xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นายกฯ ตัวจริง VS นายกฯ เสมือนจริง “ลุงตู่” เผชิญแรงท้าทายจาก “เสี่ยเอก” พลานุภาพที่พร้อมทำลายรัฐบาลปริ่มน้ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่เหนือความคาดหมาย

ชัยชนะของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ “ขั้วพลังประชารัฐ” ที่มีต่อ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนจาก “ขั้วระบอบทักษิณ” ในศึกชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา

ด้วยคะแนนขาดลอย 500 เสียง ต่อ 244 เสียง ส่ง “นายกฯ ลุงตู่” เข้าวินนั่งเก้าอี้นายกฯ เป็นสมัยที่ 2

ถือเป็นคะแนนที่ทำให้ “รัฐบาลลุงตู่ ซีซั่น 2” พ้นครหา “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” แม้จะ “ปริ่มน้ำ” แบบน่าหวาดเสียวก็ตาม

เนื่องเพราะใน 500 คะแนนจากสมาชิกรัฐสภา ที่ร่วมโหวตให้ “บิ๊กตู่” นั้น ยกเป็น 249 เสียงจาก “สภาสูง” สมาชิกวุฒิสภาที่มาตามนัดแบบ “ไม่มีแตกแถว” กับอีก 251 เสียงจาก “สภาล่าง” สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดในสภามาเพียงเสียงเดียวเท่านั้น

โดยมี “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็น “จิ๊กซอว์สุดท้าย” ที่มาร่วมโหวตให้ พร้อมประกาศเข้าร่วม “รัฐบาลประยุทธ์ เฟส 2” หลังทำตัวเป็น “เจ้าสาวที่กลัวฝน” บ่ายเบี่ยงแสดงความชัดเจนจนแทบจะนาทีสุดท้าย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านร้านตลาดรู้ล่วงหน้าว่า ผลลัพธ์จะออกมาเช่นนี้

และรู้ด้วยว่าที่เจรจากันเชื่องช้าเป็นเต่าคลาน เพราะเจรจาแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัว หาใช่อุดมการณ์ไม่ตรงกันแต่ประการใด

ผลพวงจากการที่ “ค่ายแม่พระธรณีบีบมวยผม” ละปณิธานอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรค มาเป็น “นั่งร้าน” ให้ “บิ๊กตู่” อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่มีร่องรอย “สืบทอดอำนาจ” แจ่มแจ้งแดงแจ๋ ก็ต้องสูญเสีย “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรคไป

เพราะแม้ “อภิสิทธิ์” จะยังคงดีเอ็นเอคนประชาธิปัตย์เข้มข้น ที่ต้องเคารพมติพรรค แต่ด้วย “จุดยืนส่วนตัว” ทำให้ไม่สามารถเข้าไปกลืนน้ำลายโหวต “บิ๊กตู่” หลังเคยประกาศแบบฟังชัดๆว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา จนต้องประกาศไขก๊อกพ้น ส.ส.เพื่อรักษาสัญญาประชาคมที่ให้ไว้

รวมทั้ง “รักษาเกียรติภูมิ” ของตัวเอง ด้วยยังมีหนทางการเมืองทอดให้เดินไปต่อนั่นเอง

นำมาซึ่งเสียงเชิดชูชื่นชม “อภิสิทธิ์” ว่า รักษาอุดมการณ์จนน่ายกย่อง แต่ในมุม “เซียนการเมือง” อ่านทะลุว่านี่คือ ความเขี้ยวของพรรคประชาธิปัตย์ ในการรักษาพรรคเอาไว้ ไม่ผละให้คนระดับอดีตหัวหน้าพรรค-อดีตนายกฯ แทงสวนพรรค ด้วยการแหกมติ

อย่างน้อย “อภิสิทธิ์” ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของพรรคในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็รักษาสัจจะ ทำตามคำพูดไม่ให้ถูกคนค่อนแคะว่า มือถือสากปากถือศีล สุดท้ายก็เชลียร์ “ทอปบูต” อยู่ดี

