ช่างถูกเวลาจริงๆ ที่รายงาน “ลับ” ของเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำดี.ซี. เซอร์คิม ดาร์รอค (Sir Kim Darroch) เกิดรั่วขึ้นมา แล้วไปปรากฏหราในหน้า 1 ของนสพ.เดลิเมล์ของอังกฤษฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคมนี้เอง
เพราะเป็นรายงานลับที่ทูตต้องทำรายงานประจำส่งมาให้แก่กระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ และกรณีนี้เนื้อหาลบมากๆ กับตัวประธานาธิบดีทรัมป์ และแก่นโยบายต่างประเทศของเขาและของรัฐบาลของเขา
ที่ว่าถูกเวลา เพราะนายทรัมป์เพิ่งประกาศตัวลงสมัครเป็นปธน.อีกวาระ ด้วยความมั่นอกมั่นใจมากๆ ว่าเหล่าฐานเสียงที่หัวปักหัวปำของเขา จะส่งเขาเข้าทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังดีมากอยู่ (ก่อนที่จะหัวทิ่มในอีกไม่ช้า) และ ส.ส./ส.ว.รีพับลิกันก็นั่งปิดปากเงียบยอมตามทรัมป์ทุกอย่างขณะนี้
เมื่อรายงานลับนี้เปิดเผยออกมา ก็น่าจะดึงคะแนนนิยมของทรัมป์ลงไปได้บ้างทีเดียว เพราะก่อนนั้น ฝ่ายผู้หญิงของรีพับลิกัน (ส่วนใหญ่เป็นอนุรักษนิยม และไม่ชอบสามีที่เจ้าชู้เกินเหตุ และไม่พอใจกับพฤติกรรมซ้ำซากของทรัมป์ที่นอกใจภรรยาอยู่เสมอ รวมทั้งการดูถูกผู้หญิง) ถึงกับไม่ออกจากบ้านเพื่อลงคะแนนให้กับผู้สมัคร(ซ่อม) ส.ส./ส.ว.รีพับลิกัน ที่นายทรัมป์ให้การสนับสนุนเมื่อปีที่แล้ว หลังจากข่าวฉาวของทรัมป์เพิ่งถูกตีแผ่ออกมามากขึ้น
คราวนี้ เนื้อหาในรายงานลับของเซอร์คิม บอกว่า ทรัมป์มีลักษณะงี่เง่า, อ่อนหัด, มือไม่ถึงในการบริหารราชการ, ในนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งขาดความมั่นใจในการบริหารด้วยซ้ำ
เซอร์คิม ได้ตบท้ายด้วยว่า สหราชอาณาจักรยังไม่ควรตัดหรือไม่นำพากับทรัมป์เสียทีเดียว เพราะมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งในรอบที่สองกลับเข้าทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่ง; เพราะส่วนใหญ่ปธน.มักอยู่ 2 สมัย-มีก็แต่จิมมี คาร์เตอร์-ที่โดนมรสุมช่วงโคมัยนีกลับมายึดประเทศอิหร่านจากพระเจ้าชาห์; และจิมมี คาร์เตอร์ ไม่สามารถแก้วิกฤตอิหร่านที่สถานทูตสหรัฐฯ ถูกยึดถึง 444 วัน โดยฝ่ายนักศึกษาที่โค่นพระเจ้าชาห์ ทำให้คาร์เตอร์อยู่ในทำเนียบขาวได้เพียงสมัยเดียว; และอดีตปธน.บุช ผู้พ่อ ซึ่งแม้ชนะสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่เศรษฐกิจไม่ดีและบุชต้องกลืนน้ำลายตนเอง โดยต้องขึ้นภาษี-ทำให้บุชอยู่ในตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว
บางช่วงของบันทึกลับของเซอร์คิม ที่รายงานเข้ากระทรวงต่างประเทศ มีว่า “คณะทูตอังกฤษไม่เชื่อเลยว่า รัฐบาลทรัมป์จะมีความสามารถที่จะปรับปรุงการบริหารงานจนเข้าขั้นมาตรฐานได้-ที่จะบริหารอย่างปกติวิสัยได้-ที่จะลดความคาดเดาได้ยากลงบ้าง-ที่จะลดความแตกแยกภายในลงได้บ้าง; ที่จะลดความเซ่อซ่างี่เง่าด้านการทูตลงได้บ้าง
เซอร์คิม ได้รายงานในบันทึก ถึงความแตกแยกภายในคณะบริหารของทรัมป์ที่ทำเนียบขาว ว่ามีการโจมตีทะเลาะกันขนาดพกมีดจ้วงแทงกันต่อหน้าต่อตาทีเดียว (น่าจะเป็นการต่อสู้กันด้วยวาจา และแทงกันข้างหน้าและข้างหลังนั่นเอง)
เขายังสรุปด้วยว่า อาจจะมีโอกาสด้วยที่จะมีข่าวร้ายเรื่องการร่วมมือสมคบของทีมทรัมป์กับรัสเซีย (กรณีรายงานสอบสวนของอัยการพิเศษ Mueller)
กรณีที่ทรัมป์สั่งยิงฐานขีปนาวุธของอิหร่าน (หลังจากอิหร่านยิงโดรนของสหรัฐฯ ตก-ที่อิหร่านกล่าวหาว่า ล่วงล้ำเข้ามาในเขตน่านฟ้าของอิหร่าน) ท่านทูตเซอร์คิม ได้รายงานลับเข้ากระทรวงในบันทึกลับลงวันที่ 22 มิถุนายนนี้ว่า “มีโอกาสน้อยมากที่นโยบายของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านจะมีแก่นสารเป็นหนึ่งเดียวกัน (Coherent) ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะทีมงานของทรัมป์มีความแตกแยกทางนโยบายสูงมาก” รวมทั้งกรณีที่ทรัมป์หมุน 180 องศาสั่งระงับการยิงฐานขีปนาวุธของอิหร่านใน 10 นาทีสุดท้ายก่อนจรวดของสหรัฐฯ จะเริ่มทำงาน...ท่านทูตเซอร์คิมฟันธงว่า สาเหตุที่ทรัมป์ระงับการยิง แล้วมาอธิบายทีหลังว่า เพราะเขามีมโนธรรมสำนึกไม่อยากฆ่าทหารอิหร่านที่ฐานที่จะต้องตายถึง 150 คน (ทรัมป์ได้ถามผบ.ที่จะทำการโจมตีว่า...จะทำให้คนตายกี่คน?) ซึ่งเซอร์คิมวิเคราะห์ว่า นั่นเป็นเหตุผลที่ทรัมป์ยกมาบังหน้า เป็นการโกหกของทรัมป์...เพราะที่จริงทรัมป์ “Was Never Fully on Board” คือ ทรัมป์เองก็ไม่อยากเลือกที่จะโจมตี เพราะเขาเกรงว่ากำลังใกล้เวลาเลือกตั้ง ซึ่งไม่เหมาะที่จะทำสงคราม
ท่านทูตชี้ว่า นั่นคือ มีความแตกแยกในกลยุทธ์ของทีมทรัมป์ต่ออิหร่าน ที่มีทั้งฝ่ายเหยี่ยว (ทีมบี-โบลตัน) และอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตี ซึ่งรวมถึงตัวทรัมป์เองด้วย จึงไม่เป็นเอกภาพในนโยบาย
เซอร์คิมมีวาระอยู่ที่ดี.ซี. 4 ปี โดยเริ่มเข้ามาในปีสุดท้ายของโอบามา (2016) และจะอยู่ในตำแหน่งนี้ไปจนถึงปีหน้า
ด้านกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ โฆษกออกมาแถลง-โดยไม่มีการปฏิเสธข้อความลับในเดลิเมล์ แต่สรุปว่าเป็นท่าทีที่ “Mischievous” หรือลักษณะแบบขำๆ-และไม่ใช่จุดยืนของกระทรวง เพียงแต่เป็นการประเมินของท่านทูตคนเดียว (นสพ.The Times of London วิเคราะห์ว่า ในรายงานลับนี้ ส่งถึงกระทรวงในนามของเซอร์คิมท่านเอกอัครราชทูต แต่น่าจะเป็นการรายงานโดยผู้ช่วยทูตหลายคน แต่ทำในนามของเซอร์คิมเพราะเป็นรายงานตั้งแต่ปี 2017 จนปัจจุบัน)
