xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละ “จุดตาย” เรือแป๊ะภาค 2 ที่มา “ส.ว.กากี่นั้ง” ไม่เคลียร์ “41 ส.ส.”ฝ่าย รบ.ติดหล่มหุ้นสื่อ “ฝ่ายค้าน” รุกหนัก เปิดเกมรื้อ รธน.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

แต่กรณีนี้ไม่รู้ว่า “พลาดจริง” หรือ “จงใจพลั้ง” กับปมที่มาของ “ส.ว.กากี่นั้ง” สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ขมุกขมัวมานาน กว่าจะได้รับความกระจ่าง ก็ต้องไล่บี้กันหน้าดำหน้าแดง

ทว่าในความกระจ่าง ก็ยังเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ดี

กล่าวคือ มีการตั้งข้อสังเกตว่า 250 ส.ว.ที่ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จำนวน 250 คน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น อาจมีปัญหาในส่วนของ ส.ว.ประเภทที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง 194 คน

ด้วยใน “บทเฉพาะกาล” มาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้อย่างชัดเจนโดยสังเขปว่า “ในระยะ 5 ปีแรก กำหนดให้ ส.ว.มีจำนวน 250 คน โดยให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านต่างๆ เป็นกลางทางการเมือง 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน

“อีกส่วนหนึ่ง มาจากผู้ที่เป็น ส.ว.โดย ตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนอีก 50 คน กกต.ดำเนินการให้คัดเลือกกันเองเหลือ 200 คน แล้วส่งรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน สำรอง 50 คน”

ซึ่งในส่วนของ ส.ว.ที่มาจากการสมัครและเลือกกันเองก่อนที่จะให้ คสช.เคาะ 50 คนและรายชื่อสำรอง50 คนได้มีการประกาศรายชื่อไปพร้อมกันไว้แล้วนั้นไม่มีปัญหา รวมทั้งในส่วนของ 6 ส.ว.จากผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญเป๊ะๆ

ปัญหาอยู่ที่ ส.ว. 194 ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รวมทั้งเริ่มปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว โดยเฉพาะในการร่วมลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา 9-12 คนผู้คัดเลือกรายชื่อผู้เหมาะสมเป็น ส.ว. รวมไปถึงไม่มีการประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรอง 50 รายชื่อตามที่กฎหมายกำหนดไว้

มีการตั้งข้อสังเกตไปไกลว่า อาจถึงขั้นทำให้ 194 ส.ว.เป็น “โมฆะ” และจะส่งผลให้กระบวนการเลือก “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯอาจเป็น “โมฆะ” ไปด้วย

ผนวกกับ คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ลงวันที่ 8 ก.พ.62 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ถูกอ้างถึงในคำร้องของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีถึงศาลรัฐธรรมนูญ กลับไม่ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา

“เมื่อคำสั่งคสช.ดังกล่าวมีฐานเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 81 วรรคสองได้กำหนดไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคำสั่งคสช.ฉบับนี้มิได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรณีจึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 81” คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า “ซึ่งคำสั่ง คสช.ดังกล่าว มีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กลั่นกรองเสนอรายชื่อส.ว.เท่านั้น ไม่ใช่การออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป คำสั่งคสช.ดังกล่าวจึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย...”

ที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

เป็นคำตอบที่ตรงกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติว่าด้วยเรื่องการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา เขียนไว้เพียงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เท่านั้น

“ที่ คสช. ยังไม่เปิดเผยหลังจากการแต่งตั้งในตอนต้น เพราะเกรงว่าจะเกิดการวิ่งเต้น ขอตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบการสมัคร แต่ให้คณะกรรมการสรรหาไปเจาะหาตัวบุคคล” นายวิษณุ เจ้าของสมญา “เนติบริกร” ว่าไว้

อย่างไรก็ตามเมื่อถูกกดดันมากเข้า “วิษณุ” จึงหมดทางเลือก และอ้างว่า “รำคาญ” จำต้องเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งก็ตรงตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการมี 10 ราย ประกอบด้วย 5 รายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือรองนายกฯ 5 คน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน และเป็นผู้สรรหารายชื่อคนจากสายความมั่นคงเข้ามา ประมาณ 50 คน

