ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่น่าจับตาหลังปฏิบัติการบุกตรวจยึด “ตู้ฝึกทักษะ” หรือ “ตู้คีบตุ๊กตา” เนื่องจาก ผิด พ.ร.บ.การพนันฯ ว่า “ต้นสายปลายเหตุ” ของ “การกวาดล้าง” นั้น มีที่มาและที่ไปอย่างไร เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็เห็นตู้ชนิดนี้วางให้ผู้คนมาเล่นกันอยู่ทั่วประเทศ โดยกระจัดกระจายตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ย่านชุมชนต่างๆ ทว่า ไม่มีหน่วยงานใดเข้าดำเนินการตรวจสอบแต่อย่างไร
ทั้งนี้ ถ้าหากว่ากันตามตัวบทกฎหมาย ตู้คีบตุ๊กตาจัดเป็นการพนันตามการตีความกฎหมายและคำพิพากษาของศาล โดยจัดอยู่ในบัญชี ข. หมายเลข 28 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท
นอกจากนั้น กระทรวงมหาดไทย ก็ได้เคยมีหนังสือที่ มท.0307.2 / ว 3810 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2549 เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดทราบว่า กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายอนุญาตให้มีการเล่นการพนันในลักษณะดังกล่าว
เปิดปฏิบัติการล้างบางตู้คีบตุ๊กตา
ทำไมถึงผิดกฎหมาย?
นั่นคือคำถามแรกที่หลายคนอาจสงสัย
อธิบายง่ายๆ คือ ตู้คีบตุ๊กตา ผิดกฎหมายการพนันเนื่องจากใช้เงินที่หยอดมีมูลค่าน้อยกว่ารางวัลในตู้ มีการแพ้ชนะระหว่างผู้เล่นกับเครื่อง (หรือเจ้าของเครื่องที่ได้กำไร) ชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เล่นเพื่อความสนุกสนานเพลินเพลิดเท่านั้น คล้ายๆ กับการพนันขันต่อเสียมากกว่า
ว่ากันตามจริง สถานการณ์ ณ วันนี้ของตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญแพร่ระบาดไม่แตกต่างจาก ตู้ม้าไฟฟ้า หรือตู้สลอต เมื่อสิบปีก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้พ่อแม่ผู้ปกครองร้องเรียนกันเป็นอย่างมาก ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องประกาศนโยบายปราบปรามกวาดล้างมาแล้ว
นัยหนึ่งเป็นวิวัฒนาการของธุรกิจสีเทา ที่เปลี่ยนรูปแบบจูงกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ให้เข้ามาเสียเงินผ่านเครื่องเล่นตู้คีบตุ๊กตาที่ตั้งอยู่ทุกมุมเมือง
กลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดชุดปฏิบัติการพิเศษออกตรวจตราและตรวจจับตู้คีบตามสถานที่ต่างๆ โดยมีการตรวจสอบขยายผลทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้ตู้คีบตุ๊กตาในหลายจังหวัดถูกเก็บเรียบ
ปฏิบัติการดังกล่าวมีผลสืบเนื่องจากการร้องเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก เพราะตู้คีบตุ๊กตาเล่นเอาเด็กติดงอมแงม กลายเป็นว่า เด็กบางคนขอเงินไปเล่นเสียเงินไป 300 บาท 500 บาท หยอดเหรียญครั้งละ 10 บาท แต่คีบตุ๊กตาไม่ได้สักตัว
มิหนำซ้ำ ผู้ประกอบการตู้คีบตุ๊กตายางรายหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ยังเปิดเผยว่า รู้ว่าผิดกฎหมายและรู้ว่าโทษเบา เคยถูกสั่งห้ามและกวาดล้างมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตู้คีบตุ๊กตากลับมาฮิตอีก ฟันรายได้เฉลี่ยเดือนละ 200,000 - 300,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งมีการเคลียร์กับตำรวจทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับภาค ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น
นายรัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา 1 ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้ข้อมูลว่าตุ๊กตาที่บรรจุไว้ในตู้เป็นสิ่งล่อใจในเกม แต่วิธีการที่จะเล่นเพื่อให้ได้มายอมรับว่ายากมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กหรือผู้ปกครองจำนวนมาก หมดเงินกับเกมชนิดนี้ครั้งละหลายร้อยหลายพันบาท เพียงเพื่อแลกกับตุ๊กตาตัวเดียว
“ขีดเส้นใต้ว่าหลายคนไม่เคยได้เลยแม้สักตัวเดียวก็มี”
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลการยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทย ไม่เคยออกใบอนุญาตแก่ตู้คีบตุ๊กตา เนื่องจากมองว่าเป็นการมอมเมาเยาวชน และได้เคยมีหนังสือที่ มท.0307.2 / ว 3810 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2549 เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดทราบว่า กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายอนุญาตให้มีการเล่นการพนันดังกล่าว
