xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” รัฐบุรุษ ที่สุดแห่ง "ป๋าเปรม"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน แทนพระองค์ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเชิญพวงมาลาหลวง วางที่หน้าโกศศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันจันทร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2562
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรื่องราวชีวิตของ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นั้น มีความน่าสนใจและศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็น “สามัญชน” คนธรรมดาที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็น “อมตะ” ชนิดที่ยากจะมีผู้ใดเสมอเหมือน

เรียกว่าเป็น “ที่สุด” ในทุกเรื่องเลยก็ว่าได้

จะมีใครในบ้านนี้เมืองนี้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 8 ปี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีและเป็นประธานองคมนตรีถึง 2 รัชกาลคือรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่สำคัญคือเป็น “ศูนย์กลางของอำนาจ” ที่มากด้วย “บารมี” ของประเทศไทยทั้งในทางการทหาร ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินนับเนื่องมาจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562

และเชื่อเหลือเกินว่าจะไม่มี “ใคร” จะมีบารมีเทียบเท่ากับ “ป๋าเปรม” นับจากนี้สืบไปจนเบื้องหน้า

ทำไม ใครๆ ก็เรียก "ป๋า"
“เสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต จงรักภักดี เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” วลีประจำใจประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เด็กชายบ้านนอกจากเมืองสงขลาสู่มหาบุรุษคู่แผ่นดินถึงสองรัชสมัย

พล.อ.เปรม รัฐบุรุษที่ได้รับการยกย่องทั่วแผ่นดิน ซึ่งใครๆ ต่างเรียกขานว่า “ป๋าเปรม” มีเส้นทางชีวิตที่สุดจะพลิกผันและเรื่องราวที่ไม่คาดฝัน เป็นภาพตัดกับความเรียบง่ายในมาดที่สุขุมลุ่มลึก นับตั้งแต่ก้าวแรกจากบ้านเกิดเข้าเมืองหลวง มุมานะศึกษาชั้นมัธยมฯในโรงเรียนเด่นดังอย่าง “สวนกุหลาบ” ตามฝันอยากเป็นนักเรียนแพทย์ แต่ชะตาพลิกผันเพราะขาดทุนทรัพย์ จึงหันเหเข้ารั้ว “โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก” (ปัจจุบันคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) เมื่อปี พ.ศ.2481 โดยเข้ารับการศึกษาเป็นรุ่นที่ 5 มีเพื่อนร่วมรุ่น 55 นาย หมายมั่นทหารปืนใหญ่แต่กลับได้เป็นทหารม้าแทน และกลายเป็นปฐมบทของคำเรียกขาน พล.อ.เปรม ว่า “ป๋า”

กล่าวกันว่า เหตุที่ พล.อ. เปรม ถูกเรียกขานด้วยความเคารพว่า “ป๋า” นั้น เกิดจากประเพณีของเหล่าทหารม้า ที่บรรดาทหารม้าหรือ “ลูกม้า” จะเรียกผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นเสมือนพ่อม้าว่า “ป๋า” และอาจเป็นเพราะพล.อ. เปรม ได้ก้าวผ่านตำแหน่งระดับผู้บังคับหน่วยของทหารม้ามาทุกระดับอย่างสมบูรณ์จนได้รับการยอมรับจาก “ลูกม้า” ทั้งผ่านสงครามอินโดจีน ตั้งแต่สมัยอยู่ปี 3 ตามด้วยสงครามมหาเอเชียบูรพา ในนาม “กองทัพพายัพ” จาก “ป๋า” ของเหล่าทหารม้า กลายเป็น “ป๋าเปรม” ที่คนไทยเรียกขาน


ในหนังสือ “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ในโอกาสครบ 80 ปี นั้น เขียนถึงคำเรียกขานว่า “ป๋า” ว่า เกิดจากการที่ ทหารม้า ผู้ใต้บังคับบัญชา เรียกขาน พล.อ.เปรม ตั้งแต่เป็นรองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (รอง ผบ.ศม.) ค่ายอดิศร สระบุรี จนขึ้นเป็น ผบ.ศม. ด้วยความที่ พล.อ.เปรม ดูแลลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา สั่งสอนดูแลใส่ใจทุกข์สุข ไปจนถึงครอบครัว ปฏิบัติกับลูกน้อง เหมือนญาติ จนเรียกลูกน้องว่าลูก ส่งผลให้บรรดาทหารม้าพร้อมใจกันเรียกพล.อ.เปรม ว่า “ป๋า” เรื่อยมา จาก “ป๋า” ของทหารม้า กลายเป็น “ป๋า” ที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักและเรียกตามกันว่า “ป๋า”

