากเปลี่ยนชื่อแล้วได้เคยมาสมัครสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงกลาโหม ตามขั้นตอนปกติที่มีการเปิดรับสมัครสอบเมื่อปี 2560 แต่สอบไม่ได้
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่า แพรวาได้ “แต่งงาน” กับ “นายสรวีย์ รัฐพิทักษ์ถิรดา” อดีตคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติคนหนึ่ง อย่างไรก็ดีมีคำยืนยันจากทางครอบครัวในเวลาต่อมาว่า เธอเลิกรากับสามีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ อดีตสามีเปิดเผยว่า ได้แต่งงานกันในช่วงกลางปี 2557 และมีการหย่าร้างกันในช่วงกลางปี 2558 ด้วยปัญหาในเรื่องอายุและทัศนคติที่ไม่ตรงกัน
เสียงจาก “หัวใจ” ของ “ผู้สูญเสีย”
นางถวิล เช้าเที่ยง หรือแม่หนิง อายุ 71 ปี แม่ของ ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง หรือ ดร.เป็ด นักวิทยาศาสตร์ประจำ สวทช. ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งจบการศึกษาปริญญาเอก จากประเทศอังกฤษ และเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต 9 ศพ บอกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุคู่กรณีแค่มาร่วมงานศพเพียงวันเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการติดต่ออะไรอีกเลย แม้ว่าศาลจะตัดสินแล้วแต่ก็ยังไม่มีการติดต่อมา
แม่หนิง บอกอีกว่า ตอนนี้รู้สึกอึดอัดมากเพราะอายุก็มากแล้ว ทางคู่กรณีจะเอาอย่างไรขอให้มาพูดคุยกัน และก็ไม่เคยไปเรียกร้องอะไรมากมาย โดยตั้งแต่เกิดเรื่องทางญาติๆ ของคนตายทั้งหมดก็รวมกลุ่มกัน และตอนนี้ก็รอให้ทางคู่กรณีติดต่อมา และรอทางทนายด้วย ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกับทางทนายแล้วว่า ถ้าไม่มีการมาเยียวยาก็จะต้องให้มีการบังคับคดี เพื่อดูว่าเขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง โดยทำตามขั้นตอนของศาล ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่านานแค่ไหน และไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้นหรือไม่
“ถ้าลูกชายยังอยู่ก็คงจะสบายกว่านี้ เพราะในช่วงที่ลูกเรียนจบมาก็อยากให้แม่เลิกร้อยพวงมาลัยขายในตลาดทรัพย์สินเขตเทศบาลเมืองราชบุรี แต่แม่ยังทำไหวก็ขอทำไปก่อน ถ้าเลิกร้อยพวงมาลัยในวันที่ลูกขอให้เลิก วันนี้คงลำบากกว่านี้เพราะวันนี้ไม่มีลูกมาคอยเลี้ยงดูแล้ว และพี่น้องก็ตายหมดแล้ว เหลือเพียงแค่หลานสาวคนเดียวที่มาช่วยกันร้อยพวงมาลัยขายแบ่งข้าวกินกันไป ก็อยากให้แพรวาได้เห็นใจบ้าง เพราะเวลาก็เนิ่นนานมาแล้ว” นางถวิลบอกเล่าความรู้สึก
สอดคล้องกับสิ่งที่ พ.ต.อ.ศรัญ นิลวรรณ อดีตผกก.สภ.ทุ่งศรีอุดม พ่อของนุ่น-สุดาวดี ผู้เสียชีวิตที่บอกว่า “ตอนนี้ก็เดือนกว่าแล้ว จำเลยก็เงียบๆ อยู่ และจำเลยไม่มีติดต่อมาเลยครับ ในส่วนของผมเขาไม่เคยมาพูดคุยติดต่อมา 9 ปีแล้ว ที่ศาลก็ไม่ได้คุยกัน เขาไม่มาทักทาย จะไปทักทายก็ยังไงอยู่ เพราะเราเป็นฝ่ายที่ต้องสูญเสียทางคดีไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว คุณผิดฝ่ายเดียว ทั้งอาญา ทั้งแพ่ง คุณก็ต้องจ่ายตามที่ศาลพิพากษา คุณทดเวลามา 9 ปีมันแน่นอนอยู่แล้วเขาเรียกว่าการทำละเมิด เมื่อคุณไม่ชำระคุณก็ต้องเสียดอกเบี้ย พวกเรารอคอยกัน เวลาขึ้นศาลมันก็ต้องมีค่าธรรมเนียม ทุกอย่างก็ต้องควักจ่ายเอง บางคนก็ไม่พร้อม เขาก็ไม่สู้”
