xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลี่ กม. แรงงานฉบับใหม่ มนุษย์เงินเดือนยิ้มกริ่ม เพิ่ม 7 สิทธิประโยชน์ นายจ้างน้ำตาตก ฉุดกำไรร่วง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ “กฎหมายแรงงานฉบับใหม่” หรือ “พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562” ที่จะมีการใช้แทนกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 แต่จะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 30 วัน ซึ่งก็คือในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ที่จะถึงนี้

ความน่าสนใจก็คือ กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากบทบัญญัติบางประการของกฎหมายเดิมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ด้วยการยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็น “ภาระ” ของ “นายจ้าง” ที่จะต้องควักเงินในกระเป๋าออกมาจ่ายให้กับ “ลูกจ้าง” เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมกระทบต่อยอดรายได้และผลกำไรเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

กล่าวสำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ให้สิทธิประโยชน์ลูกจ้างในประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

ประเด็นแรก เพิ่มอัตราค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้าง เป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา ดังนี้
1. ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าชดเชย 30 วัน
2. ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน
3. ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน
4. ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน
5. ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน
6. ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 400 วัน

ประเด็นที่สอง กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถรับค่าชดเชยพิเศษ อาทิ หากทำงานมาครบ 20 ปีได้รับค่าชดเชย 400 วัน หรือตาม 6 อัตราข้างต้น

ประเด็นที่สาม กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่อยากตามไปสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตราข้างต้นเช่นกัน เพิ่มเติมจากกฎหมายฉบับเก่าที่ไม่สามารถทำได้

ประเด็นที่สี่ ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน จากเดิม 90 วัน โดยรวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย

ประเด็นที่ห้า กรณีลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี

ประเด็นที่หก กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน ในบางอาชีพที่ทำงานเกินวลาปกติ ลูกจ้างจะต้องฟ้องขอ โดยของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ประเด็นที่เจ็ดให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด โดยกฎหมายฉบับใหม่มีเนื้อหาเพิ่มเติมว่า ลูกจ้างชายหญิงมีงานเท่าเทียมกันต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน เป็นไปตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 100

ทั้งนี้ กว่าจะได้มาซึ่งกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ เครือข่ายตัวเครือข่ายตัวแทนแรงงานได้พยายามต่อสู้เจรจาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มสิทธิต่างๆ มาตลอดระยะเวลาหลายปี

ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และตัวแทนผู้ใช้แรงงานหลายร้อยคน เข้ายื่นรายชื่อประชาชนผู้ใช้แรงงานจำนวนกว่า 10,300 รายชื่อ เพื่อผลักดันให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเร่งด่วนทั้งเรื่องเงินชดเชยหลังเกษียณ, วันหยุดลาคลอด, ค่าชดเชยพิเศษต่างๆ ฯลฯ

ต่อมา คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนในปี 2558 จวบจนกระทั่งปี 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข ผ่านกระบวนการขั้นตอนและประกาศใช้กฎหมาย

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ เป็นสิทธิที่ได้มาจากการต่อสู้เจรจาของเครือข่ายแรงงานกับฝ่ายนายจ้างและฝ่ายตัวแทนรัฐมายาวนานหลายสิบปี มีความคุ้มค่ามากเพราะเป็นกฎหมายสำคัญช่วยให้แรงงาน ลูกจ้างหรือคนทำงานรับเงินเดือนทุกคนได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายที่ยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้วยความจงรักภักดีทุ่มเทให้แก่บริษัทหรือโรงงานอย่างต่อเนื่องเป็น 10 หรือ 20 ปี พวกเขาควรได้รับเงินตอบแทนหรือค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุหรือออกจากงานมากขึ้น จากที่เคยกำหนดให้สูงสุดแค่ 10 ปี 300 วัน ได้มีการใส่อัตราเพิ่มเป็น 20 ปี 400 วัน และการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานหรือย้ายที่ทำงานย้ายโรงงานต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยว่าจะย้ายตามหรือไม่ ถ้าใครไม่ย้ายตามก็ได้รับค่าชดเชย

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ความว่าเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยประเด็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ เป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกจ้าง โดยเฉพาะที่ทำงานมายาวนาน หากถูกเลิกจ้างหรือเกษียณอายุตามข้อบังคับของนายจ้างให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ แม้นายจ้างจะมีภาระเพิ่มขึ้นแต่เป็นสิ่งที่นายจ้างควรจะให้แก่ลูกจ้าง

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับสถานการณ์แรงงานไทย จากข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 พบว่าในปี 2561 มีการเลิกจ้าง 259,770 คน เฉลี่ยประมาณ 23,000 คนต่อเดือน มีแนวโน้มการจ้างงานในปี 2562 คาดการณ์ว่าอาจมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเภทกิจการที่นำเทคโนโลยี หรือ AI เข้ามาทำงานแทนกำลังแรงงานมากขึ้น เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี, ทีวีดิจิตอล, เป็นต้น

สำหรับสถิติการเลิกจ้างที่ผ่านมานั้น กลุ่มนายจ้างที่มีปรับโครงสร้างกิจการหรือเลิกจ้างลูกจ้างส่วนใหญ่ จะจัดทำโครงการสมัครใจลาออกและให้สิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างสูงกว่าสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม กฎหมายด้านการคุ้มครองแรงงานของไทย มีความก้าวหน้ากว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งบางประเทศยังไม่มีค่าชดเชยต่างๆ เพราะไม่ได้เป็นข้อบังคับตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

โดยกฎหมายแรงานฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 พ.ค. 2562 จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ลูกจ้างกว่า 9.5 ล้านคน ซึ่งในปี 2562 จะมีลูกจ้างวัยเกษียณจำนวนกว่า 300,000 คน ทำงานครบ 20 ปี ซึ่งถือเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในระบบ และได้รับเงินค่าชดเชยหลังเกษียณตามอัตราข้างต้น หรือสูงสุด 400 วัน

เป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิเงินค่าชดเชยเป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน ให้กับลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและเกษียณอายุ ดันยอดเงินชดเชยเกษียณอายุพุ่งกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเฉพาะบรรดาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 113 บริษัทที่ต้องทำการตั้งสำรองในสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายผลประโยชน์หลังเกษียณ และมีผลต่อตัวเลขกำไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานอายุงานมาก อาทิ บมจ.การบินไทย (THAI) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ อาหาร (CPF) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB)
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นับเป็นข่าวดีของบรรดามนุษย์เงินเดือนที่ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งต้องปรบมือให้ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น