"ผมไม่พร้อม" เป็นนายกรัฐมนตรี
จากชีวิตนายทหารพลิกผันเข้าสู่วงโคจรทางการเมืองอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวและทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบสุดคาดคิด ด้วยว่าขณะที่ “นักรบสุภาพบุรุษ-พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์” แม่ทัพภาคที่ 2 และคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กำลังเริ่มยุทธศาสตร์มวลชน “การเมืองนำการทหาร” แทน “การทหารนำการเมือง” เพื่อเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเขต 16 จังหวัดภาคอีสาน สถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯ กลับร้อนระอุ

จู่ๆโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว พล.ท.เปรม ได้รับแต่งตั้งเป็น 1ใน 24 คน ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รมว.กลาโหม เข้ายึดอำนาจ เพื่อรักษาสถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายจากเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านการกลับมาของ “เณรจอมพลถนอม กิตติขจร” อดีตนายกรัฐมนตรี

ถัดมาอีกปี วันที่ 20 ต.ค. 2520 ชื่อของ พล.อ.เปรม ก็อยู่ในคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รมว.กลาโหม เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร การทำรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการก้าวสู่การเมืองครั้งแรกในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ของพล.อ.เปรม โดยไม่เคยคิดมาก่อนและไม่เคยทะเยอทะยานแม้แต่น้อย

ก้าวแรกในการเมือง พล.อ. เปรม และคณะที่ปรึกษา มองเห็นว่าปัญหาของชาติที่มีอยู่มากมายเหลือเกินจะกล่าวนั้น มีอยู่ 4 ปัญหาใหญ่ที่มีอิทธิพลสูงและเร่งด่วนต่อความมั่นคงของชาติมาก คือ ปัญหาคอร์รัปชั่น, การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า, ยาเสพติด และผู้ก่อการร้าย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอดชีวิตตราบสิ้นลมหายใจ พล.อ.เปรม จะเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่กัดกร่อนสังคมไทยให้หมดสิ้น

บนเก้าอี้ รมช.มหาดไทย ควบตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ก็ว่ามาถึงตัวแบบเหนือความคาดคิดแล้ว ยังมีภาคต่อแบบที่ว่าที่สุดแห่งเซอร์ไพรส์ ด้วยว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.เปรม เป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2521 พร้อมกับควบ รมว.มหาดไทย , รมว.กลาโหม ในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ จากนั้นไม่นาน พล.อ.เปรม ก็ถูกดันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง แทน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ลาออกกลางสภา เป็นการมาที่ พล.อ.เปรม ยืนยันหนักแน่นในความรู้สึกว่า ไม่อยากเป็น “ผมไม่พร้อม เพราะว่าไม่เคยนึกว่าจะมาเป็น ... ไม่เคยเตรียมตัวที่จะเป็น”
พล.อ.เปรมเดินทางไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562
นายกฯ ทหาร ขบคมเขี้ยวนักการเมือง
รัฐบาลเปรม 1 ได้เลือก พ.อ.จำลอง ศรีเมือง จปร.7 กลุ่มยังเติร์ก ขณะนั้นเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถือเป็นคีย์แมนสำคัญในการให้คำเสนอแนะในการฟอร์มรัฐบาลชุดที่ 43 ของประเทศไทย

พล.ต.จำลอง ทบทวนความจำว่า เป็นผู้มีส่วนช่วยเสนอแนะแต่ไม่ได้เป็นผู้ทาบทามพรรคการเมืองมาร่วมเพราะคิดว่าตัวเองยังเด็ก แต่ได้เรียนเสนอป๋าไปว่า “ท่านผู้นี้อาจเหมาะกับกระทรวงนี้นะ บางคนท่านก็ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อท่านตกลงใจแล้ว ท่านก็จะเป็นผู้ทาบทามเอง... เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ผมไม่ขอเอ่ยชื่อนะ เอาเป็นว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเขาต้องการให้ไปหาเขาที่บ้าน โดยเขาได้เตรียมการจัดฉากไว้เรียบร้อย ผมก็ยืนยันกับป๋าว่า ป๋าครับ อย่างนี้ไม่ได้นะครับป๋า ... เขาอายุน้อยกว่าเขาต้องมาพบ...

“... ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี จะให้ท่านไปพบที่ลับๆ กลางๆ ไม่ได้หรอก ต้องมาที่บ้าน ... เขาก็พูดยกใหญ่เลยว่า ไม่รู้เรื่องการเมือง .... การเมืองมันต้องอย่างโน้นอย่างนี้..." พลตรีจำลอง เล่าต่อว่าระหว่างที่ต่อรองอยู่นั้นพอดีป๋าได้ยินก็บอกว่า "จำลอง เดี๋ยวป๋าเอง" "ท่านฉวยโทรศัพท์ไป แล้วก็พูด ครับ-ครับ-ครับ พอท่านวางหูก็บอกว่า จำลอง ป๋านึกว่าเขาจะสอนป๋าเพียงนาทีสองนาที แต่นี่สอนตั้งห้านาทีสิบนาที”

การประชุมนัดแรกของคณะรัฐมนตรี เปรม 1 ประเด็นที่ป๋าเน้นย้ำคือ “รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเหนือพรรค เหนือพวก เหนือผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

พล.อ.เปรม เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ต้องแก้ไขให้ได้ ขณะที่ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจมีความเห็นขัดแย้งกันเกิดขึ้น เมื่อเปิดประชุมสภาก็เจอปัญหาตีรวน เป็นสิ่งที่ พล.อ.เปรม ไม่เคยพบเจอในชีวิตผู้บังคับบัญชาทหาร และเคยปรารภความในใจว่า “ผมเองรู้สึกว่าเป็นเวรกรรมของผมที่ต้องมารับตำแหน่ง อันต้องแบกภาระหนักหน่วงที่สุด ผมไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย จะมีบ้างก็แค่เวลานอนเท่านั้น แต่บางทีนอนหลับอยู่ดีๆ กลับถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาทำงานอีก ทำให้ผมแปลกใจว่าทำไมใครๆ ถึงอยากเป็นนายกรัฐมนตรีกันเหลือเกิน ทั้งๆ ที่มันไม่เห็นจะสบายตรงไหนเลย”
เมื่อครั้งเป็นนักเรียน “โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก” (ปัจจุบันคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)
“ชีวิตของการเป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นชีวิตที่แปลกประหลาดพิสดารสำหรับผมเอาการ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามารับตำแหน่งนี้แล้วก็จะต้องทำต่อไปให้ดีที่สุด โดยยึดเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง....”

โดยหนึ่งในเอกลักษณ์ประจำตัว พล.อ.เปรม ที่ฉายชัดจากวันนั้นจวบจนสิ้นอายุขัยคือ “ชุดพระราชทาน” ที่พล.อ.เปรม ขอพระราชทานเครื่องแต่งกายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

รัฐบาลเปรม 1 ที่เป็นรัฐบาลผสม ประสบปัญหามากมายทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ มีปัญหาการขาดแคลนน้ำมันและขาดแคลนน้ำตาล ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ โดยการแก้ปัญหาน้ำมันขาดแคลนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลคือ กิจสังคมกับชาติไทย นำไปสู่การปรับครม. เปรม 2 ที่มาพร้อมกับกระแสรัฐประหาร และสุดท้ายก็เกิดกบฏ “เมษาฮาวาย” (1-3 เม.ย. 2524) เมื่อคณะรัฐประหารโดยกลุ่มนายทหารหนุ่มหรือ “กลุ่มยังเติร์ก” ที่นำโดย พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รองผบ.ทบ. ขณะนั้น ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพล.อ.เปรม ไม่สำเร็จ

