ประเทศซูดาน (เหนือ) ซึ่งเพิ่งยอมให้เกิดประเทศซูดานใต้ (หลังลงประชามติ) เมื่อ 9 กรกฎาคม 2011 แต่ก็ต้องเสียบ่อน้ำมันให้แก่ประเทศเกิดใหม่-ซูดานใต้-ไปถึง 3/4 เพียงแต่มีท่อส่งน้ำมันจากซูดานใต้มาออกสู่ตลาดโลกที่เมืองท่าใหญ่ของซูดาน (เหนือ) ติดกับทะเลแดง และซูดานใต้ต้องอาศัยจมูกของซูดาน (เหนือ) เพื่อหายใจ-โดยต้องแบ่งผลประโยชน์การส่งออกน้ำมันอย่างหนักข้อ เพราะซูดานใต้ไม่มีทางออกสำหรับน้ำมันที่ตนเองมีอยู่มากมาย
อดีตปธน.บาเชียร์ที่ปกครองซูดาน (เหนือ) มา 30 ปี เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงและเล่นพรรคเล่นพวก เขาเคยเป็นทหารระดับล่างที่ทำรัฐประหารเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และหลังร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดการเลือกตั้ง ก็สามารถชนะการเลือกตั้ง (สกปรก) มาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีกองกำลังหน่วยรบพิเศษแบบทหารพรานที่มีชื่อเสียงในความโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมหนุนหลังชื่อ จานจาวีด (Janjaweed) ที่มีวีรกรรมไปดำเนินการปราบกบฏที่เมืองดาร์ฟูร์ (Darfur) ทางตะวันตกของซูดาน อันเป็นกบฏจากชนเผ่าแอฟริกันที่ไม่ใช่อาหรับ และต้องการเป็นเอกราชจากรัฐบาลกลางที่คาร์ทูม
ปี 2005 รัฐบาลของปธน.บาเชียร์ ปราบกบฏที่ดาร์ฟูร์ได้อย่างโหดเหี้ยม คนตายไป 3 แสนคน บาดเจ็บและสูญหายไปอีกหลายแสน จนยูเอ็นและสหภาพแอฟริกาต้องส่งกองกำลังสันติภาพไปตรึงอยู่ที่ดาร์ฟูร์จนถึงทุกวันนี้ และสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป ต่างคว่ำบาตรรัฐบาลของบาเชียร์ ด้วยวีรกรรมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดาร์ฟูร์ ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายเรียกแก่ปธน.บาเชียร์ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ปธน.บาเชียร์ได้นำกองกำลังจานจาวีดมาเป็น “กองกำลังเคลื่อนที่เร็วสนับสนุน” (RSF) ที่เมืองหลวง ซึ่งแยกจากกองทัพปกติ
ธันวาคมปีที่แล้ว รัฐบาลบาเชียร์ไม่สามารถอุดหนุนราคาน้ำมันและขนมปังให้แก่ประชาชนอีกต่อไป ผลจากการถูกคว่ำบาตรเศรษฐกิจมานาน และราคาน้ำมันกลางที่ตกต่ำมาตลอด 4 ปีนี้
ทำให้ประชาชนชาวซูดานไม่พอใจมาก เพราะอาหารหลักของเขาก็คือขนมปัง (ชาวซูดานถูกทอดทิ้งในยุคอาณานิคมภายใต้อังกฤษ จนละทิ้งการเพาะปลูก เพื่อให้ซูดานต้องนำเข้าข้าวสาลีจากตะวันตก ผ่านพ่อค้าคนกลางที่ยุโรป-มาทำเป็นแต่ขนมปัง)
พวกเขาเหลืออดต่อราคาอาหาร โดยเฉพาะขนมปังที่พุ่งสูงเป็นหลายเท่าตัว จึงออกมาชุมนุม โดยมีแกนกลางเป็นกลุ่มวิชาชีพแห่งซูดาน (Sudanese Professionals Association) คือ แพทย์, พยาบาล, ครู, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก ฯลฯ และมีผู้หญิงร่วมชุมนุมถึง 70% รวมทั้งผู้หญิงเป็นแกนนำด้วย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศมุสลิมสุหนี่ด้วยซ้ำ
ปธน.บาเชียร์จะครองอำนาจอยู่ถึงปี 2020 ซึ่งจะครบวาระเลือกตั้งใหม่ แต่การชุมนุมประท้วงที่กว้างขวางทำให้ทหารในกองทัพบางส่วนเห็นใจผู้ชุมนุม และเริ่มกดดันปธน.บาเชียร์ จนบาเชียร์ประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนกุมภาพันธ์ และในที่สุดก็ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในอีก 3 เดือน, ตัวบาเชียร์ก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการก่อนเลือกตั้ง
