ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นที่ปลื้มปีติยินดียิ่งสำหรับปวงพสกนิกรชาวไทยที่มีโอกาสได้สัมผัสกับ “พิธีพลีกรรม” ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำ “น้ำอภิเษก” และ “น้ำสรงพระมุรธาภิเษก” ในพระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน นั่นคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเสวยราชสมบัติอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 4 - 6พฤษภาคม 2562
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นวัฒนธรรมที่คู่กับราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่มีพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในสมัยกรุงสุโขทัยจวบจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์อันประกาศถึงความเห็นชอบและยอมรับของปวงอาณาประชาราษฎร์ ดังความใน “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ความว่า
“...ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำราแต่โบราณว่า พระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง
พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศ แห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป...”
สำหรับพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่าการยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ทรงสิทธิ์อำนาจนั้นจะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อนำมาทำ “น้ำอภิเษก” และ “น้ำสรงมูรธาภิเษก”
ทั้งนี้ คำว่า “บรมราชาภิเษก มาจากคำว่า บรม + ราชา + อภิเษก ซึ่ง “อภิเษก” แปลว่า “รดน้ำ” ส่วนน้ำที่ใช้ในพิธีเรียกว่า “น้ำมุรธาภิเษก” มาจากคำว่า มุรธา + อภิเษก “มุรธา” แปลว่า “พระเศียร” ซึ่ง “น้ำมุรธาภิเษก” หมายถึง “น้ำรดพระเศียร”
ตามตำราโบราณของพราหมณ์ ระบุว่า “น้ำมุรธาภิเษก” จะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” คือแม่น้ำสำคัญ 5 สายในชมพูทวีป ที่ไหลลงมาจากเขาไกรลาส สถานที่ซึ่งศาสนาพราหมณ์และฮินดูถือว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร
ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เรียบเรียงหนังสือ เสวยราชสมบัติกษัตรา ให้ข้อมูลว่าแหล่งน้ำที่ใช้ในพิธีสำคัญในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ อาทิ สระแก้ว สระเกษ สระคา และสระยมุนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี คือสระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระที่อยู่ในอาณาบริเวณเดิมของแคว้นสุพรรณภูมิ โดยใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแคว้นที่มีพระราชอำนาจยิ่งใหญ่ในอดีต และหากพิจารณาจากชื่อของสระดังกล่าว จะพบว่าชื่อ สระคา และสระยมุนา พ้องกับ “ปัญจมหานที” หรือแม่น้ำ 5 สายศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมุนา มหิ สรภู และอจิรวดี ซึ่งเชื่อว่าไหลจากภูเขาไกรลาสอันเป็นที่สถิตของพระอิศวร
ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สายในไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก บางปะกง เพชรบุรี และราชบุรี เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการใช้น้ำจากแม่น้ำในชมพูทวีปจริงๆ จากการเสด็จประพาสอินเดีย จากนั้นในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 มีการเพิ่มแหล่งน้ำตามมณฑลต่างๆ อีก โดยในสมัยรัชกาลที่ 9 ยังคงใช้ตามรัชกาลที่ 7 ส่วนในรัชกาลปัจจุบันถือเป็นครั้งแรกที่ใช้น้ำจากทุกจังหวัด จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีความหมายเป็นมงคล โดยรวบรวมมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งตามโบราณราชประเพณี ตามความเชื่อของพราหมณ์น้ำทำให้เกิดสิริมงคลทั้งน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก น้ำจึงมีความสำคัญต่อพิธีกรรมต่างๆ
พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ อธิบายความพิธีพลีกรรมตักน้ำว่า คือการขออนุญาตตักน้ำขึ้นมาในส่วนน้อย โดยน้ำที่จะนำมาใช้เป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามโบราณราชประเพณีที่มีมาแต่อดีต ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่ว่า น้ำทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล
น้ำสรงพระมุรธาภิเษก มาจาก 9 แหล่งน้ำ คือ น้ำเบญจสุทธคงคา หรือแม่น้ำบริสุทธิ์ทั้ง 5 สาย ประกอบด้วยแม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก, แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว จังหวัดอ่างทอง แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี และน้ำจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ 4 สระ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา
น้ำอภิเษก มาจากแหล่งน้ำ 107 แหล่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัด และ 1 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
สำหรับภาชนะและอุปกรณ์สำคัญในพลีกรรมตักน้ำ ประกอบด้วย
