xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“รัฐบาลลุงตู่ 2” ทุ่มแหลกแจกสะบัด กัญชาเสรี - อภิมหาประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่มีเวลาฮันนีมูน จำต้องคิกออฟนโยบายตามคำป่าวประกาศทำทันที โดยแม้จะเป็นรัฐบาลผสม 19 พรรค แต่หลักๆ นโยบายที่จะผลักดันให้เป็นรูปธรรมก็มีเพียงจาก 3-4 พรรคใหญ่ พลังประชารัฐ (พปชร.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย (ภท.) เท่านั้นที่โดนและโดดเด่น

แน่นอน พปชร. แกนนำรัฐบาลย่อมได้เปรียบสำหรับการสานต่อนโยบายอภิมหาประชานิยมและเมกะโปรเจกต์หลายแสนล้าน ซึ่งสืบทอดมาจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เฟสแรก จึงไม่แปลกที่จะเห็นนโยบายและโครงการต่างๆ เข้าแถวเรียงร้อยอย่างครบครัน แถมยังมีเบิ้ลขึ้นไปอีก

ขณะที่ ภท. ซึ่งผลักดันนโยบายกัญชาเสรีได้โดนใจสังคม ดูจะมีสีสันในการขับเคลื่อนนโยบายนี้มากที่สุดในเวลานี้

ส่วน ปชป. ถึงจะเจอการเล่นเกมแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นระยะๆ ซึ่งสุดท้ายอาจเจอพรรคร่วมพร้อมใจกัน “เท” แต่ด้วยความที่สามารถยึดครองกระทรวงใหญ่ อย่างพาณิชย์และเกษตรฯ ทำให้มีเวทีเอาใจพี่น้องประชาชน จนมีรายการขบเหลี่ยมชิงห้องจอง “กรมใหญ่” กันในบรรดา 4 รัฐมนตรีเกษตรฯ ที่ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งกระทรวงเกษตรฯ เลยก็ว่าได้แม้ภายหลังจะออกมาปฏิเสธว่า “ไม่มี้...ไม่มี” ก็ตาม
ตามไทม์ไลน์แล้ว หลังพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 2/1” เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 25 ก.ค. 2562 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยร่างนโยบายรัฐบาลที่รวม “แกงโฮ๊ะ” จากทั้งหมด 19 พรรค มีทั้งหมด 41 หน้า จะเป็นการนำเสนอนโยบายภาพกว้างๆ

ดูกันคร่าวๆ จากภาพรวม ต้องถือว่าพรรคภูมิใจไทย ประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายสำคัญคือกัญชาเสรี ซึ่งมีเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงว่า “สนับสนุนให้มีการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ และให้นำไปใช้ช่วยเหลือในทางการแพทย์ หากจะนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีในกระทรวง” นี่ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการเดินหน้าและทำได้จริงตามที่ตกปากรับคำกับพี่น้องประชาชนตอนหาเสียง

ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้เขียนระบุไว้ในร่างนโยบายรัฐบาลในโค้งสุดท้าย ขณะที่ก่อนหน้ามีรายการขัดขาและเสียงค้านกันเองเซ็งแซ่ว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะมาพูดกันเรื่องนี้ในเวลานี้ แต่มีหรือที่ ปชป.พรรคการเมืองในตำนานสุดเขี้ยวจะยอมรามือง่ายๆ สุดท้ายก็ต้องยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญแปะเอาไว้ในนโยบายที่เตรียมแถลงด้วย

อย่างที่บอกแล้วว่า ผู้นำรัฐบาลอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ที่พัฒนาตัวเองจากนายทหารมาเป็นนักการเมืองนั้น มีลูกล่อลูกชน เล่นตามบทเป็นพอควร จึงไม่แปลกที่ร้อยละ 70 ของร่างนโยบายรัฐบาล 41 หน้า จะอัดแน่นไปด้วยนโยบายของ พปชร.ที่สืบสานต่อจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ชุดเดิม บวกเพิ่มกับนโยบายของอีกสองพรรคใหญ่ คือ ปชป.และ ภท. โดยครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ แก้ปัญหาปากท้อง, แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, นโยบายขายฝันสร้างอนาคตให้ประชาชน และการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า

