xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แรงระเบิด Trade war จีน-สหรัฐฯ สะเทือนไทยสาหัส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 สี จิ้นผิง / โดนัลด์ ทรัมป์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สงครามการค้าสองมหาอำนาจ “สหรัฐฯ-จีน” สร้างความปั่นป่วนทั่วโลก ส่งผลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก ช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกลาญ แม้แต่ขุนพลเศรษฐกิจเบอร์หนึ่ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังยืดอกยอมรับผลกระทบสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในเวลานี้บวกกับการเมืองไทยที่ยังไม่นิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัว ดีหน่อยก็ตรงที่พื้นฐานยังแข็งแกร่งเพียงพอรับแรงกระแทกได้ระยะหนึ่ง ความหวังจึงอยู่ที่การเมืองหากเร่งมือให้เกิดความชัดเจนเร็ว ทุกอย่างก็จะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

ผลกระทบต่อไทยจะมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้งสอง แล้วภาคส่วนไหนบ้างที่ต้องกลืนเลือด ภาคส่วนไหนที่จะสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสได้บ้าง ต้องฟังจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาประเมิน รวมทั้งหน่วยงานสำคัญอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่ง ณ เวลานี้ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า Trade war ที่เดือดพล่านสร้างความปั่นป่วนทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกของไทยอยู่ในขั้นสาหัส!
แต่ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีที่คาดการณ์กันว่าสินค้าเกษตรบางตัว จะส่งออกได้มากขึ้น เกษตรกรและบรรดาเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร การแปรรูป ฯลฯ คงพอได้รับอานิสงค์ แต่นั่นเป็นการประเมินกันในเบื้องต้น ยังต้องรอการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดสินค้าในแต่ละหมวดอีกครั้งว่าจะเจอแจ๊คพอตมากน้อยเพียงใด
มหาศึกระเบิด สะเทือนทั้งโลก

จีนและสหรัฐฯเริ่มลุยสงครามการค้ากันเมื่อปีที่แล้ว ศึกการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจบานปลายยกระดับสูงขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2562 โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ จากที่เก็บเพิ่มในอัตรา 10% ไปแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้ขยับไปใช้อัตรา 25% ถัดมาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 พญามังกร แถลงมาตรการตอบโต้ทันควัน โดยขึ้นอัตราภาษีจาก 5 เปอร์เซ็นต์ ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ต่อสินค้าสหรัฐฯมูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กลุ่มสื่อจีนผนึกพลังปลุกระดม “จีนสู้ตาย” ในศึกการค้ากับพญาอินทรี
การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.3 ล้านล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ทันทีวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2562 โดยอัตราภาษีใหม่ที่จีนต้องแบกคือร้อยละ 25 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 10 ในสินค้ากว่า 5,700 รายการ นั้น เป็นไปตามคำขู่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทวีตข้อความก่อนหน้าว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน และไม่เพียงแต่สินค้ากว่า 5,700 รายการ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ทรัมป์ ยังพูดถึงการขึ้นภาษีนำเข้าอื่นๆ จากจีน มูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.04 ล้านล้านบาท เป็นร้อยละ 25 เช่นกัน เป็นสเตปต่อไป

ทรัมป์ อ้างเหตุผลในการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนว่า เป็นผลมาจากรัฐบาลจีนผิดสัญญาการเจรจาการค้าที่ให้ไว้ระหว่างเจรจากันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา “เรากำลังยืนอยู่ในจุดที่เราต้องการจะยืนกับจีน” ทรัมป์ ทวีตข้อความ “อย่าลืมว่าพวกเขาเป็นฝ่ายผิดสัญญากับเรา และพยายามขอเจรจาใหม่ เราจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรหลายแสนล้านดอลลาร์จากจีน” เป็นการย้ำของ ทรัมป์ ที่เริ่มประกาศสงครามการค้ากับจีนตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเรียกร้องให้ปักกิ่งยุติพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ เช่น การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ รวมถึงลดการได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลงด้วย