“... ถ้าจะปฏิวัติก็ยิงผมให้ตายเสียก่อน” พล.อ.เปรม กล่าวถึงเหตุการณ์เผชิญหน้าการยึดอำนาจครั้งแรก และต่อมาครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2528 การยึดอำนาจ นำโดย พล.อ.เสริม ณ นคร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ก็เกิดขึ้นและล้มเหลว กลายเป็นกบฏอีกครั้งภายในเวลาเพียง 9 ชั่วโมง

ในสนามการเมืองของพล.อ.เปรม ที่มีกองทัพหนุนหลังคุมทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทหารจนสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 5 สมัย ยาวนาน 8 ปี 5 เดือน จนเกิดวลีฮิต “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของเปรม” สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในอำนาจ ที่มาพร้อมความเป็นที่รักและเคารพเทิดทูนในคนหลายวงการโดยเฉพาะทหารที่ยกให้เป็นปูนชนียบุคคล

และแม้จะวางมือทางการเมือง อำลาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยคำว่า “ผมพอแล้ว” แต่ พล.อ.เปรม ก็ดูจะเป็นเสมือน “เงาแห่งอำนาจ” ที่อยู่เบื้องหลังการเมืองเสมอมา

จุดพลุสู่ความโชติช่วงชัชวาล-พัฒนาชนบท
ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารที่สำคัญสุด ก็คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งพล.อ.เปรม มีความมุ่งมั่นอย่างสูงยิ่ง และก่อเกิด “คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ” ที่มีพล.อ.เปรม นั่งหัวโต๊ะ พรักพร้อมด้วยทีมขุนพลเศรษฐกิจระดับแนวหน้าที่ถือว่าเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยก็ว่าได้

ยุคสมัยของรัฐบาลพล.อ.เปรม ได้จุดพลุการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เปิดศักราชสู่ความโชติช่วงชัชวาล “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซฯ” ตามเข็มมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งออก และพัฒนาชนบท ไปพร้อมๆ กัน

ช่วงเวลานั้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กิจการพลังงานของชาติ ซึ่งรัฐบาลพล.อ.เปรม จัดตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2521 ก็เริ่มมีบทบาทโดดเด่นเป็นหัวหอกในการวางรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยนับแต่นั้นมาจวบจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจตกสะเก็ดที่สั่งสมมาได้ปะทุขึ้นในปี 2527-2528 เกิดวิกฤตบริษัทเงินทุน วงแชร์ หนี้ภาครัฐพุ่ง ขาดดุลการค้า ขาดเสถียรภาพทางด้านการเงินระหว่างประเทศอย่างรุนแรง จนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจลดค่าเงินบาท ซึ่งการกล้าตัดสินใจของพล.อ.เปรม ครั้งนั้น และตามมาด้วยนโยบายประหยัด เร่งรัดให้ใช้ของไทย ร่วมใจกันส่งออก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศ ผ่านพ้นมรสุม สร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

รัฐบาลพล.อ.เปรม ยังวางรากฐานเศรษฐกิจสำคัญหลายเรื่อง ทั้งจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อกำหนดและบริหารนโยบายด้านพลังงานของชาติ, จัดตั้งกองทุนน้ำมัน, จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) เดินหน้าพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยมีสภาพัฒน์ เป็นแม่งานหลัก เป็นต้น

การกรำศึกเศรษฐกิจอย่างโชกโชน ทำให้พล.อ.เปรม มีความรอบรู้ปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับตอนแรกเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลังการผ่าตัดเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เริ่มเห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมงค์ เมื่อเศรษฐกิจโลกเอื้ออำนวย ค่าเงินดอลลาร์ลดลง ราคาน้ำมันลดลง ส่งออกดีขึ้น ปลายปี 2529 เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัวขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 4.5 และปี 2530 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี เพิ่มขึ้น 6.6 สัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นยืนยันการผ่านพ้นวิกฤต ถือเป็นที่สุดของ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีจากทหารที่รบชนะสงครามทางเศรษฐกิจ