นายวิสิทธิพัตน์ อนันตรสุชาติ ผอ.สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำว่าได้กำชับให้ทุกจังหวัดตรวจเข้ม โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้าซึ่งจะมีการวางตู้คีบตุ๊กตาจำนวนมากทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และชุดปฏิบัติการพิเศษจะตรวจเข้มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกกองบัญชาการให้บูรณาการร่วมกับทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการลักลอบเล่นการพนันโดยผิดกฎหมายในทุกรูปแบบอย่างจริงจัง
รวมทั้งสั่งการให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานบริการ สถานบันเทิง ที่พัก หรือสถานที่ซึ่งอาจมีการแอบแฝงจัดให้มีการลักลอบเล่นการพนัน หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการจับกุมอย่างเด็ดขาดและขยายผลไปยังแหล่งนายทุน เจ้าของสถานที่ ผู้สนับสนุน เจ้ามือ เครือข่าย และประสานงานกับเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อตรวจสอบ รวมทั้ง ยึดหรืออายัดทรัพย์สินและดำเนินคดีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ให้บูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐเอกชน ในการเปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานที่ที่มีการลักลอบเล่น หรือจัดให้เล่นโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย ในส่วนของพื้นที่ หากพบข้อบกพร่อง ปล่อยปะละเลย ไม่มีการเข้มงวดกวดขัน และดำเนินการอย่างจริงจัง จะพิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อไป
เปิดเครือข่ายมาเฟียหลังตู้ฯ
ในอดีตที่ผ่านมา ตู้คีบตุ๊กตาเหล่านี้นิยมตั้งตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ แต่ในปัจจุบันระบาดไปตามแหล่งชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งนอกจากเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเป้าหมายแล้ว ผู้ใหญ่บางคนก็เสียเงินเสียทองไปกับตู้ชนิดนี้ไม่น้อยเช่นกันด้วยชื่นชอบตุ๊กตาน่ารักๆ ที่ผู้ประกอบการนำมาล่อตาล่อใจไว้ในตู้
คำถามที่ผ่านมาคือ แล้วใครคือ “เจ้าของ” ตู้คีบตุ๊กตาที่สามารถโกยกำไรมหาศาลเหล่านี้ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า ผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ย่อมไม่ธรรมดา รวมทั้งต้องมี “คอนเนกชัน” อันดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เช่นนั้น คงไม่สามารถประกอบกิจการในลักษณะนี้ได้
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การจัดสรรผลประโยชน์แบ่งเป็นหลายส่วน คล้ายๆ ตู้ม้าไฟฟ้า หรือตู้สล็อต นั่นคือมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้เจ้าของสถานที่ที่ตั้งตู้ อีกสส่วนหนึ่งจะส่งส่วยให้เจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ ส่วนที่เหลือจะเป็นของเจ้าของ ซึ่งแน่นอนว่า ตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นธุรกิจสีเทาๆ ที่สร้างความร่ำรวยให้มาเฟียในเครื่องแบบ
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นตู้คีบตุ๊กตาเกลื่อนเมือง ทั้งๆ ที่ กระทรวงมหาดไทย ได้เคยมีหนังสือที่ มท.0307.2 / ว 3810 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2549 เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดทราบว่า ไม่มีนโยบายอนุญาตให้มีการเล่นการพนันตู้คีบตุ๊กตา ตามดุลพินิจศาลฎีกาที่มีคำพิพากษาชัดเจนว่า ตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญอัตโนมัติ เป็นเครื่องเล่นผิดกฎหมาย
จากการลงพื้นที่ของเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน พบเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก ขณะที่ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ว่า ด้วยบทบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาตรา 7(3) บัญญัติว่า “…ไม่ให้บุคคลอายุตํ่ากว่า 20 ปีบริบูรณ์หรือไม่บรรลุนิติภาวะเข้าเล่น” นอกจากนี้ ยังสุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกด้วย
การหยอดเหรียญเล่นเพียงครั้งละประมาณ 10 บาท เพื่อเสี่ยงดวงลุ้นตุ๊กตาที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินที่ลงทุนหลายเท่า ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญในการมอมเมาเด็กและเยาวชนให้เสพติดการพนันชนิดนี้