“จริงๆ ก็มีความหวังอยู่ว่าเขาจะชำระ เพราะเขาพูดเป็นเอกสาร ที่เขายื่นเอกสาร ถ้าคดีถึงที่สุดเขาจ่ายได้หมด ทั้งดอกเบี้ย ทั้งเงินต้นทั้งหมด เพราะเขามีฐานะมั่นคง อยู่ในตระกูลที่มีชื่อเสียง ตามเอกสารเลยไม่ใช่ว่าพูดลอยๆ เขาสามารถจ่ายได้ แต่เขายังไม่จ่าย คือพูดจ่ายๆ ว่าเขาขอให้ศาลทุเลาการบังคับคดี เพราะว่าเขายังสู้ได้อีก ยังมีอุทธรณ์ฎีกาอยู่ คือพูดง่ายๆ ยังจะไม่ขอจ่าย จนกว่าจะถึงที่สุดแล้วจะจ่าย”
ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อว่า tintin หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทวีตรายละเอียดเอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า …
“คดีความแบ่งเป็น 2 คดีคือ อาญาและแพ่ง อาญามาหากันว่าใครผิดระหว่างรถตู้หรือแพรวา ระหว่างนั้นคุณป้าซึ่งเป็นแม่คนขับรถตู้ จะยกมือขอโทษเราทุกครั้ง “ขอโทษที่ลูกสาวป้าทำให้เราเจ็บ” เราไม่ได้ถือโกรธเลย แต่เราไม่ได้ยินคำนี้จากแพรวาเลย ...9 ปีที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าเรายอม แต่เขาขอประวิงเวลาอย่างเห็นได้ชัด สู้กันถึง 3 ศาลทั้ง 3 คดี และเราไม่เคยเจอแพรวาและพ่อแม่เลย มาถึงไกล่เกลี่ยเราหวังว่ามันคือการพูดคุยกันที่ดี ปรากฏว่าเขาไม่มา ส่งทนายผู้เป็นญาติฝั่งแม่มา ศาลนัด 8.30 โมงเขามา 10 โมง ทุกคนรอ พอมาถึงคำแรกที่พูดเขาบอกว่าแค่จะมารับฟังว่าทุกคนจะร่วมไกล่เกลี่ยมั้ย แค่นั้น ไม่ได้มีประเด็นจะพูดอะไร อันนี้งงสุด แล้วคุณเองหรือเปล่าให้เราเข้าไกล่เกลี่ยเรามาแล้วแต่คุณไม่พร้อมอีก นัดอีกทีเดือนหน้า เราบอกกับแม่ว่าเขาพูดมาเท่าไหร่ก็เท่านั้นนะแม่ เงินที่รักษาตัวไปมันถือว่าหายไปแล้ว แม่ต้องหยุดทำงานขาดรายได้เป็นปีก็เท่านั้น (ศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยแม่แค่ 4,000 บาทเราก็น้อมรับ) จะได้จบซักที เราก็โอเคกับเงินก้อนนั้นที่เขาเสนอมาเพราะอยากจบจริงๆ”
“นัดรอบหน้า คราวนี้เราไม่มาแล้วตอนนั้นอยู่ภูเก็ต พี่ทนายโทร.มาบอกว่าทนายฝั่งโน่นให้ไม่ได้แล้วนะ และก็เปิดลำโพงให้เราคุยในชั้นไกล่เกลี่ย ทนายแพรวาบอกว่า ถ้าไม่รับตัวเลขใหม่ก็จบไม่คุยแล้ว ไปฟ้องล้มละลายหรือยึดทรัพย์เอานะครับได้กันอีกทีไม่กี่บาทหรอก อาจจะไม่ได้เท่านี้ เขาต่อราคาเรายังกะผักปลา ในคำร้องให้ศาลทุเลาบังคับคดี โดยทนายแพรวาบอกเป็นลายลักษณ์ว่า ยินดีชดใช้ถ้าคดีถึงสิ้นสุด โดยอ้างเรื่องชื่อเสียงวงศ์ตระกูลอ้างว่าเป็นทายาทบุคคลผู้มีชื่อเสียงและประกอบคุณงามความดีของประเทศนี้ เขาเขียนอย่างนี้จริงๆ