พญามังกร ตอบโต้พญาอินทรีทันควัน โดยรัฐบาลจีน แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พ.ค. 2562 ถึงแผนการที่จะจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5% จนถึง 25% จากผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ 5,140 รายการในบัญชีเป้าหมาย ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562 ถ้อยแถลงของปักกิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 2 ชั่วโมงหลังจาก ทรัมป์ เตือนผ่านทวิตเตอร์ ว่า “จีนไม่ควรที่จะตอบโต้แก้เผ็ด - มีแต่จะเกิดความเลวร้ายลงเท่านั้น” หลังจากฝ่ายจีนประกาศว่า “จะไม่มีทางยอมจำนนต่อแรงบีบคั้นจากภายนอก”

อีกวันถัดมา เช้าวันอังคารที่ 14 พ.ค. 2562 ผู้ส่งออกชาวจีนตื่นมารับข่าวร้ายซ้ำ เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เสนอ “รายการ 4” (List 4) ของกฎหมายมาตรา 301 ว่าด้วยอัตราภาษีศุลกากร ออกมาตอบโต้จีน ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนโดนเรียกเก็บอัตราภาษีเพิ่มถึง 25 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่าสูงสุดต่อปี เท่ากับ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยรายการสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมนี้ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มสินค้าประเภทยาเวชภัณฑ์ ปัจจัยการผลิตยา สินค้าการแพทย์บางตัว วัตถุดิบแร่หายาก

ทั้งนี้ ในแผนเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนฉบับเดิมนั้น ยังไม่มีรายการกลุ่มสินค้าประเภท สมาร์ทโฟน เสื้อผ้า ของเล่น และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพื่อปกป้องผู้บริโภคอเมริกันจากผลกระทบสงครามการค้ากับจีน แต่หาก ทรัมป์ ยังไม่ถอย ขยายรายการสินค้าที่จะเก็บภาษีอัตราใหม่โดยรวม List 4 จะทำให้ราคาสินค้าบริโภคในสหรัฐฯแพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาจมีการประชาพิจารณ์การเรียกเก็บอัตราภาษีศุลกากรใหม่กับกลุ่มสินค้ามูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย. 2562 เพื่อหยั่งเสียงชาวอเมริกันเกี่ยวกับการขึ้นภาษีสูงสุด 25% กับสินค้าจีนอีก 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครอบคลุมถึงโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์แลปท็อป แต่หากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังเดินหน้ากันต่อไป ก็จะมีการบังคับใช้อัตราภาษีกับสินค้าจีนที่เหลือทั้งหมดในราววันที่ 10 ก.ค. 2562



ทั้งนี้ ยังมีโอกาสที่สองฝ่ายจะพบปะเจรจากัน ตามที่ ทรัมป์ ทวิตเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.) แสดงความหวังจะได้พบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในซัมมิต G20 ที่โอซากา ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. 2562 แต่ยังไม่มีการยืนยันจากฝ่ายจีน
ขณะที่กลุ่มสื่อจีนพร้อมประสานเสียง “จีนสู้ตาย” ในศึกการค้ากับพญาอินทรี นับจากหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (พีเพิล เดลี) กระบอกเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งตีพิมพ์ในบทความฉบับวันจันทร์ (13 พ.ค.) ว่า ไม่ว่าใครก็ไม่ควรคาดหวังว่า จีนจะยอมกลืนกินผลไม้มีพิษที่บ่อนทำลายผลประโยชน์หลักของประเทศ และแม้ปักกิ่งเปิดกว้างในการหารือแต่จะไม่ยอมจำนนในประเด็นที่มีความสำคัญในด้านหลักการ