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็แปล

“วิกฤตเป็นโอกาส” ใช้เก้าอี้ ส.ส.ที่มีเพียง 50 ที่นั่งต้นๆ เข้าไปอยู่ในวังวนอำนาจ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมมีเก้าอี้รัฐมนตรีรองก้น เพื่อต่อลมหายใจให้กับพรรคเก่าแก่ที่อยู่ในอาการโคม่าหลังการเลือกตั้ง

แต่วันนี้ยังอยู่ นั่นแสดงให้เห็นว่า มันเป็นเพียงแค่ทางออกวิน-วิน ไม่เสียทั้ง “พรรค” ไม่เสียทั้ง “อภิสิทธิ์”

นอกเหนือจาก 1 เสียงที่ขาดหายไปของ “เดอะมาร์ค” ที่ทำให้แต้มของ “ลุงตู่” ค้างเติ่งอยู่ที่ 500 เสียง จนโดนค่อนแคะว่า “นายกฯ ห้าร้อย” แล้ว ยังมีอีก 3 เสียงที่ “งดออกเสียง”

หนึ่งคือ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่รักษามารยาทในฐานะประธานรัฐสภา เช่นเดียวกับ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา

และอีกหนึ่งที่ขโมยซีนตอนจบ อย่าง “เสี่ยโต้ง” สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ที่ใช้ “เอกสิทธิ์ ส.ส.” แหกแนวทางพรรค โดยการงดออกเสียง ไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” เรียกเสียงฮือไปทั่วสภา

จน “เสี่ยโต้ง” ถูกสปอตไลท์จับจ้อง พอๆ กับเสียงชื่นชมในความกล้าหาญ จากเหตุผลว่า เป็นการรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในพื้นที่ ด้วยช่วงหาเสียงประกาศสนับสนุนเพียง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกฯคนเดียวเท่านั้น

การตัดสินใจของ “เสี่ยโต้ง” เศรษฐีอสังหาฯ รายใหญ่แห่งแดนอีสาน อาจไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อการพา “บิ๊กตู่” ตีตั๋วเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ในแง่ “ความรู้สึก” เสมือนท้าทาย “ผู้มีอำนาจ” พอสมควร

คนที่กุมขมับที่สุดน่าจะเป็น “เสี่ยหนู” ที่ไม่ได้ปลื้มปริ่มกับฐานะ “นายกฯในดวงใจ” ของลูกพรรค หรือกระทั่งเจ้าของพรรคตัวจริงนาม “เสี่ยเป็ด” เนวิน ชิดชอบ ที่รับรู้ถึงแรงสะเทือนจากกรณีนี้ โดยเฉพาะโควตารัฐมนตรี “เกรดเอ” ที่พรรคภูมิใจไทยได้เคยรับคำมั่นจาก “ผู้มีอำนาจ” ไว้แล้ว

อยู่ที่ว่า “เนวิน” จะใช้เคล็ดวิชาเอาตัวรอดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพรรคเอาไว้อย่างไร

ทั้งนี้ แม้การขาดหายไปของ 1 หรือ 2 เสียงในการโหวตนายกฯ อาจไม่ทำให้ “ผลลัพธ์” แปรเปลี่ยนเป็นอื่น “บิ๊กตู่” ยังได้เป็น “นายกฯตัวจริง” อีกสมัย แต่ก็ถือว่าทิ้ง “การบ้าน” ให้ฝ่ายรัฐบาลได้ครุ่นคิดหนักพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านจาก “รัฐบาลคณะรัฐประหาร” ที่ไร้ฝ่ายค้าน-ฝ่ายตรวจสอบ มาสู่สนามจริง “รัฐบาลเลือกตั้ง” ที่มีกลไกตรวจสอบ-คัดค้านเต็มรูปแบบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
และไม่มี “ตัวช่วย” อย่าง “พรรค ส.ว.” ที่มี 250 เสียง

ด้วยความไม่ห่างกันมากนักของจำนวนเต็มเสียง 2 ฝ่าย ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน คือ 254 เสียง ต่อ 246 เสียง ย่อมทำให้การทำงานในสภาผู้แทนราษฎรมีอุปสรรคอย่างแน่นอน