“เราเลยไม่โอเค ไม่ยอมรับเงินก้อนนั้น ถึงแม้ตอนแรกอยากจะรับเพราะเหนื่อยแล้ว และมันเป็นเงินที่ต่ำกว่าศาลให้ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาเลยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมด แต่เป็นเรื่องความใส่ใจต่างหากที่เราไม่รู้สึกเลยเมื่อเดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมาศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ให้ชำระค่าเสียหาย รอบนี้ไม่มีมาทั้งทนายและแพรวาเช่นเดิม สู่ 9 ปีผ่านมาแล้วที่ไม่เจอกันตั้งแต่ครั้งแรก เรายอมทุกอย่างเชื่อตามศาลทุกอย่าง อดทนไม่พูดมา 9 ปีแล้ว จนมันไม่ไหวเเล้ว เราไม่เข้าใจว่าเขารออะไร
“เราเข้าใจเลยว่าเธอไม่ตั้งใจ มันคืออุบัติเหตุ แต่หลังจากนั้นหรือเปล่าสิ่งที่เพื่อนมนุษย์เขาปฏิบัติต่อกัน มันสำคัญกว่าเรื่องฟ้องร้องเลยอะ เงินแค่นั้นแลกกับการโดนชนแบบนั้น เราถามว่ามีใครอยากได้บ้าง แลกกับเสียลูกไปใครอยากได้บ้าง? ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน หวังว่าครอบครัวเทพหัสดิน คงจะได้ยิน”
ถอดรหัสการบังคับคดี
กับคำถามเรื่อง “ความล่าช้า”
ถ้อยคำจาก “ญาติผู้เสียชีวิต” และ “คนที่ได้รับบาดเจ็บ” จากเหตุการณ์นี้กลายเป็นคำถามใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมสถานการณ์ถึงเป็นเช่นนั้น
เพราะแสดงให้เห็นว่า ตัว “แพรวา” ตลอดรวมถึง “พ่อแม่” มีปัญหา เฉกเช่นเดียวกับการตั้งข้อสงสัยเรื่องกระบวนการยุติธรรมและประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบายถึงขั้นตอนของกฎหมายว่า คดีดังกล่าวเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยซึ่งขณะก่อเหตุเป็นเยาวชน และพ่อแม่ของจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จำเลยจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษา หากไม่ชดใช้กระบวนการจะเข้าสู่การบังคับคดี ซึ่งผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ออก “หมายบังคับคดี” จากนั้นผู้เสียหายจะต้องสืบทรัพย์ว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่ใดบ้างเพื่อให้ “กรมบังคับคดี” นำทรัพย์ดังกล่าวมาชดใช้ โดยกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีมีระยะเวลา 10 ปี ในการพิสูจน์ทรัพย์เพื่อนำทรัพย์สินของจำเลยมาชดใช้ให้แก่โจทก์
ทั้งนี้ หากผู้เสียหายไม่ทราบขั้นตอนการขอบังคับคดีสามารถมายื่นเรื่องหรือขอคำปรึกษาได้ที่ “ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม” ได้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาช่วยเหลือดำเนินการให้ประชาชนทุกราย
ข้อมูลจากรองปลัดกระทรวงยุติธรรมดังกล่าว ทำให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในการดำเนินงาน ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ที่ให้มุมมองเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ถือเป็นความสิ้นหวังของเหยื่อในคดีนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วจำเลยทั้งหมดอาจจะตายฟรีและอาจไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียวซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นเทคนิคในการต่อสู้ของทนายฝ่ายจำเลยที่ประวิงเวลายืดเยื้อนานถึง 9 ปี โดยระหว่างนี้อาจมีการโยกย้ายทรัพย์ กระทั่งจำเลยไม่เหลือทรัพย์สินใดมาชดใช้ให้กับเหยื่ออีกต่อไป