ดูแล้วนโยบายเหล่านี้มีแต่ต้องยกนิ้วให้ ใครจะค้านจะวิจารณ์ก็หนักๆ ต้องเกรงใจพี่น้องประชาชนทั้งที่เลือกและไม่ได้เลือก พปชร. ซึ่งได้ประโยชน์จากนโยบายและโครงการอภิมหาประชานิยมกันถ้วนหน้า แถมมาครั้งนี้ยังอัดเม็ดเงินลงเต็มแม็กอีกต่างหาก

สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีในปีแรก คือ 1.นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ มีการสานต่อโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) นโยบายมารดาประชารัฐ นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ นโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน นโยบายแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย -ที่ดินทำกิน และค่าแรงขั้นต่ำ 2.นโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น การแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตร การส่งออกสินค้าทางการเกษตร และการทำอุโมงค์ส่งน้ำจากภาคเหนือไปยังภาคอีสาน ฯลฯ โดยกำหนดไว้เป็นภาพกว้างๆ

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูนโยบายของ 3 พรรคใหญ่ที่หาเสียงเอาไว้ พร้อมกับใส่เม็ดเงินให้เห็นจะจะ เพื่อดูดคะแนนเสียงช่วงเลือกตั้งจะเห็นว่าต้องใช้งบหลายแสนล้านเพื่อเปลี่ยนฝันกลางวันให้เป็นจริง เอาคร่าวๆ ในส่วนของ พปชร. เช่น โครงการ “มารดาประชารัฐ” ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท รวมสูงสุด 27,000 บาท ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาทจนครบ 6 ขวบ รวม 144,000 บาท รวมทั้งสิ้น 181,000 บาทต่อเด็ก 1 คน

ส่วนการพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น ประกันราคาข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน อ้อย 1,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกก. และค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน อาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน แต่เอาเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำถึงตอนนี้ยังไม่แถลงนโยบายก็เสียงเริ่มแผ่วลงเพราะหลายฝ่ายโดยเฉพาะฟากนายจ้างโอดโอยธุรกิจเจ๊งแน่ ไหนค่าครองชีพจะพุ่งสูงขึ้นตามค่าแรงอีกจะคุมกันอย่างไรไหว

ขณะที่ ปชป.ซึ่งคว้ากระทรวงเกรดเอสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งเกษตรฯและพาณิชย์นั้น วาดฝันให้ประชาชนคนไทยเคลิบเคลิ้มไปกับนโยบาย “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” หลากหลายโครงการตามที่หาเสียงไว้ เช่น เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หรือ “เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินแสน” 17,832 ล้านบาทต่อปี ค่าคลอด 5,000 บาท ค่าเลี้ยงดู 1,000 บาทต่อเดือนจนถึง 8 ขวบ เมื่อโครงการดำเนินไปครบ 8 ปี จะต้องใช้เงินเพิ่ม 59,000 ล้านบาทต่อปี

ส่วนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน 37,302 ล้านบาทต่อปี โดยจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 4.8% หรือ 393,600 คน ต้องใช้งบเพิ่มประมาณปีละ 4,700 ล้านบาท เบี้ยผู้ยากไร้ (บัตรคนจน) ได้รับเงินสดเพิ่มขึ้นรายละ 800 บาทต่อเดือน จำนวน 14.47 ล้านคน วงเงิน 68,794 ล้านบาทต่อปี เบี้ยคนพิการคนละ 1,000 บาทต่อเดือน จำนวน 2 ล้านราย วงเงิน 5,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับการประกันรายได้พืชผลเกษตร คร่าวๆ กะว่าต้องใช้เม็ดเงินมากถึงปีละแสนล้าน หากพืชเกษตรตามโครงการประกันรายได้มีราคาตกต่ำที่สุดพร้อมกันในรอบปี รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี ประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำจำนวน 50,000 ล้านบาทต่อปี

