xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าอาณาจักรวินมอเตอร์ไซค์ เสื้อวินทองคำ กับ ผลประโยชน์มหาศาล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กลุ่มวินรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 2 กลุ่ม ภายในซอยอุดมสุข (สุขุมวิท 103) กรุงเทพฯ ยกพวกตีกันเนื่องจากขัดผลประโยชน์ วินคู่อริวิ่งทับเส้นทางแย่งลูกค้ากัน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2562
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เพราะเบื้องหลัง “อาณาจักรวินมอเตอร์ไซค์” เต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะก่อให้เกิดชนวนความขัดแย้งและนำไปสู่ฉากปะทะรุนแรงระหว่าง “วินต่อวิน” ซึ่งมีพื้นที่ทำมาหากินทับซ้อนกัน ดังเหตุการณ์ที่เกิดกับ กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ย่านอุดมสุข กรุงเทพฯ กระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตตามที่ปรากฏเป็นข่าว

และแน่นอนว่า มิได้มีเฉพาะวินอุดมสุขเท่านั้น หากแต่หลายต่อหลายวินก็ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน

ที่สำคัญคือ เบื้องหน้าและเบื้องหลังการเรียกรับผลประโยชน์จากวินเตอร์ไซค์ที่มีการเรียกเก็บ “ค่าต๋งใต้โต๊ะ” นั้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” แทบทั้งสิ้น กระทั่งครั้งหนึ่ง “เสื้อวิน” มีราคาค่างวดไม่ต่างจาก “ทองคำ” ด้วยราคาทะลุหลักแสน กระทั่งต้องมีการเข้ามา “จัดระเบียบ” ครั้งใหญ่จนทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า เงียบสงบจริง หรือยังคงดำเนินไปแบบ “เงียบๆ”

กล่าวสำหรับเหตุทะเลาะวิวาทเย้ยฟ้าท้ากฎหมายต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระหว่างวินมอเตอร์ไซค์ฯ 2 วิน ภายในซอยอุดมสุข (สุขุมวิท 103) เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เกิดจากการวิ่งทับเส้นทางแย่งลูกค้ากัน โดย “วินอุดมสุข 1” ตั้งอยู่ปากซอยอุดมสุข 1 ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ตั้งขึ้นมาก่อน ต่อมา “วินอุดมสุข 2” (หรือ วินอุดมสุขรุ่งเรือง) ตั้งขึ้นทีหลังห่างกันเพียง 200 เมตร

อธิบายง่ายๆ ก็คือเป็น “วินเถื่อน” ที่ตั้งขึ้นมา1- 2 ปี โดยมีพฤติกรรมตัดหน้ารับผู้โดยสารก่อน “วินอุดมสุข 1”

กล่าวสำหรับ วินเถื่อน คือ วินที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีสถานที่เป็นหลักแหล่ง สังเกตง่ายๆ ผู้ขับวินเถื่อนจะไม่มีป้ายชื่อสีเหลืองที่ผ่านการลงทะเบียน ติดอยู่บริเวณเสื้อวินด้านหน้า-หลัง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ วินเถื่อนที่ตั้งขึ้นนั้นเป็นผลมาจาก “กลุ่มอิทธิพล” ที่คุม “วินอุดมสุข 1” เรียกรับผลประโยชน์คนละ 3,500 บาทต่อเดือน จึงทำให้ผู้ขับวินส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ กระทั่ง แยกตัวออกมาตั้งวินใหม่ คือ “วินอุดมสุข 2” ทำให้กลุ่มอิทธิพลที่คุมวินขาดรายได้ ท้ายที่สุดจึงเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ทั้งนี้ การเข้าสู่อาชีพ “วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายและมี “ต้นทุนสูง” โดยอย่างยิ่งเฉพาะในย่านธุรกิจ ซึ่งเบื้องหลังเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล ไม่ต่างอะไรจาก “รถตู้โดยสาร”