ส่วน โกลบัล ไทมส์ แท็บลอยด์ที่ตีพิมพ์โดยเหรินหมินรึเป้า ขานรับในบทบรรณาธิการฉบับวันจันทร์เช่นเดียวกันว่า จีนไม่มีเหตุผลที่จะเกรงกลัวสงครามการค้า และพร้อมปกป้องอธิปไตยและศักดิ์ศรี ตลอดจนถึงสิทธิ์ในการพัฒนาในระยะยาวของประชาชนเมื่อถูกข่มขู่ในเชิงยุทธศาสตร์

แต่ที่แชร์สนั่นโลกออนไลน์ของจีน เป็นคำปลุกระดมของ คัง ฮุย ผู้ประกาศข่าวค่ำช่วงไพรม์ไทม์ทางสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ซึ่งกล่าวในรายการที่ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.)ว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นสิ่งที่จีนไม่เคยพบเจอมาก่อนในประวัติศาสตร์ 5 พันปีของประเทศ จีนจะต่อสู้เพื่อโลกใหม่ ตามที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของจีนเปรียบดั่งทะเล ไม่ใช่บ่อน้ำเล็กๆ พายุฝนเพียงลูกเดียวสามารถทำลายบ่อน้ำได้แต่ไม่สามารถทำอะไรท้องทะเลได้ แม้พายุจะผ่านมาลูกแล้วลูกเล่า ทะเลก็ยังเป็นทะเล จีนได้ให้คำตอบกับสหรัฐฯ ไปแล้ว นั่นคือการเจรจา ประตูสำหรับการเจรจายังคงเปิดอยู่แต่จีนจะสู้ให้ถึงที่สุด

ด้านบทบรรณาธิการของซินหัวและพีเพิลส์เดลี ระบุว่า ในระหว่างที่สหรัฐฯ ต่อสู้เพื่อความโลภและยโสโอหัง จีนกำลังต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของตัวเอง สงครามการค้าเกิดจากบุคคลเพียงคนเดียวในสหรัฐฯ แต่กลับเป็นภัยคุกคามต่อชาวจีนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น สำหรับชาวจีนแล้วนี่จึงถือเป็นสงครามของประชาชนอย่างแท้จริง

ปฏิกิริยาลุกขึ้นสู้ของลูกหลานมังกร กลับคล้ายเรียกระเบิดลูกล่าสุดซึ่งทรัมป์ โยนเข้าใส่จีน เมื่อวันพุธที่ 15 พ.ค. 2562 ก็คือ การลงนามในคำสั่งพิเศษประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและห้ามบริษัททั้งหลายของอเมริกาใช้อุปกรณ์ โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ ที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือการพุ่งเป้าห้ามทำธุรกิจกับ “หัวเว่ย” บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน

คำสั่งพิเศษนี้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ ซึ่งมอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีในการควบคุมพาณิชย์ ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติที่คุกคามสหรัฐฯ โดยคำสั่งได้บัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล ในการร่างแผนเพื่อการบังคับใช้ภายใน 150 วัน

กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ออกมายืนยันว่า หัวเว่ยและบริษัทในเครือ 70 บริษัท ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำการค้าแล้ว หลัง ทรัมป์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป้าหมายโจมตีบริษัทโทรคมนาคมที่มีประเทศศัตรูเป็นเจ้าของ ซึ่งการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย จะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน มีความยากลำบากมากขึ้นในการสั่งซื้อชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากบริษัทสหรัฐ และขายสินค้าในสหรัฐด้วย

รอยเตอร์ รายงานว่า ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยตราหน้าหัวเว่ยว่าเป็น “ภัยคุกคาม” และเคลื่อนไหวล็อบบี้เหล่าชาติพันธมิตรไม่ให้ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ยในการวางโครงข่าย 5G โดยวอชิงตันเชื่อว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจถูกใช้สอดแนมแก่รัฐจีน แต่ทางหัวเว่ยยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และเมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา อัยการสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อหาบริษัทในเครือของหัวเว่ย 2 แห่งในรัฐวอชิงตัน กล่าวหาว่าสมคบคิดขโมยความลับทางการค้าของบริษัทโทรคมนาคม ที-โมไบล์ ของสหรัฐฯ และตั้งข้อหาหัวเว่ยและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ตามคำกล่าวหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

