xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส.ว.ชุด “ผมเพื่อนตู่ ผมเพื่อนป้อม”ใช้งบ 1,300 ล้าน “คุ้มมั้ย” ถามใจคุณดู

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ฉับพลันที่ปรากฏรายชื่อ “สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)” จำนวน 250 ราย การตรวจสอบ “คอนเนกชัน” ของบุคคลเหล่านี้จากสังคมก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น และเมื่อผลปรากฏออกมาว่า “ใครเป็นใคร” คำถามที่ดังสะท้านแผ่นดินก็คือคุ้มหรือไม่กับงบประมาณที่ ใช้ในการดำเนินงานครั้งนี้

โดยเฉพาะงบ “1,300 ล้านบาท” ที่ใช้ในกระบวนการคัดเลือก “ส.ว.กลุ่มวิชาชีพ” ที่ดำเนินงานโดย “คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)” ก่อนที่จะส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จิ้มให้เหลือ 50 คน

ทั้งนี้ เพราะดูเหมือนว่า จะเต็มไปด้วยรายการ “ผมเพื่อนตู่ ผมเพื่อนป้อม ผมน้องตู่ ผมน้องป้อม” และอีกสารพัดรายการ “คุณขอมา” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “คนหน้าเดิมๆ” ไม่มี “คนหน้าใหม่” หรือ “คนรุ่นใหม่” กระทั่งมีเสียงแซวกันสนุกสนามว่า ช่างสอดรับกับสถานการณ์ของประเทศที่ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างพอดิบพอดี

ในจำนวน ส.ว.250 คน จำแนกคร่าวได้ว่า 101 รายคือนายพลทหารและตำรวจ โดยในจำนวนนี้เป็นโดยตำแหน่ง 6 รายตามที่กฎหมายกำหนดไว้คือ 1.พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. 2.พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. 3.พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. 4.พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. 5.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ 6.พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนที่เหลือก็ล้วนแล้วแต่เป็น “คนสนิท-พี่-น้องรัก-รวมถึงกลุ่มคนที่เคยทำงานให้กับ คสช.” แทบทั้งสิ้น เช่น อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ว.-สนช.-สปช.-สปท.-อดีตข้าราชการและ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มทุนต่างๆ

งานนี้ คนที่ตกเป็น “เป้า” มากที่สุดเห็นทีจะหนีไม่พ้น “ป๋าป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องเพราะได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้เป็น “ประธานคณะกรมการคัดเลือก ส.ว.” เพราะเมื่อกางรายชื่อแล้ว “เด็กในบ้าน” เข้าป้ายหลายคน เอาเฉพาะ “เพื่อน ตท.6” ก็ปาเข้าไป 6 คนแล้ว คือ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.ทสส. พล.อ.นพดล อินทปัญญา อดีต สนช. พลเอกจิรพงศ์ วรรณรัตน์ อดีตที่ปรึกษาพิเศษทบ.พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย อดีต รองผบ.สส. พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตปลัดกลาโหม

“ก็มีไม่กี่คน มีแค่นี้แหล่ะ ไม่มีแล้ว” พล.อ.ประวิตร ตอบคำถามเมื่อถูกซัก

ส่วน พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายนั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า “น้องชายผม ก็แค่คนเดียว”

อย่างไรก็ดี สำหรับ พล.อ.ไพโรจน์นั้น แม้จะเป็นเพื่อน ตท.6 ร่วมรุ่นกับ “บิ๊กป้อม” แต่เอาเข้าจริงก็ต้องบอกว่า ไม่ได้มาเพราะคอนเนกชันกับ พล.อ.ประวิตร ดังที่เจ้าตัวบอกว่า “ลูกน้องใคร อ่ะ” เนื่องเพราะ พล.อ.ไพโรจน์ได้ชื่อว่า เป็น “ ลูกป๋า” ที่เคยทำงาน และเป็นนายทหารติดตาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ตั้งแต่สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ “สายลุงตู่” ก็ถูกจับตามองไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “บิ๊กติ๊ก-พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” น้องชายที่ฝ่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์เข้ามาเป็น ส.ว.แบบไม่พลิกโผ รวมทั้ง พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คู่เขย พล.อ.ประยุทธ์ ที่สำคัญคือรายชื่อ ส.ว.ที่ปรากฏออกมานั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ต่างจากสภาผัวเมีย เพราะเต็มไปด้วย “พี่น้องผองเพื่อน” และคนเคยร่วมการงานกันมาแทบทั้งสิ้น

