xs
xsm
sm
md
lg

การจัดตั้งรัฐบาลผสม : เกมแห่งอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในระบอบรัฐสภา การจัดตั้งรัฐบาลเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากผลการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถกระทำโดยง่ายหากมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร แต่การจัดตั้งรัฐบาลจะยากและต้องใช้ความพยายามมากขึ้น หากไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเด็ดขาด

กระนั้นก็ตาม กรณีไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งชนะด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดก็ยังมีความยากความง่ายต่างกัน ขึ้นอยู่สถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วง หากสถานการณ์การเมืองไม่มีความขัดแย้งแบบขั้วตรงข้ามที่รุนแรง การจัดตั้งรัฐบาลผสมก็จะทำได้ราบรื่นและสำเร็จภายในไม่ช้า แต่หากสถานการณ์การเมืองระอุด้วยความขัดแย้งแบบขั้วการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลก็จะประสบกับอุปสรรค และต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการเจรจาต่อรอง การโน้มน้าวจูงใจและการประนีประนอม จึงจะประสบความสำเร็จได้

สถานการณ์ของการเมืองในช่วงนี้มีลักษณะของความเป็นขั้วขัดแย้ง และไม่มีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด จึงทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความยากลำบากอยู่มากพอสมควร

หลังเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนมากเป็นลำดับหนึ่งพยายามรวมกลุ่มพรรคการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านการกลับมามีอำนาจอีกครั้งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทว่า จำนวนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคต่าง ๆ ที่รวมกันได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง  ความพยายามของพรรคเพื่อไทยจึงไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้
  
 พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้รับการเลือกตั้งมาเป็นลำดับสองจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ พรรคพลังประชารัฐมีแต้มต่อที่อาจทำให้จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จสูง เพราะสมาชิกวุฒิสภา ซึ่ง คสช.เป็นผู้คัดสรรเอง มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ตัวแบบรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอื่น ๆ อีกประมาณสิบกว่าพรรค หากรวมทุกพรรคจะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเล็กน้อย หรือมีประมาณ ๒๕๔ เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำ และตัวแบบนี้ต้องมีพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล จึงจะเป็นไปได้

ความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้ตัวแบบนี้ อยู่ที่การโน้มน้าวจูงใจให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล เพราะหากประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วม ก็จะส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมด้วย แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยปราศจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่จะทำให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพอย่างยิ่ง ยากที่จะขับเคลื่อนการบริหารประเทศได้ และโอกาสล่มสลายสูงในเวลาไม่นานนัก

ปมเงื่อนที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ลังเลต่อการเข้าร่วมรัฐบาลผสมมีอยู่หลายปมด้วยกัน ปมแรกคือจุดยืนที่ประกาศเอาไว้ในช่วงการหาเสียง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช. ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจ การประกาศของนายอภิสิทธิ์กระทำในนามหัวหน้าพรรค ย่อมถือได้ว่าเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของพรรคโดยรวม ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลที่มีหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีก็เท่ากับไม่รักษาสัญญาประชาคมนั่นเอง แม้ว่านายอภิสิทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความคิดของสมาชิกระดับนำของพรรคประชาธิปัตย์หาได้มีเอกภาพแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้านจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ กลุ่มทั้งสองมีจำนวนเสียงใกล้เคียงกัน กลุ่มที่คัดค้านจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ต้องการที่จะเข้าร่วมรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์โดยปราศจากเงื่อนไข ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนจุดยืนนายอภิสิทธิ์มีทั้งสนับสนุนอย่างแข็งขัน นั่นคือไม่เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเด็ดขาดและสนับสนุนแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ หากข้อเสนอของ พปชร. ทำให้เกิดความรู้สึกคุ้มค่า กลุ่มนี้ก็อาจเปลี่ยนจุดยืนได้

ปมที่สองคือ บทบาทของพรรคหากเข้าร่วมรัฐบาล ด้วยเหตุผลที่ว่า การตัดสินเข้าร่วมรัฐบาลจะทำให้พรรคประชาธิปย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่รักษาจุดยืนทางการเมืองและละทิ้งสัญญาประชาคม ภาพลักษณ์ของพรรค ที่เคยนำเสนอในฐานะพรรคทางเลือกและต้องการสร้างประชาธิปไตยที่สุจริต ก็กลายเป็นคำพูดที่ว่างเปล่า ปราศจากความหมายใด ๆ ดังนั้นหากต้องแลกกับความเสียหายของภาพลักษณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมรัฐบาล แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องประเมินแล้วว่า สิ่งที่จะได้มาจากการเข้าร่วมรัฐบาลนั้นมีความคุ้มค่ากว่าการไม่เข้าร่วม