ส่งออกไทยหายวับนับแสนล้าน
ข่าวร้ายช็อกโลกกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนครั้งล่าสุดจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็นการตอบโต้มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้น น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า อาจทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปประเทศต่างๆ ในปีนี้ ลดลงถึง 5,600-6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1.79-2.14 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.2% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าไว้ที่ 2.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะลดลงนั้น จะครอบคลุมรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปประเทศต่างๆ ประมาณ 46% โดยคิดทั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีน การส่งออกสินค้าไทยไปจนและการส่งออกสินค้าไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนไปตลาดอื่น ทั้งไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยการส่งออกไปจีนและประเทศที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนจะลดลง แต่การส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มน้อยกว่าที่ส่งออกไปจีนและประเทศที่สาม บวกลบกันแล้วยังไงก็ลดลงอยู่ดี ส่วนจะลดลงเท่าไร กระทรวงพาณิชย์ คงต้องรอผลการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ อีกครั้ง

แต่ที่แน่ๆ คือ รองฯสมคิด สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ เชิญนักลงทุนและผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดมาหารือเป็นการด่วนแล้ว

ส่วนอีกด้านคือข่าวที่คาดว่าจะดีนั้นคือการประเมินเป็นรายสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ แล้ว พบว่า มีสินค้าไทยหลายตัวที่การส่งออกจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว แม้จะมีมูลค่าน้อยไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ แต่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน มีผลต่อรายได้ภาคเกษตรและผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก พาณิชย์จึงวางเป้าหมายเร่งผลักดันส่งออกให้มากขึ้น

ทั้งนี้ จีนกับสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย สองประเทศรวมกันมีสัดส่วนถึง 25% เท่ากับอาเซียน 10 ประเทศ ไทยจึงต้องแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าและรักษาสัดส่วนสินค้าไทยในตลาดทั้งสอง

ไม่แต่กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องทำงานหนักกับศึกการค้าครั้งใหญ่ของสองขั้วอำนาจ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็ส่งเสียงเตือนระวังพร้อมกับประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ชี้ว่า ความตึงเครียดสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนโดยรวมเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกเพราะจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ

หนึ่ง การชะลอตัวของการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงรวมทั้งไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สอง ด้านการค้า ผลกระทบจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีนและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกัน จะมีสินค้าที่ได้รับประโยชน์ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถส่งไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน และ สาม ด้านการลงทุน อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า

เรื่องที่แบงก์ชาติซีเรียสเตือนให้เฝ้าระวังให้ดี คือ การระบายสินค้าที่ส่งไปขายไม่ได้ในระหว่างคู่ค้าหลักเข้ามาทุ่มในตลาดประเทศที่สามอย่างไทย และควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน มิ.ย. นี้ต่อไป

ขณะที่ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างแน่นอน ซึ่งเดิมได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ 3.3-3.5% แต่เมื่อมีการปรับภาษีสินค้าจีน ก็จะส่งผลกระทบให้ GDP ของโลกจะเหลือเพียง 3% เท่านั้นผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลถึงไทยด้วย

นั่นคือ จากที่คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.2-4.6% ทำให้การส่งออกไทยหดตัวลงทันที 1% เนื่องจากการส่งออกของไทยไปจีน ในปีนี้ขยายตัวเพียง 0.5% จากปีที่แล้วขยายตัว 2.3% และการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 1% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.3% ในกรณีเลวร้าย การส่งออกไทยปีนี้ ขยายตัวเหลือ 0.5% หรือต่ำกว่า จะส่งผลให้จีดีพีของไทยเติบโตต่ำกว่า 3%

สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลไม้แห้ง, ผลิตภัณฑ์ไม้, มันสำปะหลัง, เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากกำลังซื้อของคนจีนจะลดลง ด้วยคำสั่งซื้อจากภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ต้องนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าส่งออกต่อไปสหรัฐฯลดน้อยลง

ปัจจุบันจีนกับสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย มีสัดส่วนการค้าทั้ง 2 ประเทศรวมกันถึง 25% ของมูลค่าการค้าไทยโดยรวม เมื่อจีนและสหรัฐเปิดสงครามการค้าระหว่างกัน สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯและจีนย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากภาวะสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่รุนแรงขึ้น คาดว่าจะกระทบการส่งออกของไทยในปี 2562 โตได้เพียง 2.5-3% จากปีก่อนซึ่งเดิม ส.อ.ท.คาดว่าจะโต 3-4% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตเพียง 3.5-3.6% จากที่เคยคาดไว้จะโต 3.7-3.8% และผลในแง่ลบที่ไทยต้องระวังคือสินค้าจีนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ไม่ได้ อาจเข้ามาตีตลาดในภูมิภาคอาเซียน แต่ในแง่บวกนักลงทุนจีนอาจย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังไทยแทนโดยเฉพาะในเขตอีอีซี

สำหรับการส่งออกของไทยนั้นส่วนหนึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของจีน โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีการส่งออกคิดเป็น 12% จากการส่งออกทั้งหมดโดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วน สินค้าปฐมภูมิเพื่อให้จีนไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป และส่วนหนึ่งส่งไปยังสหรัฐฯ เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มก็ย่อมกระทบไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ในแง่ผลบวกสหรัฐฯ เองอาจนำเข้าสินค้าจากไทยไปทดแทนสินค้าจีนเพิ่มขึ้นแต่เมื่อมองภาพรวมแล้วผลลบจะมีมากกว่า

สำหรับบทวิเคราะห์ของบล.กสิกรไทย ระบุว่า ในช่วง 1 เดือนที่รอผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง แม้ว่าในบางช่วงอาจจะฟื้นตัวขึ้นได้บ้างแต่เป็นไปด้วยความลำบาก เพราะปัจจัยลบที่กดดันตลาดยังไม่มีความชัดเจน และเชื่อว่าสหรัฐฯจะมีมาตรการตอบโต้จีนออกมาอีก เพราะไม่ต้องการให้จีนขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอันดับหนึ่ง ส่วนปัจจัยในประเทศ ยังต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มาช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกปีนี้ขยายตัวน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้า จึงต้องกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นหลัก

บล.ไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนระลอกใหม่ ว่า คําขู่ของทรัมป์ ที่จะขึ้นภาษีสินค้านําเข้าทั้งหมดจากจีนสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะออกมาตรการทางการค้าแบบตาต่อตาฟันต่อฟันอีกครั้ง โดยช่วงที่เกิดสงครามการค้าครั้งก่อนเมื่อกลางปี 2561 หุ้นไทยปรับตัวลง 8.6% ก่อนจะฟื้นตัวขึ้น

ส่วนครั้งนี้คาดว่าดัชนีอาจปรับตัวลง 3-4% บนสมมติฐานที่ว่าการขึ้นภาษีนำเข้าเกิดขึ้นชั่วคราว, สหรัฐฯ และจีนเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลไทยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเกิดกรณีเลวร้ายคือ สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% จากสินค้าจีนเพิ่มเติมอีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกินเวลายาว 1 ปี ตลาดหุ้นจะซึมยาว

รอติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลใหม่จะมีฝีมือในการรับแรงกระแทกจากมหาสงครามการค้าของสองมหาอำนาจสักเพียงใด ในสภาพการณ์ที่เห็นๆ กันอยู่ว่าขั้วรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำลำพังจะเอาตัวรอดจากศึกภายในก็ยังยากเย็น


กำลังโหลดความคิดเห็น