ส่วนการพัฒนาชนบท พล.อ.เปรม ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) ขึ้นมาพัฒนาชนบทอย่างเป็นระบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การพัฒนาชนบทของประเทศไทย ตามความตั้งมั่น “... ผมจะไม่ลืมปัญหาอันยิ่งใหญ่ของคนชนบทยากจนที่ผมได้เห็นและสัมผัสด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด” และ “... ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ไม่ว่าจะยากลำบากอย่างไร พวกเราจะมุ่งมั่นแก้ปัญหาความยากจนของเพื่อนร่วมชาติของเราในชนบทให้สำเร็จให้จงได้” จากนั้น ยังมีโครงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ให้ช่วยกันคิด ทำ และพัฒนาด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์งอกเงยด้วยตัวเขาเอง

ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรม ยังได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มุ่งพัฒนาความพออยู่พอกินของประชาชนในชนบทโดยตรง จึงออกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2524 และจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อสนองงานพระราชดำริโดยทุ่มเทสติปัญญาอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับป่าไม้ได้ให้ความสนใจเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน 1,362 โครงการ เป็นโครงการเกี่ยวข้องกับด้านป่าไม้โดยตรงถึง 110 โครงการ

คำสั่ง (ไม่) ลับดับไฟสงครามอุดมการณ์
พล.อ.เปรม เป็นผู้มีใจแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์โดยใช้การเมืองนำการทหาร ไม่ใช่การทหารนำการเมือง เหมือนเช่นผู้นำทหารสมัยก่อน เมื่อกระสุนและเลือดละเลงแผ่นดินไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพได้ นโยบายของพล.อ.เปรม จึงไม่ใช้ปืนแต่ใช้ “ปัญญา” ลดเงื่อนไขของสงครามอุดมการณ์ ซึ่งมีอยู่ 2 อย่าง คือ เงื่อนไขทางจิตใจ จะต้องให้ความเป็นธรรม สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างข้าราชการกับประชาชน ไม่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม กดขี่ข่มเหงประชาชน และเงื่อนไขทางวัตถุ ต้องพยายามสร้างความเจริญ อยู่ดีกินดี เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยเฉพาะคนยากจน

สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับฝ่ายรัฐบาล ที่เปิดศึกแย่งชิงมวลชน หยิบปืนลุกขึ้นสู้อำนาจรัฐ ซึ่งคุกรุ่นยืดเยื้อมาหลายปี ดับมอดลงโดย พล.อ.เปรม ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525 เพื่อผ่อนปรนให้นักศึกษา ปัญญาชน ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่หนีภัยมืดจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ให้กลับจากพนาสู่นาครอย่างมีหลักประกันและมีเกียรติในสถานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” นโยบายการเมืองนำการทหารที่มาถูกทาง บวกกับรัฐบาลจีนเลิกให้การสนับสนุน พคท. และ พคท.แพ้ภัยตัวเองจากความขัดแย้งกันภายใน การเอาชนะศึกคอมมิวนิสต์จึงสำเร็จลุล่วง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นักทฤษฎีต่อต้านคอมมิวนิสต์ “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” บันทึกไว้ว่า “2526 พคท.พยายามรักษาขวัญกำลังใจไว้ โดยเปิดสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 4 ขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้พรรคปรับยุทธศาสตร์ใหม่ให้ได้ แต่ พคท.ดำเนินการสายเกินไป ซึ่งผลของการประชุมก่อให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคอย่างหนักหน่วงจนเกิดการเข้ามอบตัว-มอบอาวุธ-มอบใจ ยุติการปฏิวัติโดยสิ้นเชิง

“สภาพเช่นนี้ ทำให้ พคท.ไม่อาจจะควบคุมสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์และสถานการณ์ทางยุทธวิธีของพรรคไว้ได้ การมอบตัวของสมาชิกพรรคและการมอบอาวุธให้กับกองทัพบก หมายถึงการพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิงของพรรค

“กองทัพบก ได้เปิดยุทธการทางทหารเพื่อกวาดล้างฐานที่มั่นและกำลังอาวุธให้หมดสิ้น พร้อมกับเปิดการรุกรานทางการเมืองขึ้นเพื่อให้บรรดาสมาชิกพรรคละทิ้งพรรคกลับคืนสู่สภาพพลเมืองไทยนามกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

“ปลายปี 2526 กองทัพบก ภายใต้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ที่ถูกต้องทั้งทางการเมืองและการทหารทั่วไป ทั้งระดับยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ได้ประสบชัยชนะต่อ พคท.อย่างชัดเจน สมาชิกพรรคชั้นต่ำจนถึงชั้นสูงได้มอบตัวต่อรัฐบาลเกือบหมดสิ้น....”