ขันน้ำสาคร เป็นภาชนะใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ปริมาณร้อยละ 80 ของขันน้ำสาครตามฤกษ์ จากนั้นปิดฝาขันน้ำสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นสีขาว นำไปเก็บ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ
ที่ตักน้ำ เป็นทองเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว พร้อมด้ามจับยาว 6 นิ้ว
คนโทน้ำอภิเษก สำหรับใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านพิธีทำน้ำอภิเษก สามารถบรรจุน้ำได้ 4.5 ลิตร เป็นคนโทเซรามิก มีลวดลายกระจังเป็นลายน้ำทอง เคลือบสีขาวทั้งใบ โดยด้านหน้าจะมีตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ส่วนด้านหลังจะมีภาพเครื่องหมายราชการแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ยังประกอบด้วย เทียนชัย เทียนมหามงคล และเทียนพุทธาภิเษก
โดยทั่วประเทศประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำอย่างพร้อมเพรียงตามฤกษ์เวลา 11.52 - 12.38 น. เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 จากนั้นเริ่มพิธีทำน้ำอภิเษกของแต่ละจังหวัดในวันที่ 8 เมษายน 2562 ต่อมา วันรุ่งขึ้น 9 เมษายน 2562 จะมีพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก และวันที่ 10 เมษายน 2562 จะมีการเชิญคนโทน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย ส่วนน้ำศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเทพมหานคร ทำพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวันที่ 12 เมษายน 2562 แล้วแห่เชิญมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกัน
กระทั่ง 18 เมษายน 2562 ประกอบพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม จัดริ้วขบวนจากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ระยะทางรวมประมาณ 740 เมตร อัญเชิญ คนโทน้ำอภิเษก ทั้งสิ้น 86 ใบ อันประกอบด้วย คนโทน้ำอภิเษก จำนวน 77 ใบ ซึ่งตักมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 107 แหล่งน้ำทั้ง 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 แหล่งน้ำ และ คนโทน้ำสรงมุรธาภิเษก จำนวน 9 ใบ ซึ่งตักจากน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 9 แหล่งน้ำ เคลื่อนขบวนฯ จากกระทรวงมหาดไทย ไปตาม ถ.อัษฎางค์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.บำรุงเมือง ตรงไปยัง พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามฯ
สำหรับรายละเอียดพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม ประกอบด้วยน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ ลำดับแรกจัดทำพิธีเสกน้ำเทพมนต์โดยพิธีเสกสวดคาถาเทพมนต์ ประกาศชุมนุมเทวดา เพื่อประสิทธิ์ประสาทชัยมงคล บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมเนียมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลำดับต่อมาประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์
รุ่งขึ้นในวันที่ 19 เมษายน 2562 ตั้งริ้วขบวนแห่เชิญ คนโทน้ำอภิเษก จำนวน 86 ใบ จะเคลื่อนขบวนฯ จากวัดสุทัศน์ฯ ไปตาม ถ.ดินสอ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถ.ราชดำเนินกลาง และเข้าสู่ ถ.ราชดำเนินใน แล้วตรงไปยังประตูสวัสดิโสภา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเก็บรักษาไว้รอถวายการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562
ส่วนพิธีการในวันที่ 18 - 19 เมษายน 2562 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดสดเพื่อให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลกได้เห็นพระราชพิธีสำคัญเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่างเว้นมา 69 ปี
นอกจากนี้ มีการเปิดรับสมัครจิตอาสาใหม่และจิตอาสาเฉพาะกิจ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” สำหรับเข้าร่วมกิจกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแต่ละจังหวัดอีกด้วย โดยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เปิดให้มีการลงทะเบียนรับสมัครจิตอาสา สำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ประชาชนจิตอาสาได้มีส่วนร่วมในการจัดพระราชพิธีฯ ร่วมกับส่วนราชการ เข้าร่วมปฏิบัติในพิธีการต่างๆ ตลอดการกิจกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของแต่ละจังหวัด
โดยแบ่งจิตอาสาใหม่และจิตอาสาเฉพาะกิจเป็น 7 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยและการจราจร, กลุ่มงานแพทย์และสาธารณสุข, กลุ่มงานขนส่ง, กลุ่มงานบริการและส่งกำลังบำรุง, กลุ่มงานนิทรรศการและพิธีการ, กลุ่มงานโยธา และกลุ่มงานโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ
ทั้งนี้ หลังเปิดรับสมัคร มีประชาชน นิสิต นักศึกษา สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเทิดทูนพระเกียรติ เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ อันเป็นสวัสดิมงคลแห่งราชอาณาจักรไทย