xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับพิรุธ! รื้อโปรเจกต์กลางน้ำกก ชนวนเด้ง “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” ??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่น่าจับตามองเมื่อ “เทศบาลนครเชียงราย” ฟื้นโครงการพัฒนา “เกาะแม่ฟ้าของแผ่นดิน กลางแม่น้ำกก จ.เชียงราย” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากต้นปี 2561 “นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้นไม่เซ็นอนุมัติงบเพราะติดปัญหาเรื่องรุกล้ำที่ดิน ก่อนโดนคำสั่งย้ายฟ้าแลบไปเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ขณะยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ “เกาะแม่ฟ้าของแผ่นดิน” ตั้งอยู่กลางแม่น้ำกก บริเวณเชิงสะพานแม่ฟ้าหลวง เขตติดต่อระหว่าง ต.เวียง กับ ต.ริมกก จ.เชียงราย ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลนครเชียงรายได้เริ่มกลับเข้าไปพัฒนาพื้นที่โดยแผ้วถางทางเข้าออกและปลูกต้นไม้เป็นบริเวณกว้าง

ย้อนกลับไปช่วงปี 2561 เทศบาลนครเชียงรายได้ขออนุมัติงบประมาณจากโครงการตามแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศประจำปี 2561 เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมล้านนา 32 ล้าน พัฒนาเกาะแม่ฟ้าให้เป็นสวนสาธารณะและมีโครงการสร้างอนุสาวรีย์ช้างคู่บารมีพญามังราย หล่อด้วยโลหะบรอนซ์สูง 7.61 เมตร ฐานสูง 30 เซนติเมตร

ขณะนั้น นายณรงค์ศักดิ์ ยังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ตรวจสอบและไม่อนุมัติงบโครงการพัฒนาจังหวัดเชียงรายหลายสิบโครงการ อาทิ สร้างเส้นทางจักรยาน ระยะที่ 2 งบประมาณ 48 ล้านบาท, ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย แบบครบวงจร งบประมาณ 230 ล้านบาท ฯลฯ

และโครงการที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก โครงการสร้างช้างคู่บารมีพญามังราย บริเวณเกาะกลางแม่น้ำกก ส่วนหนึ่งในการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะแม่ฟ้าของแผ่นดิน ซึ่งผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ไม่อนุมัติงบประมาณ เพราะมีปัญหาเรื่องที่ดิน

สืบเนื่องจาก ก่อนหน้าที่จะมีโครงการก่อสร้างช้างคู่บารมีพญามังราย เทศบาลนครเชียงรายขอสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะแม่ฟ้าของแผ่นดินกลางแม่น้ำกก จากกรมโยธาธิการและผังเมือง ผ่านจังหวัดเชียงราย และทำสัญญาจ้างเอกชนให้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ปรับปรุงภูมิทัศน์ และก่อสร้างสะพานคอนกรีตกว้าง 6 เมตร เริ่ม 31 มี.ค. 2559 สิ้นสุดสัญญา 6 เม.ย. 2561 ค่าจ้าง 65 ล้านบาท

ต่อมา เกิดข้อพิพาทว่าเป็น “ที่สาธารณะ” หรือ “ที่ดินของกรมธนารักษ์” ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้ตั้งแต่ปี 2532 กระทั่งภายหลังได้ข้อสรุปจากการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ว่าที่ดินนั้นเป็นที่สาธารณประโยชน์ และที่สำคัญกรมธนารักษ์ก็ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้ว กล่าวคือ เกาะกลางแม่น้ำกกเป็นที่สาธารณประโยชน์ หลังจากกรมธนารักษ์ได้ถอนการขึ้นทะเบียนไปแล้ว การจะดำเนินโครงการก่อสร้างช้างคู่บารมีฯ จึงต้องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาดไทย

อีกทั้งการพัฒนาพื้นที่เกาะกลางแม่น้ำกกก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาเป็นคดีความระหว่างบริษัทเอกชนผู้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะเกาะแม่ฟ้าของแผ่นดินริมแม่น้ำกก กับสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย กล่าวคือการถมดินเป็นทางชั่วคราวในแม่น้ำกก เพื่อข้ามไปยังเกาะแม่ฟ้าของแผ่นดินไม่ได้ขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า จึงถูกกรมเจ้าท่าแจ้งความดำเนินคดีข้อหารุกล้ำลำน้ำ เป็นคดีความจนโครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ รวมทั้ง มีการตรวจสอบขยายผลโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า บริษัทที่ชนะการเสนอราคาโครงการนี้ ผู้บริหารบริษัทเป็นเครือญาติกับนักการเมืองท้องถิ่นคนสำคัญ

ปัญหาเรื่องที่ดินที่เกิดขึ้นนั้น เห็นได้ชัดว่าเทศบาลจังหวัดเชียงรายไม่ได้ขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาเรื่องการรุกล้ำที่ดินตามมา และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในโครงการที่ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” พบความไม่ถูกต้องไม่ถูกระเบียบจึงสั่งระงับ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบดำเนินการให้ถูกต้องขั้นตอน ทำงานแบบเคลียร์ชัดทุกประเด็นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ในขณะนั้น กล่าวว่าไม่อาจให้ที่ดินบนเกาะกลางแม่น้ำกกเพื่อดำเนินโครงการได้ เพราะปัจจุบันมีการนำเอาที่ดินที่ผิดกฎหมายหากอนุมัติก็อาจต้องถูกดำเนินคดี และกรมเจ้าท่าแจ้งว่าเป็นที่สันดอนทราย โดยกำลังดำเนินคดีกับผู้เข้าไปดำเนินการอยู่ งบประมาณนี้สามารถผันไปใช้เป็นพัฒนาด้านอื่นได้กว่า 31 โครงการ เช่น ถนน แหล่งน้ำ แต่ปรากฏว่าก็ไม่เอากันจึงมีปัญหาจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างให้ได้ดังกล่าว แม้ที่ผ่านมาจังหวัดจะเสนอให้ไปสร้างที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ห้าแยกพ่อขุน แต่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินก็ไม่ยอมให้มีการก่อสร้าง