ดังนั้นทางออกของการสู้คดีนี้ ทางฝ่ายโจทก์จะต้องไปสืบทรัพย์ของจำเลยทั้ง 4 ยึดมาให้ได้ถ้ามีการโอนหนี ก็ดำเนินคดีอาญาโกงเจ้าหนี้ หรือเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉลในทรัพย์สินต่างๆ
พร้อมสรุปด้วยว่า นี่คือเป็นปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง
ด้านนางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมายว่า โดยทั่วไปหลังศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าชดเชยความเสียหาย แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระตามกำหนดเวลาโจทก์สามารถขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ ซึ่งกรณีของน.ส.แพรวาศาลแพ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง ดังนั้น การขอออกหมายบังคับคดีจำเป็นต้องไปขอที่ศาลแพ่ง จากนั้นศาลแพ่งจะส่งหมายบังคับคดีไปที่ที่สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 เมื่อได้รับหมายดังกล่าวแล้วก็จะเป็นภาระของโจทก์หรือเจ้าหนี้ที่ต้องดำเนินการสืบหาทรัพย์ว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดบ้าง ซึ่งในส่วนดังกล่าวโจทก์หรือเจ้าหนี้สามารถนำคำพิพากษาของศาลไปขอตรวจสอบทรัพย์สินที่กรมที่ดินในกรณีของที่ดิน หรือกรมการขนส่งทางบก ในกรณีครอบครองรถยนต์
ทั้งนี้ หลังจากพบทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยแล้วสามารถนำมายื่นคำร้อง เพื่อขอตั้งเรื่องบังคับคดี ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินที่ได้มาชดเชยให้ผู้เสียหายตามคำพิพากษา ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวหากมีเอกสารพร้อมพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถดำเนินการได้ทันที หากเป็นการยึดทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินสำนักงานบังคับคดีจะมีการแจ้งไปที่เจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อขอยึดทรัพย์สินดังกล่าว
“ขั้นตอนการบังคับคดีและสืบเสาะทรัพย์มีอายุความ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจะถือว่าคดีหมดอายุความ อย่างไรก็ตาม หากพบมีกรณีที่จำเลยโอนย้ายทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น ทำให้ทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยแล้ว โจทก์หรือเจ้าหนี้จะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนความเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นจากผู้รับโอนก่อนได้”นางอรัญญาแจกแจง
ขณะที่ นายวีระศักดิ์ ทัพขวา หัวหน้าสำนักงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย พร้อมทีมทนายความ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งจนคดีถึงที่สุดตลอด 9 ปีที่ผ่านมาได้แถลงข้อเท็จจริงในทางคดีว่า ขณะนี้ทีมทนายเริ่มดำเนินการขอศาลแพ่งบังคับคดีไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนการออกหนังสือไปขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ซึ่งยอมรับว่าต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในการสืบทรัพย์ของคู่กรณี แต่หากจำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่ต้องมีการบังคับคดี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหายมากกว่า รวมถึงคู่กรณีเองที่ไม่ต้องถูกฟ้องยึดทรัพย์สิน และที่ดิน