สำหรับกลุ่มบิ๊กทหารใกล้ชิด “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” มีจำนวน 23 รายนอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็ประกอบไปด้วย 1.พล.อ. กนิษฐ์ ชาญปรีชญา เตรียมทหารรุ่น 19 น้องรักสายทหารเสือราชินี 2.พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เตรียมทหารรุ่น 15 อดีตเสนาธิการทหารบก อดีต สนช. 3.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เตรียมทหารรุ่นที่ 12 เพื่อนรัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 4.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต ผบ.ทร. 5.พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง อดีต ผบ.ทอ.6.พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์ อดีต สนช. อดีตรอง ผบ.สส. น้องรัก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 7.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีต ผบ.สส. เตรียมทหารรุ่นที่ 12 เพื่อน พล.อ.ประยุทธ์ 8.พล.อ.อ.เอก ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต ผบ.ทอ. 9.พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เตรียมทหารรุ่น 17 อดีตรอง ผบ.ทบ. 10.พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เตรียมทหารรุ่น 12 อดีต ผบ.สส. 11.พล.อ.วลิต โรจนภักดี เตรียมทหารรุ่นที่ 15 อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก 12.พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เตรียมทหารรุ่นที่ 14 อดีต รมช.ศึกษาธิการ 13.พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เตรียมทหารรุ่นที่ 12 อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 14.พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. อดีต รมว.แรงงาน 15.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เตรียมทหารรุ่นที่ 12 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 16.พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เตรียมทหารรุ่น 15 อดีต รมว.พลังงาน อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 17.พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 18.พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ เตรียมทหารรุ่นที่ 18 อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม 19.พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) 20.พล.อ. สมหมาย เกาฏีระ เตรียมทหารรุ่น 15 อดีต ผบ.สส. 21.พล.อ.สสิน ทองภักดี เตรียมทหารรุ่น 17 อดีตรอง ผบ.ทบ.

ขณะที่ “กลุ่มอดีต ส.ว.-สนช.-สปช.-สปท.” ที่เคยร่วมงานกับ คสช.และถือเป็นหนึ่งใน “แม่น้ำ 5 สาย” ก็ได้รับเลือกเข้ามาจำนวนมาก ได้แก่ 1.พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร 2.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อดีต สนช. 3.นายกิตติ วะสีนนท์ อดีต สนช. อดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศ 4.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อดีต สนช. และอดีต ส.ว. 5.นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว. อดีต สปช.-สปท. 6.พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ อดีต สนช. 7.นายเจตน์ ศิรธรานนท์ อดีต สนช. อดีต ส.ว.
8.พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม อดีต สนช. อดีต ส.ว. น้องนายวิษณุ เครืองาม 9.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีต สนช. 10.นายตวง อันทะไชย อดีต สนช. อดีต ส.ว.

11.พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีต สปช. 12.นายธานี อ่อนละเอียด อดีต สนช. อดีต ส.ว. 13.พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีต สนช. อดีต ส.ว. 14.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อดีต สปช. 15.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต สปช. อดีต ผอ.นิติวิทยาศาสตร์ 16.นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สนช. 17.นายพีระศักดิ์ พอจิต อดีตรองประธาน สนช. คนที่ 2 อดีต ส.ว.อุตรดิตถ์ 18.นายมณเฑียร บุญตัน อดีต สนช. อดีต ส.ว. 19.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ อดีต สนช. อดีต ส.ว. 20.พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีต สนช. อดีต ส.ว.

21.พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีต สนช. อดีต ส.ว. 22.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต สนช. อดีต ส.ว. 23.นายวันชัย สอนศิริ อดีต สปช. อดีต ส.ว. 24.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีต สนช. 25. นายสม จาตุศรีพิทักษ์ อดีต สนช. อดีต ส.ว. พี่ชายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 26.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต สนช. อดีต ส.ว. 27.นายสมชาย แสวงการ อดีต สนช. อดีต ส.ว. 28.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธาน ส.ว. คนที่ 1 อดีตรองประธาน สนช. คนที่ 1 29.นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต สปช. อดีต สปท. 30.นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีต สนช. อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

