xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กม. ข่มขืนใหม่ ยาแรง คือ คำตอบ เหี้ยมสุด! ต้องโทษประหาร ถ่ายคลิป – ส่งต่อ โทษหนัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่ามกลางเสียงสนับสนุนเรียกร้องของภาคประชาชน “ข่มขืนเท่ากับประหาร” ที่ดังต่อเนื่องในสังคมไทย และยิ่งดังกระหึ่มทุกครั้งที่เกิดคดีอุกฉกรรจ์ ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎหมายใหม่ "ข่มขืน - กระทำชำเรา" เพิ่มโทษผู้กระทำผิดทั้ง “ปรับ - จำคุก - ประหาร” รวมทั้ง แก้ไขเพิ่มเติมกรณี “ถ่ายคลิป - ส่งต่อ” ระวางโทษหนักไม่แพ้กัน

ขณะเดียวกัน กลับมีคำถามเกิดขึ้นทำนองว่า การบังคับใช้กฎหมาย คือทางออกของคดีการใช้ความรุนแรงทางเพศใช่หรือไม่?

28 พ.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 โดยมีสาระสำคัญคือ 1. กำหนดนิยามคำว่า “ข่มขืนกระทำชำเรา” เสียใหม่ ซึ่งส่งผลทำให้การใช้วัตถุอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้อื่น ไม่เป็นการข่มขืนกระทำชำเราอีกต่อไป แต่จะถือเป็นอนาจารที่มีโทษเทียบเท่าการข่มขืนกระทำชำเราแทน ตามมาตรา 278 วรรคสอง และมาตรา 279 วรรคสี่ ที่ได้แก้ไขใหม่

2. เพิ่มมาตรา 280/1 กำหนดบทเพิ่มโทษ 1 ใน 3 กรณีการข่มขืนกระทำชำเราหรือกระทำอนาจาร ที่ได้บันทึกภาพหรือเสียงไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และถ้าหากส่งต่อภาพหรือเสียงนั้น ก็จะต้องบทเพิ่มโทษถึงกึ่งหนึ่ง

3. แก้ไขมาตรา 281 เกี่ยวกับ การยอมความ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา โดยกำหนดใหม่ว่า

1) ถ้าเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง หรืออนาจารที่เทียบเท่าข่มขืน ตามมาตรา 278 วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำระหว่างคู่สมรส (ดังนั้น ข่มขืนบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสจึงยอมความไม่ได้) และนอกจากนี้ ต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย

2) ถ้าเป็นกรณีกระทำอนาจารตามมาตรา 278 วรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ต้องได้รับการปกป้องตามมาตรา 285 หรือมาตรา 285/2

4. แก้ไขมาตรา 285 และเพิ่มมาตรา 285/2 กำหนดบทเพิ่มโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราต่อบุคคลที่ต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ

5. แก้ไขมาตรา 286 กำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการดำรงชีพจากการค้าประเวณีเสียใหม่

6. แก้ไขมาตรา 366/1 เรื่องการสนองความใคร่ของตน โดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ โดยไม่ใช้คำว่า กระทำชำเรา ตามมาตรา 1(18) เพราะคำว่า “ผู้อื่น” แสดงว่าต้องยังมีชีวิตอยู่

ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไขกำหนดโทษตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 มีมาตราที่น่าสนใจดังนี้ คือ

มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ต้องระวางโทษระหว่าง 4 - 20 ปี ปรับ 80,000 - 400,000 บาท แต่ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืน หรือวัตถุระเบิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000 - 400,000 บาท

มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 7 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000 - 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 - 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต และหากใช้อาวุธ โทรมเด็กหญิง หรือเด็กชาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิด เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 300,000 - 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

หากถึงแก่ความตาย ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต และ หากผู้ใดกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน โดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 280/1 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 278 หรือมาตรา 279 ได้บันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารนั้นไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ หนึ่งในสาม

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารที่บันทึกไว้ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง

นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ อดีตประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นความตั้งใจของรัฐบาล และ สนช. ที่จะเสนอกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาคดีข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศที่มีจำนวนสูงขึ้น ต้องเพิ่มโทษให้เกิดความเกรงกลัว รวมถึง บทบัญญัติลงโทษกรณีถ่ายคลิปการล่วงละมิดทางเพศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

