xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คุก 3 ปี คดีสั่ง Exim Bank ปล่อยกู้ 4 พันล้านเอื้อ “ชินแซท” ถามว่า “ทักษิณ” กลัวมั้ย??!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แล้วยังไง??!!!

จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม??!!

คำตอบในเรื่องนี้คงไม่สลับซับซ้อนอะไรสำหรับผู้ชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดีสั่งการให้ “ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย” หรือ Exim Bank อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

เพราะถึงอย่างไร นายทักษิณก็คงไม่กลับมารับโทษตามคำพิพากษา และยังคงชีวิตเป็น “มหาเศรษฐีสัมภเวสี” เร่ร่อนอย่างมีความสุขในต่างประเทศ พร้อมกับ “น้องสาวคนสวย-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่หลบหนีคดีทุจริตรับจำนำข้าว

ไม่ได้เดือดได้ร้อน หรือทำให้จิตตกแต่อย่างใด เนื่องเพราะตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานับจากเขาหนีคดีทุจริตที่ดินรัชดาจนถึงวันนี้ ก็ยังมองไม่เห็นวี่แววว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีปัญญาไปลากคอนายทักษิณมาเข้าคุกเข้าตะรางได้อย่างไร โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)

แต่จะอย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การตอกย้ำให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า นายทักษิณนั้นทำผิดคิดร้ายต่อชาติบ้านเมือง พร้อมแสวงหาผลประโยชน์เข้าสู่กระเป๋าตัวเองและวงศ์วานว่านเครือในต่างกรรมต่างวาระมากมาย

กล่าวสำหรับคดีนี้เป็นผลมาจากการที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแห่งรัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลย กรณีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของ “บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

พูดง่ายๆ คือใช้ความเป็นนายกฯ บีบเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้บริษัทของตัวเองแบบไร้ยางอาย ซึ่งศาลก็ได้มีพิพากษาออกมาขัดเจนว่า นายทักษิณมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี

และประเด็นใหญ่ก็คือ การคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ ทำให้รัฐบาลไทยต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้แก่เอ็กซิมแบงก์ ในระยะเวลา 12 ปี เป็นเงินรวมทั้งสิ้นมากถึง 670,436,201.25 ล้านบาท

และนี่คือการทุจริตเชิงนโยบายที่ชัดเจน

ที่น่าสนใจก็คือ หลักฐานสำคัญที่คตส.ใช้ในการไต่สวนคดีนี้ คือ เอกสารของ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้นทำถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแจ้งความเห็นประกอบวาระเพื่อพิจารณาจร เรื่องที่ 2 ในที่ประชุม ครม. เรื่องขอรับการสนับสนุนการให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลพม่า ระบุเลขที่ กต 1303/488 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 แจ้งว่า “กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องขอรับการสนับสนุนการให้เงินกู้แก่ทางการพม่า ครม.จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2547...”

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวมีที่มาที่ไปจากการประชุมผู้นำ 4 ประเทศคือ ลาว พม่า กัมพูชา และไทย ที่เมืองพุกาม สหภาพเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2546 นั้น ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกัน 5 ด้านได้แก่ ด้านการค้าและการลงทุน ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ด้านการเชื่อมเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค ด้านการท่องเที่ยว และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ขณะที่ความร่วมมือด้านโทรคมนาคมกับพม่านั้น มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เนื่องด้วยเป็นที่รับรู้กันว่านายทักษิณเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ อันอาจจะนำไปสู่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้องได้ โดยผู้ที่แสดงความคิดเห็นค้านก็คือ ดร.สุรเกียรติที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

ทว่า ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ โดยหลังจากนั้นไม่นาน ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อมีการขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 ล้านบาทเป็น 4,000 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติพม่าได้มีหนังสือขอกู้เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมรวม 3 โครงการเป็นเงิน 962 ล้านบาท ซึ่งมีการระบุผู้ขายสินค้าและบริการอย่างชัดเจนว่า คือ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)

จากนั้นกระทรวงต่างประเทศสหภาพพม่าได้มีหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 เป็น 5,000 ล้านบาท และนายทักษิณ ได้สั่งการให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศทำหนังสือตอบทางพม่าโดยให้กู้เพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาทเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 และพร้อมจะอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยบางส่วนที่พม่าต้องจ่ายตามข้อเสนอของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

กรณีดังกล่าว ทำให้เอ็กซิมแบงก์ขาดทุนและต้องขอให้รัฐบาลชดเชยตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 ตลอดอายุสัญญากู้ 12 ปี เป็นเงิน 670,436,201.25 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องชดเชย

ให้แก่ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ด้วยงบประมาณแผ่นดินด้วยเงินภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ขณะที่ ในการสอบสวนคดีของ คตส. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พบว่า นายทักษิณในขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของ ธสน.ได้เจรจาอย่างไม่เป็นทางการ และให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีพม่า และพลจัตวา เจ๊ง ซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรม และกระทรวงคมนาคมไปรษณีย์ และโทรเลขของพม่าทั้งที่ไม่มีผลการประชุมระหว่างผู้นำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแถมยังสั่งการให้มีการเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีกราว 1,000 ล้านบาทเพิ่มเติมจากข้อตกลงเดิม 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท

ทำให้บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด ที่นายทักษิณและครอบครัวชินวัตรกับพวกถือหุ้นอยู่ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลพม่า โดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว

เมื่อพบความผิดดังกล่าวแล้ว คตส.จึงมีมติส่งฟ้องนายทักษิณ ในฐานดำเนินนโยบายต่างประเทศไปพร้อมกับการแสวงประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่เมื่อ คตส. หมดวาระลงไป จึงได้มีการโอนคดีให้ ป.ป.ช. รับเรื่องไปทำต่อ โดยในฐานข้อมูลของ สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุความคืบหน้าในการฟ้องร้องคดีนี้ ว่า ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ให้ประทับฟ้องและอนุญาตให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าเป็นโจทก์ แทน คตส.
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 16 กันยายน 2551 นายทักษิณ ชิน ไม่มาศาล ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และออกหมายจับจำเลย อยู่ระหว่างติดตามตัว มาดำเนินคดี

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ขอให้ศาลไต่สวนลับหลังจำเลยหลังกฎหมาย ป.วิ อาญานักการเมืองปี 2560 แก้ไขให้ศาลสามารถพิพากษาลับหลักได้ในปี 2561 และก็มีการพิจารณาคดีสืบเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

เรียกว่า ใช้ระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรเลยทีเดียวสำหรับคดีนี้

ทั้งนี้ นอกเหนือจากคดีกล่าวแล้ว นายทักษิณยังมีคดีที่กำลังพิจารณาไต่สวนโดยไม่มีตัวจำเลยอีก 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2561 กล่าวหาว่าเห็นชอบออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท 2.คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 กล่าวหาร่วมกับผู้บริหารธนาคารและเอกชนทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานครกว่า 9.9 พันบ้านบาท ซึ่งคดีนี้มี “เสี่ยโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนตกเป็นจำเลยร่วม และ 3. คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 ซึ่ง ป.ป.ช.ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2551 กล่าวหานายทักษิณร่วมกับกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลออกนโยบายออกสลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวโดยมิชอบ ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลของคดีจะออกมาอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น