นอกจากนี้ กลไกการทำงานของตู้คีบตุ๊กตาอาจถูกปรับแต่งให้ขาคีบแข็งหรืออ่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งการบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าเป็น “ตู้ฝึกทักษะ” บ้างก็ระบุว่า “ตู้สินค้านี้ไม่ใช่เครื่องมือการพนัน” เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
“ขอให้ตรวจสอบการออกใบอนุญาตเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ควบคุมการออกใบอนุญาต ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดพื้นที่ในการวางเครื่องเล่นชนิดนี้ ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ต้องเข้าถึงได้ยากไม่ให้เข้าถึงง่ายจนเกินไป ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึง กรุงเทพมหานคร ฝ่ายปกครองควรดำเนินการให้ยุติกิจการในรูปแบบดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อสร้างความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหา และผลกระทบจากการพนัน และร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ไม่สร้างพฤติกรรมความคุ้นชิน และทัศนคติที่ดีต่อการเล่นพนัน และควรมีการประชาสัมพันธ์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการพนัน” นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนันเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง
แค่ตู้ฝึกทักษะจริงหรือ
ประเด็นหนึ่ง ผู้ประกอบการตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญ มักบิดเบือนข้อเท็จจริงก็คือ การอ้างว่าเป็น “ตู้ฝึกทักษะ” และ “ตู้สินค้านี้ไม่ใช่เครื่องมือการพนัน” โดยเขียนป้ายปิดหราเอาไว้ที่ตู้ พร้อมบิดเบือนอีกต่างหากว่า เป็นการเปิดให้บริการตามแนวหนังสือตอบข้อหารือของ สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
รวมทั้งมีความพยายามที่จะพลิกแพลงเพื่อดำเนินกิจการตู้คีบตุ๊กตาให้เป็นเพียง “เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” อีกต่างหาก เช่นอ้างว่าสินค้าที่อยู่ในเครื่องจำหน่ายสินค้ามีราคาเท่ากันทั้งหมด และมีการติดป้ายราคาที่ชัดเจนบริเวณด้านหน้าเครื่องจำหน่ายสินค้า หรืออ้างว่า หลังจากที่เครื่องจำหน่ายสินค้าเริ่มทำงานลูกค้าสามารถเลือกหยิบสินค้า โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลา เป็นต้น ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ตู้คีบตุ๊กตา บางแห่งตั้งอยู่ในสวนสนุกตามห้างฯ ที่มีกิจกรรมต่างๆ บ้านบอล เกมเสริมเชาว์ปัญญาต่างๆ พ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกๆ หลานๆ มาเล่น สร้างเสริมประสบการณ์ การที่ตู้คีบตุ๊กตาแทรกตัวอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งดังกล่าว ย่อมดึงดูดเด็กๆ ให้หลงใหลไปกับเกมพนันในรูปแบบลูกกวาดเคลือบยาพิษ
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ กล่าวยืนยันว่า การจะนำตู้คีบตุ๊กตาไปวางไว้ตามห้างร้านค้าหรือจุดต่างๆ ต้องดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายกับฝ่ายปกครองให้เรียบร้อย เนื่องจากโดยสภาพของเครื่องเล่นเข้าลักษณะเป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 อันเป็นการเล่นพนันตามบัญชี ข. หมายเลข 28 ซึ่งในการจัดให้มีการเล่นดังกล่าวจะต้องได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
และการติดตั้งตู้คีบตุ๊กตาต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากฝ่าฝืนมีความผิด ตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่าไม่มีการอนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงด้วยวิธีข้างต้น)
รวมทั้งการนำเครื่องเล่นในลักษณะดังกล่าว เข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ประกอบการต้องศึกษากฎหมายระเบียบต่างๆ ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร มิเช่นนั้น อาจมีความผิดตามมาตรา 202 ประกอบมาตรา 252 และมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 และ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเครื่องเล่นเกม เข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2548
แน่นอนว่า การล้างบางตู้คีบตุ๊กตาในขณะนี้ กระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะหลบเลี่ยงพลิกแพลงอย่างไร ตู้คีบตุ๊กตาก็ผิดกฎหมายพนันอยู่ดี ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการมองว่าเป็นเครื่องเล่นสร้างสีสัน และในต่างประเทศตู้คีบตุ๊กตาสิ่งถูกกฎหมาย ได้รับความนิยมเล่นกันแพร่หลาย
ตู้คีบตุ๊กตาถูกกฎหมาย
ตามรอยหวยบนดินได้ไหม?