เรียกว่าเกิด “ผิดคิว” นิดเดียว ผลลัพธ์กลับตาลปัตรทันที

มีสัญญาณให้เห็นแล้ว เมื่อครั้งลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ที่การลงมติหนแรกเลือก “นายหัวชวน” เป็นประธาน ได้เสียง 258 เสียง ทะลุจากต้นทุน 252 เสียงของ “ขั้วพลังประชารัฐ” ในวันนั้นไป 6 เสียง

แต่พอลงมติให้ “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 จากพรรคพลังประชารัฐ เสียงกลับหดหายเหลือเพียง 248 เสียง ขาดทุนไป 4 เสียง และในการโหวต “ครูแก้ว” ศุภชัย โพธิ์สุ จากพรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานคนที่ 2 ตีตื้นกลับมาที่ 256 เสียง กำไรขึ้นมา 2 เสียง

แม้ “ขั้วพลังประชารัฐ” ชนะทั้ง 3 กระดาน แต่แรงสวิงของเสียงก็สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่มีเสถียรภาพอย่างเห็นได้ชัด

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คู่แข่ง-คู่เทียบของ “นายกฯ ลุงตู่” ชั่วโมงนี้ อย่าง “เสี่ยเอก-ธนาธร” ก็เค้นฟอร์มขึ้นมาจนราศีจับเปล่งปลั่ง กับการสร้างหลายต่อหลายปรากฏการณ์ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ต่อเนื่องมาถึงบทบาท “ส.ส.ถูกแขวน” ในเวลานี้

แม้ “ธนาธร” จะอกหัก ในสภาฯ ไม่ถึงฝั่งฝันเก้าอี้นายกฯ หรืออาจจะไม่ได้กลับเข้าสภาฯในฐานะผู้แทนราษฎรสมัยนี้ จากคดีหุ้นสื่อที่คาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่ากระแสตอบรับจากสังคมภายนอกต่างยกให้ “ธนาธร” เป็น “นายกฯในโลกโซเชียล” หรือ “นายกฯโลกเสมือน” ที่ชนะรวดทุกการสำรวจในสังคมออนไลน์

นับวันพลานุภาพของ “ธนาธร” ในทางการเมือง ก็ยิ่งน่ากลัว แอ็กติ

ก็ดี ดรามาก็เก่ง สร้างคะแนนเชิงบวกให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีทีมงานภาพลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ค่อนข้างเป็นมืออาชีพ ดูจากความสำเร็จในสนามเลือกตั้งที่ผ่านมา

จนกลายเป็น “ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด” หรือ “ผู้นำจิตวิญญาณ” ของประเทศไปแล้ว

ที่สำคัญตัว “ธนาธร” เองก็ใช้กระแสความคลั่งไคล้ตัวเองเป็น ตีบทดรามา แสดงแอ็กติ

ความเป็น “สุภาพบุรุษประชาธิปไตย” ได้แบบเข้าถึงจนแฟนคลับหลงกันหัวปักหัวปำ ยกเป็น “พ่อของฟ้า” เลยทีเดียว

การประกาศทำงานนอกสภาฯ อย่างเต็มที่ของ “ธนาธร” ก็คล้ายกับการประกาศทำหน้าที่ “นายกฯเงา” ของหลายๆ ผู้นำฝ่ายค้านในอดีต ที่ต้องการให้เกิดภาพเปรียบเทียบกับ “นายกฯ ตัวจริง” ที่ พ.ศ.นี้ก็คือ “บิ๊กตู่” นั่นเอง

ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน “ธนาธร” คิกออฟการทำงานนอกสภาฯ โดยการไปร่วมเสวนาและรับฟังปัญหาชาวประมงที่ จ.สมุทรสาคร โดยทิ้งระเบิดลูกใหญ่ ในการคัดค้านแนวทางของ “รัฐบาลประยุทธ์” ที่ไปยอมรับกฎเกณฑ์ IUU ว่าทำให้ชาวประมงต้องเสียรายได้-สูญเสียอาชีพ

เป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐบาลต้องออกมาโหมแก้ข่าวเป็นพัลวันว่า แนวทางการแก้ปัญหาประมง IUU นั้นมาถูกทางแล้ว ทว่า ก็มิได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