โดยหวังว่ากฎหมายฉบับนี้ที่มีบทลงโทษรุนแรงจำคุกหลายปี กรณีทั้งการกระทำต่อเด็ก การถ่ายคลิป รวมถึง การลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำผิดทำร้ายเหยื่อจนเสียชีวิต จะช่วยให้ผู้คิดจะทำผิดเกิดความยับยั้งชั่งใจ เกรงกลัวบทลงโทษ

ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายต้องลงโทษอย่างจริงจัง จับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ จะส่งสัญญาณให้ไม่มีใครกล้าทำความผิด เพราะถ้ากฎหมายมีบทลงโทษรุนแรงแต่จับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้คงไม่เกิดประโยชน์

ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ และกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญาฉบับแก้ไขใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติมในความผิดฐานข่มขืน อนาจาร และความผิดเกี่ยวกับศพ เมื่อบังคับใช้แล้วกฎหมายบางมาตราโทษจะน้อยลงกว่าเดิม หลักคือต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณกับผู้กระทำผิดก่อนกฎหมายฉบับนี้บังคับ

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในไทยยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยสถิติจากข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 พบว่าเกิดเหตุความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว

ช่วงอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่งเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปีถึง 60.6 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาอายุ 41-60 ปี 30.9 เปอร์เซ็นต์ ที่น่ากังวลใจคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และมากที่สุด 90 ปี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 20 ราย

สำหรับปัจจัยกระตุ้นผู้กระทำส่วนใหญ่ 31 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่าเกิดจากดื่มแอลกอฮอล์ 28 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศ

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย อดีตประธานกรรมาธิการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการเพิ่มโทษคดีข่มขืนมีการแก้กฎหมายมาแล้ว 3 -4 ครั้ง ทว่า สถิติคดีข่มขืนไม่ได้ลดลง เพราะคนกระทำผิดส่วนใหญ่ที่พบเป็นผลมาจากการขาดสติ การใช้ยาเสพติด การควบคุมอารมณ์ความต้องการตัวเองไม่ได้ รวมถึงเป็นบุคคลใกล้ชิดกับเหยื่อ

การปรับแก้เพิ่มโทษทางกฎหมายถูกตั้งข้อสังเกตว่า สามารถช่วยลดคดีความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด โดย น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ทนายความซึ่งทำคดีล่วงละเมิด ทางเพศมากว่า 30 ปี ให้ความเห็นว่า การเพิ่มโทษประหารไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังอาจเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เหตุจากการฆ่าปิดปากเพื่อหนีความผิด เพราะผู้กระทำความผิดก็ย่อมเกรงกลัวต่อโทษตามกฎหมาย แต่พวกเขาไม่ได้เกรงกลัวที่จะกระทำความผิด

อีกทั้งวิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้ จะนำไทยย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะการตีความเรื่องการข่มขืนตามกฎหมายครอบคลุมถึงการกระทำที่ก่อโดยมนุษย์เพศชายเท่านั้น ไม่ได้ปรับปรุงให้เข้มแข็งขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในการดำเนินคดี ข่มขืน - กระทำชำเรา ไม่ใช่กฎหมายหรือโทษทัณฑ์ที่แรงหรือเบาเกินไป แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย หลายครั้งที่ผู้กระทำผิดหลุดคดี เพราะบังคับใช้กฎหมาย ไม่เข้าใจถึงปัญหาได้ดีพอ

“ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือเมื่อผู้กระทำการข่มขืนในคดีนั้นเป็นผู้ที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจ ก็อาจจะก่อให้เกิดมีการเจรจาต่อรองและไกล่เกลี่ยให้ผู้กระทำพ้นผิด ในหลายๆ ครั้งก็เกิดมาจากผู้ชาย ที่มีอำนาจมากกว่าในครอบครัวเป็นผู้กระทำเองอันเนื่องมาจากสังคมไทยมีวิธีการคิดแบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่” นายจะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความ เท่าเทียมกันทางเพศ สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

แม้บทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรง อาจไม่ยับยั้งลดอัตราการเกิดคดีความรุนแรงทางเพศในเชิงประจักษ์ แต่การแก้ไขกฎหมายในความผิดฐาน ข่มขืน -กระทำชำเรา ฉบับดังกล่าว นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอย่างน้อยๆ รัฐก็รับฟังเสียงประชาชน




กำลังโหลดความคิดเห็น