ในขณะที่ “ตู้คีบตุ๊กตา” ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ไล่ล่าล้างบ้างทั่วประเทศ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เตรียมชง “หวยบนดิน” ออกสลากรูปแบบใหม่ๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้กลายเป็นความย้อนแย้งที่บรรดาผู้ประกอบการตู้คีบตุ๊กตานำมากล่าวอ้างและโยนประเด็นออกมาสู่สังคมว่า เป็นการพนันมอมเมาเยาวชนและประชาชนเหมือนๆ กัน แต่รัฐเลือกปฏิบัติแตกต่างกัน
เพราะต้องยอมรับว่า เมืองไทยมีกลุ่มคนชอบคีบตุ๊กตาอยู่จำนวนหนึ่ง การคีบตุ๊กตาสำหรับพวกเขาเป็นเกมสร้างความบันเทิงเริงใจ หากชนะก็ได้ตุ๊กตาเป็นรางวัล เป้าหมายคือเล่นเพื่อความสนุกล้วนๆ ไม่ได้ใส่ใจว่าตู้คีบตุ๊กตาผิดกฎหมายการพนันหรือไม่อย่างไร
ยิ่งถ้าหากไปตรวจดูข้อมูลในโลกสังคมออนไลน์ก็จะพบว่า มีเพจและกรุ๊ปคีบตุ๊กตาอยู่มากมาย เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิคการคีบตุ๊กตาต่างๆ เรียกว่า เล่นกันจริงจังคีบกลับบ้านกันเป็นลังๆ กระทั่งเกิดคำถามว่าเสียสตางค์มากมายได้ตุ๊กตาเยอะแยะแล้วเอาไปทำอะไร?
เฟซบุ๊ค Gang คนชอบคีบตุ๊กตา เปิดเผยว่าในวงการคีบตุ๊กตาจะนำตุ๊กตาที่คีบได้ไปแบ่งปันให้เด็กๆ ตามสถานที่ต่างๆ เป็นการบริการการกุศล แบ่งปันความสุขปันรอยยิ้มสู่สังคม
“#คีบตุ๊กตาให้น้อง อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากการคีบตุ๊กตาคือการที่ได้เห็น เห็นความมีน้ำใจจากวงการคีบตุ๊กตา ไม่ใช่ว่าคีบตุ๊กตาได้แล้วจบ แต่สิ่งที่ตามมาจากการคีบนี่สิ!! ทีมแอดมินและชาวแก๊งค์อีกหลายๆ คน รวมไปถึงตู้ร้านต่างๆ ได้เคยจัดกิจกรรมรับบริจาคตุ๊กตาที่ได้มาจากการคีบ เพื่อนำไปบริจาคร่วมกันที่ #สภากาชาดไทย และได้ผลตอบรับกันมาเป็นอย่างดี โดยมีสมาชิกชาวแก๊งหลายๆ คนและตู้ร้านต่างๆ ที่ได้ร่วมกันมาบริจาคในครั้งนั้น ทำให้เห็นถึงน้ำใจที่มีมากในวงการคีบตุ๊กตา และไม่ใช่แค่เพียงกิจกรรมที่ทางแก๊งจัดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีอีกหลายๆ กลุ่ม และยังมีอีกหลายๆ คนที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ให้กับน้องๆ และอีกหลายๆ หน่วยงานทางสังคมและชนบท และทีมแอดมินก็ยังเชื่อว่าความสุขที่น้องๆ จะได้รับจากกิจกรรมเหล่านี้จะยังไม่มีวันสิ้นสุด และมันก็ยังจะมี"
แอดมินเพจชมรมคนคีบตุ๊กตา นายชัยสัณฑ์ ทิพย์พยอม เปิดเผยผ่านสื่อถึงกรณีตู้คีบตุ๊กตาผิดกฎหมายการพนัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจกำลังตรวจจับเข้มข้น เขามองว่าตู้คีบตุ๊กตาจะเข้าข่ายการพนันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้เล่น รวมไปถึงกติกาที่ร้านกำหนดไว้
ส่วนการเล่นเพื่อความสนุกหรือพนันแอบแฝง หรือจะเล่นถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวหรือไม่ ต้องบอกว่าพฤติกรรมคนส่วนใหญ่เล่นไปสักระยะหากไม่ได้ก็เปลี่ยนตู้ และหากยังไม่ได้อีกก็หยุดเล่นไปเลย
กลุ่มคนชอบคีบตุ๊กตา เห็นพ้องต้องกันว่า การคีบตุ๊กตาเป็นการผ่อนคลาย เพลิดเพลิน สนุกสนาน แน่นอนว่า อยากให้มีการพิจารณาปรับแก้กฎระเบียบให้ตู้คีบตุ๊กตาถูกต้องตามกฎหมายประเทศไทย
ท้ายที่สุด ตู้คีบตุ๊กตาจะถูกกฎหมายหรือไม่? เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อยาวๆ เพราะกลไกของตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญอัตโนมัติ ผิดกฎหมายการพนันเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินที่หยอดมีมูลค่าน้อยกว่ารางวัลในตู้ มีการแพ้ชนะระหว่างผู้เล่นกับเครื่อง คล้ายกับการพนันขันต่อมากกว่าความสนุกสนานเพลินเพลิดเท่านั้น