xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไทยพาณิชย์ขาย SCB LIFE มหาเศรษฐีฮ่องกง “ริชาร์ด ลี” ซื้อ FWD คุ้มมั้ยกับ “แสนล้าน” ที่จ่ายไป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็น “บิ๊กดีล” ทางธุรกิจเลยก็ว่าได้ สำหรับการที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศขายธุรกิจประกันชีวิตทั้งหมดใน “บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)” หรือ SCB Life ซึ่ง SCB ถือหุ้น 99% ให้ “กลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD Group Financial Services Pte. Ltd.)” ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตระดับเอเชีย ด้วยมูลค่า 92,700 ล้านบาท

เพราะเป็นดีลการซื้อขายธุรกิจประกันชีวิตที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว

แน่นอน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไม SCB จึงตัดสินใจขายทิ้ง SCB Life ให้ FWD Group พร้อมเปลี่ยนบทบาทจาก “เจ้าของ” เป็น “ตัวแทนจำหน่าย” ทั้งที่ธุรกิจประกันยังทำกำไร 5,000 ล้านบาท เพราะขณะที่ FWD Group สามารถเข้าถึงลูกค้า SCB ทันที 16 ล้านคน SCB พอใจเพียงแค่การเป็นนายหน้าขายประกันให้ภายในระยะเวลา 15 ปีเช่นนั้นหรือ

SCB จะนำเงินก้อนโตไปทำอะไร และงานนี้ “ใครได้-ใครเสีย” มากกว่ากัน หรือ win-win ทั้งคู่

มาดูทางฝั่ง FWD Group กันก่อน...

สำหรับ FWD Group ก่อตั้งในปี 2013 เป็นบริษัทประกันภัยของ กลุ่มแปซิฟิก เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (Pacific Century Group) ซึ่ง “รีชาร์ด ลี (Richard Li)” นักธุรกิจรายใหญ่ของฮ่องกงเป็นผู้ก่อตั้ง

และริชาร์ด ลี ก็ไม่ใช่ใครอื่นหากแต่คือลูกชายคนเล็กของอภิมหาเศรษฐีฮ่องกงและระดับโลกอย่าง “ลีกาชิง” นั่นเอง

“Thailand is FWD’s biggest market in terms of customers, followed by its Hong Kong and Macau business, according to its website. The insurer has more than 4,100 employees.”

คำประกาศของ ริชาร์ด ลี ก่อนหน้านี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า เขามีแผนบุกตลาดเมืองไทยและเขาก็ได้เดินหน้าตามแผนการที่วางไว้จริงๆ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา FWD Group ได้เดินหน้าซื้อประกันภัยสินทรัพย์ทั่วทั้งเอเชียอย่างต่อเนื่อง เช่นในปี 2012 ได้ซื้อกิจการประกันชีวิตของ ING ทั่วเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย(บมจ.ไอเอ็นจี ประกันชีวิต ) ด้วยมูลค่า 64,000 ล้านบาท และได้เปลี่ยนชื่อ ใหม่ เป็น บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือการเข้าซื้อ บริษัท เม็ทไลฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยของฮ่องกง เป็นต้น

นอกจากนั้น ในเดือนตุลาคม 2561 FWD Group ยังได้เข้าไปบริหาร ธนาคาร คอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นธนาคารชั้นนำของอินโดนีเซียในด้านประกันชีวิต อีกทั้งยังได้เข้าซื้อ บริษัท AIG Fuji Life Insurance ซึ่งถือเป็นบริษัทประกันสำคัญของญี่ปุ่น และเป็นบริษัทในเครือของ อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG)รวมถึงการรุกคืบเข้าทำธุรกิจในสิงคโปร์และเวียดนามมาแล้วหลายครั้ง

ทั้งนี้ FWD มีจุดแข็งด้านเครื่องมือและแพลตฟอร์มดิจิทัล ในการพัฒนาสินค้าประกันชีวิต เพื่อนำเสนอให้กับผู้บริโภคตามความสนใจและสร้างความพอใจให้ลูกค้า

สำหรับประเทศไทย FWD Group เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2555 เพื่อดำเนินธุรกิจประกันที่ครอบคลุมทุกความต้องการในชีวิต ทั้งการสะสมทรัพย์ คุ้มครองอุบัติเหตุ วางแผนเกษียณอายุ และแบบประกันชีวิตควบการลงทุน โดยร่วมมือกับ ธนาคารทหารไทย จำกัด ( มหาชน) ซึ่งเป็นพันธมิตรหลัก โดยมีสินทรัพย์รวม 132,589,265,949 บาท และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ 284 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560)

