xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เกมรื้อสัดส่วนผลิตไฟฟ้าใหม่ กฟผ. ดี๊ด๊า เอกชนตาตั้ง ก.พลังงาน – กพช. - ครม. ต้องมีคำตอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

การผลิตไฟฟ้าภายในความรับผิดชอบของ กฟผ.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จู่ๆ ก็มีเรื่องสุดระทึกเขย่าขวัญ “วงการพลังงาน” ชนิดที่ว่าฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ เพราะคล้อยหลังจบศึกชิงเก้าอี้เสนาบดีคุมกระทรวงพลังงาน ฝุ่นตลบยังไม่ทันจาง ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ทำเสมือนขว้างระเบิดลูกใหญ่เข้ากลางวง โดย “เสนอแนะ” ให้กระทรวงพลังงาน รื้อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 หรือเรียกง่ายๆ ว่า แผนพีดีพี 2018 ที่ทำ “บอนไซ” การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนเหลือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 51% เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ 2560 ฉุดราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าดำดิ่งทันที แต่ดีดขึ้นในอีกไม่กี่วันถัดมาเมื่อบรรดาโบรกเกอร์ประเมินว่าการปรับแก้แผนพีดีพีส่งผลกระทบแค่เล็กน้อย

                คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งออกมาในจังหวะเปลี่ยนผ่านเจ้ากระทรวงคนใหม่ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เฟส 2  สร้างความฉงนฉงาย มีข้อน่าสังเกตอยู่หลายประการ

ประการแรก คนที่ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ นายสุทธิพร ปทุมทวาภิบาล แม้จะจบดอกเตอร์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ สหรัฐฯ และเป็นอาจารย์สอนพิเศษทางด้าน INFORMATION TECHNOLOGY และวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยอัชสัมชัญบริหารธุรกิจ (เอแบค) แต่ไม่เคยเคลื่อนไหวในประเด็นด้านพลังงานมาก่อน ชื่อเสียงที่โด่งดังตามหน้าสื่อกลับเป็นช่วงเกิดศึกขัดแย้งในการชิงตำแหน่งอธิการบดีเอแบค เมื่อปี 2559 ระหว่างทีมนายสุทธิพร กับอีกขั้ว กระทั่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ  ขณะนั้น ต้องตั้งคณะกรรมการเข้าไปแก้ไขปัญหา
        
        ทั้งนี้ นายสุทธิพรได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบกรณีกระทรวงพลังงาน กำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในการให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 อันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 วรรคสอง โดยผู้ตรวจการฯ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 และใช้เวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนโดยไม่ชักช้า จนมีคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องร้องเรียนแดงเลขที่ 1030/2562 ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2562 โดยแจ้งให้นายสุทธิพร ทราบผลวินิจฉัย เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา
       
         ประเด็นที่สอง นโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับ กฟผ. เกิดขึ้นมานานแล้ว ปรากฏตามคำชี้แจงของกระทรวงพลังงาน ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า รัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบาทในการผลิตไฟฟ้าเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ไอพีพี, ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือเอสพีพี, และผู้ผลิตฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ วีเอสพีพี

ต่อมา เมื่อปี 2559 กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) คือ จัดหาพลังงานเพียงพอต่อความต้องการ มีความมั่นคงและส่งเสริมการลงทุน, การกำกับดูแลกิจการพลังงานและราคาพลังงาน, การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล โดยมีแผนพีดีพี พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งได้ปรับใหม่เป็นแผน PDP 2018 มีหลักการสำคัญ 3 ด้าน คือ เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้า, ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม, ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง
    
            ข้อมูลจากการประชุมปรึกษาหารือและขอทราบความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ยังทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับทราบว่า ปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตเพียงร้อยละ 37 และลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศดังกล่าวข้างต้น ที่เน้นให้บริษัทเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

ตัวเลขสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งหมายถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ตามแผน PDP 2018 ในระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าช่วงปี 2561-2580 โดยกำลังผลิตสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 46,090 เมกะวัตต์ (MW) กำลังผลิตที่ปลดออกปี 2561-2580 ที่ -25,310 MW กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 2561-2580 ที่ 56,431 MW ดังนั้นกำลังผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2580 ของ กฟผ.จะอยู่ที่ 77,211 MW โดยปี 2560 กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 34.9 แต่เมื่อถึงปี 2580 กฟผ.จะมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่แค่ร้อยละ 24 เท่านั้น