31.นายชลิต แก้วจินดา อดีต สปท. 32.พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร อดีต สนช. 33.พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ อดีต สนช. 34.พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ อดีต สปท. อดีตรองประธานคณะทำงานประสาน 3 ฝ่าย (คสช.-สนช.-สปท.) 35.พล.อ.ดนัย มีชูเวท อดีต สนช. 36.ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีตประธาน สปท. 37.พล.ร.อ.นพดล โชคระดา อดีต สนช. 38.นางนิสดารก์ เวชยานนท์ อดีต สนช. 39.นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง อดีต สปช. อดีตประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ จ.ยะลา 40.นายบรรชา พงศ์อายุกูล อดีต ส.ว.พิจิตร

41.พล.อ.บุญธรรม โอริส อดีต สปท. 42.นายบุญส่ง ไข่เกษ อดีต ส.ว.ตราด 43.ร.อ. ประยุทธ เสาวคนธ์ อดีต สปท. 44.นางประยูร เหล่าสายเชื้อ อดีต ส.ว.ยโสธร 45.นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ อดีต สนช. 46.พล.อ.โปฎก บุนนาค อดีต สนช. 47.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ อดีต สปช. 48.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีต สนช. 49.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีต สนช. 50.นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ อดีต ส.ว.

51.นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง อดีต ส.ว. 52.นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา อดีต สปช. 53.พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ อดีต สนช. 54.พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ อดีต สนช. 55.พล.อ.วสันต์ สุริยมงคล อดีต สนช. 56.พล.อ.วัฒนา สรรพานิช อดีต สนช. อดีต ส.ว.กาญจนบุรี 57.พล.อ.วินัย สร้างสุขดี อดีต สนช. 58.นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน อดีต สปช. 59.พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง อดีต สนช. 60.พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ อดีต สนช.

61.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีต สปช. อดีตประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 62.นายสมเดช นิลพันธุ์ อดีต สปช. อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 63.นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ อดีต สนช. อดีต ส.ว. 64.พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร อดีต สนช. 65.พล.อ.อ.สุจินต์ แช่มช้อย อดีต ส.ว.สุราษฎร์ธานี 66.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ อดีต ส.ว.ปราจีนบุรี 67.นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีต สนช. 68.นายอมร นิลเปรม อดีต ส.ว.อุบลราชธานี 69.พล.ท.อำพน ชูประทุม อดีต สนช. 70.พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีต สนช. 71.นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน อดีต สนช.

นอกจากนี้ ยังมี “นักการเมือง และเครือญาตินักการเมือง” โดยเฉพาะพลังประชารัฐ อีกไม่น้อยที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.อย่าง นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล น้องชาย นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ นางจิรดา สงฆ์ประชา พี่สาว นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท พลังประชารัฐ นายอมร นิลเปรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคพลังประชารัฐ นายอุปกิต ปาจรียางกูร สามีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ น.ส.วิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ น้องสาวภรรยานายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ นายอมร นิลเปรม ผู้สมัคร อดีต ส.ว.อุบลราชธานี เครือญาติกับนายอดุลย์ นิลเปรม ผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงนายบุญส่ง ไข่เกษ อดีต ส.ส.ตราด ประชาธิปัตย์ นายสุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ เป็นต้น

นี่ไม่นับรวมถึง “อดีตรัฐมนตรี-ผู้ช่วย-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง”ที่เข้ามาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อาทิ 1. นางจินตนา ชัยยวรรณาการ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม 3.นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ 4.หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 5.นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อดีต รมช.คลัง 6.นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 7.นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีต รมช.ต่างประเทศ 8.นายสุธี มากบุญ อดีต รมช.มหาดไทย 9.นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ อดีต รมว.ยุติธรรม อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 10.นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีต รมว.พาณิชย์

11.ว่าที่ร้อยตรี เชิดศักดิ์ จำปาเทศ อดีตที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม 12.นายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ 13.พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) 14.นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง 15.นายลักษณ์ วจนานวัช อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ 16.นายวิทยา ผิวผ่อง อดีตกรรมการ ผช.รมว.เกษตรและสหกรณ์ อดีต สนช. 17.นายสมชาย หาญหิรัญ อดีต รมว.อุตสาหกรรม 18.นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตประธานที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (นายสมคิด) 19.นายอุดม คชินทร อดีต รมช.ศึกษาธิการ