ที่ผ่านมามีความพยายามสางปัญหาวินเถื่อนด้วยการ “จัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ” โดยรูปธรรมที่ชัดเจนเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ประกอบด้วย 4 ฝ่ายคือ ทหาร, ตำรวจ, กรุงเทพมหานคร(กทม.) และกรมการขนส่งทางบก แต่จนแล้วจนรอดการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

แถมขยายภาพความรุนแรงทั้งปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกับ Grab Bike ปัญหาวินเถื่อน การเรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริง บริการไม่สุภาพ วิ่งทับเส้นทาง จอดรถบนทางเท้ากีดขวางทางจราจร การนำรถป้ายขาววิ่งรับส่งผู้โดยสาร ปัญหาเรื้อรังมาเฟียคุมวิน ซื้อขายเสื้อวินผิดกฎหมาย ฯลฯ

สำหรับอัตราซื้อขายเสื้อวินเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยว่า กลุ่มวินฯ ที่ให้บริการในซอย ราคาขั้นต่ำ 30,000 - 80,000 บาท กลุ่มวินปากซอยทั่วไป ราคา 80,000 - 150,000 บาท และกลุ่มวินในพื้นที่เศรษฐกิจ กรุงเทพฯ ชั้นใน ราคาตั้งแต่ 150,000 - 800,000 บาท

ยกตัวอย่าง ราคาเสื้อวินแพงลิ่วในย่านเศรษฐกิจ อโศก 800,000 บาท, คลองเตย 400,000 บาท, ทองหล่อ 350,000 บาท เมืองทองฯ 150,000 บาท จตุจักร 100,000 บาท

สำหรับบริเวณหน้าปากซอยหรือในซอยราคาลดหลั่นลงมา เช่น หน้าซอยบางซื่อ 70,000 บาท หน้าซอยท่าพระ 60,000 บาท บางนา 60, 000 บาท หรือในซอยบางขุนเทียน 50,000 บาท ในซอยบางซื่อ 30,000 บาท เป็นต้น

หากไม่ซื้อเสื้อวินก็ต้องเช่ากันหลักพันหลักหมื่นบาทต่อเดือน อีกทั้งแบ่งรับจ่ายยิบย่อยต่างๆ ที่ต้องจ่ายให้ผู้ตั้งตัวเป็นมาเฟียคุมวิน เช่น ค่าเช่าวิน ค่าบำรุงท้องที่ที่นำไปจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เฉลี่ยเดือนละ 500 - 2,000 บาทต่อคันขึ้นอยู่กับพื้นที่ เป็นต้น และหากไม่จ่ายจะโดนคุกคามอันส่งผลให้ทำมาหากินสะดุดได้

ทั้งๆ ค่าธรรมเนียมที่แท้จริงของผู้ขับวิน มีเพียงค่าขอใบอนุญาตรถสาธารณะและค่าเปลี่ยนป้าย 570 บาทเท่านั้น

ยิ่งเมื่อได้เห็นสภาพ “บ้าน” หรือ “คฤหาสน์” ของ “หัวหน้าวินซอยอุดมสุข 1” ด้วยแล้ว ก็คงพอจะเห็นภาพธุรกิจวินมอเตอร์ไซค์ได้เป็นอย่างดีว่ามหาศาลขนาดไหน

ทั้งนี้ ผลสำรวจ “สถานภาพผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง” ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือน ก.พ. 2562 พบว่า วินมอเตอร์ไซค์มีรายได้เฉลี่ย 24,370.25 บาทต่อเดือน แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 11,633 บาทต่อเดือน หรือรายได้เฉลี่ย 974บาทต่อวัน มีต้นทุนค่าใช้จ่าย 3 อันดับแรก คือ ค่าน้ำมัน ค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ และค่าเช่าเสื้อ คงเหลือรายได้เฉลี่ย 12,736.61 บาทต่อเดือน