ยังมีเรียนฟรีถึง ปวส.ใช้งบประมาณ 23,852 ล้านบาทต่อปี อาหารเช้า-กลางวันถึง ม.3 จำนวน 28,441 ล้านบาทต่อปี เด็กทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ จำนวน 5,500 ล้านบาทต่อปี และยังมีศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีทั่วไทย 4,555 ล้านบาทต่อปี เพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 739 ล้านบาทต่อปี กองทุนน้ำชุมชน 30,000 ล้านบาทต่อปี และบ้านหลังแรก 20,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับงานด่วนงานแรกที่ต้องลงมือแก้ไขทันทีตามที่เสนาบดีจาก ปชป. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลั่นวาจาหลังเข้ารับตำแหน่ง ก็คือ ผลกระทบจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำที่ต้องทำควบคู่ไปกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีจาก ปชป. เช่นกันนั้น วางเป้าไปที่ยางพารา ซึ่งจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะและเจาะลึกลงไปถึงเบื้องลึกยางพาราราคาตกต่ำเพราะ 5 เสือส่งออกยางของไทย ถือต่างชาติเข้าซื้อกิจการแล้วสวมรอยเป็นนอมินีกดราคายางให้ต่ำเกินความจริงนั้น นายเฉลิมชัย จะเข้ามาคุ้ยแคะกำกับดูแลด้วยตัวเอง

เช่นเดียวกันกับเรื่องเร่งด่วนอีกเรื่องคือ ประมงพาณิชย์กับประมงพื้นบ้านที่ต้องตั้งคณะทำงานมาแก้ไขยกเครื่องกันทั้งระบบเช่นกัน งานนี้จึงถือเป็นเดิมพันอนาคตของปชป.อย่างน้อยก็เอาใจฐานเสียงในสนามการเมืองหลักภาคใต้ที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างเหนียวแน่นเพียงหนึ่งเดียว

ส่วน ภท. ซึ่งตีปี๊บ “กัญชาเสรี” แก้กฎหมายขนส่ง ทำให้ Grab Car ถูกกฎหมาย ชูการพัฒนาเมืองกีฬาคู่ท่องเที่ยวอย่างบุรีรัมย์โมเดล ถือว่าเป็นพรรคที่นำเสนอนโยบายได้ล้ำหน้า มีความแปลกแหวกแนวดึงดูดใจ โดยไม่ลืมนโยบายด้านการเกษตรที่มาแนวใหม่สร้างระบบแบ่งปันผลกำไร หรือ profit sharing ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะเกษตรกรคงงงๆ กันไม่น้อย มองภาพไม่ออกเหมือนกับการรับประกันราคาที่คุ้นเคยและเข้าใจง่าย

ส่วนนโยบายยกระดับ อสม. นั้น ภท. ไปไกลถึงกับจะยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำบ้านได้ค่าตอบแทน 2,500-10,000 บาท และยังเปย์สุดๆ ในนโยบายแก้หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มูลหนี้อยู่ 5 แสนล้านบาท ที่จะทำทั้งปลดภาระผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องใช้คนค้ำอีกต่อไป ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องมีเบี้ยปรับ และใช้ภาษีเงินได้ประจำปีมาหักลดยอดหนี้เงินกู้ได้ มีผ่อนคืนเงินต้น 10 ปี และพักหนี้ 5 ปี
กล่าวสำหรับนโยบาย “กัญชาเสรี” ซึ่ง “เสี่ยหนู” ออกแรงแข็งขันมาตลอดนั้นมีความแอคทีฟและชัดเจนเป็นที่สุด หนึ่ง คือ มีบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงในวันที่ 25 ก.ค.2562 นี้เป็นที่แน่นอน สอง มีความชัดเจนว่าเป็นการอนุญาตให้ใช้กัญชาสำหรับทางการแพทย์หรือการรักษาไม่ใช่เพื่อนันทนาการเอามันกันอย่างที่มีข่าวปล่อย สาม ต้องได้เห็นทุกครัวเรือนปลูกได้ 6 ต้น โดยส่วนนี้กำลังผลักดันให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ในการใช้ประโยชน์จากกัญชาที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ สี่ การเอาตำรับยากัญชาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ห้า “เสี่ยหนู” บอกชัดผลักดันกัญชาไม่ได้หวังแสวงหาประโยชน์ หากมีข้อสงสัยเจอกันได้ที่ชั้น 4 ตึก สป. (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

“ถ้าเราทำนโยบายนี้ไม่ได้ เราสูญพันธุ์อย่างแน่นอน ดังนั้นต้องทำให้สำเร็จ” นายอนุทิน ให้คำมั่น