กระทั่ง “บรรจง นะแส” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยออกมาเฉลยข้อเท็จจริงว่า ไปฟังความแต่ “ประมงพาณิชย์” ซึ่งมีแค่ 15 เปอร์เซ็นต์แล้วมาสรุปเป็นตุเป็นตะโดยที่ไม่ได้ทำการบ้านเพิ่ม จนทำให้ “เสี่ยเอก” หน้าม้านกลับไปแบบอายๆ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นการซ้อมมือว่า เกมการเมืองนับจากนี้จะเป็นไปในทิศทางนี้และจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า กระแสพรรคอนาคตใหม่มาแรง ผลักให้ “ธนาธร” กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นความหวังของประเทศ นับจากนี้ ไม่ว่า “ธนาธร” จะอยู่ในสถานะใด ก็จะปั่นป่วน “บิ๊กตู่” เสมือนเป็นเงาตามตัวไปตลอด

และเชื่อเหลือเกินว่า “ธนาธร” จะเติบโตทางการเมืองขึ้นตามลำดับ ในฐานะผู้นำเต็มตัวของฝ่ายไม่เอาเผด็จการ ท่าทีหรือบทบาทจะมีพลานุภาพชนิดที่สามารถเขย่ารัฐบาลได้ โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบและเปรียบเทียบกับ “บิ๊กตู่”

ไม่ว่า “บิ๊กตู่” ทำอะไรจะมี “นายกฯ เสมือนจริง” อย่าง “ธนาธร” ไปเปรียบเทียบตลอดเวลา ในฐานะ “ของใหม่” ที่คนอยากลอง

ในขณะที่ “บิ๊กตู่” เป็นดังของเก่าที่ทดลองใช้กันมาแล้วตลอด 5 ปี จนคนรู้สึกเบื่อหน่าย แนวโน้มในการถดถอยจะสูงขึ้นมากกว่า การเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีพร้อมกระแสสังคมที่ออกไปทาง “ยี้” จะเป็นแรงกดดันให้กับ “รัฐบาลบิ๊กตู่ 2” โดยเฉพาะดอกผลทางการเมืองที่ประชาชนจะได้รับ

จะมาบริหารประเทศเหมือน 5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ แต่สิ่งแรกๆ ที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องดำเนินการคือ ต้องฉีดยาเร่ง “ผลงาน” ออกมาให้ได้เร็วที่สุด

ต้องทำให้เห็นชัดเจน และแตกต่างจาก 5 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถอ้างได้อีกแล้วว่า บุคลากรจำกัด เพราะวันนี้มี “นักการเมืองอาชีพ” เข้าไปร่วมทำงานอยู่เพียบไปหมด

ข้ออ้างว่า ต้องรอเวลาใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เมื่อได้ใช้มาแล้ว 5 ปี นโยบายต่างๆ ของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล จะถูกจับจ้องว่าได้รับการสานต่อ หรือมีการจับผิดเรื่องทุจริตหรือไม่

ในขณะที่ “บิ๊กตู่” ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนตัวเองลบภาพลักษณ์ความไร้น้ำยาในการบริหารประเทศให้ได้ ซึ่งค่อนข้างจะเกิดขึ้นได้ยาก หากดูจากทัศนคติในการบริหารประเทศที่ผ่านมาที่ค่อนข้างสร้างข้อจำกัดให้ตัวเองเยอะ

ดูแล้ววันนี้ “บิ๊กตู่” กับพรรคพลังประชารัฐ มีแต่เท่าทุนกับเสียแต้ม ในขณะที่ “ไพร่หมื่นล้าน” เติบโตเอาในทางการเมืองขึ้นเรื่อยๆ

“นายกฯ เสมือนจริง” ที่ชื่อ “ธนาธร” จะทำให้การทำงานของรัฐบาลยากกว่าเดิม เป็นทั้งเงาตามตัว และข้อเปรียบเทียบในทุกมิติของการบริหารประเทศ แบบที่ “บิ๊กตู่” ต้องคอยมาหมุกมุ่นอยู่กับการแก้ต่าง

