xs
xsm
sm
md
lg

มาสายเกินไป-และน้อยเกินไป

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


คงไม่ผิดไปจากคำพังเพยของฝรั่งที่ว่า “Too Little-Too Late” หรือของไทยที่ว่า “สายเกินแก้”, “กว่าถั่วจะสุก-งาก็ไหม้เสียแล้ว”

นั่นคือ การประกาศในค่ำวันเสาร์ที่ 15 มิถุนาฯ ของนางแคร์รี แลม-ผู้ว่าการฮ่องกง (หรือผู้บริหารสูงสุด-HKG Chief Executive) “ระงับหรือเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด-Suspension-การนำเอาร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่, ไต้หวัน และมาเก๊า-ที่กำลังรอการนำเข้าอภิปรายและพิจารณาในวาระ 2” ในสภานิติบัญญัติ LegCo (Legislative Council)

เป็นการประกาศตัดหน้าไม่กี่ชั่วโมงก่อนการเริ่มชุมนุมใหญ่ของชาวฮ่องกง เพื่อขัดขวางการออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้มีชุมนุมใหญ่ในวันอาทิตย์จากสวนสาธารณะวิกตอเรีย แล้วขบวนผู้ประท้วงจะเดินไปยังสภา LegCo เพื่อปิดล้อมสภา ไม่ให้ ส.ส.เข้าสภาได้ และประกาศนัดหยุดงานทั่วเกาะฮ่องกง ทั้งภาคเอกชนและภาคราชการ เป็น “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience) เพื่อแสดงพลังต่อการกระทำของนางแคร์รี แลม และคณะผู้บริหารที่ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของชาวฮ่องกงตั้งแต่ต้นในการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสภา จนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย และทำให้ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่มองว่า เป็นการละเมิดต่อคำสัญญาที่จีนได้ให้ไว้กับชาวฮ่องกงว่า จะให้ฮ่องกงเป็นอิสระในการบริหารหลังการส่งมอบถึง 50 ปี ตามหลักการ “หนึ่งประเทศ-สองระบบ” (One Country Two Systems) ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันชาญฉลาดของมหาบุรุษเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ได้วางเอาไว้ก่อนอสัญกรรม

ท่านประธานบริหารสูงสุดแคร์รี แลม คงประเมินว่า เธอได้ยอมถอยมามากแล้ว ด้วยการระงับแขวนร่างกฎหมายนี้ไว้อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ชุมนุมพอใจและคงจะเลิกราการชุมนุมใหญ่ในวันรุ่งขึ้น (อาทิตย์ที่ 16 มิถุนาฯ)

ปรากฏว่า แกนนำชุมนุมซึ่งเป็นทั้งกลุ่มนักเรียน, นักศึกษา, นักกฎหมาย, อัยการ, คนชั้นกลาง-ต่างโหม นัดผ่านโซเชียล มีเดีย ให้ออกมาชุมนุมกันให้มากที่สุดเพื่อขัดขวางร่างกฎหมายนี้

พวกเขาให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ว่า เขาไม่หลงกลท่านประธานแคร์รี แลม เกรงว่าจะถูกเธอหลอกให้ตายใจ เลิกล้มการชุมนุมใหญ่ แล้วเมื่อเวลาผ่านไปอีกไม่นาน ก็จะมีเลือกตั้ง ส.ส.เข้าสภา LegCo ใหม่ในปีหน้า ทีเผลอเมื่อใด ท่านประธานแคร์รี แลม ก็จะงัดเอาร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 แล้ว นำเข้าสภาทันที

จริงๆ ขณะนี้ ในบรรดา ส.ส.ในสภา LegCo (ซึ่งชาวฮ่องกงจะเลือกตรงได้แค่ครึ่งสภา แต่อีกครึ่งสภาจะมาจากการคัดสรรจากรายชื่อของประเทศจีนที่ทำขึ้น) จะมีจำนวน ส.ส.ที่ฝักใฝ่ทางจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า ส.ส. (หนุ่มสาว) ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับจีน ซึ่งถ้านำร่างกฎหมายนี้เข้าสภา ก็จะผ่านฉลุยทีเดียว

มีรายงานด้วยว่า การประกาศถอยของประธานแคร์รี แลม เกิดขึ้น หลังจากเธอได้แอบเดินทางข้ามฟากไปพบกับรองนายกฯ ของจีนที่ฝั่งเสิ่นเจิ้น ซึ่งน่าจะได้รับคำแนะนำจากรองนายกฯ จีนให้เธอถอยก่อนในเวลานี้

