xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพี”ควบไฮสปีด-พัฒนาอู่ตะเภายังต้องลุ้นหนัก…หลังศาลยกคำร้องขอทุเลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.เห็นชอบผลการประมูล ร่วมลงทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.2 แสนล้าน สัมปทาน 50 ปี ของกลุ่มซีพี เตรียมเซ็นสัญญา 15 มิ.ย. นี้ ประเดิมโปรเจกต์แรกในอีอีซี แต่ส่อแววชวดร่วมประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หลังศาลปกครองยกคำขอทุเลาของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง ชี้คำสั่งบอร์ดคัดเลือกชอบด้วยกฎหมาย เหตุยื่นเอกสารช้ากว่ากำหนด ขณะที่ครม.เคาะรถไฟทางคู่สายใหม่"บ้านไผ่ -มุกดาหาร - นครพนม" 6.68 หมื่นล้าน รฟท.คาดเริ่มเวนคืนและประมูล 63 ก่อสร้าง 5 ปี เปิดใช้ปี 68

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (28 พ.ค.) ได้มีมติ อนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เสนอ เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544.36 ล้านบาท กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล หลังจากนี้ รฟท.จะลงนามสัญญากับกลุ่ม ซีพีต่อไป โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี

ซึ่งกลุ่มซีพี ได้ยื่นข้อเสนอด้านการเงินต่ำกว่าเงื่อนไขในทีโออาร์ ถือป็นโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการแรกที่ได้รับการอนุมัติผลการประมูล

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ครม.อนุมัติและเห็นชอบผลการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ชนะ

โดยเสนอขออุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุด 117,227 ล้านบาท และต่ำกว่า กรอบครม.อนุมัติลงทุนไว้ ที่ 119,425 ล้านบาท และเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ในวงเงิน 149,650 ล้านบาท

ทั้งนี้ รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน แก่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก ด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ตามเงื่อนไขในสัญญาร่วมลงทุน

โดยหลังจาก ครม.เห็นชอบสัญญาการร่วมลงทุนระหว่าง รฟท. กับกลุ่ม CPH เตรียมลงนามสัญญาวันที่ 15 มิ.ย.นี้ มั่นใจว่าการก่อสร้างโครงการจะเสร็จ และเปิดให้บริการปี 2567 โดยภาคเอกชนเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการบริหารโครงการในการจัดเก็บค่าโดยสาร ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี ทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านบาท โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ

*** ศาลปค.ยกคำขอทุเลาธนโฮลดิ้ง

ขณะที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอทุเลา การบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ในคดีที่ บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด (ซึ่งเป็นการลงทุนส่วนตัวของนายธนินท์ เจียรวนนท์ และเครือญาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีนายธนินท์ เป็นกรรมการบริษัท) บริษัทบี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทโอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1- 5 ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

กรณีมีมติไม่รับข้อเสนอในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 เนื่องจากเป็นเอกสารที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นข้อเสนอ จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ไม่รับซอง

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอ ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำขอของ 5 บริษัท เป็นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการทุเลาการบังคับได้เมื่อมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ประการ คือ 1. กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

3.การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ ตามมาตรา 66 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบข้อ 72 วรรคสาม ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

เมื่อในชั้นนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าคำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีก็ไม่จำต้องพิจารณาเงื่อนไขแห่งการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาประการอื่นอีกต่อไป เนื่องจากถึงอย่างไรก็ไม่ครบองค์ประกอบแห่งเงื่อนไขทั้ง 3 ประการที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการมีผลของคำสั่งไม่รับซองข้อเสนอบางส่วนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามหนังสือสำนักงานบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.182/2562ลงวันที่ 10 เมษายน 2562 ตามคำขอของ 5 บริษัท จึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของ 5 บริษัทดังกล่าว


*** ครม.เคาะทางคู่"บ้านไผ่-นครพนม"6.68 หมื่นล.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 28 พ.ค. ได้มี มติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) ซึ่งตามแผนงาน ของรฟท.ในปี 2562 จะดำเนินการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปี 2563 ประกวดราคา และก่อสร้างปี2563-2567 (ระยะเวลา 5 ปี) คาดว่าจะก่อสร้างเดือนมกราคม 2564 แล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2567 เปิดให้บริการประชาชนเดือนมกราคม 2568

ส่วนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งจะดำเนินการประมูลคู่ขนานและลงนามสัญญาผู้รับจ้างได้เมื่อ EIA อนุมัติแล้ว


***ครม.ตีกลับ"ไอซีดี ลาดกระบัง"

สำหรับการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ซึ่งรฟท.ได้สรุปผลการประมูล โดย กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ประกอบด้วย บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด เป็นผู้ไดรับการคัดเลือก และได้นำเสนอครม.นั้น

นายอาคมกล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังไม่พิจารณาอนุมัติ ผลการคัดเลือก และให้รฟท.กลับไปดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบตามขั้นตอนของกฎหมาย .


กำลังโหลดความคิดเห็น