ปิดฉาก พคท. พรรคการเมืองต่างอุดมการณ์ในตำนานประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่นั้น

คุณูปการที่ พล.อ.เปรม ทุ่มเทชีวิตทำงานเพื่อแผ่นดิน ทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2531 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศยกย่อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐบุรุษ ดังความตอนหนึ่งว่า “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งทางด้านการทหารและการบริหารราชการแผ่นดินมาแล้วหลายตำแหน่ง ครั้งสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลานานถึง ๘ ปี ๕ เดือนเศษ ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติและความเป็นอยู่ของชาวชนบทให้มั่นคง อันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและตัวอย่างอันดีงามต่อไป ทั้งนี้ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑”

ตราบถึงวันอสัญกรรม เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2562 สำนักพระราชวัง ได้ออกประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรม ดังความตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความโทมนัสยิ่ง ด้วยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณด้วยความวิริยอุตสาหะและจงรักภักดี มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก นายกรัฐมนตรี องคมนตรี รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี ทั้งได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประธานองคมนตรี ในรัชกาลปัจจุบันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้สนิท นับเป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินเป็นอเนกประการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโกศกุดั่นน้อย ฉัตรเครื่องตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพและทรงรับศพอยู่ใน พระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนกำหนด 7 คืน(ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2562 ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2562 )”

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก เป็นเวลา 21 วัน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27พฤษภาคม ถึงวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน2562 เว้นวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2562

ขั้วอำนาจ เปลี่ยน - ไม่เปลี่ยน หลังสิ้น “ป๋าเปรม”
จากการวิเคราะห์ของนักข่าวสายทหาร วาสนา นาน่วม มองว่า การจากไปของป๋าเปรม ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยน ขั้วอำนาจใดๆ ทางการเมืองหรือกองทัพอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่กองทัพขาดปูชนียบุคคลที่เป็นหลักหลอมรวมใจไปเท่านั้น ด้วยเพราะขั้วอำนาจในเวลานี้ยังคงเป็น “3ป.” พี่น้อง “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ส่วนป๋าเปรม เป็นกองหนุนที่ 3 พี่น้องให้ความเคารพ ทั้งนี้ หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เรื่อยมา บทบาทของป๋าเปรม ต่อกองทัพและการเมืองลดน้อยลงเพราะนายทหารที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกป๋า” เกษียณอายุราชการกันหมด ผู้นำเหล่าทัพรุ่นหลังๆ พล.อ.เปรม ไม่ค่อยรู้จักหรือสนิทสนม

นายทหารที่คุมกำลังและตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ในช่วง 10 ปี หลังๆ มานี้ ส่วนใหญ่เป็นนายทหารสายตรงของ “3ป.” ทั้งสายทหารเสือฯ สายบูรพาพยัคฆ์ สายวงศ์เทวัญ อาจมีทหารสายรบพิเศษได้ขึ้นมาบ้าง

อย่างไรก็ดี เมื่อ พล.อ.เปรม จากไป ทุกสายตาได้จับจ้องไปที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี ลูกป๋าคนโปรด และเป็นเสมือนตัวแทนพล.อ.เปรม ทั้งในฐานะร่มโพธิ์ร่มไทรของสายบ้านสี่เสาฯ ที่ทุกคนเคารพรัก และทำหน้าที่สำคัญแทน ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์ แม้จะมีอายุ 75 ปี แล้ว แต่ยังคงแข็งแรง มีความคิดอ่านที่คมกริบแฝงอยู่ในความสงบ สุขุม นุ่มนิ่ง ซึ่งคงรอดูก้าวเดินนับจากนี้ของ พล.อ.สุรยุทธ์ว่าจะออกมาในรูปใด.........

ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อ เปรม” โดย มูลนิธิรัฐบุรุษ และ “อมตะแห่ง ป๋าเปรมฯ “ โดย วาสนา นาน่วม




กำลังโหลดความคิดเห็น