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,243 รายพบว่า 70.06 เปอร์เซ็นต์ จดทะเบียนถูกต้องแล้ว และมีรถเป็นของตัวเอง โดยอายุเฉลี่ยของผู้ประกอบอาชีพขับขี่วินมอเตอร์ไซค์อยู่ที่ 39 ปี เฉลี่ยทำงานมาแล้ว 8 ปี โดยในแต่ละเดือนต้องขับรถเพื่อหารายได้ถึง 25วัน เฉลี่ยวันละ 41 เที่ยว ขับรถวันละ 9 ชั่วโมงต่อวัน โดย 79.57 เปอร์เซ็นต์ ประกอบอาชีพการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว

นอกจากนี้มีงานวิจัย ระบุว่ารายได้ของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง14.5 เปอร์เซ็นต์ แบ่งไว้สำหรับจ่ายส่วยให้กลุ่มอิทธิพลในพื้นที่
เมื่อครั้งที่ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ถูกกฎหมายรวมตัวเรียกร้องความชอบธรรม กรณีสูญเสียผลประโยชน์จากการให้บริการของแอปฯ Grab Bike
สำหรับตัวเลขผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตทั่วประเทศมี 185,303 ราย วินจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมีจำนวนกว่า 5,513 วิน มีผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างขึ้นทะเบียนถูกต้องกว่า 130,000 คน และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ลักลอบเปิดวินวิ่งวินผิดกฎหมาย

ย้อนกลับไปที่แนวทางจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง หลังการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ผู้ขับขี่นำรถจักรยานยนต์มาจดทะเบียนเป็น “รถจักรยานยนต์สาธารณะ” (ป้ายเหลือง) ตามกฎหมาย ห้ามนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร จัดระเบียบ “สถานที่จอดรอผู้โดยสาร” (วิน) กำหนดรูปแบบเสื้อวินใหม่ แสดงชื่อวิน บัตรประจำตัว และหมายเลขประจำตัวถูกต้องตรงกัน ฯลฯ

แม้การทำผิดกฎหมายเริ่มลดลง แต่ปัญหาเรื้อรังต่างๆ ไม่สามารถแก้ไขได้ เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ามีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากขึ้นทะเบียน เพราะมองว่าการขึ้นทะเบียนหรือไม่นั้นมีผลไม่ต่างกัน เนื่องจากปัจจุบันในบางพื้นที่แม้ว่าขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย แต่ต้องจ่ายค่าเสื้อให้แก่มาเฟียคุมวินเหมือนเดิม รวมทั้งต้องจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง

“หากไม่จ่ายก็วิ่งรถไม่ได้ จะถูกเจ้าหน้าที่กวนอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีคนคอยชี้เป้าให้ตำรวจมาดักจับ ตั้งข้อหานั้นข้อหานี้ โดนทุกวันก็ไม่ไหว วิ่งรถได้เท่าไหร่ก็เอามาจ่ายค่าปรับหมด บางทีเจ้าถิ่นส่งคนมาข่มขู่คุกคาม พอไปแจ้งความตำรวจก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ คดีไม่คืบ สุดท้ายก็ต้องยอมจ่าย อย่างวินที่จังหวัดนนทบุรีนี่โดนกันเยอะมาก คนที่ไปขึ้นทะเบียนถูกต้องก็เลยรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ เพราะคนที่ขึ้นทะเบียนเขาก็บอกว่าไม่เห็นต้องขึ้นเลย ไม่ขึ้นก็วิ่งได้ ไม่เห็นมีตำรวจมาตรวจจับอะไร ดังนั้นถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลและการเรียกรับส่วยการขึ้นทะเบียนก็อาจจะไม่มีประโยชน์อะไร” นายเฉลิม กล่าว

กล่าวคือ วินเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายวินต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ เพื่อที่จะได้เข้ามาขับรับจ้าง ทั้งๆ ระเบียบระบุชัดว่า การติดต่อเพื่อขอขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแต่ละวิน ต้องสอบถามผู้ดูแลวินว่าพอมีเบอร์เสื้อว่างหรือไม่และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรณีเหล่านี้ล้วนมีเจ้าหน้ารัฐที่รู้เห็นเป็นใจเพราะได้รับผลประโยชน์