ยิ่งตามเกมไม่ค่อยทันเป็นทุนเดิม บอกเลยว่า เหนื่อยสายตัวแทบขาด กันเลยทีเดียว

อีกทั้งยังมีชนัก “คนใกล้ตัวเป็นพิษ” อย่างกรณีน้องชายสุดเลิฟ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับเลือกให้เข้ามาเป็น ส.ว. ก็ถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จัดการถลกหนังกลางสภาในระหว่างอภิปรายคุณสมบัติของ “บิ๊กตู่” ย้อนไปถึงกรณีที่ “ลูกชายบิ๊กติ๊ก” ตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างในค่ายทหาร และรับงานกองทัพภาคที่ 3 ที่ “พ่อบังเกิดเกล้า” เป็นแม่ทัพภาคอยู่

ถือเป็นข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ ที่ผู้ถูกพาดพิงอย่าง “บิ๊กติ๊ก” ทำอะไรไม่ได้ นอกจากชี้แจงว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในเชิงการเมืองแล้ว แบบนี้เท่ากับ “สารภาพรับผิด” กลางสภา
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การทำงานในสภาของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยเหตุที่คะแนนเสียงคู่คี่สูสีกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
คนใกล้ตัวว่าหนักแล้ว ไหนยังมี “ทีมงานสุดเขี้ยว” ทั้งพรรคพลังประชารัฐ หรือในพรรคร่วมรัฐบาล ที่รวบรวม “นักการเมือง-นักเลือกตั้งมืออาชีพ” ที่ชื่อเสียงเรียงนามคุ้นหูว่าเคยร่วม “แก๊งแกงโฮะ” กับนักโทษหนีคดี ทักษิณ ชินวัตร มาทั้งนั้น

ในภาวะที่เป็น “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ซ้ำร้ายยังมีคู่แข่งที่เล่นกับกระแสสังคมได้ เป็นการได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่คนในประเทศแสดงออกว่า ผิดหวัง ทำให้อายุของรัฐบาลไม่มีสำนักไหนคาดการณ์ว่า จะอยู่ยาว

ไม่ใช่แค่ “หลักปี” หากแต่เป็น “หลักเดือน” ที่หลายคนฟันธงถึงอายุของ “รัฐบาลผสม” ที่จะทำงานยาก แถมมีฝ่ายต้านคอยจับผิดและเป็นข้อเปรียบ

ยิ่งมี “นักการเมืองอาชีพ” เป็นส่วนผสมสำคัญในรัฐบาล ก็ต้องรับสภาพกับการต่อรองทุกอย่าง ที่ไร้ซึ่ง “อุดมการณ์” ร่วมกัน มีเฉพาะ “ผลประโยชน์” เป็นที่ตั้ง

การประสานประโยชน์ให้ทุกฝ่ายลงตัว คือทางเดียวที่จะประคอง “เสถียรภาพที่ไม่มีเสถียรภาพ” ของ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ให้ไปรอด

ความห่างกันของเสียง 254 ต่อ 246 เสียง ก็เหมือนมีดจ่อคอหอย ที่ไม่สามารถพลาดให้ฝั่งตรงข้ามได้แม้แต่ก้าวเดียว โดยเฉพาะกับ “นักการเมืองอาชีพ” ที่มีเป้าหมายที่ต้องการถอนทุนคืนจากที่ลงมือลงแรงไปในสนามเลือกตั้ง

ที่สำคัญ การเป็น “รัฐบาลผสม” จาก 19 พรรคการเมือง ความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพยากที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่สามารถบริหารประเทศตามแนวทางของตัวเองได้เลย เพราะต้องเกรงอกเกรงใจและปกป้องพวกพ้อง เพื่อรักษาอำนาจไว้

สภาพในตอนนี้ของ “รัฐบาลลุงตู่” ดูคล้ายกับรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม เมื่อช่วงปี 2518-2519 ที่ได้ ส.ส.ในสนามเลือกตั้งเพียง 18 เสียง แต่เมื่อพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ โอกาสก็ตกมาถึง “อาจารย์หม่อม” ที่เวลานั้นมีบารมีและทรงอิทธิพลที่สุด สามารถรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยต้องพึ่งพาพรรคการเมืองถึง 16 พรรคร่วมเป็น “รัฐบาลผสม” จนมีชื่อเรียกรัฐบาลในสมัยนั้นว่า “รัฐบาลสหพรรค”