จะด้วยเหตุผลว่า ใกล้เวลาที่ปธน.สี จิ้นผิง กำลังจะเข้าร่วมประชุม G20 ที่โอซากา ญี่ปุ่น และจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นบวกต่อปธน.สีที่จะพบกับเหล่าผู้นำของประเทศมั่งคั่งและเกรียงไกรของโลกถึง 20 ประเทศ รวมทั้งผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเลขายูเอ็น, ผอ.ไอเอ็มเอฟ, ประธานธนาคารโลก ฯลฯ เพราะการประท้วงใหญ่ที่ฮ่องกงจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่บดบังความยิ่งใหญ่ของปธน.สีได้อย่างดี

ประกอบกับปธน.สีก็กำลังถูกปธน.ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้าอย่างเข้มข้น ซึ่งการประชุม G20 นี้ ทางทรัมป์ได้ประกาศข่มขู่ก่อนการประชุมว่า ถ้าไม่ได้ประชุมทวิภาคีกับปธน.สี-ข้างๆ การประชุมใหญ่ G20-แล้วล่ะก็ จะประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนนำเข้าสหรัฐฯ ก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่คือ สินค้ามูลค่าสูงถึง 3 แสน 2 หมื่นล้านเหรียญ; เพราะขณะนี้กำลังเจรจาให้จีนต้องยอมหลายๆ เรื่อง กับสินค้าก้อนที่ 2 ในมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญนั้น ยังตกลงกันไม่ได้เลย และหลายฝ่ายคาดว่า การประชุม G20 ครั้งนี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ทั้งทรัมป์และสีจะหาทางตกลงการเจรจาให้ได้

ถ้าสีมีเรื่องการประท้วงใหญ่ที่ฮ่องกง ก็จะทำให้อำนาจการต่อรองของสีที่จะมีต่อทรัมป์ เป็นอันต้องลดลงแน่นอน ดังนั้นการเดินขบวนที่ฮ่องกง น่าจะต้องจบลงก่อนหน้าการประชุม G20 (ซึ่งผู้นำการชุมนุมที่ฮ่องกงก็รู้ถึงสถานการณ์อันนี้ด้วย)

สังเกตได้คือ คำแนะนำจากหน่วยงานที่ดูแลดินแดนพิเศษฮ่องกง, ไต้หวัน ออกคำแถลงให้ฝ่ายบริหารฮ่องกงระงับการนำร่างกฎหมายเจ้าปัญหานี้เข้าพิจารณาในวาระที่ 2 ไปก่อน

ทูตจีนประจำอังกฤษ ไปให้สัมภาษณ์ในบางรายการทีวีบอกว่า เรื่องร่างกฎหมายเจ้าปัญหานี้ ไม่ใช่คำสั่งจากคณะผู้บริหารของจีนหรือจากปธน.สี แต่เป็นเรื่องที่นางแคร์รี แลม ประเมินเองว่าควรนำเข้าสภาเพื่อพิจารณาตอนนี้ ซึ่งบางคนมองว่า เธอประเมินพลาด คิดจะเอาใจฝ่ายนำของจีน โดยไม่คาดว่าชาวฮ่องกงจะออกมาชุมนุมต้านมากมายถึง 1 ล้าน (กับอีก 3 หมื่นคน) ในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนาฯ ก่อนหน้าการพิจารณาวาระที่สองในวันพุธที่ 12 มิถุนาฯ

การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนาฯ เป็นการชุมนุมที่ประชาชนไม่ไว้วางใจนางแคร์รี แลม ทั้งๆ ที่เธอได้ยอมระงับ (ไม่มีกำหนด) นำเข้าร่างกฎหมายนี้แล้ว

แทนที่ประชาชนจะเลิกรา ยอมนอนอยู่กับบ้านดีกว่าออกมาชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนาฯ เพราะร่างกฎหมายไม่เข้าสภาแล้ว แต่พวกเขากลับมากันมืดฟ้ามัวดินคราวนี้มากันถึง 2 ล้านคน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการชุมนุมที่ฮ่องกงคือ เกือบ 1/3 ของประชากร 7 ล้านคน

เคยมีการเดินขบวนถึง 1.5 ล้านคนในปี 1989 ก่อนการส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีน (ในปี 1997) ในการประท้วงเรื่องการฆ่านักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินที่มาชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย

และหลังส่งมอบแล้ว 6 ปี (ในปี 2003) ได้มีการชุมนุมต่อต้านการนำเสนอร่างกฎหมายเพื่อความมั่นคงเข้าสภา โดยประธานตง ฉี่หวา ซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพของชาวฮ่องกง ครั้งนั้นมีคนฮ่องกงออกมาชุมนุมถึง 5 แสนคน จนในที่สุด ตง ฉี่หวา ก็ต้องถอนร่างกฎหมายนั้นออกไปแบบถาวร และตัวเขาก็ถึงกับถูกกดดันให้ลาออกไปในปีถัดมา

ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนาฯ ชาวฮ่องกงแต่งดำออกมาถึง 2 ล้านคน คราวนี้พวกเขาปักหลักเรียกร้องมากยิ่งขึ้นคือ 1. ขอให้คณะบริหารฮ่องกงถอนร่างกฎหมายนี้ออกไปจากสภาเลย ไม่ใช่ระงับชั่วคราว 2. ขอให้ปล่อยบรรดาผู้ชุมนุมที่ถูกจับ (เป็นหลายร้อยคน) ในการชุมนุมวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนาฯ และวันพุธที่ 12 มิถุนาฯ-ซึ่งในวันพุธที่ 12 มิถุนาฯ นั้น ทางฝ่ายผู้บริหารฮ่องกงได้เตรียมการรับมือประท้วงแบบหนักข้อมาก เตรียมตำรวจปราบจลาจล (แต่งตัวแบบมนุษย์ต่างดาว ทั้งสวมหน้ากากกันแก๊สน้ำตา และหมวกเหล็กมีปีกแน่นหนาเพื่อเตรียมปราบผู้ชุมนุม) พร้อมปืนยิงลูกกระสุนยาง และปืนยิงแก๊สน้ำตา-ได้มีการปะทะกับผู้ชุมนุม (แบบสงบปราศจากอาวุธ- นอกจากร่มที่ใช้ป้องกันตนเอง)-บาดเจ็บเป็นจำนวนร้อย รวมทั้งตำรวจก็บาดเจ็บ 20 กว่าคน

วันพุธที่ปะทะกันดุเดือด ประธานแคร์รี แลม ประกาศว่า สถานการณ์เข้าขั้นจลาจล จึงต้องให้ตำรวจพยายามเปิดทางเพื่อให้สภาเปิดประชุมให้ได้ (ยังกะเหตุการณ์หน้าสภาเจ้าปัญหาของไทยในปี 2549-50 จนผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรเสื้อเหลืองต้องถูกยิงปราบด้วยกระสุนจริงเสียชีวิตไปหลายคน)

ผู้ชุมนุม 2 ล้านคนในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนาฯ จึงต้องการให้ทางการปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับ และตั้งข้อหาว่าก่อจลาจล ซึ่งผู้ชุมนุมคัดค้านว่า พวกเขาชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ-ไม่ใช่ก่อจลาจล และให้ทางการถอนข้อหาก่อจลาจลออกให้หมด

ข้อเรียกร้องที่ 3 คือ ให้นางแคร์รี แลม ลาออกเพราะเธอเป็นฝ่ายออกคำสั่งให้ตำรวจดำเนินการขั้นรุนแรงเกินกว่าเหตุ

ซึ่งในตอนที่ผู้ชุมนุมมากันถึง 2 ล้านคน ฝ่ายนางแคร์รี แลม ได้กลับลำออกเป็นแถลงการณ์ ขอโทษประชาชน โดยบอกว่า เป็นการทำงานที่บกพร่อง (Deficiencies) จากฝ่ายรัฐบาล ที่ใช้กำลังรุนแรงเกินไป และจะน้อมฟังเสียงประชาชนด้วยท่าทีอ่อนน้อมต่อแต่นี้ไป

สำหรับอนาคตของนางแคร์รี แลม แม้จะมีคำแถลงจากทางการจีนว่า ยังให้การสนับสนุนนาง แต่เธอคงจะเผชิญชะตากรรมเหมือนนายตง ฉี่หวา ในปี 2003 เมื่อมีความพยายามขยายอำนาจการบริหารของทางการจีน มาจำกัดเสรีภาพของคนฮ่องกง

ขณะที่ชาวฮ่องกงแห่กันมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้ เขาได้ยืนร้องเพลง “Do You Hear the People Sing?” อันเป็นเพลงจากมหาอุปรากร Les Miserables ของ Victor Hugo ในขณะที่นางแคร์รี แลม ทำหูทวนลมและเดินหน้าอย่างแข็งกร้าวจะให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาให้ได้ เพื่อเอาใจฝ่ายนำของจีน

วันนี้ แม้เธอจะออกมาขอโทษ และจะปรับท่าทีฟังเสียงประชาชนมากขึ้นด้วยท่าทีอ่อนน้อมที่สุด แต่ก็คงสายไปเสียแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น