xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึกชิงกระทรวงเกรดเอ ยังวุ่น สุดท้ายอาจจบสวยๆ ที่เก้าอี้ “รมช.”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือหน่วยงานที่มีปัญหามากที่สุดในการแบ่งโควตารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สงครามชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญของ “รัฐบาลลุงตู่ 500” ทำท่าไม่สะเด็ดน้ำ ทั้งที่มีรายการต่อรองปิดดีลกันก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม โดยเป้าช่วงชิงพุ่งตรงไปที่กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ “เกรดเอ” คือ เกษตร พาณิชย์และคมนาคม ที่พลพรรค ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ยื้อแย่งกันสุดฤทธิ์ตามประสานักการเมืองที่อยากบริหารงบก้อนโต ปั๊มโครงการลงสู่รากหญ้าตามสัญญาที่ไปหาเสียงเอาไว้

จึงไม่น่าแปลกใจที่หนึ่งในสมาชิก “กลุ่มสามมิตร” นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ จะออกมาทวงเก้าอี้กระทรวงสำคัญคืนจากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย คล้อยหลังเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังชัวร์แล้วว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนิดที่ว่า เปิดหน้าล้มดีลของบรรดาขาใหญ่นอกสภาแบบไม่สนผลที่จะตามมา ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าการเลือกนายกฯ นี่เป็นเพียงการชนะศึกยกแรก ถ้าตระบัดสัตย์ล้มบิ๊กดีลหาความไว้วางใจกันไม่ได้ ยกมือลงมติครั้งต่อไปจะโกลาหลขนาดไหน

แต่ไม่ว่าผลสุดท้ายจะลงเอยเช่นใด ก็เป็นที่ชัดเจนว่าทั้ง 3 กระทรวงเกรดเอนั้นมีราคาสมค่าแก่การช่วงชิงของนักเลือกตั้ง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ นั้น จะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีมีงบก้อนใหญ่ในอันดับต้นๆ โดยงบประมาณประจำปี 2561 จัดไป 25,476,695,800 บาท จากงบประมาณแผ่นดินรวม 3 ล้านล้านบาท ส่วนงบประมาณประจำปี 2563 ยอดรวมตั้งไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาทนั้น กระทรวงเกษตรฯ เสนอขอเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 246,998 ล้านบาท

ต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้ทุ่มเทแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรมากมายหลายโครงการ ขณะเดียวกันยังวางเป้ายกระดับภาคเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรตามวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงกวาด ส.ส.เข้าสภามาได้อย่างที่เห็น การจะคายไม่คายให้พรรคร่วมก็เลยต้องมีลีลากันเยอะหน่อย

และในจังหวะนี้นี่เองที่จู่ๆ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมี นายกฤษฎา บุญราช รมว.กระทรวงเกษตรฯ เสือข้ามห้วยจากมหาดไทย สาย “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นั่งเป็นเสนาบดีคุมอยู่ก็รวบรวมผลงานสำคัญของกระทรวงตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ออกมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 รวม 9 ข้อใหญ่

ไล่มาตั้งแต่ การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ที่จัดการระบายสต็อกจนดึงราคาข้าวขยับสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เพิ่มจากตันละ 12,000 บาท ในปี 2557 เป็น 16,000 บาท ในปี 2562 ส่วนข้าวโพด มีหลักประกันราคารับซื้อที่ใช้หลักตลาดนำการผลิต, ยางพารา มีโครงการใช้ภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ดึงกลุ่มทุนยางเข้ามาลงทุนในอีอีซี และปรับลดพื้นที่ปลูกยางปีละ 5 แสนไร่ เพื่อดึงราคายางให้สูงขึ้น ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ 3 หมื่นกว่าราย มูลหนี้เงินต้น 6 พันกว่าล้านบาท จากจำนวนสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้ 4 แสนกว่าราย วงเงินหนี้ 5 หมื่นกว่าล้านบาท รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดย 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.7 ล้านไร่ ที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู จนทำให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองของประเทศไทย เป็นต้น

เป็นการอวดผลงานในช่วง 5 ปี รัฐบาล คสช. ที่ทำเพื่อพี่น้องเกษตรกร มีความชอบที่จะยึดเก้าอี้เพื่อสานต่อนโยบายต่อไป

ตามรายงานของ เว็บไซต์ ไทยพับลิก้า รวบรวมข้อมูล นับเวลา 4 ปี ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กับการบริหารประเทศ ภายใต้สโลแกน “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลได้ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2557 จากวิกฤตการเมืองและปัญหาด้านราคาผลิตทางการเกษตรตกต่ำ พ่วงกับปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ด้วยการอัดฉีดงบประมาณ อนุมัติวงเงิน 473,968 ล้านบาท เฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนล้านบาทส่งตรงแก่ประชาชนฐานรากกว่า 17 ล้านราย ทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการเพิ่มเบี้ยบำนาญให้แก่ข้าราชการเกษียณ ซึ่งวงเงินทั้งหมดไม่รวมค่าดำเนินโครงการ หรือเงินชดเชยต่างๆ แก่หน่วยงานที่ดำเนินการโดยงบประมาณส่วนใหญ่ที่มีการอนุมัติอยู่ที่ภาคเกษตร เป็นวงเงินรวมกว่า 300,198 ล้านบาท เนื่องจากกว่าครึ่งของเศรษฐกิจฐานรากประเทศอยู่ในภาคเกษตร

