xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำไม...ความโปร่งใสติด“เอฟ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทราบว่า ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่งที่ได้รับทราบคะแนน การประมวลคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ 2561(ITA)ทั่วประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการเปิดเผยเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาโดยเฉพาะ อปท. ที่คะแนนติดเอฟ“สอบตก”ได้ยกคณะไปสอบถาม ป.ป.ช.ประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการอุทธรณ์เรื่องไปยังส่วนกลางให้ตรวจสอบเอกสาร และใส่คะแนน ITA ใหม่

ผู้บริหารอาจจะเกรงว่า อปท.ที่ตัวเองบริหารมาตลอดปีงบประมาณ 2561 ผลประเมินที่ออกมา สอบตกได้อย่างไร ทั้งที่ผลงาน การบริหารงานที่ผ่านมา อยู่ในระดับเกรดเอ

บางแห่งเคยได้รางวัลระดับประเทศ ระดับชาติ ผู้บริหารก็อาจจะร้อนใจว่า ผลคะแนนความโปร่งใสที่ออกมา ซึ่งออกจากป.ป.ช. หน่วยงานปราบปรามทุจริต เป็นผู้ประเมิน

อาจจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานะคะแนนเข้าใจผิด นำไปสู่ผลกระทบกับคะแนนการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่คาดว่ากำลังจะจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ รวมถึงอาจจะทำให้ความนิยมต่อกลุ่มการเมืองท้องถิ่นของตนเองจะได้รับผลกระทบไปด้วย

ย้อนมาดูประมวลคุณธรรมและความโปร่งใส หรือ ITA ดังกล่าวนี้ ป.ป.ช.ได้พัฒนาเป็นเครื่องมือเพื่อการประเมินเชิงบวก เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตและเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรมโดย ใช้ชื่อว่า “การประเมิน คุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment ITA)”

โดยได้เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา และมีการขยายขอบเขตและพัฒนาให้มีประสิทธิ ภาพมากยิ่งขึ้นตามลำดับ รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

คณะรัฐมนตรี ชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้มีมติ เมื่อ 23 ม.ค.61 ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2564 โดยใช้แนวทางและเครื่องมือ การประเมินตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช.กำหนด เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564)

ที่ผ่านมาพบว่า หลายหน่วยงานนำการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ไปเป็นกรอบในการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เกิดการปรับปรุง มีประสิทธิ ภาพในการให้บริการ และการอำนวยความสะดวกต่อประชาชน ให้เข้าถึงการบริการสาธารณะ ด้วยความเป็นธรรมผ่านการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน มีการประกาศขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในด้านบริหารจัดการในหน่วยงาน ก็ยังพบว่าหน่วยงานให้ความสำคัญกับการป้องกัน ในประเด็นที่อาจเป็นความเสี่ยงหรือเป็นช่องทางที่อาจจะก่อให้เกิดการทุจริต การรับสินบน หรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และสามารถยับยั้งการทุจริตหรือผลประโยชน์ทับซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันสถานการณ์

ซึ่งเมื่อหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศมีการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในลักษณะดังกล่าว ก็จะทำให้การทุจริตในภาพรวมของประเทศลดลงได้ในที่สุด ตลอดจนยังผลักดันให้เกิดทิศทางการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานภายในหน่วยงาน ในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

คะแนนล่าสุดของปีงบประมาณ 2562 นั้น เมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเห็นชอบให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินประกาศผลคะแนนการประเมินดังกล่าวต่อสาธารณะ เพื่อให้ อปท. ที่เข้ารับการประเมินรับทราบ และนำคะแนนไปปรับปรุง พัฒนา ยกระดับตลอดจนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ซึ่งกรอบแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 แบ่งออกเป็น 10 ตัวชี้วัด ดังนี้

1.การปฏิบัติหน้าที่ 2.การใช้งบประมาณ 3.การใช้อำนาจ 4.การใช้ทรัพย์สินของราชการ 5.การแก้ไขปัญหาการทุจริต 6.คุณภาพการดำเนินงาน 7.ประสิทธิภาพการสื่อสาร 8.การปรับปรุงระบบการทำงาน 9.การเปิดเผยข้อมูล และ 10.การป้องกันการทุจริต

ทั้งนี้ ผลคะแนนดังกล่าว “ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการทุจริต หรือการกระทำผิดของหน่วยงานแต่อย่างใด”แต่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่หน่วยงานควรปรับปรุง พัฒนา และยกระดับให้ดียิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดธรรมาภิบาลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสามารถยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต

คะแนน ล่าสุดถูกส่งไปยัง กระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งให้ อปท.ประเทศ กว่า 8 หมื่นแห่ง รับทราบหลังจากว่าจ้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการประเมิน

พบว่า ประเภทบริหารท้องถิ่นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง มี อบจ.ที่ได้รับผลการประเมินในระดับเอ ลำกับแรกคือ อบจ.กระบี่ ได้ 92.34มี อบจ.ที่สอบตก ติดเอฟ เช่น อบจ.สิงห์บุรี ได้ 30.39 คะแนน อบจ.อุบลราชธานี ได้ 39.22 คะแนน อบจ.มหาสารคาม ได้ 33.41 คะแนน อบจ.สุรินทร์ ได้ 44.38 คะแนน อบจ.พระนครศรีอยุธยา ได้ 49.95 คะแนน ขณะที่ อบจ.ส่วนใหญ่อยู่ในระดับบี-ซี-ดี และยังมี อบจ.ที่คาบเส้นความโปร่งใส ระดับอี ที่ 50 คะแนน