“ผมยืนยันว่าการที่จะทำกัญชาเสรีก็ทำเพื่อส่วนรวมและทางการแพทย์ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำเพื่อความเฮฮา เพื่อนันทนาการ หรือเอาไป 'ปุ๊น' กันตามถนน หากใช้สมองคิดก็คิดได้อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งแรกที่เราต้องทำคือปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด และต้องผลักดันให้มีกฎหมายที่ใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างเสรี เป็นพืชวิสาหกิจชุมชน ทุกอย่างมีขั้นตอนที่ต้องทำ

“... เราต้องได้เห็นปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นอย่างแน่นอน เพราะพรรครู้มาตลอดว่านโยบายนี้ทำให้พรรคได้รับโอกาสเข้ามาในสภาครั้งนี้ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีพรรคภูมิใจไทยสมัยหน้า ....” นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา

การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรี “เสี่ยหนู” วางแผนจะใช้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เป็นกลไกสำคัญ โดยเสี่ยหนู บอกว่า การปลูกกัญชาถ้าปลูกในบ้านก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนโดยมี อสม.เป็นผู้ดูแล จะจัดอบรมให้ อสม.รับทราบข้อมูลปลูกอย่างไร ใช้เมล็ดพันธุ์อย่างไรและกินอย่างไร ฯลฯ จากนั้น อสม. จะไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อขยายผลการปลูกในบ้าน คาดว่าใช้เวลา1-2 ปี ก็จะเรียบร้อยทั้งหมด

พอ “เสี่ยหนู” เพลมว่าจะชูบทบาทของ อสม.เป็นทัพหน้ากัญชาเท่านั้นแหละ เพจ “Gossipสาสุข” ก็แซะ “เสี่ยหนู” จนทำให้เกิดอาการของขึ้นทันที โดยเพจสาสุข เม้าท์กระจายว่า “บุคลากรสาธารณสุขกุมขมับ! แผน “อนุทิน” ตั้ง อสม.เป็นผู้เผยแพร่ “กัญชา” ทั้งที่ สธ.ยังมีเรื่องอื่นให้ทำอีกแยะ” โดยร่ายยาวถึงการคิกออฟนโยบายเสรีกัญชาเพื่อการแพทย์ ที่มีทั้งเสียงขานรับและไม่รับ เจือปนด้วยความห่วงกังวลของบรรดาหมอๆ และสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ที่ยังสงวนท่าที

แต่ไฮไลท์ในการเม้าท์เสี่ยหนูคราวนี้อยู่ตรงที่ว่างานจำเป็นเร่งด่วนในระบบสาธารณสุขยังมีอีกหลายอย่าง ตั้งแต่การแก้ปัญหางบประมาณในระบบ การบรรจุบุคลากร การจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ แต่เสี่ยหนูและทีมงานจะมุ่งไปทางเดียวคือ พยายามเอาทรัพยากรทุกอย่างทุ่มไปทั้งหมด และเตรียมใช้สรรพกำลังถึงขั้นประกาศว่าจะอบรมการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์โดยเริ่มต้นจากการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศให้ทำหน้าที่ “โปรโมต” กัญชา เสมือนหนึ่งว่าเป็น “ทูตกัญชา” ด้วยการทดลองปลูกในบ้าน ในครัวเรือนของตัวเองก่อน

น่าสนใจอีกอย่างก็คือนอกจาก “เสี่ยหนู” จะให้ อสม.มีหน้าที่โปรโมตกัญชาแล้ว กระทรวงหมอยุคภูมิใจไทยยังติดอาวุธให้ อสม. มีบทบาทเป็น “หมอพื้นบ้าน” โดยเพิ่มเงินเดือนจาก 1,000 บาทให้เป็น 5,000 บาทอีกด้วย เท่ากับว่า อสม.ล้านคนจะมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดและได้รับ “ซีน” สำคัญในนโยบายหลักของภูมิใจไทยเกือบทั้งหมด โดยที่บรรดาหมอพยาบาลต่างก็พากันมองอยู่ห่างๆ