นอกจากนั้น ในช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เครือข่ายธุรกิจของริชาร์ด ลี ได้เข้ามาผุดโปรเจ็กต์ยักษ์วิลล่าหรู-โรงแรมและสนามกอล์ฟ 18 หลุม ณ บริเวณริมหาดท้ายเหมือง จับกลุ่มเศรษฐีต่างชาติ มูลค่าโครงการระดับหมื่นล้านบาทอีกด้วย

สำหรับการเข้าซื้อ SCB Life นั้น ฮวิน ทัน ฟง (Huynh Thanh Phong) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FWD Group ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน FWD Group มีเครือข่ายธุรกิจประกันภัยในฮ่องกง มาเก๊า ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยทางกลุ่มบริษัทต้องการสร้างเน็ตเวิร์กธุรกิจครอบคลุมเอเชีย โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้ากว่า 5 ล้านรายภายใน 5 ปี ซึ่งการซื้อ SCB Life จะทำให้เป้าหมายของบริษัทบรรลุผล

อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณารายได้ปีที่ผ่านมาของ บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต (FWD) พบว่า FWD ยังมีส่วนแบ่งตลาดรายได้ ทั้งรายได้รวมและรายได้จากลูกค้าใหม่ยังไล่ตามประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ที่เป็นอันดับ 1-3 ในตลาดอย่าง AIA, เมืองไทยประกันชีวิต และไทยประกันชีวิต อยู่มาก นั่นหมายความว่า การที่ FWD ซื้อกิจการ SCB Life ทำให้ FWD สามารถเติบโตทางลัดได้อย่างรวดเร็ว เพราะปีที่ผ่านมา SCB Life มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ5 ในธุรกิจประกันชีวิต ปิดรายได้จากการขายประกันชีวิตอยู่ที่ 50,910,606,320 บาท

โดยปัจจุบัน SCB Life มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 9.28% ถือเป็นอันดับที่ 5 ของธุรกิจประกันชีวิตไทย มีฐานลูกค้าหลักล้านราย ขณะที่ บมจ. เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต หรือ FWD ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 4.71% เป็นอันดับที่ 8 ของธุรกิจประกันชีวิต มีฐานลูกค้าราว 2.2 ล้านราย

ดังนั้น การควบรวมกิจการระหว่าง SCB Life และ FWD Group จะทำให้ บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ของธุรกิจประกันชีวิตไทย และมีฐานลูกค้าราว 3.7 ล้านคน ที่สำคัญเข้าถึงฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย ซึ่งการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทำให้ FWD มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 78,960,067,640 บาท มีส่วนแบ่งตลาดขึ้นเป็นอันดับสี่ในธุรกิจประกันชีวิตในทันที

ก่อนหน้าที่จะมีการเซ็นสัญญา “ซื้อหุ้น” ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 กระแสข่าวการเข้าซื้อ SCB Life ของ FWD Group มีมาอย่างต่อเนื่อง โดย เมื่อวันที่ 22 มี.ค.62 นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิย์ (SCB) แจ้งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ธนาคารได้บันทึกข้อตกลงความเข้าใจเกี่ยวกับแผนความร่วมมือในธุรกิจประกันชีวิตกับกลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดี (FWD Group Financial Services Pte.Ltd.) โดยจะเป็นความร่วมมือระยะยาวเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) ในประเทศไทย

ทั้งนี้ แผนความร่วมมือดังกล่าวจะรวมถึงการที่กลุ่มเอฟดับบลิวดีจะเข้า “ซื้อหุ้น” ซึ่งธนาคารถืออยู่ในบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SCB Life ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารด้านธุรกิจประกันชีวิต

ขณะที่ นางสาวปรมาศิริ มโนลม้าย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต (FWD) ชี้แจงในขณะนั้นว่า กลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับแผนความร่วมมือในธุรกิจประกันชีวิต โดยจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ผ่านธนาคารพาณิชย์ (แบงก์แอสชัวรันซ์) ในประเทศไทยและจะเข้าซื้อหุ้น SCB Life เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตในธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย แต่ข้อตกลงนี้ยังไม่มีผลผูกพันเกี่ยวกับแผนความร่วมมือ และยังไม่มีการซื้อกิจการใดๆ ในขั้นตอนนี้ แต่ในกรณีที่มีความคืบหน้าที่สำคัญ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อการเจรจาทางธุรกิจลงตัว การเซ็นสัญญา “ซื้อหุ้น” ก็ได้เกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นานนัก คือในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562