นั่นหมายความว่า พอถึงสิ้นปี 2580 กำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงตามที่กำหนดไว้ในแผน PDP 2018 จะเพิ่มขึ้นในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ดังนี้ VSPP ร้อยละ 25, กฟผ.ร้อยละ 24, IPP ร้อยละ 13, SPP ร้อยละ 11, การรับซื้อไฟจากต่างประเทศร้อยละ 11 และโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะให้ใครเป็นผู้ผลิตอีกร้อยละ 11 (ประมาณ 8,300 MW)

ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่รายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อว่า แม้จะนำโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ตัดสินว่าจะให้ใครผลิตอีกร้อยละ 11 มาให้ กฟผ.ทั้งหมดก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เท่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าปี 2560 ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่สัดส่วนร้อยละ 51 ดังนั้นการเพิ่มสัดส่วนให้ถึงร้อยละ 51 หมายถึงต้องรื้อแผน PDP 2018 แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบใน 20 ปีข้างหน้ามากกว่าร้อยละ 90 มีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าไว้กับ IPP-SPP-VSPP แล้ว
      
          ประเด็นที่สาม คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดูเหมือนจะเข้าท่าแต่ทว่ามาช้าเกินการณ์ ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า “ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า “....โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้....” ได้บัญญัติไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 84 (11) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ได้นิยามศัพท์คำว่า “กิจการไฟฟ้า หมายความว่า การผลิต การจัดให้ได้มาก การจัดส่ง การจำหน่ายไฟฟ้าหรือการควบคุมระบบไฟฟ้า” คำว่า “ระบบโครงข่ายไฟฟ้า หมายความว่า ระบบส่งไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายไฟฟ้า”  และคำว่า “ระบบไฟฟ้า หมายความว่า ระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติการและควบคุมของผู้รับใบอนุญาต”
“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่
“จากนิยามศัพท์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายไฟฟ้านั้น หมายความถึงทั้งระบบผลิต ระบบการส่ง และระบบการจำหน่ายไฟฟ้า เมื่อกิจการไฟฟ้าเป็นกิจการสาธารณูปโภคของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและเพื่อความมั่นคงของรัฐด้วยแล้ว รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้โครงสร้างหรือโครงข่ายไฟฟ้าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ ตามความในมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ 2560
          
      “แต่ข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า ปัจจุบันรัฐได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของรัฐ ซึ่งดำเนินการโดย กฟผ. มีเพียงร้อยละ 37 และลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้ว่าโครงสร้างหรือโครงข่ายไฟฟ้า หมายความถึงตั้งแต่ระบบการผลิต ระบบการส่ง และระบบการจำหน่ายทั้งหมดก็ตาม แต่การพิจารณาว่ารัฐต้องเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น จะต้องพิจารณาแต่ละส่วนแยกกัน กล่าวคือ “ระบบการผลิต” “ระบบการส่ง” และ “ระบบการจำหน่าย” รัฐจะต้องเป็นเจ้าของแต่ละส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด มิใช่นำเอาทั้งสามส่วนมารวมกันให้เกินกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด เพราะคำว่า “รัฐเป็นเจ้าของ” นั้น รัฐจะต้องมีอำนาจเข้าไปควบคุมและบริหารจัดการด้วย

                “กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากเป็นบริษัทเอกชนหรือบริษัทมหาชนจำกัด รัฐจะต้องถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด มิใช่ว่านำเอาสัดส่วนที่ถือหุ้นมารวมกันแล้วนำมาคิดถัวเฉลี่ยให้เกินกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด เช่นนี้ไม่อาจถือว่ารัฐเป็นเจ้าของ เนื่องจากรัฐไม่มีอำนาจตัดสินใจและไม่มีอำนาจเข้าไปควบคุมกิจการดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่รัฐเปิดให้บริษัทเอกชนหรือบริษัทมหาชนจำกัดผลิตไฟฟ้าแล้วรัฐซื้อไฟฟ้าจากบริษัทดังกล่าวมาจำหน่ายให้ประชาชนอีกทอดหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่ารัฐเป็นเจ้าของระบบการผลิตไฟฟ้า แม้ว่ารัฐจะเป็นเจ้าของระบบการส่งและระบบการจำหน่ายเกือบทั้งหมดก็ตาม”
            
    คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุด้วยว่าเมื่อรัฐมิได้เป็นเจ้าของระบบการผลิตย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและส่งผลต่อสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐมีน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด ย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ารัฐได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลซื้อไฟฟ้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ย่อมมีความเสี่ยงและกระทบต่อสัดส่วนการผลิตของรัฐในอนาคตที่จะน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอแนะต่อกระทรวงพลังงาน ให้พิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพีดีพี 2015 (2558-2579)ซึ่งปรับแผนใหม่มาเป็นแผนพีดีพี 2018 (2561-2580) เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดตามรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้แจ้งผลการวินิจฉัย และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด ภายในกำหนด 10 ปี นับจากพ.ศ. 2562 ลงนามคำวินิจฉัย โดย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, นายบูรณ์ ฐาปนดุล และนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน
            
    ประเด็นที่สี่ ข้อสังเกตต่อท่าทีของกระทรวงพลังงาน ต่อคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดูเหมือนไม่ได้มีอะไรน่าตื่นตระหนก โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน จะเร่งพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวตามขั้นตอน และย้ำว่าการดำเนินงานตามแผน PDP ที่ผ่านมา ซึ่งให้เอกชนมีบทบาทร่วมในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงประกาศในแผน PDP 2010 เมื่อปี 2553 แผน PDP 2015 ปี 2558 และล่าสุด PDP 2018 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 นั้น เป็นการดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด
         
       นั่นหมายถึงกระทรวงพลังงาน เป็นผู้เสนอยุทธศาสตร์พลังงานและหน่วยหลักในการจัดทำแผนพีดีพี ก็จริง แต่ทั้งยุทธศาสตร์และแผนการผลิตไฟฟ้า ล้วนผ่านการเห็นชอบจาก กพช. และ ครม. ทั้งสิ้น
           
     ประการที่ห้า “ข้อเสนอแนะ” ของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจบังคับให้กระทรวงพลังงาน ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ เมื่อพิจารณาตาม พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 230 (3) ซึ่งกำหนดไว้ว่า “.... ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดําเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม (๑) หรือ (๒) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรต่อไป และ มาตรา 231 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๓๐ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้....”

ในประเด็นนี้ นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ให้ความเห็นว่า หากกระทรวงพลังงาน เห็นควรปรับปรุงแผนพีดีพี 2018 ก็สามารถเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปลี่ยนแปลงนโยบายและสั่งการมายังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาปรับเปลี่ยนได้ แต่หากกระทรวงพลังงาน เห็นว่าไม่จำเป็นต้องปรับแผนพีดีพี 2018 ก็ได้เช่นกัน แต่ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็สามารถที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้ตามมาตรา 56 วรรค 2 ได้ ซึ่งหากศาลฯ มีคำวินิจฉัยมาเช่นใดกระทรวงพลังงาน ต้องปฏิบัติตาม

ประการที่หก การเคลื่อนไหวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ. (สร.กฟผ.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ให้รับและแก้ไขให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยตัวเลข ณ. 31 พ.ค 2562 กฟผ.ผลิตไฟลดลงเหลือเพียง 34% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าบริษัทเอกชนที่รัฐบาลอนุมัติให้ผลิตไฟฟ้าขายให้กฟผ. รัฐบาลจึงสมควรต้องปรับสัดส่วนในแผนPDP เสียใหม่ โดยยุติการอนุมัติให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกในระยะ10 ปีนี้

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ตามแผนPDP ยังกำหนดให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกกว่า 2 หมื่นเมกกะวัตต์ ซึ่งตามแผนเดิม ก็มีเอกชนเตรียมเข้ามาชิงสัญญาผลิตไฟฟ้าขายรัฐ ซึ่งจะให้เอกชนทำไม่ได้จากคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน หากรัฐบาลยังจะขืนอนุมัติให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าอีก ก็จะไม่สามารถทำให้การผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 51% ภายใน 10 ปี

ตามมาด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ที่ย้ำว่า รัฐจะต้องไม่ทำการใดที่มีผลให้สัดส่วนของ กฟผ. ลดลงกว่าปัจจุบัน 

เช่นเดียวกันกับนายไกรสีห์ กรรณสูต อดีตผู้ว่าการ กฟผ. ที่มีความเห็นว่า กฟผ.ต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50% เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าโดยตรง และพร้อมส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าด้วย ....

