xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เชฟรอน-โททาล” จ่อฟ้องอนุญาโตฯ ค่าโง่รื้อแท่นแสนล้าน ใครต้องรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเรื่องจนได้! เมื่อ “ขาใหญ่” เชฟรอน-โททาล พ่ายประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช แล้วมีอาฟเตอร์ช็อกที่สร้างแรงสั่นสะเทือนเลือนลั่นตามมาตามคาด นั่นก็คือเกมยื้อรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหลังหมดอายุสัมปทาน ซึ่งกำลังกลายเป็นเผือกร้อนที่ถูกโยนใส่มือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ว่าจะเอายังไงกับปัญหานี้

รวมทั้ง นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน คู่ฟัดเชฟรอน จะเจรจาจบเรื่องนี้ได้สวยเหมือนเคยหรือไม่ยังต้องลุ้นระทึก เพราะงานนี้งานช้างมีเดิมพันเป็นแสนล้านเทียบไม่ได้กับการไล่บี้ภาษีส่งออกน้ำมันที่เคยขับเคี่ยวกันมากับเชฟรอนก่อนหน้าสมัยที่นายกุลิศนั่งอธิบดีกรมศุลกากร สังกัดกระทรวงการคลัง กระทั่งเชฟรอนต้องหอบเงินสองพันกว่าล้านมาคืนหลวง

ต้องไม่ลืมว่า การเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลง G2/61 (บงกช) ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของ กลุ่มปตท.สผ. ที่สามารถเขี่ย เชฟรอน ผู้ถือครองสัมปทานแหล่งเอราวัณอยู่แต่เดิมตกทะเลอ่าวไทยนั้น มีคำเตือนจากหลายฝ่ายตั้งแต่เปิดประมูลแล้วว่าให้ดูให้ดีๆ ว่าจะมีปัญหาเรื่องการรื้อแท่นปิโตรเลียมและการผลิตปิโตรเลียมให้ต่อเนื่องหรือไม่ ไม่ว่ารายเก่าหรือใหม่จะชนะประมูลก็ตาม นั่นหมายถึงทีโออาร์หรือการกำหนดเงื่อนไขการลงทุนให้สิทธิฯ รอบใหม่นี้ต้องรอบคอบรัดกุม

ตอนนั้นกระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่เป็นหน่วยงานผู้ให้สิทธิฯ ต่างการันตีไม่มีปัญหาแน่นอน แม้แต่ ปตท.สผ.เองก็ยังให้ความมั่นใจหลังชนะประมูลว่าขออย่าได้ห่วง แต่เอาเข้าจริงเรื่องไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เล่นกับยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างเชฟรอน ย่อมไม่ใช่หมูสนามที่จะยอมให้ต้อนได้ง่ายๆ

การพ่ายแพ้ประมูลแหล่งก๊าซสำคัญที่เชฟรอนเคยยึดครองสัมปทานในอ่าวไทยมาร่วม 30 ปี ทำเอาเสียชื่อเสียหน้าบิ๊กเบิ้มในวงการพลังงานระดับโลก ทั้งยังเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้เก็บเกี่ยวต่อไปก็นับว่ามากโขเกินพอแล้ว ยังจะมีการจัดซ้ำด้วยกระแสข่าว ปตท.สผ.เตรียมพร้อมทุ่มซื้อแหล่งก๊าซฯจากเชฟรอน ที่มีอยู่ 8 แปลง 35 แหล่ง แบบเอาให้เกลี้ยงอ่าวไทยกันไปเลยอีกต่างหาก เป็นการเปิดไพ่คล้ายกับจะไล่เชฟรอนกลับบ้านกันเช่นนี้ เกมยื้อรื้อถอนแท่นสัมปทานปิโตรเลียมจึงอาจเสมือนเป็นไม้ตายเอาคืนอย่าขืนมาลูบคมขาใหญ่