ทีนี้ก็มาถึงคำถามในฝั่งของธนาคารไทยพาณิชย์ว่าจะได้อะไรจากการขายหุ้นในครั้งนี้บ้าง

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หลังขายธุรกิจ SCB Life แล้วธนาคารยังอยู่ในธุรกิจประกันชีวิตเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจาก “เจ้าของ” เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประกันชีวิตผ่านช่องทางธนาคารให้กับ FWD โดยเซ็นสัญญา 15 ปี ซึ่งจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการขายแทน

“เรายังอยู่ในธุรกิจประกันชีวิตเหมือนเดิม โดยใช้จุดแข็งสาขาธนาคารกว่า 1,000 สาขา เป็นช่องทางขาย การเข้าใจฐานลูกค้าที่มีจำนวน 16 ล้านคน เพื่อเสนอโปรดักต์ประกันชีวิตที่เหมาะกับความสนใจแต่ละคน โดยไม่ยัดเยียด ที่ถือเป็น pain point ของลูกค้าธนาคารเมื่อถูกเสนอขายประกันชีวิต และก็ต้องยอมรับว่าเราไม่เก่งเรื่องออกสินค้าประกันชีวิต”อาทิตย์ปแจกแจงและว่าสำหรับกระบวนการซื้อขายธุรกิจ จะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยไม่ส่งผลต่อทีมผู้บริหาร พนักงาน รวมไปถึงลูกค้าของ SCB Life ที่ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ราว 2 ล้านราย ซึ่ง FWD จะเข้ามาดูแลต่อเนื่อง

ด้าน อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาธุรกิจ SCB Life ทำกำไรราว 5,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของกำไร SCB มูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท แม้ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเติบโต แต่เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ

ขณะเดียวกันเงินที่ได้จากเบี้ยประกัน จะต้องนำมาบริหารการลงทุนให้เกิดผลประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการมีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศของ FWD จะบริหารการเงินและกระจายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ส่วนเงินที่ได้จากการขยายหุ้น SCB Life จะทำให้ SCB มีศักยภาพลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องและเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจของธนาคารมากขึ้น โดยกำลังศึกษาลงทุนแพลตฟอร์ม Digital Lending การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ให้กับบุคคลทั่วไป ทั้งรูปแบบซื้อกิจการทั้งหมดและร่วมลงทุน รวมทั้งแพลตฟอร์มการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งมีพาร์ตเนอร์จากจีนให้ความสนใจลงทุนร่วมกัน

ส่วน ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแข่งขันธุรกิจธนาคารวันนี้ ต้องเจอทั้งคู่แข่งธนาคารด้วยกัน ต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล แพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมีคู่แข่ง Non Bank ล่าสุดการเปิดตัวเงินดิจิทัล Libra ของเฟซบุ๊ก ล้วนเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องเตรียมรับมือกันแข่งขัน และยังต้องลงทุนสร้างดิจิทัล แพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจธนาคารอีกจำนวนมาก

ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจประกันชีวิต ก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องพัฒนาดิจิทัล โซลูชั่นใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและผู้บริโภค ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเช่นกัน SCB จึงเลือกขายธุรกิจประกันชีวิตที่ไม่ถนัด เพื่อมุ่งลงทุนธุรกิจธนาคารในยุคดิจิทัล

การปรับบทบาทมาเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตให้กับ FWD จะเป็นรูปแบบการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนกับลูกค้าธนาคารที่สนใน โดยทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษา” การลงทุน ซึ่งประกันชีวิต ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุน โดยมีดิจิทัล แพลตฟอร์มที่ลูกค้าเลือกซื้อได้เอง โดยไม่ถูกรบกวนหรือยัดเยียดขายสินค้าประกันภัยเหมือนในอดีต ซึ่ง SCB ปรับรูปแบบการให้บริการมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน

...ถึงตรงนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “บิ๊กดีล” มูลค่าแสนล้านในครั้งนี้จะทำให้โฉมหน้าของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะไหนบ้าง.


กำลังโหลดความคิดเห็น