ประการที่เจ็ด ในมุมมองจากนายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเชื่อว่าระบบกลไกของภาคพลังงานไทยมีความเข้มแข็งมากเพียงพอที่จะไม่ให้มีกลุ่มใดเข้ามาหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเข้ามาบริหารงานในกระทรวงพลังงานได้ ข่าวการแย่งชิงตำแหน่งรมว.พลังงาน ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีการเข้ามาหาประโยชน์ส่วนตัวจากงานของกระทรวง ตนในฐานะที่เคยเป็นรมว.พลังงาน ยืนยันว่า ระบบกลไกต่างๆ ของภาคพลังงานของไทย ได้มีการสร้างกันขึ้นมาหลายสิบปี จนเป็นภาคเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากที่สุดภาคหนึ่งของเศรษฐกิจไทย เป็นที่ยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอาเซียน

ส่วนเรื่องไฟฟ้า มีนโยบายให้เอกชนมาร่วมผลิตนานแล้ว โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เป็นหลัก กฟผ.เองก็ไปตั้งบริษัทไฟฟ้าเอกชน เช่น บริษัทราช กรุ๊ป (RATCH) และบริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO) มีการให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้า เริ่มจากนิคมอุตสาหกรรม เพราะตอนนั้นกฟผ.ผลิตไฟฟ้าไม่ได้มากพอ และนิคมฯก็ต้องใช้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ โรงไฟฟ้าเลยผลิตทั้ง 2 อย่าง เรียกว่าระบบโคเจนเนอเรชั่น ต่อมาก็มีการอนุญาตให้เอกชนผลิตมากขึ้น ทั้งการใช้เชื้อเพลิงปกติ และที่เป็นพลังงานทดแทน รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และรายเล็ก (SPP)

การจะอนุญาตให้เอกชนผลิตไฟฟ้า ไทยก็มีระบบตั้งแต่การกำหนดแผนการผลิตไฟฟ้าระยะยาว โดยกพช. การออกใบอนุญาตการผลิต ก็จะมีกกพ. ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งอิสระ คือเป็น Regulator กำกับราคาที่เอกชนจะขายให้ภาครัฐที่เป็นผู้ซื้อไฟฟ้า ซึ่งราคานี้จะต่างกัน จากแหล่งผลิตที่ต่างกัน กกพ.จะนำมาเฉลี่ยโดยการถ่วงน้ำหนักและออกมาเป็นค่าไฟฟ้า ที่คนไทยทั้งประเทศใช้ราคาเดียวกัน ค่าไฟที่ถูกสุด เมื่อระบบที่มี Regulator เป็นแบบนี้ ใครจะหาประโยชน์ส่วนตัวจากการให้ใบอนุญาต ถึงแม้อาจจะยังทำได้แต่ก็เชื่อว่าไม่ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม หลังมีคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินออกมา ทำให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าซื้อขายจำนวนมากแต่อยู่ในแดนลบ ปิดตลาดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2562 บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด มูลค่าการซื้อขาย 4,821.23 ล้านบาท ลดลง -3.00 บาท คิดเป็น -2.33% ตามมาด้วยอันดับ 2 บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC มูลค่าการซื้อขาย 4,198.29 ล้านบาท ลดลง -2.50 บาท คิดเป็น -3.48%

อย่างไรก็ตาม แรงตระหนกเทขายหุ้นโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ เพราะในวันต่อๆ มา บรรดาโบรกเกอร์ ต่างประเมินว่าการปรับแผนพีดีพี เพิ่มสัดส่วนให้กฟผ.เพิ่มการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% เป็นไปได้ยาก เนื่องจากผ่านการเห็นชอบจาก กพช.และ ครม.ไปแล้ว

“... หากจะมีการแก้แผนพีดีพีใหม่ ก็เชื่อว่าไม่มีผลต่ออุตสาหกรรมรุนแรง โดยแนะนำ GULF และ BGRIM ยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจในกลุ่มโรงไฟฟ้า” นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ให้ความเห็น

รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าหุ้นโรงไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้มีปัจจัยลบจากกรณีดังกล่าวเข้ามากดดัน แต่โดยภาพรวมเป็นการปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

  นี่เป็นงานช้างสำหรับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน คนใหม่ ซึ่งอาจจะใหญ่มากกระทั่งนายกฯ "ลุงตู่" ต้องเข้ามากำหนดทิศทางแผนพีดีพีฉบับใหม่ในฐานะประธาน กพช. ที่กำกับดูแลมาตั้งแต่เริ่มต้นจนบัดนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น