แต่งานนี้จะไปเหมารวมเอาว่าเชฟรอน - โททาล เล่นตุกติกก็คงไม่ถูกต้องนักเสียทีเดียว เพราะถ้ากฎหมาย กฎระเบียบ ไม่เปิดช่องให้ มีหรือที่บรรษัทข้ามชาติ อยากจะเป็นความกับรัฐบาลไทย ยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งสาส์นยินดีกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยแล้ว การค้าความคงเป็นทางเลือกท้ายๆ ในการสานต่อผลประโยชน์ระหว่างสองชาติมหามิตร

ปมร้อนของเกมยื้อรื้อแท่นปิโตรเลียมครั้งนี้ คุกรุ่นขึ้นมาหลังจากการประมูลแหล่งก๊าซฯ บงกชและเอราวัณเสร็จสิ้นแล้ว เชฟรอน พ่ายประมูลในแหล่งเอราวัณ ส่วนบริษัทโททาล ยักษ์ใหญ่พลังงานฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในแหล่งบงกช โดยถือหุ้นอยู่ 33.3% ร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 66.3% จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ดังนั้น เชฟรอน จะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กับรัฐ และโททาล ก็ต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนรัฐตามสัดส่วนที่ถือหุ้นอยู่ในแหล่งบงกชเช่นกัน เพราะการเข้าประมูลรอบใหม่ที่ ปตท.สผ.ชนะขาดลอยทั้งสองแหล่งนั้น โททาล ไม่ได้เป็นกลุ่มพันธมิตรร่วมลงทุนกับ ปตท.สผ.ด้วย

ตามขั้นตอนหลังการประมูลเสร็จสรรพ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีหนังสือส่งไปยังเชฟรอน ให้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนการรื้อถอน รวมถึงประมาณค่าใช้จ่ายในการรื้อแท่น และการวางเงินเป็นค่าหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตที่แหล่งเอราวัณมีอยู่กว่า 200 แท่น คิดเป็นค่าหลักประกันราว 75,000 ล้านบาท ส่วนของแหล่งบงกช จะมีอยู่กว่า 100 แท่น คิดเป็นมูลค่าหลักประกันราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีครบกำหนดให้วางหลักประกันในเดือนต.ค. 2562 ที่จะถึงนี้

หลังจากเชฟรอนและโททาล ได้รับหนังสือจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ได้ส่งหนังสือถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อน เพื่อขอหารือข้อกฎหมายในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและการวางหลักประกันในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมนับแสนล้าน โดยให้เหตุผลว่าในสัญญาสัมปทานข้อ 15(4) ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำกันตั้งแต่ปี 2515 ระบุชัดเจนว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องให้กับรัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์มิได้ ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนตามที่รัฐมนตรีสั่ง
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน
ดังนั้น การที่กระทรวงพลังงาน ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการกําหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 เป็นการออกกฎกระทรวงภายหลังจากที่ทำสัญญาสัมปทานกันไปแล้วจึงไม่มีผลบังคับย้อนหลัง และรัฐบาลไม่เคยขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกมาในภายหลัง ดังนั้นจึงไม่มีผลบังคับใช้กับคู่สัญญา อีกทั้งการที่ต้องมาวางหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตทั้งหมด ทั้งที่แท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวนหนึ่งที่ส่งคืนรัฐนั้น รัฐจะนำไปให้ ปตท.สผ.ดำเนินงานต่อโดยไม่ต้องแบกรับภาระการรื้อถอนแต่อย่างใด

สรุปข้อต่อรองเพื่อเจรจาของเชฟรอนและโททาลจึงอยู่ที่ 2 ประเด็นหลัก คือ กฎกระทรวงเกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมออกมาภายหลังจากทำสัญญาสัมปทานไปแล้วจึงไม่มีผลย้อนหลัง และแท่นผลิตบางส่วนไม่ต้องรื้อถอนจริงจึงไม่ต้องวางหลักประกันรื้อถอนแท่นผลิตทั้งหมด ซึ่งถ้าหากการเจรจาตกลงหาข้อยุติกันไม่ได้ งานนี้เชฟรอนและโททาล จะยื่นเรื่องให้อนุญาโตตุลาการ เป็นผู้พิจารณา

