ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นข่าว “ทุจริตโครงการอาหารกลางวันนักเรียน” ทีไรก็เจ็บแปล๊บในหัวใจทุกที และเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมถึงได้ปล่อยให้ “โกงซ้ำซาก” และไม่มีมาตรการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเสียที
แน่นอน จำเลยของเรื่องนี้จะเป็นใครเสียมิได้นอกจาก “กระทรวงมหาดไทย” ในฐานะผู้ดูแลงบประมาณ โดยมี “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)” เป็นผู้รับผิดชอบ และ “กระทรวงศึกษาธิการ” ในฐานะสถานศึกษาต้นสังกัดของเด็กๆ ในการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ปัญหาทุจริตอาหารกลางวันเด็กปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นกรณีคลิปที่มีการเผยแพร่ภาพเด็กอนุบาลนั่งกิน “ขนมจีนคลุกน้ำปลา” ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือล่าสุด กรณี “โรงเรียนในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ที่มีการออกมาแฉเรื่อง “วิญญาณไก่ต้มฟัก” รวมถึงการที่ ป.ป.ช.ระบุออกมาว่ามี “โรงเรียน 3-4 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา” เข้าข่ายทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน
กล่าวสำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนนั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2495 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนในสังกัดตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นที่มุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก และในปี 2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) ในขณะนั้น ได้กำหนดนโยบายให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน กระทั่งต่อมาในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 กำหนดให้มี พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในนักเรียนประถมศึกษาปี 2535 และได้จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาวงเงิน 6,000 ล้านบาท
จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ก่อนที่จะโอนงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการไปให้ “กระทรวงมหาดไทย” ดูแลในปีงบประมาณ 2544 ตามกฎหมายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
ปัจจุบัน โครงการอาหารกลางวันจัดสรรเงินให้เด็กรายละ 20 บาท ใช้งบประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 5 ล้านคน โดยเป็นนักเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลหมื่นกว่าแห่งและสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 30,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ
ปี 2561 ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจต่อกรณีทุจริตโครงการอาหารกลางวันว่า “ได้สั่งให้ลงโทษ ผมก็คาดโทษไปแล้ว ถามว่ายังมีเรื่องอย่างนี้อยู่ได้อย่างไร บางโรงเรียนก็มีความผิดอยู่หลายประการ แล้วทำไมยังปล่อยอยู่ ผมกำชับไปแล้วให้ไปสอบสวนดู และด้วยจิตสำนึกของการเป็น ผอ.การเป็นผู้บริหาร ต้องสำนึกว่างบประมาณที่ออกไปนั้นผลประโยชน์อยู่กับใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ ทำไปไปเอาเปรียบเขาขนาดนั้น”
ขณะที่ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็สั่งให้มีการตรวจสอบอาหารกลางวันโรงเรียนทุกตำบล รวมถึง “หมอธี-นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นที่ออกคำสั่งให้ “ล้างบาง”
ทว่า ปัญหาก็ยังไม่รู้จักจบจักสิ้น และปี 2562 นายกฯ ลุงตู่และบิ๊กป๊อกที่รั้งตำแหน่งเดิม(เพิ่มเติมคือลุงตู่ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีก 1 ตำแหน่ง) และ “หมอธี” ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปก็ต้องวนเวียนมาเจอกับเรื่องเดิมๆ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
“นายกฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเด็กนักเรียนและเยาวชนเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชาติ และการศึกษาเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศเช่นกันสำหรับลักษณะที่เข้าข่ายการทุจริตนั้นพบว่า มีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น มีงบ 10,000 บาท แต่ซื้อไม่ถึง ทำให้มีส่วนต่างเกิดขึ้น และผู้บริหารตอบไม่ได้ว่าเงินส่วนต่างหายไปไหน นอกจากนี้บางแห่งนำอาหารกลางวันไปเลี้ยงนักเรียนทั้งหมด ทั้งชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมถึงครูด้วย ทั้งที่โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อนักเรียนชั้นประถมเท่านั้น ทำให้เมนูอาหารแต่ละมื้อไม่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เป็นต้น”พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อห่วงใยของนายกฯ ลุงตู่ ที่ได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลและตรวจสอบทุกโรงเรียนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด(อีกครั้ง)
