xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กรุงเทพฯ วายป่วง! ดินทรุดปีละเซ็นต์ เสี่ยงจมบาดาลทุกพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “กรุงเทพฯ ดินทรุดตัว เฉลี่ยปีละ 1 ซม. หลายพื้นที่เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2573 เช่นเดียวกับกรุงจาการ์ตา เฉลี่ยยุบตัวลงต่อเนื่องปีละ 1 - 15 ซ.ม. ซึ่งเป็นผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุเขตร้อนที่รุนแรง และฝนตกหนัก เนื่องจากภาวะโลกร้อน”

นั่นคือข้อเท็จจริงจากองค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และทำให้เกิดคำถามตามมาว่าสถานการณ์จะรุนแรงดังเช่นกรณีกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่กำลังเผชิญกับปัญหาพื้นที่ทรุดตัวมีอัตราจมลงใต้น้ำเร็วที่สุดเมืองหนึ่งของโลก กระทั่งเตรียมย้ายเมืองหลวงหรือไม่?

“ใน กทม. แผ่นดินทรุดทุกวัน ทุกปี ปีละเซ็น เห็นได้ชัดเจน ตอม่อสะพานลอยเหมือนจะสูงขึ้น แต่จริงๆ ดินทรุดปีละเซ็นต์” นายสรรเสริญ เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานระบบโทรมาตร อดีตหัวหน้าศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยสถานการณ์ดินทรุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอกย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริง

ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจที่ทำอย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ตก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายชั่วโมง มักเกิดวิกฤตน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง เกิด “ปรากฎการณ์น้ำรอการระบาย” สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชนทั่วถึง

ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมปฐพี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์สาเหตุที่จะทำให้กรุงเทพฯ จมกลายเป็นเมืองบาดาลว่ามีอยู่ 2 ประการคือ การทรุดตัวของแผ่นดิน และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อแรก ในเรื่องการทรุดตัวของพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น มีการวิจัยแล้วพบว่าแผ่นดินกรุงเทพฯ หยุดการทรุดตัวมานานหลายปีแล้ว ซึ่งในอดีต ในกรุงเทพฯ เคยมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ แต่หลังจากปี 2540 มีกฎหมายบังคับห้ามสูบน้ำบาดาล การทรุดตัวจึงชะลอลง กระทั่ง ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ หยุดการทรุดตัวแล้ว และยังพบว่าบางจุดแผ่นดินสูงกลับขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่เท่ากับระดับเดิมก่อนการทรุดตัว

ในส่วนการพัฒนาที่ดินสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขนาดใหญ่ ไม่ได้มีผลต่อการทรุดตัวของดิน เนื่องจากการก่อสร้างอาคารมีการตอกเสาเข็ม โดยเฉพาะอาคารสูงมีการตอกเสาเข็มลึกไปจนถึงชั้นดินแข็ง จึงไม่มีผลต่อการทรุดตัวของดินแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่เห็นว่า พื้นดินทรุดจากการถมที่ดินเพื่อสร้างบ้าน หรือสร้างถนนนั้น เป็นการยุบตัวของดินที่นำมาถมซึ่งไม่ได้เกิดจาดแผ่นดินเดิม ฉะนั้น การทรุดที่เกิดขึ้นจะไม่ทรุดลงไปต่ำกว่าพื้นดินเดิม

ทว่า อาคารสิ่งปลูกสร้างคอนกรีตจะส่งผลต่อระบบการระบายน้ำ หากกรณีที่มีฝนตกการกระบายน้ำทำได้ช้าลง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ เนื่องจากอาคารไปปกคลุมพื้นที่หน่วงน้ำเดิม เช่น ทุ่งนา ต้นไม้ พื้นดิน เป็นต้น

ข้อที่สอง ปัจจัยเรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยลักษณะภูมิประเทศ ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแอ่ง บางจุดอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเล็กน้อย หรือบางจุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เช่น รามคำแหง, สุขุมวิท ฯลฯ จะเห็นว่าทุกครั้งที่ฝนตกพื้นที่เหล่านี้มักเกิดน้ำท่วมขัง

สำหรับกรณีปริวิตก กรุงเทพฯ จะกลายจมน้ำ หรือไม่? ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์ที่จะช่วยป้องกันได้ หากเทียบกรณี กรุงเทพฯ กับกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ปัจจัยแผ่นดินทรุดตัวแตกต่างกัน สาเหตุที่อินโดนีเซียประสบปัญหาแผ่นดินทรุดมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก เพราะยังมีการใช้น้ำบาดาล ไม่มีกฎหมายควบคุม จึงยังทรุดตัวเยอะมาก อีกทั้งอินโดนีเซียมีอยู่ใกล้กับแนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลก การทรุดตัวเนื่องจากสูบน้ำบาดาล บวกกับแผ่นเปลือกโลกที่ยุบตัว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ได้โพสต์ข้อความอธิบายเกี่ยวกับกระแสกรุงเทพฯ เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ด้วยว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเเละต่อเนื่อง ไม่ได้ปล่อยไปตามยถากรรม หน่วยงานที่ศึกษาอย่างจริงจัง มีมหาวิทยาลัยหลายเเห่ง หน่วยงานราชการได้เเก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรุงเทพมหานครฯ กรมเเผนที่ทหาร กรมทรัพยากรธรณี ฯลฯ ดังนั้นจึงสามารถก้าวข้าวปัญหาการทรุดตัวอย่างรุนเเรงไปได้จนมาถึงปัจจุบัน

กระนั้นก็ดี อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ” ก็คือ “ปัญหาระบบการบริหารน้ำ” ของ “กรุงเทพมหานคร (กทม.)”