ขณะที่พลังประชารัฐอวดผลงานเต็มเหนี่ยว ฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยื่นคำขาดต้องได้กระทรวงเกษตรฯ มาครอง เป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐนั้น นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.เขต 2 จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ก็บอกแล้วว่าต้องการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาชาวสวนยาง สวนปาล์ม ในเรื่องการประกันรายได้ราคายาง ราคาปาล์มที่ตกต่ำลงมากในขณะนี้

นี่เป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น การต่อรองขอกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพี่น้องชาวสวนยางสวนปาล์ม จึงเป็นไฟลท์บังคับ และยังต้องพ่วงกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นสองกระทรวงหลักในการขับเคลื่อนประกันรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร “... ถ้าได้กระทรวงอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เราจะไปขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เราได้เสนอทางพรรคเอาไว้ ซึ่งเข้าใจว่า ทางผู้บริหารพรรคเข้าใจตรงกันในข้อนี้ก็เลยเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ....”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า กระทรวงพาณิชย์ มีความสำคัญเคียงคู่กับกระทรวงเกษตรฯ อย่างที่นายสาทิตย์ ว่าไว้นั่นแหละ ถ้าอยากสร้างผลงานก็ต้องถ่างควบให้ครบทั้งสองขา เพราะเกษตรฯ ถือเป็นผู้ผลิต ส่วนพาณิชย์เป็นผู้ขาย จึงต้องไปด้วยกัน กรณีโครงการรับจำนำและระบายข้าวที่มีมาหลายรัฐบาล ทุ่มเทเงินลงไปหลายแสนล้านบาท นั่นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน นำไปสู่การต่อรองแบบมัดแพครวม เกษตร-พาณิชย์ และเลยไปถึงกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำถุงเงินด้วย

นอกเหนือจากสองกระทรวงหลักดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเงื่อนไขข้อต่อรองของพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่บันเบา เพราะที่ผ่านมากระทรวงหูกวางแห่งนี้ มีงบประมาณและโครงการที่เรียกได้ว่าเป็นอภิมหาโปรเจกต์อยู่ในมือมากมาย ถึงแม้ว่าตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะทำคลอดเมกะโปรเจกต์สำคัญๆ ไปแล้วหลายโครงการ แต่ก็ยังมีเหลืออยู่ในแผนอีกไม่น้อย ทั้งรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักในภูมิภาค มอเตอร์เวย์ ฯลฯ

ตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทั้งประเทศ ยังจะมีการพัฒนาเชื่อมโยงเข้าหากันอีกหลายสาย เอาเฉพาะพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เตรียมศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ ไหนยังต้องสานต่อเมกะโปรเจกต์ที่เปิดประมูลแล้วยังปิดดีลไม่ลง เช่น โครงการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน 2.9 แสนล้าน หรือการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่า 84,000 ล้านบาท ก็ยังปิดไม่ลง  

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2562 (Action Plan) มีจำนวน 41 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,778,213.38 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ต้องผลักดันต่อเนื่องจากแผนปี 2558-2561 จำนวน 29 โครงการ มีกรอบวงเงินลงทุนรวม 1,719,983.50 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการสำคัญตามนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการขนส่งทางราง การขนส่งทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ และรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

ส่วนอีก 12 โครงการ จะเป็นโครงการใหม่ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมีกรอบวงเงินลงทุนรวม 58,229.88 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มโครงการที่ศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว กลุ่มโครงการที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และกลุ่มโครงการที่ประกวดราคาแล้วเสร็จ/ประกาศคัดเลือกเอกชน/เริ่มก่อสร้างได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

ต้องเรียกว่าเป็นเค้กก้อนใหญ่ไม่ธรรมดาที่พลังประชารัฐไม่อยากเสียไปให้ภูมิใจไทย แต่ดูท่าจะรักษาไว้ยากตามดีลซึ่งตัดจบกันไปก่อนหน้าเลือก “ลุงตู่” เป็นนายกฯ อีกสมัย

กระนั้นก็ดี การ “ดิ้น” ที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะในฟาก พปชร.นั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เสียทีเดียว ไม่เช่นนั้น “เสี่ยบี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ออกมา “แบะท่า” ว่า “อาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้บ้าง” พร้อมระบุด้วยว่าเป็นสิทธิ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สามารถทำได้ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

และว่ากันว่า ทางออกที่เป็นไปได้สวยที่สุดก็คือ การจบลงตรงที่เก้าอี้ “รมช.” คือใครอยากเป็น “ว่าการ” ก็เป็นไป แต่ “กรมสำคัญ” ขอแบ่งชัดๆ มาให้ “รมช.” เท่านั้นเป็นพอ


กำลังโหลดความคิดเห็น