“บิ๊กจิน” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ (ในขณะนั้น) สรรหาคนจากสายวงการการศึกษา ยุติธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อมวลชน 50 คน

“เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ สรรหาคนจากสายเศรษฐกิจ เกษตร การเงิน การคลัง การธนาคาร การลงทุน การค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว 50 คน

“บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ (ในขณะนั้น) สรรหาจากสายเกษตร สาธารณสุข และด้านที่เกี่ยวกับสังคม 50 คน

และตัว “วิษณุ” ที่สรรหาคนจากสายของกฎหมาย ระเบียบราชการ อดีตข้าราชการที่เกษียณไปแล้ว 50 คน

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจาก คสช. อีก 5 รายร่วมเป็นกรรมการสรรหาประกอบด้วย “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร, “บิ๊กเข้” พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย, “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รวมไปถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. (ในขณะนั้น) โดยในรายของ “พรเพชร” นั้นลาออกและไม่เคยเข้าร่วมประชุมส่งผลให้กรรมการสรรหาเหลือ 9 คน

น่าสังเกตว่า การชี้แจงของ “วิษณุ” เป็นการชี้แจงปากเปล่าเท่านั้น ไม่ได้มีการนำคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ลงวันที่ 8 ก.พ.62 มาแสดง ทำให้ดูเหมือนไม่มีคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ หรือคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่มีอยู่จริง และทำประหนึ่งว่า “วิษณุคือกฎหมาย” พูดอะไรต้องถูกหมดกระนั้นหรือ?

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปิดชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ก็นำมาซึ่งข้อครหา “ส่วนได้ส่วนเสีย” เพราะใน 10 กรรมการสรรหา มีถึง 5 รายที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. ตลอดจนกรณี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เมื่อมีบุคคลนามสกุลเดียวกับกรรมการสรรหาบางราย ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว.ด้วย

เมื่อจี้ปม “ชงเองกินเอง” ว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้สรรหาตัวเองเข้าไปเป็นส.ว.หรือไม่ “วิษณุ” ก็ชี้แจงตามสไตล์ “เนติบริกร” อีกว่า ไม่มีกรรมการคนไหนเลือกตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว. เพราะเมื่อมีการพิจารณาถึงชื่อของคณะกรรมการสรรหาคนใด ก็จะออกจากห้องประชุมไป

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของ “ส.ว.กากี่นั้ง - ส.ว.ลากตั้ง” ทรุดหนักลงไปกันใหญ่ โดยเฉพาะผลงานประเดิมในการโหวตเลือก “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ แบบ “เอกฉันท์” 249 เสียง จาก 250 เสียง ขาดเพียง “พรเพชร” ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่ “งดออกเสียง” ตามมารยาททางการเมือง

แต่แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำชี้แจงของ “วิษณุ” จะไปในทิศทางเดียวกัน ก็ไม่สามารถคลายข้อสงสัยว่า สรุปแล้วคำสั่ง คสช.เป็นกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ที่ทำให้กระบวนการดูจะ “ไม่โปร่งใส” นั้น ส่งผลให้กระบวนการทั้งหมด “โมฆะ” หรือไม่

ในช่วงเดียวกันก็มีการนำประกาศ คสช. ที่ 2 /2562 เรื่อง ประกาศรายชื่อบุคคลสำรองสำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา อีก 50 รายในส่วนที่ คสช.สรรหา ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 โดยลงท้ายประกาศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ลงวันที่ 10 มิ.ย.62

แม้ประกาศ คสช.ที่ 2/2562 จะทำให้กระบวนการสรรหา ส.ว.สมบูรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ในทางกลับกันก็เหมือนเป็นการเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก

เมื่อวรรคท้ายของ มาตรา 269 (1) (ค.) ระบุว่า “...และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหา จำนวน 50 คน ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...”