ในส่วนเหตุทะเลาะวิวาทของ วินคู่อริ ย่านอุดมสุข กรุงเทพฯ สะท้อนปัญหาเรื้อรังได้เป็นอย่างดี เป็นประเด็นร้อนที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน ซึ่งเบื้องต้นอาจมีการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ “วินหัวร้อน” ที่อยู่ในเหตุทั้งหมด ควบคู่ไปกับการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้มีการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์ของ คสช. เข้มงวดเพียงใด พันเอกกิตติภพ เธียรสิริวงษ์ เสนาธิการกองบังคับการควบคุมที่ 3 กองพลทหารราบที่ 9 กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การจัดระเบียบ ประสบผลสำเร็จเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คือ การให้ความร่วมมือจากผู้ขับขี่วินรถจักรยานยนต์ทุกคนเป็นสำคัญ

ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เรียกประชุมสำนักเทศกิจทั้ง 50 เขต วางแนวทางการดูแลวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยให้ทุกสำนักงานเขตสำรวจหาวินเถื่อนพร้อมประสานงานตำรวจปราบปรามวินเถื่อนทุกจุด และตรวจสอบความประพฤติของผู้ขับขี่ในแต่ละพื้นที่ หากพบว่าประพฤติผิดระเบียบจะส่งข้อมูลให้กรมการขนส่งทางบก เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ส่วนตำรวจนครบาลประกาศปราบปรามวินรถจักรยานยนต์รับจ้างเถื่อนขั้นเด็ดขาด

“ส่วนตัวได้เน้นย้ำไปแล้วว่าสิ่งที่รับไม่ได้และประชาชนทั้งประเทศก็รับไม่ได้คือ การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันในที่สาธารณะ สถานพยาบาล และโรงเรียน จะต้องหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ และสอบสวนว่าเพราะเหตุใดเหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้น หรือเกิดจากการปล่อยปละละเลยของใครหรือไม่ ซึ่งต้องมีการสืบสวนลงโทษทั้งหมดและหาผู้รับผิดชอบให้ได้ ผมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และข้อเรียกร้องที่อยากให้มีการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้นนั้นเชื่อว่าคงช่วยไม่ได้มากนัก แต่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายและไม่ละเมิดก้าวล่วงซึ่งกันและกัน หากมีการพูดให้ร้ายกันไปมาก็ไม่มีอะไรดีขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุทะเลาะวิวาทของวินจักรยานยนต์รับจ้างบนถนนสุขุมวิท ย่านอุดมสุข

ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์มาโดยตลอด แต่เหตุที่เกิดขึ้นมองว่ามาจากเรื่องส่วนตัวมากกว่า และมีพรรคพวกมาร่วมจึงเกิดการชุลมุน ซึ่งในส่วนของตำรวจได้สั่งการให้ติดตามจับกุมผู้ร่วมก่อเหตุให้ได้ ซึ่งขณะนี้จับกุมได้หลายรายแล้ว ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่ามีการส่งบัญชีส่วยให้บุคคลมีสี หรือผู้มีอิทธิพลนั้นจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนใครมีอิทธิพลก็อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังอยู่แล้ว ที่ผ่านมาสงบมาตลอดเพราะมีการปฏิรูปและจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง

และเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.อนุรักษ์ อิ่มละเอียด รองผกก.จร.สน.บางนา มาช่วยราชการที่ ศปก.บก.น.5 เนื่องจากบกพร่องในเรื่องการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ปล่อยให้มีการทะเลาะวิวาทจนมีผู้เสียชีวิต

...ท้ายที่สุดยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด การจัดระเบียบ “อาณาจักรวินมอไซค์” แหล่งผลประโยชน์มหาศาล แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่คงไม่ยากเกินไปหากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุการณ์ “วินปะทะเดือด” ดังเช่นที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น