ทุกวันนี้ ถนนในกรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำเจ้าพระยา โดยเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร หากน้ำท่วมขัง จึงต้องใช้วิธีการสูบน้ำขึ้นไประบายยังแม่น้ำลำคลองซึ่งอยู่สูงกว่า อีกทั้ง ข้อจำกัดการระบายน้ำของ กทม. สมมติฝนตกแช่ 2 - 3 ชม. ตกเกิน 60 มม. หรือตกหนักเกินกว่า 90 มม. ท่อระบายน้ำ กทม. ระดับ 60 ม.ม. จะรับไม่ทัน

นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคการระบายน้ำ เนื่องจากปริมาณขณะตั้งแต่ชิ้นเล็ก พลาสติก กระป๋อง ขวดแก้ว เศษกิ่งไม้ ฯลฯ ไปจนถึงขยะชิ้นใหญ่ ที่นอน ตู้ โซฟา ฯลฯ ส่งผลให้ประสบปัญหาระบายน้ำช้า ลดประสิทธิภาพการระบายน้ำลงไปอีก

จึงไม่แปลกที่เกิดวิกฤติ “ฝนตก-น้ำท่วม -รถติด” บนถนนสายหลักทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เช่นเดียวกับ เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ฝนตกหนักปริมาณฝนสะสมมากถึง 136 มม. ความรุนแรงของฝน 160 มม. ต่อ ชม. แน่นอนว่าเป็นปริมาณฝนที่ กทม. ไม่สามารถรับมือได้ พร้อมกันนี้ กทม. ได้ประกาศพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม แบ่งเป็น จุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด แม้ปริมาณฝนไม่ถึง 60 มม. ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ และจุดเฝ้าระวัง รวม 56 จุด หากฝนตกเกิน 60 มม.

อีกทั้ง เกิดปัญหาระบบระบายน้ำอุโมงค์ส่งน้ำบางจุดมีปัญหาไฟฟ้าดับไม่สามารถระบายน้ำได้ จนเกิดเสียงติติงให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก ก่อนจะได้คำตอบว่า “...ถ้าออกไปวันนี้แล้วน้ำไม่ท่วมผมจะออกเลย แต่ถ้าลาออกไปแล้วใครจะทำ...”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ออกอากาศไม่พอใจในการจัดการของ กทม.เช่นกัน ดังที่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงานหลักที่กำกับดูแล และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เปิดเผยว่า

“นายกฯ ไม่แฮปปี้ กทม.ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จนเกิดเหตุน้ำท่วมนาน ทาง สทนช. จึงเรียก กทม.มาหารือ ได้เชิญ ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กทม. มาให้ความชัดเจนถึงสาเหตุที่ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน และถ้าเกิดฝนตกอีกจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำรอยฝนตกในช่วงที่ผ่านมา”

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งการแนวทางรับมือให้ กทม. เตรียมความพร้อมในการระบายน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องของการพร่องน้ำ จัดเก็บขยะ ดูแลระบบปั๊มน้ำ

ล่าสุด กทม. เดินหน้าโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ท่อทางด่วนระบายน้ำ 14 โครงการ เพื่อแก้น้ำท่วมซ้ำซาก โครงสร้างประกอบด้วย ท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 ม. ยาว 560 ม. ด้วยวิธีดันท่อ บ่อสูบน้ำค.ส.ล. 1 บ่อ บ่อรับ 2 บ่อ บ่อดันท่อ 2 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า กำลังสูบ 4.50 ลบ.ม./วินาที

รวมทั้ง โครงการ Water Bank ธนาคารน้ำใต้ดิน 4 แห่ง เพื่อเป็นจุดพักน้ำในช่วงฝนตก โดยลักษณะโครงการคล้ายกับแก้มลิง ที่ใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ มีความสามารถรับน้ำได้ 1,000 ลบ.ม. โดยธนาคารน้ำสร้างอยู่ใต้ดิน ส่วนด้านบนใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ

…คงต้องบอกว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นภารกิจท้าทายขีดความสามารถของ กทม. ที่มีชีวิตคนเมืองนับล้านเป็นเดิมพัน ซึ่งจำต้องมีการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ แม้เป็นเรื่องยากในการต่อสู้กับธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ทำงานแบบ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ” เพราะมีข้อมูลอยู่ในมือหมดแล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น