“... Gossipสาสุข ติเพื่อก่อ เพราะยังเห็นประโยชน์จากการใช้กัญชาในการรักษาโรค แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่กัญชา โดยไม่มองไปถึงปัญหาอื่นในระบบสุขภาพ ที่มีอีกร้อยแปด หากตั้งใจจะทำเรื่องกัญชาให้เป็นวาระระดับชาติ ก็ควรเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ประกาศแต่หัวข้อ ให้แฟนคลับดีใจ แต่เนื้อในยังจับต้องไม่ได้ และมีช่องโหว่อยู่เต็มไปหมด หวังว่า “เสี่ยหนู” และพรรคภูมิใจไทย จะมีเวลากลับไปนั่งคิดดีๆ อีกครั้ง ยกเว้นแต่จะมีผลประโยชน์อะไรแอบแฝง ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังเท่านั้นเอง”

เท่านั้นแหละ “เสี่ยหนู” ก็เม้นท์กลับทันทีใต้เพจ ในชื่อ Anutin Charnvirakul ว่า “เวลายังไม่ทราบอะไรทั้งหมดและยังไม่มีข้อมูลที่ครบ อย่าพึ่งไปสรุปอะไรที่ยังหาความจริงไม่ได้ ยืนยันว่าผมมาดี มาเพื่อทำให้ผู้รับบริการได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่คิดที่จะเข้ามาทำมาหากินเรื่องกัญชาอย่างที่พยายามสร้างเรื่องขึ้นมา มีอะไรสงสัย ห้องทำงาน รมว. สธ. อยู่ชั้น4 ตึก สป. พร้อมร่วมหารือตลอดเวลาครับ พูดคุยกันดีๆ มีทางออกแน่นอน”

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหา “การต่อต้าน” จาก “บุคลากร” ภายใน สธ.ที่ต้องยอมรับว่า ไม่ธรรมดา และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “หมอหนู” จะชี้นิ้วสั่งการด้วยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหมออย่างแน่นอน

นอกจากนี้ “หมอหนู” ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากเครือข่าย 12 องค์กร ประกอบด้วย มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) เครือข่ายผู้ป่วย (Healthy Forum) และ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อให้หมอพื้นบ้าน อ.เดชา ศิริภัทร ใช้รักษาผู้ป่วย กรณีจำเป็นเฉพาะราย อย่างต่อเนื่องและทันต่อความต้องการของผู้ป่วย พร้อมเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการ อย. ผ่านสูตรน้ำมันกัญชาของ อ.เดชา ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะถ้าจะว่าไปเรื่องนี้ก็มีส่วนเกี่ยวพันกับ “ผลประโยชน์” ก้อนมหึมา ดังที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย ตั้งประเด็นเอาไว้ว่า “สถานการณ์ปัจจุบันเป็นข้อสงสัยว่ามันมีกระบวนการผูกขาด ถ้าจริงใจต้องให้แพทย์แผนไทยใช้เลย ให้หมอไทยปลูกคนละ 6 ต้น อย่างที่ภูมิใจไทยประกาศ ใครเอาไปใช้ผิดยึดใบอนุญาตตลอดชีวิต แค่นี้คุมอยู่เลย ทำไมไม่ทำ กำลังทำเรื่องง่ายชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ ให้กลายเป็นเรื่องยากชาวบ้านพึ่งตัวเองไม่ได้”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นดรามารับเทศกาลงานแถลงนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ในเร็ววันนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องรับศึกซักถามจากฝ่ายค้านที่ตั้งธงโจมตีรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้า เช่น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ แม้แต่พรรคร่วมพวกเดียวกันยังเพลมพร้อมเข้าร่วมขย่ม อย่างที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เปรยว่า “... ประชาชนเขาจับตามองอยู่ อะไรๆ ที่สัญญากันไว้ ต้องเขียนเป็นนโยบายไว้ให้ชัดเจน ผมก็เช่นกัน จะขอทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน ตรวจสอบนโยบายและทวงสัญญาแทนประชาชน เจอกันในสภาปลายเดือนนี้”

เขย่ากันพอหอมปากหอมคอ สุดท้าย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันชัดว่าร่างนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภาแบ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนกับนโยบายทั่วไปที่จะหยิบขึ้นมาทำเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ส่วนถ้อยคำชัดๆ หรือขั้นตอนเป็นอย่างไรต้องรอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ดูแล้วก็พอใจ

ชวนพี่น้องชาวไทยติดตามกันต่อไปว่านโยบายทั้งหลายจะเป็นจริงจับต้องได้หรือขายฝัน “เรือเหล็ก ประยุทธ์ 2” กำลังออกจากฝั่งโต้คลื่นลมแรงในทะเลลึกอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น