ก่อนลุกออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน นายศิริ ก็ว่าการยื่นฟ้องเป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่จะทำได้เพื่อให้เกิดความชัดเจนของกฎหมาย แต่เชื่อว่าที่สุดจะมีความชัดเจนและจะยินยอมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยยืนยันจะไม่เกิดค่าโง่แน่นอน

นายศิริ อธิบายว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการตีความทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ยอมรับว่าการรื้อถอนนั้นเดิมกฎหมายเขียนไว้กว้างๆ แต่ก็ได้มีการออกกฎกระทรวงรองรับไว้แล้ว ส่วนเรื่องหลักประกันค่ารื้อถอนเป็นไปตามหลักสากล แต่สัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนที่มีมูลค่าสูงหลักแสนล้านนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องเจรจาร่วมกันระหว่างผู้รับสัมปทานเดิมกับผู้รับสิทธิฯ รายใหม่และรัฐที่ร่วมลงทุนตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งเรื่องนี้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม จะเป็นผู้สานต่อและเร่งเจรจาให้มีข้อยุติโดยเร็ว

ฟังคำอธิบายจากนายกุลิศ ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ สรุปรวมความได้ว่า 1) พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยต้องยื่นแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง ก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี และวางหลักประกันการรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่จะครบกำหนดในเดือนต.ค. 2562 นี้ และต้องวางหลักประกันเต็มจํานวนของประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ดังนั้นทั้ง 2 บริษัทจะต้องดำเนินงานตามข้อกฎหมาย

2)การที่ผู้ประกอบการจะสร้างเงื่อนไขใหม่โดยการหยิบยกข้ออ้างสัญญาสัมปทานข้อ 15(4) ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำกันตั้งแต่ปี 2515 เป็นข้อตกลงและพันธะระหว่างกันก่อนที่จะมีกฎกระทรวงออกมาบังคับใช้เมื่อปี 2559 นั้น ต้องย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ที่ให้ดำเนินงานตามกฎกระทรวงซึ่งเป็นเรื่องของความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ

3)การจะนำแท่นผลิตปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานไปมอบให้รายใดดำเนินงานต่อนั้น มีการระบุไว้ในข้อกฎหมายที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ได้ส่งมอบคืนให้กับรัฐ ดังนั้นการที่ออกกฎกระทรวงมาภายหลัง จึงไม่ถือว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เพราะได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ได้เปิดช่องในการวางหลักประกัน ผู้รับสัมปทานอาจขอเพิ่มหรือลดมูลค่าของหลักประกันได้ โดยยื่นเป็นหนังสือระบุเหตุผลและมูลค่าของหลักประกันที่เพิ่มหรือลดต่ออธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หากผู้รับสัมปทานไม่เห็นด้วยกับหนังสือแจ้งไป ซึ่งกรณีนี้ถ้าเอกชนทั้งสองรายไม่วางหลักประกันภายในเดือน ต.ค. นี้ ก็มีเวลาเจรจาหาข้อยุติร่วมกันถึงสิ้นปีนี้

ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเคย “เล่นเกมต่อรอง” กับเชฟรอนมาก่อนหน้า มองว่าการบีบกระทรวงพลังงานโดยการยื่นโนติสจะไม่จ่ายค่าประกันรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเต็มตามจำนวนที่ประเมินไปทั้งสองแหล่งรวมแสนล้าน และขู่จะฟ้องอนุญาโตตุลาการนั้น “...คงไม่หนักใจอะไร เพราะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่มีอยู่”

