ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านแล้วสำหรับอภิมหาโปรเจกต์ ระดับต้นๆ ของชาวสองฝั่งโขง"ประเทศไทย-สปป.ลาว " ร่วมมือกับผลักดันโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ -บอลิคำไซ) หนึ่งในโครงข่ายการพัฒนาทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา-สปป.ลาว-สหภาพเมียนมา-ไทย-เวียดนาม และเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
จากการหารือระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.55 และการเยือนสปป.ลาว อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย.57 รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 19-20ธ.ค.57 กรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และสำรวจออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว
โครงการมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียง ภาคเหนือตอนบน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ในการรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ที่สำคัญคือ ทางผ่านไปสู่ท่าเรือดานังของประเทศเวียดนามได้โดยตรง
รวมถึง คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้ กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม ให้แก่ รมว.คมนาคม หรือผู้แทน เพื่อไปลงนามร่างความตกลงระหว่าง รัฐบาลไทย กับรัฐบาลสปป.ลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ถือว่าประสบความสำเร็จ หลังจากการเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23 - 25 พ.ค.60 และ ครม.มีมติ (30 พ.ค.60) รับทราบแล้ว ซึ่งการจัดทำร่างความตกลงฉบับนี้ เป็นการดำเนินการตามผลการหารือดังกล่าว โดยร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญ เช่น กำหนดพื้นที่ตั้งของโครงการ สิทธิ และกรรมสิทธิ์ในโครงการของแต่ละประเทศ การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การรักษาความปลอดภัย และการจัดการจราจร เป็นต้น
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) ภายในกรอบวงเงิน 2,630 ล้านบาท
หลังจากนั้น งบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว "กรมทางหลวง"จะจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามนัย มติครม.เมื่อวันที่ 10ก.พ.52 คาดว่าจะมีการนำเสนอ ครม.ชุดใหม่ เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนที่จะมีการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่าย ตามนัย มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามความจำเป็น และเหมาะสมต่อไป
ย้อนกลับไปดูโครงการนี้ เมื่อ 30 พ.ค. 60 กรมทางหลวงได้จ้างกลุ่มบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมสำรวจออกแบบรายละเอียด สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เชื่อมระหว่าง จ.บึงกาฬ และ แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว แล้วเสร็จเมื่อปี 57
ในการประชุมคณะทำงานประสานงานร่วมไทย - สปป.ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.61 จ.หนองคาย ที่ประชุมรับทราบแนวทางการดำเนินโครงการ การบริหารโครงการ และการบริหารสัญญา รวมทั้งกรอบระยะเวลาการดำเนินการโครงการ ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถได้ข้อสรุปเรื่องวงเงินค่าก่อสร้าง และแหล่งเงินดำเนินการแล้ว สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และเริ่มงานก่อสร้างได้ภายใน 8 เดือน มีระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยทั้งสองฝ่าย จะนำเสนอรัฐบาลของตนพิจารณาแหล่งเงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ตามวงเงินที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบ
ต่อมา กรมทางหลวงได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณประจําปี 2562 สำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงการ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดในฝั่งไทย จำนวน 400 ล้านบาท กรมทางหลวงได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 - 2561 แล้ว จำนวน 250 ล้านบาท และอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณในส่วนที่เหลือ
การเวนคืนที่ดิน กรมทางหลวง ได้สำรวจมีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้ในแนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย ที่ดิน 174 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 69 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจประมาณราคา และกำหนดราคาทดแทน จำนวน 67 ราย เบิกจ่ายแล้ว 32 ราย ส่วนต้นไม้ 133 ราย อยู่ระหว่างการสำรวจประมาณราคา และกำหนดราคาทดแทนจำนวน 98 ราย เบิกจ่ายแล้วจำนวน 44 ราย
ในส่วนของ สปป.ลาวได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอกู้เงินไปยังสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) แล้ว โดย สพพ. จะดำเนินการเจรจาต่อรองเงื่อนไขการให้กู้เงินกับ สปป.ลาว ตามระเบียบต่อไป
ขณะที่กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) มีความเห็นแตกต่างกัน เกี่ยวกับแหล่งเงินงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการฯ
ซึ่งกระทรวงการคลัง เห็นควรให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เนื่องจากโครงการฯ ไม่มีผลตอบแทนทางการเงินโดยตรงจากการลงทุน ในขณะที่สำนักงบฯ เห็นควรให้กระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการ ทางกระทรวงคมนาคม จึงได้จัดการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 เม.ย.62 โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ร่วมประชุม
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 2,630 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ที่ฝ่ายไทยต้องรับผิดชอบ ได้แก่ ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 77 ล้านบาท
มีข้อมูลจาก กรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า รูปแบบเป็นสะพานขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทั้งอาคารด่านผ่านแดนและก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างสะพาน กับถนนโครงข่ายบริเวณโครงการ เบื้องต้นจุดที่ตั้งฝั่งไทย จะอยู่บริเวณบ้านห้วยเชื่อมเหนือ ต.ไคสี อ.เมือง จ.บึงกาฬ บนทางหลวงหมายเลข 212 กิโลเมตร ที่ 123+500 ห่างจาก จ.บึงกาฬ ประมาณ 13 กม. ส่วนฝั่ง สปป.ลาว จะอยู่บริเวณบ้านกล้วย เมืองปากซันแขวงบอลิคำไซ เชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 13 ระยะทางประมาณ 1.6 กม.