ร่องรอยของความคุ้มค่าที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อบรรเทาความเสียหายของภาพลักษณ์ หากเข้าร่วมรัฐบาลคือ การเสนอเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และการเสนอขอดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ใช้ในการหาเสียง และมีความเชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงขีวิต และทำให้ราคายางพารา ปาล์ม ข้าว และพืชผลเกษตรอื่น ๆ สูงขึ้นได้

แต่หากพรรคพลังประชารัฐไม่ยินยอมให้สองกระทรวงนี้แก่พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำของพรรคจำนวนไม่น้อยก็อาจมองว่า การเข้าร่วมรัฐบาลก็ปราศจากความหมาย เพราะพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเพียงไม้ประดับ และถูกกลืนหายไปกับภาพของรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ หากรัฐบาลบริหารดี สังคมก็จะมองว่าเป็นผลงานของพลเอกประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ แต่หากบริหารไม่ดี สังคมนอกจากจะโทษหัวหน้ารัฐบาลและพรรคแกนนำแล้ว ก็จะโทษทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลด้วย สภาพนี้จึงกลายเป็นว่าหากรัฐบาลบริหารดี พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีความชอบ แต่หากบริหารแย่ พรรคประชาธิปัตย์ก็พลอยถูกลงโทษไปด้วย ความคิดแบบนี้ของคนสังคมไทยดูย้อนแย้งกันตามสมควร อันที่จริงพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้รับผลกระทบจากแบบแผนความคิดเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน

ปมที่สาม แนวโน้มการตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับสัญญาประชาคม หากประกาศสิ่งใดต่อสาธารณะออกไปแล้ว ก็มีแนวโน้มรักษาคำพูด ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีของนักการเมือง นายอภิสิทธิ์ได้แสดงให้สังคมได้เห็นแล้วว่า สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำต้องสอดคล้องกัน โดยลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียง ส.ส. ไม่ถึง ๑๐๐ เสียง ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง

ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ ก็จะทำให้นายอภิสิทธิ์ลำบากใจ หากยังเป็น ส.ส. ก็ต้องเคารพมติพรรค และต้องยกมือสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การทำแบบนั้นเท่ากับเป็นการกลืนน้ำลายตนเอง ภาพลักษณ์ก็จะเสียหาย ครั้นจะรักษาจุดยืนตนเอง โดยไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็เป็นการต่อต้านมติพรรค ซึ่งเป็นการเสียมารยาททางการเมือง หากสมาชิกของพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันการเมืองสูงอย่างพรรคประชาธิปัตย์กระทำแบบนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการบ่อนทำลายความเป็นสถาบันของพรรค นักการเมืองแบบนายอภิสิทธิ์ย่อมหลีกเลี่ยงการตัดสินใจเช่นนั้น

การรักษาจุดยืนและมารยาททางการเมืองเอาไว้พร้อม ๆ กัน กระทำได้ด้วยการลาออกจากการเป็น ส.ส. เท่านั้น และมีแนวโน้มว่า นายอภิสิทธิ์จะตัดสินใจแบบนี้สูง อาจมีบางคนเสนอว่า ยังมีทางเลือกอื่น ๆ อีก เช่นการงดออกเสียง หรือการไม่เข้าร่วมประชุม แต่ทางเลือกทั้งสองเป็นการเลี่ยงบาลีและเอาตัวรอดโดยปราศจากความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งเป็นทางเลือกที่นายอภิสิทธิ์คงไม่อยากกระทำเช่นกัน

หากนายอภิสิทธิ์ ลาออกจากการเป็น ส.ส. ก็ย่อมสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่านายอภิสิทธิ์เป็นบุคลากรที่สำคัญและมีคุณค่าต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างยิ่ง แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีความเป็นสถาบัน แต่การไม่มีนายอภิสิทธิ์เป็น ส.ส. จะทำให้พลังขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคลดลงเป็นอย่างมาก แนวโน้มการตัดสินใจลาออกของนายอภิสิทธิ์จึงเป็นปมปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ในการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล

ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ นอกจากมีปมปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยแล้ว ก็ยังมีปมปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่มีกลุ่มอำนาจหลักอยู่สามกลุ่ม คือกลุ่มนายอุตตมะ สาวนายน กลุ่มนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และกลุ่มสามมิตรของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ละกลุ่มก็มีพลังอำนาจต่อรองสูง การที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่พอใจย่อมสร้างผลกระทบต่อพรรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับการเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายอุตตมะกับนายณัฏฐพล เป็นตัวแทนของพรรค ทว่า อำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะจัดสรรกระทรวงใดให้พรรคใดบ้างมิได้อยู่กับตัวแทนในการเจรจา กลับต้องฟังเสียงของกลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ยิ่งกว่านั้น แม้ว่ากลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังเห็นด้วยกับข้อเสนอในการเจรจาแล้ว แต่หากกลุ่มสามมิตรไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนั้น เรื่องก็ยังไม่จบและนำไปสู่ปัญหาตามมา

การเจรจาระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์เกือบประสบความสำเร็จในช่วงเย็นของวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยข่าวที่ออกมาคือ ตัวแทนเจรจาของพรรคพลังประชารัฐยอมรับข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในเรื่องการสนับสนุน นายชวน หลีกภัย ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และการจัดสรรกระทรวงตามที่พรรค ปชป. ต้องการ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะว่ากลุ่มสามมิตรต้องการให้นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ของกลุ่มเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำของกลุ่มบางคนต้องการดูแลกระทรวงที่ผู้แทนเจรจามอบให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ อันได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์

เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ตัวแทนกลุ่มสามมิตรจึงเสนอให้เลื่อนญัติการเลือกประธานสภาผู้แทนออกไป มีการถกเถียงกันจนประธานที่ประชุมต้องสั่งพักการประชุมในตอนเช้า เพื่อเปิดโอกาสให้พูดคุยตกลงกัน ครั้นเมื่อถึงการประชุมตอนบ่ายกลับกลายเป็นว่า ฝ่ายที่เสนอให้เลื่อนญัตติการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรพ่ายแพ้อย่างหวุดหวิด แต่เป็นการพ่ายแพ้ที่มีการวางแผน และคาดว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนใจของกลุ่มสามมิตรในช่วงท้ายของการลงมติ โดยสมาชิกกลุ่มสามมิตรที่มีอักษร อ. นำหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลงมติเป็นบุคคลท้าย ๆ ได้ลงมติตรงข้ามข้อตกลงเดิม ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกประธานสภาฯ กลุ่มนี้กลับลงมติไม่เห็นด้วยกับการเลื่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการเจรจาต่อรองระหว่างพรรค พปชร. และ ปชป. เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้แต่ในช่วงการลงมติ

ในที่สุดก็มีการเลือกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคพลังประชารัฐก็สนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันในการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันถัดมา พรรคประชาธิปัตย์ก็สนับสนุน นายสุชาติ ตันเจริญ จากกลุ่มสามมิตรเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ดูเหมือนว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะได้ข้อสรุปแล้ว แต่เรื่องกลับยังไม่จบ เพราะว่าปมในเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรียังคงค้างคาอยู่ และทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีมติชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การประเมินว่าพรรคการเมืองใดจะยอมอ่อนข้อแก่พรรคใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า พรรคใดมีความปรารถนาเป็นรัฐบาลสูงกว่ากัน และพรรคใดมีทางเลือกมากกว่ากัน

หากพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า พรรค พปชร. มีความปรารถนาที่จะเป็นรัฐบาลสูงมาก และไม่ปรารถนาเป็นฝ่ายค้านอย่างยิ่ง ซึ่งแตกต่างจากพรรค ปชป. ที่พร้อมเป็นได้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล หากมองจากแง่มมุมนี้ โอกาสที่พรรค พปชร. จะยินยอมรับข้อเสนอของ พรรค ปชป. ก็มีสูง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ โอกาสที่ พรรค พปชร. จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไร้เสถียรภาพและอยู่ได้ไม่นานก็มีสูง

ที่แย่กว่านั้นสำหรับ พปชร. ก็คือ การถูกผลักให้กลายเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ พปชร. และกลุ่มอำนาจบางกลุ่มที่ครอบงำการเมืองอยู่ในปัจจุบันไม่ปรารถนาอย่างยิ่ง ทว่า เกมแห่งอำนาจเป็นสิ่งไม่แน่นอน สิ่งที่ไม่คาดว่าจะเกิด ก็อาจเกิดขึ้นได้ ขณะที่สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นของแน่นอน ก็อาจพลิกผันเป็นอีกแบบก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น