xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องลึกขบวนการบัตร Fast Track “ใคร” คือ “ไอ้โม่ง” ตัวจริง??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องถือเป็นเรื่องราวที่ถูกจับตามองเป็น “พิเศษ” ทีเดียวสำหรับ “ขบวนการบัตร Fast Track” ว่า จะลงเอยอย่างไร จะมีการขยายผลสืบเนื่องลงไปถึง “ไอ้โม่ง” ที่ได้รับ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ประเภท “พี่ไม่ต้องเดี๋ยวน้องจัดให้” หรือไม่ เพราะถ้าจะว่าไป “รายได้” จากการขายบัตร Fast Track น่าจะมีจำนวนไม่น้อย และเรื่องแบบนี้ ไม่มีทางที่จะทำตามลำพังได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ปัญหาบัตร Fast Track หรือบัตร Premium Lane ผ่านช่องทาง Priority Lane ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตกเป็นข่าวครึกโครมในช่วงกลางปี 2561 เนื่องจากพบว่า มีขบวนการหาผลประโยชน์จากการขายบัตร Premium Lane ให้แก่ผู้โดยสารทั่วไป ผ่านทัวร์ และบริษัทนายหน้า ราคาขั้นต่ำ 200 บาทต่อใบ ไปจนถึง 900-1,000 บาทต่อใบต่อคน ซึ่งผิดระเบียบหลักเกณฑ์ที่ให้จัดทำช่องทาง Priority Lane ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารกรณีพิเศษตามกฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ทูต ลูกเรือ ผู้พิการ ส่วนสายการบินที่ต้องการบริการ ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง หรือชั้นธุรกิจ จ่ายค่าบริการที่ 20 บาทต่อใบ

อย่างไรก็ดี ในขณะนั้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เคยยืนยันว่าการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามมาตรฐาน เข้มงวดในการตรวจสอบผู้ถือบัตร Premium Lane โดยประสานงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการดำเนินธุรกิจการบินประเทศไทย (AOC) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไม่ให้มีการใช้บัตรผิดประเภทโดยมิชอบ

ฟังตามที่ พันตรี กมล วงศ์สมบุญ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายบำรุงรักษา) เน้นย้ำในการชี้แจงคราวก่อน ก็คือว่า ช่องทาง Priority Lane นั้น จัดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารผู้ใช้บริการที่เป็นบุคคลต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษตามกฎหมาย ซึ่ง มี 2 ช่องทาง โซน 2 และ 3 ชั้น 4 และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบ ซึ่งผู้โดยสารที่สามารถผ่านช่องทางนี้ได้จะต้องมีหนังสือเดินทาง บัตรโดยสารชั้นหนึ่งหรือชั้นธุรกิจ และบัตร Premium Lane ที่ต้องมีเที่ยวบิน และชื่อผู้โดยสารในบัตรที่นั่งตรงกับหนังสือเดินทาง

ที่ผ่านมา ทอท. คณะกรรมการดำเนินธุรกิจการบินประเทศไทย (AOC) และกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้มีข้อตกลงร่วมกันตามคำร้องขออำนวยความสะดวกจาก AOC โดยอนุญาตให้บริการบัตร Premium Lane สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจที่สามารถผ่านช่องทางตรวจหนังสือเดินทาง (Priority Lane) ได้ โดยให้ AOC เป็นผู้ดำเนินการจัดทำบัตรดังกล่าว ซึ่ง AOC ได้หาบริษัทเอกชนมารับทำบัตร Priority Pass และบริษัทเอกชนดังกล่าวจะเรียกเก็บเงินจากสายการบินตอนสิ้นเดือนตามจำนวนที่แต่ละสายการบินใช้ไปในแต่ละเดือน

และทอท. มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยจะเข้มงวดในการตรวจสอบผู้ที่เข้าใช้ช่องทาง (Priority Lane) รวมถึงผู้ถือบัตร Premium Lane ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, AOC และ ตม.มีการประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาการใช้บัตรผิดประเภทโดยมิชอบ ซึ่งหากตรวจพบการใช้บัตร Premium Lane ที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดี ตามการชี้แจงของ ทอท. บ่งบอกเป็นนัยและตอกย้ำว่า มีการใช้บัตร Premium Lane ที่ไม่ถูกต้องจริง และเป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว การชี้แจงว่าจะแก้ไขแท้จริงก็เป็นแต่เพียงลมๆ มิหนำซ้ำ เพราะในเวลาต่อมาพบว่า ขบวนการบัตร Fast Track สุวรรณภูมิ ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พอเรื่องซา การแสวงหาประโยชน์จากบัตร Fast Track ก็กลับมาเหมือนเดิม และการฟื้นคืนชีพคราวนี้ กลับมาแบบโจ่งครึ่มกันเลยทีเดียว

เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อช่วงต้นปี 2562 “บิ๊ก สตม.” ได้เรียกประชุม ผู้แทน ทอท., AOC และ บริษัท VFS Global Group จำกัด ซึ่ง ตม.ระบุว่าเป็นบริษัทที่ได้คัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นผู้จำหน่ายบัตร Fast Track ที่จะนำมาให้บริการรูปแบบใหม่ โดยจะขายให้สายการบินในราคา 35 บาท สำหรับให้ผู้โดยสารใช้บริการช่องทาง Priority Lane ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภายใต้โครงการ Fast Track Lane เบื้องต้น บริษัท VFS ได้จัดพิมพ์บัตร Fast Track จำนวน 120,000 ใบ และจะเพิ่มเป็น 150,000 ใบ/เดือน ในช่วงฤดูท่องเที่ยว คิดเป็นรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท/เดือน

แน่นอนข้อสงสัยที่ผู้คนถามถามไถ่กันมากมาย อาทิ การที่ ตม.จ้างบริษัทเอกชนพิมพ์บัตรและเรียกเก็บจากสายการบิน 35 บาท/ใบ ตม.ใช้อำนาจหรือกฎหมายใดมารองรับการทำเช่นนี้ ส่วนราคา 35 บาท มีพื้นฐานต้นทุนอย่างไร? ขณะที่บริษัท VFS GLOBAL ไม่ได้เป็นคู่สัญญาในการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์กับ ทอท. เหตุใดสามารถเช่าพื้นที่เป็นสำนักงานกับ สุวรรณภูมิได้

เพราะต้องไม่ลืมว่า สนามบินสุวรรณภูมิเป็นที่ราชพัสดุ ไม่สามารถให้เอกชนเข้ามาดำเนินการหาผลประโยชน์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ทอท.

และเป็นที่น่าสังเกตว่าพนักงานของบริษัทดังกล่าวมีบัตรผ่านเข้าออกพื้นที่หวงห้ามของสนามบินได้อย่างไร และ ทอท.ออกให้โดยเงื่อนไขใด อีกทั้งยังพบมีการขายบัตร Fast Track กันอย่างกว้างขวางทั่วไป และจากบริษัททัวร์ ราคาตั้งแต่ 300-500 บาท ผู้โดยสารจ่ายเพิ่มสามารถเดินผ่านเข้าช่องทาง Priority Lane ได้สะดวก

สำหรับการให้บริการผู้โดยสาร ตามหลักเกณฑ์ AOC ได้ตกลงกับ ทอท.ในการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารชั้น 1 และชั้นธุรกิจผ่านช่องทาง Priority Lane โดย AOC ได้จ้างเอกชนรายหนึ่งผลิตบัตรบัตร Premium Lane และขายให้สายการบินประมาณ 18 บาท/ใบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเท่านั้น โดย AOC ยังจัดหาอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ ตม.อีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว AOC และสายการบิน มีหน้าที่ดูแลผู้โดยสาร โดยมี ตม.ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการเป็นผู้สนับสนุน แต่การที่ ตม.เข้ามาดำเนินการเองนั้นผิดบทบาทหน้าที่หรือไม่ และรายได้ที่เกิดขึ้นมีการจัดส่งเข้าคลังหรือไม่ ล้วนเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างชัดเจนจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

ไม่เพียงแต่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ทาง ตม.และ ทอท. ยังได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่ของสนามดอนเมือง โดยต้องการนำรูปแบบบริการบัตร Fast Track มาใช้ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งมีแต่สายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ ไม่มีผู้โดยสารชั้น 1 และชั้นธุรกิจ ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการทำโครงการ Fast Track Lane ที่ส่อเจตนาไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสายการบิน และพนักงาน ทอท. ต้องการให้มีการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว โดยเห็นว่าทั้ง ตม.และทอท. ควรร่วมมือกันในการปรับปรุงบริการเพื่ออำนายความสะดวกกับผู้ใช้บริการสนามบิน โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจนกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการมองหาแต่ช่องทางแสวงประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ

คำถามก็คือ ทอท.จะจัดการเรื่องนี้อย่างไรกับขบวนการทำมาหากินในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง จะมีการตรวจสอบและดำเนินคดีหรือไม่ และถ้าดำเนินคดีแล้วก็คงต้องสาวลงไปให้ลึกว่า มีการส่งผ่านค่าน้ำร้อนน้ำชานี้ไปถึง “ไอ้โม่ง” ตัวการใหญ่ ที่อยู่เบื้องหลังด้วย “จะเป็นพระคุณยิ่ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น