ส่วนกรณีที่มีการชดใช้ค่าเสียหายล่าช้า ในมุมมองทีมทนายความมองว่า สาเหตุหนึ่งคือต้องรอฟังผลคดี 13 คดี แยกกันไปตามจำนวนโจทก์ ให้ได้ข้อสรุปที่สิ้นสุดก่อน อีกส่วนมาจากเรื่องการเจรจาไกล่เกลี่ย และการส่งหนังสือคำบังคับคดีไปถึงมือจำเลยทั้ง 4 คน โดยขณะนี้ทราบว่ามีเพียงบิดาของนางสาวแพรวาที่ได้รับหนังสือไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามกฎหมายแล้วเข้าข่ายเป็นลักษณะการปิดหมาย ต้องรอเวลา 15 วัน เพื่อให้หนังสือบังคับคดีมีผล จากนั้นจำเลยจะมีเวลา 30 วัน ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยอื่นๆ ทั้งนางสาวแพรวา, มารดา และเพื่อน ยังไม่พบรายงานจากศาลว่าได้รับหนังสือบังคับคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
ฟังความจาก “ครอบครัว” และ “ตระกูลเทพหัสดินฯ”
นอกจากนี้ คดีดังกล่าวยังก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไปถึงตระกูลของ “แพรวา” จนทำให้บรรดาสมาชิกของ “ราชสกุลนี้” ต้องออกมาร้องขอความเห็นใจว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ไม่ใช่เรื่องของตระกูล เพราะฉะนั้นอย่าเหมารวม เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ดังเช่นกรณี “ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ที่โพสต์ว่า “ แม้จะนามสกุลเดียวกัน แต่โตมากันคนละบ้าน ผมว่าคุณน่าจะแยกแยะได้นะครับ เขาไม่ได้เมานะครับ คุณจะมาเหมารวมกันก็ไม่ยุติธรรมสำหรับผมนะครับ โตๆ กันแล้วน่าจะคิดได้ ถ้าติดตามคดี คดีก็ยังไม่จบ ก็คงจะแยกแยะได้ว่าเป็นน้องคนละแม่ที่ไม่ได้โตมากับผม บ้านผมไม่มีส่วนเกี่ยวของกับน้องเค้า แต่ผมเชื่อในกระบวนการยุติธรรม และคิดว่าคนที่สูญเสียต้องได้รับการชดใช้และคนผิดต้องโดนลงโทษ และหวังว่าสังคมจะเลิกประณามผมในสิ่งที่ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณควรจะรู้คือผมไม่เคยลืมและพร้อมที่จะรับกับกระแสที่จะตามมาอยู่แล้ว”
หรือ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีต สนช. และอดีตประธานคณะที่ปรึกษา ทบ.ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำโดยส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับนามสกุล ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีบรรพบุรุษหลายคนที่ทำคุณงามความดี รับใช้ให้ชาติบ้านเมืองมามากมาย การที่นำเหตุที่เกิดขึ้นของคนๆ เดียวในตระกูล แล้วไปย่ำยี ไปเกี่ยวข้องกับนามสกุลนั้นไม่แฟร์
“อีกทั้งมีการพาดพิงไปถึง พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรอง ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นบิดาของผม ซึ่งท่านประกอบคุณงามความดี เป็นทหารรับใช้แผ่นดินไทยมากมาย อย่านำไปโยงเกี่ยว ฉะนั้นหากใครที่มีการกล่าวพาดพิง หรือเขียน หรือลงในโซเชียลฯ ที่เกี่ยวข้องกับนามสกุล หรือ วงศ์ตระกูล จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ขอให้มองด้วยเหตุด้วยผล เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยคนเดียว แต่เอานามสกุลไปวิพากษ์วิจารณ์ และโยงไปถึงต้นตระกูล” พลเอกวิชญ์ระบุ
