xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยภายใต้ความเปราะบาง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ เป็นผลพวงมาจากความล้มเหลวของทั้งฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ และกลุ่มการเมืองคู่แข่ง ต่างฝ่ายก็กระทำสิ่งผิดพลาด และทำให้การเมืองไทยมีความเปราะบาง จนอาจพัฒนาไปสู่ความแตกหักและความขัดแย้งในอนาคตได้

แม้รัฐบาลคสช. บริหารประเทศเป็นเวลายาวนานถึง ๕ ปี แต่ก็ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งในกระบวนการบริหารและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ในกระบวนการบริหารนั้น รัฐบาลได้ตอกย้ำให้เห็นถึงการยึดติดอยู่กับระบบพวกพ้องนิยม การไม่ใส่ใจกับหลักของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หลายครั้งยังเห็นถึงการละเมิดหลักธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใสปิดบังข้อมูลข่าวสาร รวมศูนย์อำนาจและปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งยังมีการออกกฎหมายและนโยบายหลายประการที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและกลุ่มนายทุนผูกขาด เช่น กฎหมายและนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบริหารลักษณะนี้เรื่องแรกคือ การไม่สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาระบบและกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้แม้แต่น้อย องค์การที่รับผิดชอบกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีปัญหาทั่วทั้งองค์การก็ถูกทิ้งให้เป็นปัญหาของประเทศต่อไป โดยปราศจากการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ผลลัพธ์ลำดับถัดมาอีกหลายเรื่องที่ชวนหดหู่ได้แก่ การคงอยู่และขยายตัวของการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยงานของรัฐ การขยายตัวของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เกษตรกรและผู้ค้ารายย่อยส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง จนยากแก่การดำรงชีวิต หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคุณภาพการศึกษาก็ยังคงด้อยกว่านานาประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

ความล้มเหลวแทบทุกมิติทั้งการบริหารปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้รัฐบาล คสช.ไม่สามารถรักษาคะแนนนิยมที่เคยได้รับอย่างท่วมท้นในช่วงแรกของการเข้ามามีอำนาจได้ คะแนนนิยมถดถอยตามระยะเวลาของการบริหาร ดังนั้นเมื่อถึงวาระที่ต้องเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศให้มาจากการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนหัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จึงไม่สามารถโน้มน้าวจูงใจประชาชนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศให้สนับสนุนได้

แม้มีอำนาจรัฐและเงินทุนมหาศาลที่ใช้ในการเลือกตั้ง แต่พรรคพลังประชารัฐอันเป็นฐานการเมืองของหัวหน้า คสช. ก็ทำได้เพียงชนะเลือกตั้งเป็นลำดับ ๒ รองจากคู่แข่งหลักอย่างพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับ ๑ มิหน้ำซ้ำเสียงที่ได้รับเพิ่มขึ้นจนทำให้มีที่นั่งเป็นลำดับ ๒ นั้น มิได้มาจากความนิยมในตัวพรรคและหัวหน้า คสช. แต่อย่างใด หากมาจากความผิดพลาดและความอหังการของบุคคลระดับนำที่อยู่เบื้องหลังพรรคคู่แข่ง ที่มีการกระทำที่ล่วงล้ำขอบเขตแห่งจารีตประเพณีของสังคมไทย จนทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความโกรธเคือง ระคนความหวาดหวั่น จนต้องหันไปสนับสนุนพรรคที่มีหัวหน้า คสช. ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ผนวกกับความผิดพลาดในการวางกลยุทธ์ทางการเมืองของพรรคคู่แข่ง และการกระทำที่ไม่เหมาะสมของบุคคลระดับนำของพรรคคู่แข่ง ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด และสมการทางการเมืองมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการอุบัติของพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นตัวแทนความคิดของคนรุ่นใหม่และรุ่นเดิมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปริมาณของคนกลุ่มนี้มีมากอย่างมีนัยสำคัญทางการเมืองจนทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งเป็นลำดับ ๓

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยเป็นพรรคขนาดใหญ่และเป็นคู่แข่งหลักของพรรคเพื่อไทยมาก่อนก็ถดถอยลงเป็นพรรคขนาดกลางได้คะแนนเสียงเป็นลำดับ ๔ ขณะที่พรรคภูมิใจไทยที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นานก็ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจนเป็นพรรคลำดับ ๕ และมีจำนวน ส.ส.น้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์เพียง ๑ ที่นั่งเท่านั้น

หลังการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยพยายามรวบรวมพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจำนวน ส.ส. ที่รวบรวบรวมได้นั้นมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับเงื่อนไขที่ให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้โอกาสการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำมีน้อยอย่างยิ่ง

ต่อมาเมื่อตระหนักว่าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว พรรคอนาคตใหม่ก็ได้เสนอตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพยายามโน้มน้าวจูงใจให้พรรคการเมืองอื่นๆ มาร่วม ภายใต้คำขวัญ “การปิดสวิทซ์ ส.ว.” ซึ่งหมายถึงการรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกิน ๓๗๖ เสียง อันเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา หากทำเช่นนี้ได้ก็เท่ากับว่า ส.ส. เป็นผู้กำหนดตัวนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว. นั่นเอง แต่ดูเหมือนว่าทางพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยไม่ตอบสนองข้อเสนอนี้แต่อย่างใด

ในอีกด้านหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐก็ช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาล ความเป็นไปได้ของรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำปรากฎชัดขึ้นเมื่อ บรรดาพรรคเล็กๆ ที่มีจำนวน ส.ส. พรรคละ ๑ ที่นั่ง จำนวน ๑๑ พรรครวมกันสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อรวมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่สนับสนุนหัวหน้า คสช. อย่างเหนียวแน่นแล้ว ก็ทำให้จำนวน ส.ส.ที่มารวมกันมีประมาณ ๑๓๒ เสียง ซึ่งหากรวมกับเสียงของ ส.ว. อีก ๒๕๐ เสียง ก็เพียงพอที่จะกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีได้นั่นเอง และหมายความว่า โอกาสที่หัวหน้า คสช.จะได้รับเลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็มีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง

ทว่าเหตุการณ์ดูไม่ง่ายเหมือนอย่างที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐวาดเอาไว้ เพราะว่าในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นจำต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้นการดึงเอาพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์นั้นดูเหมือนมีความยุ่งยากไม่น้อยเพราะว่ามีความแตกแยกทางความคิดเป็น ๒ กลุ่มที่มีพลังอำนาจใกล้เคียงกัน ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลที่มีหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของหัวหน้าคสช.และมีจุดยืนของการเป็นฝ่ายค้านอิสระ

ในกรณีพรรคภูมิใจไทยนั้นความยุ่งยากเกิดจากการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีแบบกินรวบของพรรคพลังประชารัฐซึ่งพยายามยึดเอากระทรวงหลัก ๆ ที่มีทรัพยากรและบทบาทในการบริหารประเทศมากเอาไว้กับพรรคเช่น กลาโหม มหาดไทย คลัง คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ และพาณิชย์ ขณะที่จัดสรรกระทรวงขนาดกลางและมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศน้อยกว่าให้พรรคภูมิใจไทย ภายใต้แนวทางการจัดสรรตำแหน่งแบบนี้ทำให้พรรคภูมิใจไทยเกิดความลังเลในการเข้าร่วมรัฐบาล และทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐประสบกับความยุ่งยากมากขึ้น

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การนำเสนอทางเลือกที่สามในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา โดยมีพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเป็นแกนนำร่วมกัน ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองทั้งสองสามารถกำหนดและเลือกกระทรวงที่พวกเขาต้องการได้ แต่การกระทำเช่นนี้จะเป็นไปได้ใน ๒ กรณี กรณีแรกคือ ต้องนำพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่และกลุ่มพรรคเล็กของฝ่ายนี้มาเป็นพันธมิตร และต้องดึงเอาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อีกอย่างน้อย ๔๐ เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย กรณีที่สองคือ การนำพรรคพลังประชารัฐ พรรคเล็กอื่นๆ และอาจรวมถึงพรรคอนาคตใหม่มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่เอาพรรคเพื่อไทย แต่กระนั้นก็ยังต้องดึงเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อีกจำนวนหนึ่งด้วยในการเลือกนายกรัฐมนตรี สำหรับทางเลือกนี้นายกรัฐมนตรีอาจเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล คนใดคนหนึ่ง

สำหรับความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลทั้ง ๓ แนวทาง มีลำดับมากน้อยดังนี้ แนวทางที่มีความเป็นได้สูงที่สุดคือ รัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และมีหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่พรรคพลังประชารัฐคงต้องคลายกระทรวงใหญ่ที่มุ่งรวบเอาไว้ และจัดสรรส่วนหนึ่งให้พรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ กระนั้นก็ตามรัฐบาลใหม่ของหัวหน้าคสช. ก็มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งไม่มากนัก ซึ่งทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง และบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก แต่หากจะให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นก็ต้องใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและขัดแย้งกับบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตย โดยดึง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ และพรรคเล็กอื่นๆมาให้การสนับสนุนเป็นครั้งคราว ที่เรียกกันว่า “การสร้างงูเห่า” แต่ก็จะทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศลดลง

ความเป็นไปได้ลำดับถัดมาคือ การมีรัฐบาลผสม ที่มีพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำ และมีพรรคเล็ก ๆ มาผสมอีกหลายพรรค รวมทั้งหากสามารถนำพรรคพลังประชารัฐและอนาคตใหม่เข้ามาร่วมรัฐบาลได้ก็จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ หัวหน้าคสช.ต้องประกาศวางมือทางการเมือง รัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นตามแนวทางนี้จะสามารถบริหารประเทศไปได้ แต่ก็ไม่ง่ายเท่าไรนัก เพราะส่วนผสมของรัฐบาลมีพรรคการเมืองหลากหลายที่มีความคิดทางการเมืองบางอย่างแตกต่างกันมาก และยังต้องเผชิญกับการตรวจสอบและถ่วงดุลย์จากสมาชิกวุฒิสภาอย่างเข้มข้นอีกด้วย

สำหรับแนวทางสุดท้าย รัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยหรืออนาคตใหม่เป็นแกนนำมีความเป็นไปได้น้อยที่สุดในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยคงไม่เข้าร่วมในฐานะที่เป็นพรรคประกอบรัฐบาล และยากที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา แต่หากจัดตั้งได้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่จะเผชิญคือแรงต้านจาก ส.ว. และชนชั้นนำทางอำนาจที่เป็นคู่แข่งของพรรคทั้งสอง

ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าฝ่ายใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตาม การบริหารประเทศถัดไปจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะเผชิญหน้ากับ ความแตกแยกแบบขั้วตรงข้ามทางการเมือง ความคิดที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองของคนรุ่นใหม่ ปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมมาตลอดช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา การปะทุออกมาของความเดือดร้อนของประชาชนทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจขนาดย่อย และภาคแรงงาน และปัญหาอื่นๆที่ถูกกดทับโดยอำนาจเผด็จการอย่างยาวนาน รวมทั้งมรสุมจากสงครามการค้าระดับโลกระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน

กล่าวได้ว่าสังคมการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้มีความเปราะบางอย่างยิ่ง หากแต่ละฝ่ายไม่ลดละและปล่อยวางอำนาจ ผลประโยชน์ และการยึดติดกับความคิดและค่านิยมแบบสุดขั้วลงไปบ้าง ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น