ส่วน อปท.ระดับเทศบาลนคร 30 แห่ง มีเทศบาลนครที่ได้ระดับเอ สูงสุดคือเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ 90.66 คะแนน มี เทศบาลนครที่ติดเอฟ “สอบตก” ประกอบด้วย เทศบาลนครเกาะสมุย ได้ 29.08 คะแนน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ 36.72 คะแนน เทศบาลนครอุบลราชธานี ได้ 43.46 คะแนน เทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก ได้ 47.29 คะแนน เทศบาลนครนครราชสีมา ได้ 47.67 คะแนน ขณะที่เทศบาลนครที่เหลือส่วนใหญ่อยูในระดับ บี

ด้าน “เทศบาลเมือง”จำนวน 178 แห่ง พบว่า เทศบาลเมืองพนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้รับคะแนนสูงสุด 97.31 คะแนน ระดับเอเอ มีหลายแห่งติด "เอฟ"

เช่นกัน เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,238 แห่ง พบว่า มีคะแนนความโปร่งใส ในระดับซี และดี เป็นส่วนใหญ่ และหลายแห่งก็ยังติด "เอฟ"

มีการให้เหตุผลว่า อปท.ที่ได้คะแนนความโปร่งใสน้อย ส่วนใหญ่ ไม่มีการเปิดเผยรายงานผล ผ่านขั้นตอนอย่างครบถ้วน เช่น การดำเนินงานตามแบบตรวจการเปิดเผยข้อมูล (OIT) และผลสรุปแบบทดลองวัดการรับรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในหน่วยงาน (IIT) จึงได้คะแนนในระดับอี และเอฟ และบางแห่งติด"เอฟ"

อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนในแต่ละหัวข้อทั้ง 10 ข้อที่ ป.ป.ช.กำหนด ไม่ได้มีการเปิดเผยให้สาธารณะชน หรือ ป.ป.ช.ประจำจังหวัด รับทราบ

จากข้อมูลจาก ป.ป.ช.ส่วนกลาง ทราบว่า เอกสารที่ อปท.หลายแห่งส่งไปยัง ป.ป.ช.ส่วนกลางตรวจสอบนั้น "ไม่ครบ" ในใบผลการประเมินจะพบว่า มีเอกสารช่อง OIT และ IIT ที่ใส่เครื่องหมายดอกจันไว้ ว่าด้วย ผลสรุปแบบทดลองวัดการรับรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในหน่วยงาน (IIT)

ล่าสุด มีหนังสือที่ มท 0804.6/ว 2242 ถึง สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด มีใจความว่า

ตามที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กถ.)ได้มีหนังสือ ที่ มท 0804.6/ว 1320 ลงวันที่ 27 มี.ค.2562 จัดส่งคู่มือและปฏิทินแบบประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.6/ว 1889 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562

แจ้งรายชื่อ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ที่ยังไม่เปิดใช้ระบบ ITAS หรือ ช่องทางการเข้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รองรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และยังนำเข้าข้อมูล จำนวนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) และข้อมูลรายชื่อของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ไม่ครบถ้วน จึงขอให้ เร่งรัดเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินการนำเช้าข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด

ตามปฏิทินการประเมิน คุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่ ป.ป.ช.กำหนดไว้ตั้งแต่ วันที่ 1 มี.ค.2562 กำหนดช่วงการประเมิน กรอบระยะเวลา และขั้นตอนการประเมินในเดือน พ.ค. 2562

โดย อปท. ที่เข้ารับการประเมินจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบวัดความรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน และกำกับติดตามให้ได้ตามที่กำหนด อันเป็นขั้นตอนที่อปท.จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน มิฉะนั้น ผลการประเมินขององค์อปท.จะแสดงสัญลักษณ์ "ดอกจัน" ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นผลการประเมินจากข้อมูลที่หน่วยงานดำเนินการไม่ครบถ้วน ตามขั้นตอนที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด

ล่าสุด ข้อมูล 10 มิ.ย. 62 มี อปท. เพียง 17 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สุโขทัย สระบุรี อุทัยธานี ปัตตานี เพชรบูรณ์ พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และ นครปฐม ที่ส่งครบถ้วน

โดยมีรายชื่อ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ที่ยังไม่เปิดใช้ระบบ ITAS และยังไม่มีการนำเข้าข้อมูล จำนวนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) และข้อมูลรายชื่อของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ทั้งสิ้น 629 แห่ง จาก 8 หมื่นกว่าแห่ง ทำให้ทุกแห่งนี้ มีคะแนนต่ำกว่าขันต่ำ หรือ 30 คะแนน ในระดับ เอฟ คืออยู่ในระดับ "สอบตก"นั่นเอง

หลังจากเมื่อปีก่อน “นโยบายคุณธรรมและความโปร่งใส” ที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศให้ถือปฏิบัติ ใน 5 ข้อ กับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ดังนี้

1. บริหารงานและปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วยการบริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง เสมอภาค โปร่งใส และเป็นธรรม

2. ปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติให้บุคลากรในสังกัด มีความรู้ความเข้าใจ ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิต

3. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งเสรมการดำเนินการ ให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติงานโดยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในการดำเนินกิจกรรมทุกรูปแบบ

4. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแจ้งข้อมูลข่าวสาร เบาะแสการทุจริต ร้องเรียนร้องทุกข์ผ่านศูนย์ดำรงชัยธรรม

5. กรณีพบการทุจริตจะดำเนินการสอบสวนและลงโทษขั้นสูงต่อผู้ทุจริตอย่างจริงจัง




กำลังโหลดความคิดเห็น