คำถามก็คือ ทำไมทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการ “ลงโทษ” ผู้กระทำผิดให้เห็นมาแล้ว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีมติชี้มูลความผิดบรรดา ผอ.โรงเรียน-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องในการทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็กไปแล้วก่อนหน้านี้อย่างน้อย 8 ราย แต่ทำไม “คนโกง” ถึงไม่เกรงกลัว หรือว่าจะมีช่องว่างช่องโหว่อะไรที่ยั่วยวนจนยากที่จะห้ามใจ หรือไม่ รวมถึงต้องตั้งคำถามถึง “ระบบการตรวจสอบ” ที่น่าจะมีปัญหาพอสมควร และเป็นปัญหาที่มีหลากหลายระดับอีกต่างหาก
ปัญหาแรกคือเรื่อง “การจัดสรร” และ “การตรวจสอบ” การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน
จากการติดตามข้อมูลย้อนหลังพบว่า ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ทวงถามความคืบหน้ารายงานผลการตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงาน โครงการอาหารกลางวันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ใน 76 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เนื่องจากเป็นไปอย่างล่าช้า และมีมากกว่าครึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยจาก “นายสุเทพ ชิตยวงษ์” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ด้วยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันที่ จ.ขอนแก่น พบว่ามีประมาณ 20 กว่าโรงเรียนยังไม่ได้รับงบ จึงขอให้ทาง สพท.ประสานไปยัง อปท.เพื่อแก้ปัญหาต่อไป
นั่นแสดงว่า ปัญหามีอยู่จริง และปัญหาก็ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ไม่น้อย ทั้งในระดับกระทรวงต่อกระทรวง และระดับหน่วยงานต่อหน่วยงานด้วยกันเอง
“นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) ชี้แจงแถลงไขเอาไว้ว่า หลังจากปี 2561 ที่ปรากฏข่าวดังกล่าวออกมาเป็นครั้งแรกๆ ได้มีการกำชับมาตรการการทุจริตงบประมาณแล้ว แต่พบว่าหลายพื้นที่ไม่ปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง โดยกรมจะมุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ส่วนโรงเรียนในสังกัด สพฐ.แม้ว่าจะได้รับงบประมาณอุดหนุนจาก อปท.แต่โดยมารยาทก็ต้องให้อำนาจหน่วยงานต้นสังกัดมีหน้าที่บริหารจัดการให้เหมาะสม
อย่างไรก็ดีในอนาคตมีแนวทางจะให้ทุกโรงเรียนเข้าสู่ระบบคู่มือระบบการจัดเมนูอาหารกลางวันหรือ Thai School Lunch เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน
นอกเหนือจากเรื่องมาตรการกำกับ ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ “รูปแบบ และวิธีในการจัดทำอาหารกลางวันให้นักเรียน” ว่ามีช่องว่างหรือช่องโหว่อะไรหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่จะดำเนินการจัดหาอาหารกลางวันอยู่ 2-3 วิธีตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ ทั้งวิธีการจ้างเหมาทำอาหารดังที่ตกเป็นข่าวที่ “นครศรีธรรมราช” การจัดซื้ออาหารสดและอาหารแห้งมาประกอบอาหารเอง ขณะที่บางแห่งจะแจกเป็น “คูปอง” ให้ซื้อจากผู้ขายอาหารในโรงเรียน
ขณะที่รูปแบบการโกงส่วนใหญ่ เป็นการใช้ “วิชามาร” จัดซื้ออาหารไม่ครบตามจำนวนเงิน เช่น เบิกงบซื้ออาหาร 10,000 บาท แต่ซื้อเพียงครึ่งเดียวแค่ 5,000-6,000 บาท ทำให้มีส่วนต่างเกิดขึ้น ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนตอบไม่ได้ว่าเงินส่วนต่างหายไปไหน บางแห่งอ้างว่าเอาไว้ใช้ในกิจการอื่น ถือเป็นการทุจริตเพราะจะเอาไปใช้อย่างอื่นไม่ได้
ส่วนระบบ “รับเหมา” ก็น่าจะมีเรื่องที่จะต้องตรวจสอบไม่น้อยเช่นกันว่า มีเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังอะไรหรือไม่ ดังกรณีปัญหาที่นครศรีธรรมราช ซึ่งาพบว่า โรงเรียนที่มีปัญหาใช้ระบบรับเหมาให้เอกชนคือ “บริษัท ส.รัตนภิญโญ จำกัด” เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งนอกจากโรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ เทศบาลนคร (ทน.) แล้ว บริษัทแห่งนี้ยังทำอาหารกลางวันส่งโรงเรียนเทศบาลวัดท้าวโคตร และโรงเรียนท่าเรือมิตรภาพอีกด้วย
คำถามคือ บริษัทเหล่านี้เข้ามารับจ้างทำอาหารได้อย่างไร
คำตอบก็คือ ก็ต้องมีการจัดทำ “ทีโออาร์” ต้องผ่าน “การประมูล” และการประมูลตามระเบียบพัสดุก็ต้องมี “คู่เทียบ”
มีอะไรนอกเหนือจากนี้หรือไม่?