...เรียกว่าร้อนฉ่าองศาเดือดเลยทีเดียวจนตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยาต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงในทุกประเด็น
และในที่สุดเรื่องก็เดินทางมาถึง “จุดไคลแมกซ์” เมื่อแม่ของแพรวาได้เปิดเผยใน “รายการโหนกระแส” โดยระบุว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะเยียวยาผู้เสียหาย และขอประกาศขาที่ดิน เพื่อจะได้เอาเงินไปคืนผู้เสียหายทุกคน พร้อมยืนยันว่าไม่ได้หายไปไหน
ทั้งนี้ แม่ของแพรวายังได้ขอวิงวอนไปยัง “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้ช่วยอนุมัติเงินจากกองทุนยุติธรรมจ่ายเยียวยาไปก่อน แล้วตนเองก็จะไปเป็นลูกหนี้หลวงแทน ซึ่งจะได้ไม่ช้า เพราะขณะนี้เกินกำลังความสามารถที่จะดำเนินการได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเพิ่มเติมในประเด็นที่แม่แพรวาร้องขอ ทางกระทรวงยุติธรรมยืนยันแล้วว่า ไม่สามารถทำได้
ในวันเดียวกัน แม่แพรวายังได้อธิบายด้วยว่า “วันที่พิพากษา พ่อน้องตั้งใจจะไปกับทนาย แต่เพราะป่วยจึงไปไม่ได้ และยังย้ำกับทนายว่า ให้ทนายไปให้ได้นะ จะได้รู้ตัวเงินที่จะเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ ซึ่งเราก็มารู้วันนั้นเองว่าทนายไม่ได้ไป เราก็ช็อก โกรธ และเสียใจ ยังไงก็แล้วแต่ ตรงนี้ต้องกราบขอโทษทุกท่านอีกครั้ง ส่วนกรณีที่ทนายพูดจาไม่ดี กราบขอโทษทุกคนอีกครั้งแทนทนาย และกราบขอโทษในนามของครอบครัว จากใจจริง”
ส่วนเมื่อถามว่า ทำไมถึงปล่อยเรื่องยืดมาถึง 9 ปี แม่ของแพรวาเปิดเผยว่า ยืนยันไม่มีความคิดว่าจะประวิงเวลา แต่เราไม่มีเงินสดในตัว ซึ่งตัวเงินค่อนข้างสูง แต่ก็ประเมินกับค่าชีวิตของแต่ละคนไม่ได้ พร้อมยืนยันไม่เคยย้ายทรัพย์หนีและต่อสู้ตามขั้นตอนของกฎหมาย
และเมื่อถามว่า อยู่กันมาอย่างไร 9 ปี กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม่ของแพรวา เปิดเผยว่า “มันเหมือนเกิดขึ้นเมื่อวานตลอดทุกวัน เค้าทุกข์ เราก็ทุกข์กับเราด้วย ทุกคนสูญเสีย บาดเจ็บ เค้าเสียใจ เราก็เสียใจ ลูกเราก็อยู่อย่างตายทั้งเป็น ทุกคนอยู่ได้ด้วยยานอนหลับ มันเป็นแบบนี้จริงๆ ไม่มีวันไหนที่จะมีความสุข เพื่อนมาบ้าน ยิ้มแย้ม แต่ในใจเราร้องไห้”
ส่วนแพรวาเป็นไงบ้าง แม่เผยว่า “ลูกเคยสมรส และเลิกรากันไปแล้ว ก็ไม่อยากให้ดึงบุคคลที่สาม มาเกี่ยวข้อง น้องเหมือนคนเป็นโรคซึมเศร้า ไม่รู้จะฆ่าตัวตายวันไหน เราก็ต้องดูแลกันไป ทั้งนี้ แพรวาเป็นชื่อเล่น ชื่อจริงคือ อรชร แม่ก็อยากให้เค้ากลับไปเรียนหนังสือ ให้เค้ากลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น บัวบูชา แต่นามสกุลไม่เปลี่ยน เค้าไปไหนก็ระแวง น้องเค้าเลยขอเปลี่ยนนามสกุล มาใช้นามสกุลแม่แทน”
