xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สถาปนา “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” วาระมหามงคลแห่งราชอาณาจักรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔-๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ไทยโดยสมบูรณ์ ตามโบราณราชประเพณี อันนำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดียิ่งของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

และถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของราชอาณาจักรไทยที่ต้องจารึกเอาไว้ในรอบ ๖๙ ปีหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ในช่วงระหว่างวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีสุทิดา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ถวายราชสักการะพระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่สะพานพุทธ และพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระลานพระราชวังดุสิต เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 
ทั้งนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เป็นพระราชพิธีสำคัญและมิได้มีเห็นบ่อยครั้งนัก และคงสามารถกล่าวได้ว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศจะได้สัมผัสกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

โดยรายละเอียด ขั้นตอน สถานที่ ตลอดรวมถึงเครื่องประกอบในการพระราชพิธีล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาและความหมายอันลึกซึ้ง สง่างาม สะท้อนถึงคติความเชื่อในสังคม แสดงถึงการเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ของปวงชนชาวไทย และเป็นพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องกระทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ ดังความใน “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า

“...ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำรามาแต่โบราณว่าพระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาท เมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขาน ก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป...”

๘ ขั้นตอนสำคัญแห่งพระราชพิธี
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ หัวใจหลักอยู่ที่ 3 พิธีสำคัญคือ หนึ่ง-พิธีสรงมุรธาภิเษก สอง-ถวายน้ำอภิเษก และสาม-การสวมมงกุฎ ซึ่งเมื่อเสร็จทั้ง 3 พิธีสำคัญแล้ว ปวงชนชาวไทยจะขานพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ขณะที่คำรับสั่งจะเปลี่ยนจาก “พระราชโองการ” เป็น “พระบรมราชโองการ” ส่วนคำกราบบังคมทูลเปลี่ยนจากคำว่า “ขอพระราชทานกราบบังคมทูล พระกรุณาทรงทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เป็น “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท

กล่าวสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงด้วยกันคือ พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีเบื้องกลางและพระราชพิธีเบื้องปลาย โดยมี ๘ ขั้นตอนสำคัญ ประกอบด้วย
  เครื่องราชกกุธภัณฑ์
๑. พิธีทำน้ำอภิเษก
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน ๑๐๗ แห่งตามโบราณราชประเพณีและทำพิธีพร้อมกันในวันที่๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด๗๖แห่งในวันที่๘เมษายนและเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่๙เมษายนจากนั้นทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดมาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษกประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร(จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง) ในวันที่๑๘ เมษายน และแห่เชิญน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัดรวมทั้งน้ำเบญจสุทธคงคา(แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี) และน้ำจากสระ ๔ สระ (สระแก้ว สระเกษ สระคา สระยมนาในจังหวัดสุพรรณบุรี) จากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่๑๙ เมษายน เพื่อพราหมณ์ประกอบพิธี

๒. การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร
วันที่ ๒๒ และ ๒๓ เมษายน พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ตลอดจนจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๓. ถวายราชสักการะสมเด็จพระบรมราชบุพการี
วันที่ ๒ พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๕ ณ พระลานพระราชวังดุสิตจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะปฐมบรมราชานุสรณ์ ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จฯ ไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์

๔. การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๓ พฤษภาคม พิธีแห่เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทูลเกล้าฯถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงนมัสการพระรัตนตรัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายบังคมพระบรมอัฐิพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร

ได้เวลามหามงคลฤกษ์ จุดเทียนชัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

๕.บรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร
วันที่ ๔ พฤษภาคม ทรงสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยน้ำสรงพระมุรธาภิเษกเป็นน้ำจากเบญจสุทธคงคา น้ำจากสระ ๔ สระที่จังหวัดสุพรรณบุรีและทรงรับน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนตร์ตามลำดับ
 เครื่องราชูปโภค พระแสงตรี พระแสงจักร พระแสงดาบ พระแสงธนู วาลวิชนี และฉลองพระบาท (ภาพจาก หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)
ทรงรับน้ำอภิเษก ซึ่งเป็นน้ำจากทุกจังหวัดที่ประกอบพิธีแล้ว ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ จากนั้นทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยเครื่องราชกกุธภัณฑ์เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์และพระแสงราชศัสตราวุธ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ

เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์คณะองคมนตรีคณะรัฐมนตรีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก

เสด็จฯไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร และเสด็จฯไปถวายบังคมพระบรมอัฐิพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

๖.พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตรา ทางสถลมารค
      เหรียญเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ แสตมป์และเข็มกลัดที่ระลึก
  ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๕ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยพระนามาภิไธยและสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร

๗.เสด็จออกทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล
วันที่ ๖ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้นำศาสนาและผู้แทนคณะพาณิชย์เฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จออก ณ สีหบัญชร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออกให้คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

๘.เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในปลายเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีสุทิดา
ในการพระราชพิธีครั้งนี้ ปวงชนชาวไทยได้รับข่าวอันเป็น “มหามงคล” ครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนา “สมเด็จพระราชินีสุทิดา”
 
กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ออก ณ ห้อง ว.ป.ร. พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ในการสถาปนาสมเด็จพระราชินี

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อารักษ์อ่านประกาศสถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เป็นสมเด็จพระราชินี ความว่า ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระราชโองการให้สถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

จากนั้น พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม และทรงเจิมสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๑o ชั้นที่ ๑ และพระราชโองการสถาปนาแก่สมเด็จพระราชินีสุทิดา

จากนั้น ผู้อำนวยการเขตดุสิต เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงพระนามาภิไธย ในฐานะทรงเป็นสักขีพยาน และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยาน ต่อจากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทูลเกล้าฯ ถวายทะเบียนราชาภิเษกสมรสแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระราชินี

...พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับเป็นพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นราชอาณาจักรไทยที่สืบเนื่องมายาวนาน เฉกเช่นเดียวกับการสถาปนาสมเด็จพระราชินีสุทิดาฯ ที่นำมาซึ่งความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทยใต้ร่มพระบารมีอย่างหาที่สุดมิได้

ทรงพระเจริญ.