แม้จะมีอำนาจ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การบริหารประเทศภายใต้ “หม่อมคึกฤทธิ์” กลับมิได้ราบรื่น ต้องเผชิญแต่ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาภายในรัฐบาลเอง ที่ต่างแย่งชิงผลประโยชน์  เรียกร้องตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลเพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้สนับสนุนรัฐบาล

ถึงขนาดมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แหกคอกไปร่วมกับฝ่ายค้าน เสนอญัตติขอร่วมเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเลยทีเดียว

คู่ขนานไปกับปัญหาภายนอก อันมีผลมาจากความขัดแย้งในสังคม  โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพต่างๆ จากการเรียกร้องความเป็นธรรม การชุมนุมประท้วง เหมือนที่เกิดขึ้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ “รัฐบาลบิ๊กตู่” กำลังเผชิญ

ที่สุด “หม่อมคึกฤทธิ์” ไม่สามารถประคองรัฐนาวา ที่มีลูกเรือจากสารพัดพรรคไปได้ ปกครองประเทศไปได้เพียง 304 วัน ไม่ถึงปี ก็ต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” เพื่อหนีสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นไป

“เนื่องจากพรรคที่ร่วมรัฐบาลนั้นมีมากถึง 16-17 พรรค จึงทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ มีการแสวงหาผลประโยชน์และแย่งตำแหน่งกันตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องกราบถวายบังคมทูลลาออก เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแตกแยก ขาดความสามัคคีในหมู่คนไทย จนเป็นผลกระเทือนความมั่นคงของชาติ” คือเหตุผลอมตะที่ “หม่อมคึกฤทธิ์” แถลงไว้ในวันยุบสภา

ฉายภาพให้เห็นสภาพความเป็นจริงของการเมืองไทย และดูเหมือนจะฉายภาพอนาคตที่ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” กับ 19 พรรคร่วมรัฐบาลกำลังจะต้องเผชิญ

จุดจบอย่าง “รัฐบาลคึกฤทธิ์” ก็เป็น “ธรรมชาติทางการเมือง” เมื่อรัฐบาลไปต่อไม่ไหว ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ดูจะไม่น่ากลัวเท่ากับจุดจบ “ผิดธรรมชาติ” อย่างสมัย “รัฐบาลผสม” ของ จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าพรรคสหประชาไทย ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 แต่ 74 ที่นั่งที่ได้มานั้น ไม่เพียงพอจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว จึงต้องรวบรวม ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล

ที่สุดก็เจอปัญหาการแก่งแย่ง-ต่อรองผลประโยชน์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล แม้ด้วย “อำนาจพิเศษ” ค้ำรัฐบาลให้ทู่ซี้อยู่ได้ 2 ปีกว่า แต่สุดท้ายก็ไปไม่ได้รอด ทำให้หัวหน้ารัฐบาลอย่าง “จอมพลถนอม” เลือกแก้ปัญหาด้วยการ “ยึดอำนาจตัวเอง”

ด้วยความเหมือนของ “รัฐบาลลุงตู่” กับรัฐบาลผสมในอดีต ที่ยึดโยงด้วยผลประโยชน์ ทำให้ผลลัพธ์คงไม่ต่างกันมากนัก

ด้วยความโดดเด่นของคนอย่าง “ธนาธร” ที่หายใจรดต้นคอท้าทาย “บิ๊กตู่” ตลอดเวลา ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคพลังประชารัฐ กำลังมุ่งสู่จุดตกต่ำ

ที่สุด “รัฐบาลประยุทธ์” ก็จะตกอยู่ในสภาพเดียวกับ “คึกฤทธิ์”

แต่ปัญหาก็คือ การเดินไปในเส้นทางนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายในทางการเมือง เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า ถ้ามี “การเลือกตั้งใหม่” โอกาสที่ “พรรคพลังประชารัฐ” จะได้เสียงเป็นกอบเป็นกำเหมือนเช่นเวลานี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย

ดังนั้น คงต้องลุ้นระทึกกันต่อไปว่า อนาคตการเมืองของประเทศไทยจะดำเนินไปในทิศทางใด.


กำลังโหลดความคิดเห็น