ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “1 ปี ลดถุงพลาสติก 1,524 ล้านใบ” เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมหลังภาครัฐขับเคลื่อนนโยบาย “บอยคอตถุงพลาสติก” เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ต่างแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยประกาศแนวทางรณรงค์ ลด-ละ-เลิก การใช้ถุงพลาสติกอย่างพร้อมเพรียง
รับลูกนโยบายรัฐขยับความเข้มข้นตาม “โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก 2561 - 2573” ที่กำหนดการเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโซ่ และไมโครบีด และกำหนดเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ภายในปี 2565 คือ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก รวมทั้ง การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า สามารถจัดการขยะพลาสติกตามโรดแมปฯ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วลงได้กว่า 1,524 ล้านใบ
อย่างไรก็ตาม ดีเดย์ 3 ก.ค. 2562 ซึ่งเป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” ห้างสรรพสินค้าเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป อาทิ ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์, บลูพอร์ต หัวหิน และกูร์เมต์ มาร์เก็ต ประกาศงดแจกถุงพลาสติก หากจำเป็นใช้ต้องบริจาคเงิน 1 บาทต่อถุงพลาสติก 1 ใบ เพื่อสนับสนุน WWF ประเทศไทย ในการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใส่สินค้า
ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เดินหน้ารณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือเซ็นทรัล อาทิ ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ และท็อปส์ เดลี่ มีมาตรการงดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันอังคารในทุกสัปดาห์ และทุกวันที่ 4 ของเดือน ตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณถุงพลาสติกภายในปี 2562 มากกว่า 150 ล้านใบ ส่วนห้างสรรพสินค้ากลุ่มเซ็นทรัลได้รณรงค์ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกต่อเนื่องกว่า 11 ปี สามารถลดถุงพลาสติกได้ทั้งหมด กว่า 95 ล้านใบ
ด้าน เทสโก้ โลตัส ที่มีอยู่กว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ งดแจกถุงพลาสติก ทุกๆ วันที่ 4 ของเดือน และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ประกาศให้ 3 สาขาบนเกาะช้าง เป็นร้านค้าปลอดถุงพลาสติก โดยคาดว่าจะสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้เกือบ 500,000 ใบต่อปี ก่อนขยายโครงการไปสู่สาขาอื่นๆ ต่อไป ปัจจุบันมีร้านค้าปลอดถุงพลาสติกทั้งหมด 8 สาขา
เช่นเดียวกับ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ประกาศแคมเปญงดแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศ รณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ โดยทุกวันที่ 4 ของทุกๆ เดือน จะงดให้ถุงพลาสติก สำหรับสมาชิกหากนำถุงผ้ามาด้วยจะได้คะแนนสะสมรับสิทธิพิเศษ และบางสาขาได้เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินสำหรับผู้ไม่รับถุงพลาสติกโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้ารณรงค์ลดและเลิกการใช้ถุงพลาสติกต่อเนื่อง ซึ่งสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้แล้ว 500 ล้านถุง คิดเป็นยอดเงินบริจาคกว่า 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม็คโคร นับเป็นห้างค้าส่งที่ไม่แจกถุงพลาสติกเจ้าแรกๆ ในเมืองไทย ทราบโดยทั่วกันว่าแม็คโครไม่มีถุงพลาสติกใส่ให้ หากต้องการถุงพลาสติกต้องจ่ายเงินซื้อ ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มกิจการในไทยเมื่อ 30 ปีก่อน สามารถจำนวนลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 5,400 ล้านใบ
จะเห็นว่าภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนในการลดขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ลงนามกับภาคเอกชนบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ โดยเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือ แคปซิล เมื่อช่วงปี 2561 โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี
ภาครัฐมีความพยายามขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการขยะต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาขยะวาระแห่งชาติ เบื้องต้นเห็นผลเป็นรูปธรรมและเดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกต่อไป