และสุดท้าย กลุ่มทุน 14 ราย 1.นายกษิดิศ อาชวุณ ผู้บริหารกลุ่มซัมมิท อดีตตัวแทนนายกรัฐมนตรีเจรจา 3 จังหวัดชายแดนใต้ 2.นายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ รองประธานหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา 3.นายกูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา ประธานกรรมการบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4.นายเจน นำชัยศิริ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 5.นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 6.นายชยุต สืบตระกูล อดีตกรรมการบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 7.นางประภาศรี สุฉันทบุตร ประธานหอการค้า จ.ยโสธร 8.นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย 9. นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา บุตรคนที่ 5 ของนายเทียม โชควัฒนา เจ้าของอาณาจักรเครือสหพัฒน์ 10.นายสาธิต เหล่าสุวรรณ อดีตหอการค้าจังหวัดชัยนาท

11.นายสุวรรณ เลิศปัญญาโรจน์ ประธานกรรมการ บริษัท แกรนด์ ยูนิแลนด์ จำกัด 12.นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ กรรมการบริหารบริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด อดีต สนช. 13.นายอนุมัติ อาหมัด นักธุรกิจชื่อดังภาคใต้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะดามี่ จำกัด อดีต สนช. 14.นายอุปกิต ปาจรียางกูร นักธุรกิจ อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ดี ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรต่างก็ชี้แจงไปในทิศทางๆเดียวกันว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดย “ลุงตู่” บอกว่า “อยาก ให้ลองไปเปรียบเทียบดูว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา ออกกฎหมายได้กว่า 500 ฉบับ แต่สมัยก่อนออกได้กี่ฉบับ จะไปเปรียบเทียบกันไม่ได้” ขณะที่ “ลุงป้อม” พูดถึงกรณีที่ สว.ส่วนใหญ่ ที่เป็นนายพล ทหาร และตำรวจ ถึง 101 คนว่า “ทำไงได้ แต่ ที่ผ่านมาเขาเป็น สนช.และสปท. ได้มีการออกกฎหมายมาหลายร้อย ฉบับ และเชื่อว่าทุกคนสามารถทำงานได้ ไม่เป็นไร”

แต่ก็อย่างว่า เพื่อความมั่นใจในการเลือก “นายกรัฐมนตรี” และจัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็คงไม่ได้ แม้ก่อนหน้านี้จะเคยประกาศเอาไว้ว่าจะมีสัดส่วนของทหารและตำรวจไม่มากก็ตาม

ส่วนเรื่องงบประมาณ 1,300 ล้านบาทก็กลายเป็นประเด็น “ดรามา” วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกสนานว่า ทำไมถึงได้มากมายขนาดนั้น เพราะตรวจดูรายชื่อ ส.ว.แล้วก็ไม่ได้เห็นว่าจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญคือใช้เลือก ส.ว.เพียงแค่ 50 คนเท่านั้น ซึ่งเฉลี่ยแล้ว ส.ว. 1 คนใช้งบประมาณถึง 26 ล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ระบบ ส.ว.สรรหาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้แบ่งออกเป็น 33 ส่วน ส่วนแรกคือ กกต.จัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และประดับประเทศ จาก 10 กลุ่มอาชีพ จากนั้นคัดให้เหลือ 200 คน เสนอรายชื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกเหลือ 50 คน ขึ้นบัญชีสำรองอีก 50 คน หรือที่เรียกว่า “ส.ว.กลุ่มวิชาชาชีพ” ซึ่งงบประมาณ 1,300 ล้านบาทนำมาใช้ในกระบวนการนี้ ส่วนที่สองคือคณะกรรมการสรรหาที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. สรรหา ส.ว. 400 รายชื่อ และเสนอให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 194 คน และส่วนที่สาม คือ ส.ว. ที่เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.เคยอธิบายเอาไว้ว่า ไม่อยากให้มองว่าเลือกได้ ส.ว.แค่ 50 คน แต่ใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท แล้วจะไม่คุ้มค่า เพราะเสียง ส.ว.หนึ่งเสียงมีความหมายในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ขณะที่หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนัก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีและ “ว่าที่รองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลหน้า” ชี้แจงว่า เป็นการใช้ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ต้องหาคนเป็นพันเป็นหมื่นตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด อีกทั้งต้องเช่าสถานที่ แต่ส่วน ส.ว.194 คนนั้น เข้าใจว่าใช้งบประมาณเพียงไม่กี่พันบาทเท่านั้น เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้มีเบี้ยประชุมและถ้าจะมีค่าใช้จ่าย ก็เป็นแค่เรื่องเอกสาร

....ดังนั้น จึงต้องถามใจประชาชนดูว่า เห็นรายชื่อ ส.ว.แล้ว “โอเคมั้ยคะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น