เกมการต่อรองคราวนี้ มีโอกาสจะเกิด “ค่าโง่” อีกหรือไม่ ฟังความจาก ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ที่โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถาม “ค่าโง่จะมาอีกแล้วหรือ???” โดยอธิบายว่า การผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศ จะมีการกันเงินรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อรื้อถอนแท่นเป็นไปตามหลักสากล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำกันมานานแล้ว หากปิโตรเลียมเหลืออยู่รัฐก็สามารถใช้ต่อไปได้ และมีเงินเพื่อจะใช้รื้อถอนแท่น ซึ่งจะไม่เป็นภาระของรัฐในอนาคต แต่ประเทศไทยใช้วางหลักประกันช่วงหมดสัญญา ซึ่งข่าวระบุว่า เอกชนผู้รับสัมปทานไม่ยินยอมวางหลักประกันโดยอ้างว่าไม่เป็นธรรม ถามว่าเอกชนรู้ไหมว่า ในต่างประเทศเป็นอย่างไร ก็ต้องตอบว่ารู้ แต่อาจเห็นว่า เอกสารฝ่ายไทยมีประเด็นให้ต่อสู้ได้

ประเด็นปัญหาสำคัญในเรื่องนี้คือ ร่างสัมปทานแหล่งเอราวัณในปี 2550 นอกจากจะไม่ระบุเรื่องการรื้อถอนแล้ว ยังระบุในข้อ 3 ว่า ให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัติตามข้อกำหนด ข้อผูกพันและเงื่อนไขตามสัมปทานเดิมทุกประการ (สัมปทานเดิมลงนามในปี 2515)ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด มีข้อสังเกตตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0506/13430 ว่า ข้อความดังกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และข้อ 18 แห่งสัมปทานปิโตรเลียม เพราะเห็นว่า ต้องใช้ข้อกำหนด ข้อผูกพันและเงื่อนไขที่ใช้อยู่ในขณะต่อสัญญา จึงเห็นได้ว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะคัดค้าน แต่เหตุใด ครม.จึงเดินหน้าอนุมัติด้วยข้อความดังกล่าวไป

ทำให้กรณีนี้ เอกชนก็จะนำข้อความตามสัญญานี้ขึ้นต่อสู้ ว่า แม้การต่อสัมปทานจะเกิดขึ้นในปี 2550 ที่มีกฎหมายวางหลักประกันรื้อถอนแท่นแล้วก็ตาม แต่รัฐเองให้ใช้ข้อกำหนด ข้อผูกพัน เงื่อนไขตามสัมปทานเดิม ซึ่งในสมัยปี 2515 นั้นไม่ได้มีกฎหมายเรื่องการวางหลักประกันการรื้อถอน

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การเพิ่มเติมเรื่องการวางหลักประกันการรื้อถอนเกิดขึ้นในปี 2550 แต่ก็เป็นกรรมหนักของประเทศไทยเพราะ ครม.อนุมัติสัมปทานในวันที่ 16 ต.ค.50 แต่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 ที่มีเรื่องการรื้อถอนแท่น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 17 ต.ค. 50 เพียง 1 วันหลังจาก ครม.อนุมัติสัมปทาน ซึ่งเอกชนก็จะยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้เช่นกัน

สมมุติว่า อนุญาโตฯ ให้เอกชนชนะรัฐ ถามว่า 1) ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนใช่หรือไม่ 2) ประชาชนจะฟ้องร้อง ข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองได้หรือไม่ ขอตอบว่า 1) คาดคะเนว่า ข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองคงไม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเช่นเดียวกับคดีค่าโง่หลายๆ คดีที่ผ่านมา 2) ประชาชนจะฟ้องร้องไม่ได้เพราะกฎหมายกำหนดว่ากรณีเช่นนี้ประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหาย

ต้องรอฟังผลเจรจาหาข้อยุติก่อนฝันร้ายค่าโง่จะตามมาหลอกหลอนคนไทยทั้งมวล


กำลังโหลดความคิดเห็น