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก กล่าวว่าการดำเนินงานเป็นไปตามแผน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม 1 ปีที่ผ่านมา สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อได้ประมาณ 1,524 ล้านใบ หรือ ประมาณ 4,385 ตัน
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องปัญหาขยะพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ที่ผ่านมา กทม. ขอความร่วมมือห้างค้าปลีกต่างๆ ร่วมลด ละ เลิก หลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวและใช้ซ้ำ เพื่อลดปริมาณถุงที่กลายมาเป็นขยะที่กรุงเทพมหานครต้องนำไปสู่กระบวนการกำจัด ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 รูปแบบคือการฝังกลบ ซึ่งใช้เวลายาวนานหลายร้อยปีสำหรับขยะพลาสติก และอีกรูปแบบคือการกำจัดด้วยการนำไปเผาเพื่อให้พลังงานนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า
นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เผยถึงความคืบหน้าในดำเนินการขับเคลื่อนตามโรดแมปฯ ควบคู่กับแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน "จังหวัดสะอาด" ซึ่งเน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ตามหลัก 3Rs คือ Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) พร้อมกับมอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการ อาทิ การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการคัดแยก - รวบรวมขยะ ภายใต้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การส่งเสริมให้เกิดหน่วยคัดแยกขยะรีไซเคิล ออกจากขยะอินทรีย์ในระดับชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกและขยะรีไซเคิลอื่นๆ รวมทั้ง การวางระบบและโครงสร้างพื้นฐาน ในการคัดแยกและจัดการขยะแบบครบวงจรในทุกพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน อาจจะสะดวกก็จริงแต่สร้างมลภาวะให้กับโลกและประเทศ ซึ่งเมื่อลงไปสู่ทะเล ทรัพยากรธรรมชาติ ปลา มีปัญหา จึงต้องดูแลทั้งคน สัตว์ พืช ประชาชนเองก็ตื่นตัวขึ้น และขอให้ประชาชนปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า รัฐบาลจะตั้งเป้าขยับมาตรการจากลดเป็นงดให้มากยิ่งขึ้น ตามแผนที่วางไว้ให้เร็วกว่าปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ความร่วมมือของพวกเราเพื่อแก้ปัญหามลพิษของโลกทั้งทางบกและทางทะเล”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในวาระวันปลอดถุงพลาสติกสากล เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก สอดประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขยับความเข้มข้นตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก 2561 - 2573
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกและโฟมเฉลี่ยปีละประมาณ 2.7 ล้านตัน หรือ 7,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็น ขยะพลาสติก ประมาณ 2 ล้านตัน อาทิ ถุงร้อนถุงเย็นบรรจุอาหาร, ถุงหูหิ้ว, ขวด เป็นต้น และขยะโฟมประมาณ 700,000 ตัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยสร้างขยะพลาสติกถึงปีละ 2 ล้านตัน เฉลี่ยหนึ่งคนสร้างขยะถุงพลาสติก 8 - 10 ใบต่อวัน เฉพาะกรุงเทพมหานคร มีขยะถุงพลาสติกมากถึง 45 ล้านใบต่อวัน
ในปี 2015 การศึกษาของ Jenna Jambeck, PhD. อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเล 20 อันดับ พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก(1) ทั้งที่ประเทศไทยมีประชากรเพียง 65 ล้านคน แซงหน้าประเทศอินเดียที่มีประชากร 1,000 ล้านคน แต่ถูกจัดอันดับเป็นอันดับที่ 12 ของโลกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แนวทางประเทศไทยดำเนินการสอดคล้องแนวทางมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติกทั่วโลก ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผย 3 แนวทางสำคัญ คือ 1. ออกกฎหมายห้ามผลิตและใช้ 2. เก็บภาษี - ค่าธรรมเนียม และ 3. การทำข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐและเอกชน
การลดปริมาณขยะพลาสติกนั้นเป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ฉะนั้น การแก้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องของทุกคน อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปฏิเสธถุงพลาสติกหากซื้อของชิ้นเล็กๆ จำนวนน้อยๆ หรืออาจพกถุงผ้าสักใบสำหรับบรรจุสิ่งของแทนถุงพลาสติก
ยังคงต้องลุ้นต่อไปว่า ประเทศไทยจะหลุด “Top 10 ประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเล” ได้ในเร็วๆ นี้หรือไม่?