ประชาชนที่มาชุมนุมมืดฟ้ามัวดิน ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดถึง 50 องศา ก็ได้เดินทางไปปักหลักหน้ากระทรวงกลาโหม และใกล้ๆ หน่วยทหารเพื่อกดดันให้บาเชียร์ลาออก
พฤหัสฯ ที่ 11 เมษายน กองทัพกดดันจนปธน.บาเชียร์ยอมลาออก แล้วคณะทหารนำโดยพลโทอูฟ (Auf) และพลเอกGosh ที่เป็นอดีตหัวหน้าข่าวกรองก็ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ประกาศห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล และตั้งคณะทหารช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Military Council)
ภายใน 24 ช.ม.กลุ่มผู้ชุมนุมได้เจรจากับคณะทหารและอภิปรายโจมตีผู้นำคณะทหารว่า เป็นมือขวาของปธน.บาเชียร์ และเคยเป็นผบ.หน่วยจานจาวีดที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดาร์ฟูร์ (จนมีหมายเรียกจาก ICC เช่นกัน)
หัวหน้าคณะรัฐประหารได้ยอมตามคำเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม คือ ตั้งผู้นำทหารคนใหม่เป็นพลโทอับเดล ฟัตตาห์ เบอร์ฮาน มาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร...และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ที่ชนะถึง 2 ด้านใน 24 ช.ม. คือ สามารถโค่นปธน.บาเชียร์ลงได้ และสามารถกดดันเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะรัฐประหารได้
คณะรัฐประหารประกาศจะใช้เวลา 2 ปีเพื่อร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งได้ พร้อมเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินและเลิกการห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล โดยขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลับบ้านได้ แต่ผู้ชุมนุมประกาศไม่ยอมเลิกชุมนุม ยังปักหลักเพื่อเจรจากับคณะรัฐประหาร
ผู้ชุมนุมต้องการให้ช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการเลือกตั้ง ต้องเป็นคณะผู้บริหารที่มีฝ่ายพลเรือนครึ่งหนึ่งร่วมบริหารกับทหาร คือ มีรัฐมนตรี 15 คน-8 คนเป็นพลเรือน-7 คนเป็นทหาร ถึงกับมีชื่อนักเศรษฐศาสตร์ชาวซูดานที่เคยทำงานเป็นรองเลขาธิการยูเอ็นขึ้นมาเป็นผู้นำคณะบริหารช่วงเปลี่ยนผ่าน
แม้ช่วงรอมฎอนที่ร้อนจัด ผู้ชุมนุมก็ยังปักหลักอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมเพื่อกดดันคณะรัฐประหาร แต่จำนวนผู้ชุมนุมก็ลดลงไปมาก...โดยฝ่ายทหารก็พยายามซื้อเวลาไม่ยอมตกลง เพื่อทำให้ผู้ชุมนุมเหนื่อยอ่อนและลดจำนวนลง
ช่วงการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมและคณะรัฐประหารที่ยาวนาน เปิดทางให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกโดยพยายามเพิ่มการสนับสนุนแก่ฝ่ายทหาร ด้วยเงินสนับสนุน รวมทั้งอาวุธ โดยมี 3 ประเทศที่ใกล้ชิดอยู่ก่อนแล้วกับกองทัพซูดาน คือ ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี และอียิปต์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ไม่ต้องการเห็นการเติบโตของประชาธิปไตยในภูมิภาค เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อการปกครองแบบเผด็จการในประเทศของตน โดยเฉพาะเหล่าประเทศในอ่าวเปอร์เซีย นำโดยซาอุฯ, ยูเออี, บาห์เรน, คูเวต ที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อราชวงศ์ในปัจจุบัน ยกเว้นกาตาร์ (ที่มีสื่ออัลจาซีราตั้งอยู่ซึ่งดูจะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในอ่าว)