"ผมเป็นผู้ว่าฯ ผมมีหน้าที่คุมทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎกติกา ท่านรู้ไหมเชียงรายที่ผ่านมาศักยภาพมันควรจะเจริญขนาดไหน เชียงราย 100 บาทมันควรจะลงให้ถึง 100 บาทหรืออย่างน้อย 90 บาท วันนี้ลงแค่ 30-40 บาทเขาถึงส่งผมมา วันนี้ 20 กว่าโครงการผมเซ็นไม่ได้เพราะมันผิดกติกาหมดและผมก็โดนขับไล่เพราะผู้ว่ามาแล้วไม่พัฒนา ตกลงผมยอมไปที่ไหนก็ได้แต่ผมจะไม่ยอมเซ็นโครงการที่ผิดเพราะรู้ว่าผิดเงินก็ตกไปโดยเปล่าประโยชน์ ถูก สตง.สอบ ผมยอมย้ายไปที่ไหนก็ได้ถ้าไปแล้วไม่ปวดหัวอย่างนี้" ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากโครงการดังกล่าวยังมีโครงการที่ถูกร้องเรียนมากมาย เช่น รูปปั้นปลาบึกที่ อ.เชียงของ สร้างแล้วใช้ไม่ได้ โรงแยกขยะบางแห่งดำเนินการแล้วกว่า 300 ล้านบาทแต่เปิดใช้ไม่ได้ โครงการศิลปะบางอย่างราคามากกว่าที่ควรจะเป็น 10 เท่า แน่นอนว่า ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้ทำการตรวจสอบทั้งหมด กระทั่งโดนคำสั่งย้ายฟ้าแลบไปเป็น ผู้ว่าฯ พะเยา

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะแม่ฟ้าของแผ่นดิน กลางแม่น้ำกก หลังจากพับโครงการเก็บไป เนื่องจาก ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ไม่อนุมัติเพราะปัญหาที่ดิน ความคืบหน้าล่าสุด เทศบาลนครเชียงรายได้เริ่มกลับเข้าไปพัฒนาพื้นที่อีกครั้ง โดยแผ้วถางทางเข้าออกและปลูกต้นไม้เป็นบริเวณกว้าง

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวไว้ว่าเกาะแห่งนี้เกิดจากแม่น้ำเปลี่ยนทางทำให้ที่งอกเงยขึ้น ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ซึ่งเทศบาลฯ มุ่งหวังที่จะส่งเสริมให้เป็นสวนสาธารณะ และพื้นที่สีเขียวของเมืองเชียงราย เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อเป็นสวนสาธารณะก็จะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งออกกำลังกาย พักผ่อน เดินเล่น ปั่นจักรยาน ฯลฯ ซึ่งเมื่อส่งเสริมให้เป็นสวนสาธารณะแล้วสิ่งอื่นๆ จะตามมาเอง เช่น การท่องเที่ยว พืชผักสวนครัวของชาวชุมชนต่างๆ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ส่วนกรณีจะมีการก่อสร้างผลงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ตามรูปแบบเดิมที่เคยคิดกันเอาไว้นั้นคงต้องกลับมาปรึกษาหารือกับหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกันใหม่อีกครั้งก่อน

การเข้ามาปรับปรุงพื้นที่เกาะแม่ฟ้าของแผ่นดินของเทศบาลนครเชียงรายในครั้งนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ทั้งๆ ที่โครงการยุติไปแล้วตั้งแต่สมัย ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์

อย่างไรก็ดี นายภูวิศ วรรณพฤกษ์ ปลัดเทศบาลนครเชียงราย ชี้แจงว่าพื้นที่เกาะกลางแม่น้ำกก หรือ เกาะแม่ฟ้าของแผ่นดิน เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ที่ชาวบ้านสามารถใช้ร่วมกันได้ หลังจากที่มีการยกเลิกเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ตามกฎหมายจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย และเทศบาลนครเชียงราย

ดังนั้น เทศบาลนครเชียงรายจึงเข้ามาปลูกต้นไม้ พัฒนาพื้นที่ ให้สมกับพื้นที่สาธารณะ ไม่ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ และเพื่อให้พื้นที่มีการดำเนินการที่เหมาะสม ไม่ถูกยึดครอง ขณะนี้เทศบาลนครเชียงราย เป็นผู้ดูแลพื้นที่ดังกล่าวตามกฎหมายไปก่อน ส่วนทางจังหวัดเชียงราย จะมอบให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลเป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อไปในอนาคต

...ถึงตรงนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วโครงการจะทำเพียงแค่ปลูกต้นไม้ หรือสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามโปรเจกต์เดิมที่เคยมีมา และถ้าจะเดินหน้าก็จะต้องมีการเคลียร์คัตให้ชัดเจนจนสิ้นข้อสงสัยเสียก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น