ด้านรักษาการรมต.ต่างประเทศ เจเรมี ฮันท์ ซึ่งขณะนี้กำลังขับเคี่ยวกับบอริส จอห์นสัน (ตัวเต็งจะมาแทนนางเมย์) ออกมาแถลงแก้เกี้ยวว่า นั่นเป็นความคิดเห็นส่วนตัว (personal) ของคนคนเดียวของสถานทูต-ไม่ได้สะท้อนจุดยืนของกระทรวงต่างประเทศ และของรัฐบาลอังกฤษทั้งหมด เพราะส่วนตัวเขา (รมต.ฮันท์) ยังเชื่อถึงการบริหารที่ได้ผลดีเยี่ยม (highly effective) ของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งเป็นมหามิตร (best friend) ของอังกฤษในเวทีนานาชาติ
แต่โฆษกทำเนียบนายกฯ อังกฤษแถลงด้วยว่า เป็นหน้าที่ของทูตอังกฤษที่จะทำรายงานลับส่งมาเป็นประจำ และรัฐบาลอังกฤษยังเชื่อมั่นในตัวทูตอังกฤษผู้นี้ (หลังจากมีข่าวในนสพ.เทเลกราฟ ว่าทีมงานกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ติดต่อกระทรวงต่างประเทศอังกฤษเพื่อขอให้เปลี่ยนตัวทูตอังกฤษประจำดี.ซี.)
ด้านคุณทรัมป์เดือดดาลมาก ลงมาเล่นเองกับการวิพากษ์ว่า ทูตคนนี้ไม่ได้รับใช้ประเทศอังกฤษอย่างดีพอ และทำเนียบขาว (และตัวเขาเอง) ไม่ได้ชื่นชม (that man) หมอนี่ (แม้แต่ชื่อเซอร์คิม ยังไม่อยากเอ่ยถึงเลย) แม้สักนิดเดียว
วันนี้ พระราชาธิบดีกาตาร์เสด็จฯ เยือนทำเนียบขาว ปรากฏว่า ได้มีการเชิญคณะทูตานุทูตจากต่างประเทศไปร่วมงาน State Banquette ถวายการต้อนรับท่าน Emir ของกาตาร์ ปรากฏไม่มีการเชิญท่านทูตอังกฤษเซอร์คิมไปร่วมด้วย ทั้งๆ ที่ทูตอังกฤษจะมีความใกล้ชิดพิเศษกับประเทศกาตาร์ (ซึ่งเคยอยู่ใต้อาณาจักรอังกฤษครั้งหนึ่ง) โดยเป็นการประกาศตัดท่านเซอร์คิมออกจากรายชื่อที่จะเชิญมา เพื่อเป็นการไม่อยากทำสังฆกรรมยุ่งเกี่ยว (deal) กับท่านทูตอังกฤษอีกต่อไป
รัฐบาลอังกฤษเข้าข้างทูตของเขาทีเดียว (แม้รมต.ต่างประเทศจะพยายามหาเสียงกับทรัมป์อยู่บ้าง) เพราะทูตเซอร์คิม ส่งรายงาน “ลับ”; ไม่ใช่มาวิพากษ์ในที่สาธารณะถึงผู้นำประเทศที่เขาทำงานอยู่
ก่อนหน้านั้น ทรัมป์เคยเสนออย่างเปิดเผยด้วยว่า นายไนเจล ฟาราจ (Nigel Farage) ที่ทรัมป์ชอบมากเป็นพิเศษ (ที่เสนอให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป) น่าจะเป็นทูตอังกฤษประจำดี.ซี. (เป็นการแทรกแซงการเมืองภายในของอังกฤษอย่างโจ๋งครึ่ม) ขณะที่ฟาราจเป็นขมิ้นกับปูนกับพรรคของนายกฯ เมย์
ทรัมป์โดนดอกนี้จากทูตอังกฤษ น่าจะลดความน่าเชื่อถือของเขาลงมาได้บ้างทีเดียว