ความใกล้ชิดของกองทัพซูดานกับราชวงศ์ซาอุฯ นั้นแนบแน่นมาก โดยกองทัพซูดานได้ส่งกองพลไปช่วยกองกำลังผสม (Arab Army) นำโดยรมต.กลาโหมซาอุฯ คือ มกุฎราชกุมาร MbS ที่ประกาศสงครามที่เยเมน เพื่อปราบกลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) ที่โค่นรัฐบาลเยเมน (พันธมิตรของซาอุฯ) จนยึดเมืองหลวงได้ขณะนี้
ปธน.บาเชียร์และกองทัพมีความใกล้ชิดกับซาอุฯ แต่เมื่อบาเชียร์มาถึงทางตันต้องลงจากอำนาจเพราะประชาชนไม่พอใจมาก ซาอุฯ และพันธมิตรก็พร้อมให้การสนับสนุนกองทัพ เพื่อให้กดทับประชาชนซูดานไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย
ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้ ฝ่ายตุรกีและกาตาร์ (ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับซาอุฯ และพันธมิตร) ได้เริ่มมาให้ความช่วยเหลือต่อบาเชียร์ และกองทัพซูดานมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือ ตุรกีไม่มีน้ำมันเองด้วย
ดังนั้น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ถึงจุดหักเหที่การเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมและคณะรัฐประหารได้พังครืนลง เมื่อคณะรัฐประหารประกาศล้มการเจรจาทั้งหมด และนำเอากองกำลังเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนออกมายิงผู้ชุมนุมตายไปกว่า 120 คน บาดเจ็บจำนวนมาก และได้สร้างสถานการณ์ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธแอบซ่อนอยู่ คณะรัฐประหารเล่นบทโหด ใช้กองกำลัง (RSF) กองกำลังเคลื่อนที่เร็วปลอมตัวบุกเข้าไปทำลายหน่วยการแพทย์ของรัฐ-ไปปล้นเอาเงินในเซฟออกไปหมด และทำลายข้าวของเสียหายมาก แล้วเชิญผู้สื่อข่าวไปดูว่า กองกำลังของผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายทำลาย ซึ่งผู้สื่อข่าวบีบีซี และอัลจาซีรา ก็ได้ถามเค้นจากหัวหน้าหน่วยแพทย์ว่า เห็นจะจะหรือไม่ว่าเป็นกองกำลังฝ่ายผู้ชุมนุม-ได้รับคำตอบว่า ไม่แน่ใจ
ขณะนี้หน่วยกองกำลังเคลื่อนที่เร็วสนับสนุน (หน่วยจานจาวีดเก่า) กำลังออกปฏิบัติการสร้างความหวาดกลัวไปทั่วเมืองคาร์ทูม
คณะรัฐประหารประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งใน 9 เดือน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ชุมนุมรับไม่ได้. ..เพราะเกรงว่า อำนาจเก่าของบาเชียร์จะกลับมาในรูปแบบของรัฐบาลหลังเลือกตั้งนั่นเอง
คณะรัฐประหารได้ตัดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตของประเทศซูดานออกหมดจนไม่สามารถติดต่อกับนอกประเทศได้
แกนนำผู้ชุมนุมถูกยิงตายหลายคน แต่ได้มีแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนชาวซูดานทำอารยะขัดขืนต่อการสังหารโหดจากฝ่ายรัฐประหาร โดยขอให้ปิดกิจการร้านค้าและบริการทั้งหมด, รวมทั้งไม่ออกไปทำงานทั้งภาคราชการ และเอกชน
ซูดานวันนี้มืดมิด แม้ประชาชนจะเพิ่งฉลองชัยชนะมาหยกๆ เมื่อ 11 เมษาฯ วันที่โค่นบาเชียร์ลงได้
เป็นการหนีเสือปะจระเข้ของชาวซูดานในวันนี้
โดยมีผู้นำ 3 ประเทศยิ้มย่องต่อการปราบปรามโหดประชาชนซูดานในครั้งนี้คือ ซาอุฯ, ยูเออี และอียิปต์