กล่าวเฉพาะ “บริษัท ส.รัตนภิญโญ จำกัด” พบว่า มีความน่าสนใจมาก
ทั้งนี้ 8 โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครศรีธรรมราช จากทั้งหมด 10 โรงเรียน มีงบอาหารกลางวันปี 2562 รวมกัน 37.48 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มใช้เอกชนคู่เทียบชุดเดียวกันเข้าประมูลงาน และใช้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแต่เพียงในนามเท่านั้น
จากการตรวจสอบกลุ่มแรก ที่มี 2 โรงเรียน คือ (1) โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ ที่ปรากฏในคลิป และ (2) โรงเรียนเทศบาลวัดท้าวโคตร ซึ่งได้งบรวม 9,492,000 บาท เรียกเอกชนเข้าคัดเลือก 3 ราย เหมือนกันทั้ง 2 โรงเรียน คือ (1) บริษัท นครศรี เอ็กคลูซีฟ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (2) บริษัท เอส.พี.ซี. 2009 จำกัด และ (3) ส.รัตนภิญโญ
กลุ่มนี้ ส.รัตนภิญโญ ได้งานไปทั้ง 2 แห่ง วงเงินสัญญารวม 9,491,000 บาท เสนอลดราคาให้โรงเรียนละ 500 บาท รวม 2 แห่งลดไป 1,000 บาทถ้วน
แต่ที่น่าสนใจคือ พบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บ.นครศรี เอ็กคลูซีฟ ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุวัตถุประสงค์ในการส่งงบการเงินปีล่าสุดว่าประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์ www.matchlink.asia/th ระบุว่า บริษัท นครศรี เอ็กคลูซีฟ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและบริการเก็บขยะ
ส่วนบริษัท เอส.พี.ซี. 2009 จำกัด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ตั้งอยู่ ต.ท่ายาง อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช อยู่ห่างจาก อ.เมืองนครศรีธรรมราช ประมาณ 70 กิโลเมตร ระบุวัตถุประสงค์ในการส่งงบการเงินปีล่าสุด ว่า กิจกรรมงานสถาปัตยกรรมและการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้อง และบริษัท ส.รัตนภิญโญ จำกัด ที่ชนะการประมูลนั้น ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ประกอบกิจการการขายส่งสินค้าทั่วไป
จากข้อมูลดังกล่าวคงทำให้พอเห็น “เรื่องราวบางประการ” ได้เป็นอย่างดี
ส่วนกลุ่มที่สอง มี 4 โรงเรียน คือโรงเรียนเทศบาลวัดเสาธงทอง โรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ โรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย และโรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง งบประมาณรวม 23,764,000 บาท มีเอกชนเข้าแข่งขัน 3 เจ้าเช่นกัน และบริษัทบุญยงค์บริการได้ไปทั้ง 4 โรงเรียน
และกลุ่มสุดท้าย มี 2 โรงเรียน คือ (1) โรงเรียนเทศบาลวัดเสาธงทอง และ (2) โรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช งบรวม 4,232,000 บาท เรียกมา 3 รายเหมือนกัน คือ (1) นัยนา (2) เกรซ และ(3) ประภัสสร โดยเกรซได้งานไปทั้ง 2 แห่ง วงเงินสัญญารวม 4,126,200 บาท แต่กรณีนี้เสนอลดให้สูงถึง 105,800 บาท
นางสุรีย์ รัตนภิญโญ ผู้บริหารบริษัท ส.รัตนภิญโญ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามกรอบของทีโออาร์ทุกประการ และยังทำมากกว่าไปด้วยซ้ำ มีการร้องขอให้ผลิตข้าวต้มสำหรับเด็กทุกเช้า ผู้รับจ้างพร้อมทำให้ทั้งๆ ที่เป็นงานนอกทีโออาร์ หลังจากนี้อาจต้องขอยุติงานที่ร้องขอนอกทีโออาร์ จะทำให้เต็มที่เฉพาะในทีโอร์อาร์เท่านั้น
ขณะที่นางทิพวรรณ อุตรภาส หัวหน้าครัวของบริษัท ส.รัตนภิญโญ ซึ่งอ้างว่าเคยเป็นแม่ครัวของโรงเรียน ยืนยันว่า การผลิตอาหารส่งทุกโรงเรียนเป็นไปอย่างมีคุณภาพและเพียงพอ แตกต่างกับการผลิตของโรงเรียน ซึ่งมีมาก่อน ตนเมื่อครั้งเป็นแม่ครัวของโรงเรียนเคยใช้เนื้อไก่แค่ 25 กิโลกรัม แต่การผลิตของผู้รับจ้างใช้มากกว่านั้นถึง 3 เท่าตัว และทุกครั้งที่ส่งมอบจะมีการตรวจรับอย่างถูกต้อง อาหารที่ส่งมากเพียงพอที่จะให้ครูรับประทานไปด้วยกันกับเด็กพร้อมกันด้วยซ้ำ
“จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนต้องตั้งคำถามกลับไปว่าสาเหตุที่อาหารเด็กไม่เพียงพอเกิดจากการตักแบ่งของคนในโรงเรียนหรือไม่ มีการบรรจุใส่ถุงใช่หรือไม่ การสอบสวนต้องเกิดขึ้นในประเด็นนี้ด้วย และยืนยันว่า โรงเรียนไม่เคยแจ้งกลับมาว่าอาหารไม่ได้คุณภาพหรือปริมาณไม่เพียงพอ” นางทิพวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบอาหารของบริษัทแห่งนี้จะยืนยันว่าอาหารมีคุณภาพ และส่งมอบครบถ้วนตามขอบเขตงานสัญญาจ้าง แต่ก่อนหน้านี้ พบบันทึกการตรวจสอบการตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้าง ลงวันที่ 15 มิ.ย.2562 โดยการตรวจรับของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ซึ่งเป็นการส่งมอบงวดที่ 2 สำหรับอาหารระหว่างวันที่ 1-15 มิ.ย.2562 วงเงิน 315,900 บาท ได้ระบุผลการตรวจรับมีการตรวจสอบอย่างถูกต้อง แต่ไม่ครบถ้วนตามสัญญา
รวมทั้งเมื่อสุ่มตรวจสอบเอกสารบันทึกคุณภาพอาหารประจำวันในช่วงเดือน มิ.ย.2562 ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา พบว่ามีการตรวจสอบพบอาหารที่ไม่ได้คุณภาพครบถ้วนตามหลักโภชนาการหลายวันด้วยกัน เช่น อาหารไม่เพียงพอ อาหารไม่ได้คุณภาพ โปรตีนน้อยกว่าที่ควร เนื้อไก่ไม่เพียงพอกับนักเรียน มีจำนวนน้อย หรือบางรายการ พบว่า มีเกลือสูง ข้าวเปียก เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้ผู้บริหารบางคนทราบดี แต่กลับไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนเรื่องกลายเป็นประเด็นขึ้น
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งปัญหาที่น่าสนใจก็คือตัวเลขงบประมาณ “20 บาทต่อหัว” นั้นเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่อง “คุณภาพ” ของอาหาร ดังที่มีเสียงสะท้อนจากผู้รับเหมาทำอาหารในโครงการอาหารกลางวันรายหนึ่งว่า “หากจะได้โครงการอาหารกลางวันมี่คุณภาพมากขึ้นควรเพิ่มให้อีกหัวละ 5 บาท”
ทั้งนี้ เมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลไปที่ “Thai School Lunch หรือระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนอัตโนมัติ” ก็พบว่า มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะได้มีการวางระบบและคำแนะนำในการจัดอาหารให้กับเด็กๆ เอาไว้อย่างมีคุณภาพสอดรับกับงบประมาณที่ได้รับ
“จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี” ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า งบประมาณที่จัดให้ 20 บาทนั้นเพียงพอสำหรับการจัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพได้ เพียงแต่ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่รับผิดชอบใช้เมนูอาหารกลางวันตาม Thai School Lunch ที่จัดขึ้น ตามโครงการเด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้า นักโภชนาการ ที่ต้องการให้เด็กไทยมีร่างกายสมบูรณ์ ดูแลเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงให้มีร่างกายที่แข็งแรง มีการพัฒนาทางสมองและร่างกายอย่างสมวัย รวมถึงให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดีทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน
“แม้ว่างบประมาณจะยังอยู่ที่ 20 บาทต่อคน แต่หากบริหารจัดการที่ดีเพียงพอก็สามารถสร้างเมนูอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ การสร้างนักโภชนาการท้องถิ่นเพื่อให้คำแนะนำในการจัดการอาหาร สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันให้มีการบรรจุตำแหน่งนักโภชนาการประจำชุมชนโดยมีงบประมาณการจ้าง หรือมีตำแหน่งประจำในแต่ละท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันให้แก่เยาวชนได้ดีขึ้น”
...ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจะไม่เกิดเลยถ้า “ผู้มีอำนาจ” ไม่คิดคดหรือปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะเรื่อง “อาหารกลางวัน” ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ “เด็กๆ” และเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น
ดังนั้น จึงต้องฝากการบ้านกับ “ลุงตู่” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ฝากการบ้านกับ “บิ๊กป๊อก”ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และฝากการบ้านกับ “เดอะตั้น-ณัฏพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ช่วยเข้มงวดกวดขันเพื่อ “หยุดการโกงอาหารกลางวันเด็ก” ให้ได้