หากจำกันได้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค.62 แต่ประกาศ คสช.ที่ 2/2562 ลงวันที่ 11 มิ.ย.62 หลุดกรอบ 3 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ทว่า ในประกาศ คสช.ที่ 2/2562 ก็เขียนปิดช่องโหว่ไว้ว่า 50 รายชื่อสำรองทำเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ 11 พ.ค.2562 แต่ส่งประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.62 เท่านั้น

แน่นอนว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 269(1)(ค.) ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 วันหลังจากประกาศผลนั่นเอง

เรียกได้ว่า “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” ไปได้อย่าง “ค้านสายตา”

เพราะสังคมต่างมองว่า กระบวนการสรรหา ส.ว.นั้นไม่โปร่งใสอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็จับทางได้อีกว่าเป็นการ “วางหมาก” ไว้เผื่อเกิดผิดพลาดในการดัน “บิ๊กตู่” ขึ้นเป็นนายกฯสมัยที่ 2 ซึ่ง “ผู้วางหมาก” คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกเหนือจาก “วิษณุ เครืองาม” เจ้าของสมญา “เนติบริกร” นั่นเอง

มรสุมที่มา ส.ว.ส่อจะเป็น “โมฆะ” ดูเหมือนจะผ่านพ้นไปได้แบบหืดจับ ก็มีประเด็นร้อนถล่ม “เรือแป๊ะ คสช. ภาค 2” อีกระลอก กับกรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ที่ทาง “ค่ายสีส้ม” พรรคอนาคตใหม่ เปิดหน้าแลกเต็มสูบ หลังจากที่ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ติดหล่มกรณีหุ้นวีลัคมีเดีย จนถูกสั่งให้หยุกการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว

โดยเรื่องนี้ “เสี่ยเอก” และ “อาจารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ลงมาลุยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ทำหนังสือถึง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งคำร้องต่อไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คุณสมบัติ ส.ส.จำนวน 41 คน จาก 6 พรรคการเมือง ว่าถือครองหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการสื่อมวลชน ว่าเข้าข่าย ขาดคุณสมบัติตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

ในทำนอง “หนามหยอก เอาหนามบ่ง” เพราะเป็นข้อหาเดียวกับที่ “ธนาธร” ถูกเล่นงานนั่นเอง

ที่น่าสนใจคือ ส.ส. 41 คน จาก 6 พรรคการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็น ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาล แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 26 ราย และพรรคประชาธิปัตย์ 10 ราย ที่เหลือพรรคละ 1 คน ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคประชาภิวัฒน์

“เรียกร้องให้สังคมมองการทำงานศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ากระบวนการไปถึงศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ของผมแค่ 7 วัน ศาลก็สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ในกรณีหุ้นวีลัคมีเดียของผม ยืนยันว่าขายและสำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว”

คือเสียงเรียกร้องของ “ธนาธร” ที่เฉลยทันทีว่า ต้องการกดดันไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ใช้ “มาตรฐานเดียว” กับที่ตัวเองถูกหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว

ย้อนไปนิด ก่อนหน้าที่จะเปิดเกมรุกยื่นเรื่อง 41 ส.ส.นั้น “ธนาธร” ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอเลื่อนการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นวีลัคมีเดีย ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งศาลก็อนุญาตตามที่ขอ

แน่นอนว่า ตัว “เสี่ยเอก” ได้รวบรวมหลักฐานกรณีหุ้นวีลัคมีเดีย ไว้ครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่ที่เคยไปให้ถ้อยคำต่อสำนักงาน กกต. แต่เหตุที่ขอเลื่อนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อต้องการประวิงเวลา ถ่วงเรื่องให้เป็นประเด็นค้างคา เพื่อลากเอา 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลให้มาติดหล่มเดียวกัน

ตามแผนการ “1 แลก 41” หาก “ธนาธร” หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว 41 ส.ส.ก็ไม่รอด

อีกทั้งพรรคอนาคตใหม่ยังเลือกใช้ “ทางลัด” อาศัยการยื่นเรื่องผ่านประธานสภาฯ ที่ชื่อ “ชวน หลีกภัย” ซึ่งยึดทุกอย่าง “ตามหลักการ” แบบเป๊ะๆ จึงไม่แปลกที่คำร้องของพรรคอนาคตใหม่ ถูกส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญแบบ “ด่วนจี๋ ไปรษณีย์จ๋า” ด้วย “ประธานชวน” ระบุว่า มีหน้าที่เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ ไม่ได้มีอำนาจในการพิจารณาข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ดี กรณี 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล นั้นยังไม่มีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงมาก่อน ต่างจากกรณี “ธนาธร” ที่เป็นคำร้องที่ยื่นผ่าน กกต. และมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริง มาก่อนแล้วจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา

แม้จะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง แต่หากคดีของ “ธนาธร” ยังไม่เคลียร์คัทจบประเด็น หรือมีการวินิจฉัยว่ามีขาดคุณสมบัติจริง ก็น่าหวั่นใจแทน 41 ส.ส. ตลอดจนเสถียรภาพของ “เรือแป๊ะ คสช.ภาค 2”

ที่รู้กันดีว่าอยู่ในภาวะ “เสี่ยงปริ่มน้ำ” มีเสียง ส.ส.เต็มอัตราแค่ 254 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมีอยู่ 246 เสียง ยิ่งเวลาลงมติในบางเรื่อง ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯทั้ง 2 คน อาจจำเป็นต้องรักษามารยาทโดยการ “งดออกเสียง” ก็จะทำให้เสียงของรัฐบาลหดหายไปเหลือเพียง 251 เสียงเท่านั้น

หาก 41 ส.ส.ติดโทษแบนชั่วคราวขึ้นมาจริง ก็จะผลักให้รัฐบาลกลายเป็น “เสียงข้างน้อย” ขึ้นทันที

ยิ่งไปกว่านั้น หากศาลวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติกันจริง เพราะก่อนหน้านี้มี “บรรทัดฐาน” มาแล้วจากกรณีผู้สมัคร ส.ส.หลายรายถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง เพียงเพราะมีชื่อถือหุ้นในบริษัทที่จดแจ้งบริคณห์สนธิแบบสำเร็จรูปว่า ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ทั้งที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแต่อย่างใด ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ของ “รัฐบาลพลังประชารัฐ” เข้าขั้นวิกฤต

และในขณะที่ ส.ส. และ ส.ว.กำลังมีปัญหาอยู่นั้น “ค่ายสีส้ม” ก็เตรียมเปิดแนวรบใหม่ กับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย “ปิยบุตร” แถลงไว้ว่า จะเดินหน้าขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง คือ 1.ยกเลิก มาตรา 279 ที่รับรองให้บรรดาคำสั่งของ คสช.ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และ 2.เสนอแก้ไขยกเลิก มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ

การเสนอญัตติโดยพรรคอนาคตใหม่นั้น คงทำได้ไม่ยาก ด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 255 กำหนดไว้ว่าการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้หลายช่องทาง หนึ่งในนั้นคือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส. ที่มีอยู่ หรือ 100 เสียง ซึ่ง 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้านมีเสียงเหลือๆ

แต่อุปสรรคของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ที่การเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แต่มีสร้อยท้ายด้วยว่า “ในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

เท่ากับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังจำเป็นต้องมีเสียง ส.ว.สนับสนุนไม่ต่ำกว่า 84 เสียง
ซึ่งถือว่าเป็นไปแทบไม่ได้ เพราะประเด็นสำคัญที่พรรคอนาคตใหม่เสนอแก้ไขนั้น เป็นการลดบทบาทอำนาจของ ส.ว.เองด้วย

อย่างไรก็ดี การที่พรรคอนาคตใหม่ออกมาเปิดประเด็นแก้ไขรับธรรมนูญแต่ต้นนั้น ก็เพราะอ่านเกมออกว่า พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็คงเลี่ยงวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไม่ได้ ด้วยเป็น 1 ในเงื่อนไขที่ พรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรสำคัญในรัฐบาลยื่นข้อเรียกร้องก่อนเข้าร่วมรัฐบาล

และก็ไม่แน่นักว่า บรรดา “พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล(ขณะนี้)” ก็อาจผสมโรงร่วมแก้ด้วยก็เป็นได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถปลดแอกจากอำนาจท็อปบูตได้เสียที

ทั้งหลายทั้งปวงที่ไล่เรียงไป กลายเป็น “จุดตาย - จุดสลบ” ในช่วงรับน้อง “รัฐบาล คสช.ภาค 2” ทั้งสิ้น.




กำลังโหลดความคิดเห็น