นอกจากนี้ แม่แพรวากล่าวทิ้งท้ายโดยยืนยันว่า “โฉนดที่ดิน 21 ไร่ มูลค่า 50 ล้านบาท ขายได้เลย ถ้าไม่พอก็ขายโฉนดบ้านอีกหลังที่เมืองทอง ขนาด 300 ตร.ว. มูลค่า 55 ล้านได้อีก แต่ยังไงก็จะต้องเอามาชดใช้ให้ได้ ส่วนที่ทำไมไม่ขายแต่แรก เราก็พยายามอยู่ แต่คนซื้อก็กังวล เพราะเรามีคดีอยู่ กลัวจะเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ ทั้งที่เราตั้งใจขาย เอามาคืนทุกท่าน”
ขณะที่ในวันเดียวกัน ราชสกุล “เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ได้เปิด แถลงข่าว โดยระบุว่า ทางราชสกุลไม่เคยนิ่งนอนใจ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งอีกครั้ง ต้องกราบขออภัยจากใจและขอขมาทุกท่านที่เกี่ยวข้อง
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ได้ผลักดันให้ทางครอบครัวของแพรวา หรือ ชื่อในขณะนี้ คือ น.ส.รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ ปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด ไม่ให้หนีไปไหน และทางราชสกุลติดตามข่าวมาตลอด ได้ทราบว่า น.ส.รวินภิรมย์ ได้ถูกตัดสินให้รับโทษในคดีอาญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยความน้อมรับไม่เคยคิดหลบหนี เมื่อสอบถามไปทางครอบครัวของ น.ส.รวินภิรมย์ หลายครั้งได้รับคำตอบว่าคดีสิ้นสุดแล้วทุกครั้ง ทางราชสกุลจึงวางใจ และไม่ได้ติดต่อครอบครัวของ น.ส.รวินภิรมย์ จนหลายวันที่ผ่านมาทางราชกุลได้รับทราบพร้อมพี่น้องประชาชนว่า หลังจากคดีสิ้นสุดครอบครัวผู้ประสบเหตุ ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางครอบครัวของ น.ส.รวินภิรมย์
“ในวันนี้ทางราชสกุลขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และกราบขอขมาต่อครอบครัวผู้ประสบเหตุ อีกทั้งใคร่ขอแสดงน้ำใจ มา ณ ที่นี้ ขอมอบกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุไว้สำรองใช้จ่ายในการติดตามบังคับคดีสืบทรัพย์ตามกฎหมาย รวมทั้งขอเรียกร้องให้ครอบครัวของน.ส.รวินภิรมย์ น้อมรับปฏิบัติตามคำพิพากษา อีกทั้งเร่งดำเนินการให้ทุกอย่างเรียบร้อยไปด้วยดี ภายใต้คุณธรรมและจริยธรรมอันดี และเมื่อคดีต่างๆ สิ้นสุดลงไปแล้วขอวอนต่อสังคมในคราวเดียวกันนี้ ให้โอกาสต่อ น.ส.รวินภิรมย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงเยาวชนและไม่ตั้งใจให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นจริงๆ ได้มีโอกาสแสดงความรับผิดชอบ นอกจากไม่หลบหนีไปไหน และน้อมรับโทษทุกประการแล้วก็ขอให้ได้แสดงความรับผิดชอบจัดหาทรัพย์มาเยียวยาต่อครอบครัวผู้ประสบเหตุจนครบถ้วน”
และเงินที่ราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยามอบให้ในครั้งนี้มีจำนวน 5 แสนบาทถ้วน
...ฟังความรู้สึกของครอบครัว ตลอดรวมถึงเรื่องราวจากปากคำของผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว กล่าวได้อย่างเดียวว่า “เหมือนตายทั้งเป็น”ตลอดช่วงระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ส่วนการเยียวยาของ “จำเลย” จริงอยู่ แม้จะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า “ช้าเกินไป” หรือไม่? เพราะน่าจะมีท่าทีและการแสดงอออกถึง “ความรับผิดชอบ” ซึ่งสามารถ “ทำได้ดี” กว่าที่เห็นและเป็นอยู่