สรุปแล้วตัวสะพานจะมีระยะทางรวม 16 กม. เป็นถนนฝั่งไทย 12.13 กม. ถนนฝั่งสปป.ลาว 2.86 กม. ส่วนของตัวสะพาน เป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรง มีความยาว 1,350 เมตร ก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งในฝั่งไทยและฝั่งสปป.ลาว 2 อาคาร คืออาคารสินค้าและอาคารผู้โดยสาร
จะใช้เงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานถนน และด่านพรมแดนฝั่งไทย 1,893 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว 780 ล้านบาท งานสะพานฝั่งไทย 660 ล้านบาท และฝั่งสปป.ลาว 476 ล้านบาท และค่างานควบคุมการก่อสร้างรวม 121 ล้านบาท โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรผ่าน เข้า-ออก สะพาน ณ ปี 60 จำนวน 855 คัน ต่อวัน และจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี คาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้าง ปลายปี 2562
นอกจาก โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 แล้ว ตามแผนของกรมทางหลวงจะผลัดดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 6 จาก "อุบลราชธานี-สาละวัน" ในพื้นที่ ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ที่ผ่านมา ได้เสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นผลจากการประชุมการพัฒนาร่วมกันเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ระหว่างฝ่ายไทยกับ สปป.ลาว ได้กำหนดให้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง บริเวณอุบลราชธานี-สาละวัน เพื่อยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร
โครงการนี้ กรมทางหลวงเชื่อว่า จะช่วยให้ประชาชนเดินทางระหว่าง จ.อุบลราชธานี กับแขวงสาละวัน สปป.ลาว ผ่านปากเซ และเชื่อมโยงไปเมืองเว้ของประเทศเวียดนามได้สะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง จะเริ่มเริ่มต้นที่ กม.23+350 บริเวณบ้านโนนตาล ต.นาตาล อ.นาตาล ไปสิ้นสุดที่ กม.546+800 เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน รวมระยะทาง 25.8 กม. ใช้เงินก่อสร้าง ประมาณ 4,300 ล้านบาท
แยกเป็นงานก่อสร้างฝั่งไทย 1,500 ล้านบาท ฝั่งสปป.ลาวประมาณ 1,000 ล้านบาท สะพานข้ามแม่น้ำ 1,800 ล้านบาท และมีเวนคืนที่ดิน 800 ไร่ วงเงิน 200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ส.ป.ก. **
คาดว่า การก่อสร้างโครงการ จะเริ่มเปิดประมูลและก่อสร้างในปี 2564
โครงการนี้ "นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ด้วยตัวเอง เพื่อรับฟังข้อมูลความเป็นไปได้และตรวจจุดก่อสร้าง บริเวณบ้านนาหินโห่น ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ห่างวัดพระโต (วัดปากแซง) ที่เชื่อมฝั่ง สปป.ลาว ที่ คลองหลวง เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน
ปัจจุบันมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง 4 แห่ง เชื่อมระหว่างไทย-ลาว ได้แก่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 หนองคาย-เวียงจันทน์, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 นครพนม- คำม่วน, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 เชียงของ-ห้วยทราย
ตามแผนในอนาคต ประเทศไทยจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพิ่มอีกอย่างน้อย 4 แห่ง นอกจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ แล้ว จะมีโครงการ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 6 นาตาล- ละคอนเพ็ง, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 7 เลยแขวงเวียงจันทน์ และ สะพานมิตรภาพไทยลาว 8 อุบลราชธานี-จำปาสัก ซึ่งมีมูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท ต่อแห่ง