xs
xsm
sm
md
lg

ประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง- นำสู่การเปิดอกถกปัญหา

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส
ขณะที่ปธน.มาครงของฝรั่งเศสกำลังเข้าร่วมประชุมประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก 20 แห่ง ที่เรียกว่า การประชุม G20 ที่เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปรากฏว่าที่เมืองปารีสและเมืองใหญ่ๆ อีกหลายเมืองที่ฝรั่งเศส ได้มีการชุมนุมใหญ่ของคนสวมเสื้อกั๊กเหลืองออกมากันเต็มท้องถนน เพื่อประท้วงต่อกำหนดเส้นตาย (วันที่ 1 มกราคม 2562) ของรัฐบาลมาครง ที่จะขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ราคาถูกที่สุด และรถยนต์ รวมทั้งรถมอเตอร์ไซค์ และรถบรรทุกขนส่งสินค้าในฝรั่งเศสจะใช้น้ำมันชนิดนี้

การประท้วงจะมีผู้เข้าชุมนุมหนาแน่นที่สุดในวันเสาร์ และช่วงแรกๆ จะปะทะกับแนวต้านของตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามสลายการชุมนุม เช่น ใช้น้ำแรงดันสูงฉีดไล่ หรือแก๊สน้ำตา และลูกปืนยาง ; และได้รวบตัวผู้ประท้วงไปเป็นร้อยคน

เมื่อปธน.มาครงเดินทางกลับมา ก็ยังไม่ยอมพบกับผู้ประท้วง ส่วนหนึ่งเพราะการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ไม่มีแกนนำอย่างเช่นการประท้วงในอดีต เพราะไม่มีสหภาพคนงานต่างๆ เป็นผู้ริเริ่มการชุมนุม แต่เป็นชาวบ้านจริงๆ โดยเฉพาะผู้คนในชนบทที่ใช้รถยนต์คันเล็กๆ ที่ถูกกระทบจากราคาน้ำมันที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะการขึ้นภาษีน้ำมันซึ่งรัฐบาลก็อธิบายว่า เพื่อเดินตามนโยบายที่จะลดแก๊สเรือนกระจก จึงต้องการให้ผู้ใช้รถได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันที่ไม่สร้างแก๊สเรือนกระจก เพราะปารีสคือเมืองที่ผลักดันข้อตกลงให้ทั้งโลกร่วมใจกันเปลี่ยนมาใช้พลังงานใหม่ เช่น จากแสงอาทิตย์ หรือรถยนต์ไฟฟ้า

คนฝรั่งเศสในชนบทมีความจำเป็นต้องขับรถยนต์มากกว่าชาวกรุงที่มีรถไฟใต้ดิน ทำให้คนในชานเมืองและชนบทรับไม่ได้กับค่าน้ำมันที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายของเขาเพิ่มขึ้นเช่นนั้น และมองว่ารัฐบาลมาครงกลับไปลดภาษีให้คนรวย เช่น ภาษีเงินได้, ภาษีมรดก เป็นต้น แต่มารีดเลือดจากคนจน

อย่างที่ศ.โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลและผู้พยายามนำเอาวิชาเศรษฐศาสตร์มาอธิบายเพื่อให้ผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองทั้งหลายได้เข้าใจถึงปัญหาการแบ่งสรรทรัพยากรที่เอาเปรียบคนจนบนโลกนี้ ศ.สติกลิตซ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การเอาเปรียบคนจนมาจากปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคนรวยและคนจนจะจ่ายในอัตราเดียวกัน ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับคนจนที่จะถูกรีดภาษีอัตราเดียวกับคนรวย ; อีกรายการก็คือ น้ำมัน ซึ่งถ้าคนจนจะถูกรีดภาษีน้ำมันในอัตราเดียวกับคนรวย ก็จะไม่เป็นธรรม ; และอีกเรื่องก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะยิ่งทำให้คนจนยิ่งต้องจ่ายค่าบริการใช้น้ำ, ไฟฟ้า, หรือบริการรถไฟ, รถเมล์ แพงกว่าที่ควรจะเป็น และคนรวยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการแปรรูป

การประท้วงของคนเสื้อกั๊กเหลืองดำเนินไปตลอดทุกๆ วันเสาร์ ซึ่งมีผู้คนประท้วงเป็นเรือนแสนในหลายเมืองใหญ่ และน่าจะมีพวกที่โกรธแค้นรัฐบาลมากๆ หรือพวกที่แทรกเข้ามา (จากพวกทำลายทุกๆ อย่างคือ Anarchists) ซึ่งได้บุกเข้าทำลายร้านค้า (โดยเฉพาะร้านค้าสินค้าราคาแพงลิบ-แบบพวกเสื้อแดงที่บุกเข้าร้านเพชรที่ราชประสงค์ Arcade) และปล้นสะดมข้าวของไปหมดร้าน รวมทั้งจุดไฟเผาร้าน, เผารถยนต์ (ของตำรวจ, แต่ก็ลามเผารถของชาวบ้านที่จอดไว้ข้างถนนด้วย...โดยเริ่มจากเผาเศษขยะก่อน เพราะช่วงนั้นอากาศหนาวมาก)

ถนน Champs-Elysees กลายเป็นเมืองร้างเพราะร้านค้าปิดร้านหมด ทั้งๆ ที่ใกล้เทศกาล X’mas และปีใหม่ การท่องเที่ยวย่อยยับจนกระทบต่อเศรษฐกิจของฝรั่งเศส

ในที่สุดในอาทิตย์สุดท้ายก่อนปีใหม่ ปธน.ก็จำยอม ; แต่แรกประกาศจะเลื่อนการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลไปอีก 6 เดือน แต่ผู้ชุมนุมก็ยิ่งออกมากันเต็มถนน ทำลายข้าวของเสียหายหมด และเปลี่ยนประเด็นมาเรียกร้องให้ปธน.ต้องออกไป ปธน.ก็เลยประกาศระงับการขึ้นภาษีอย่างไม่มีกำหนด

แล้วยังแถมเล่นบท Santa Clause คือแจกของขวัญปีใหม่ เช่น รายได้เบี้ยบำนาญจะไม่ต้องจ่ายภาษี, เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, ขอให้ภาคธุรกิจจ่ายโบนัสให้ลูกจ้าง (โดยจะให้หักภาษีได้ด้วย)

แต่มัน Too Little-Too Late คือ มาช้าไปแล้วสำหรับอารมณ์เดือดของผู้คนที่เคยตั้งความหวังกับมาครง (ที่เป็น Outsider-ไม่ใช่นักการเมืองผู้คร่ำหวอดแบบเก่าๆ)...ผู้ชุมนุมก็ยังมีมากอยู่ (แม้จะลดลงไปบ้าง...เพราะหลายคนก็มองว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายชนะ และรัฐบาลก็ยอมแพ้หมด)

ปธน.มาครงก็เลยมีข้อเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งบางคนก็มองว่าเป็นกลวิธีหลอกล่อ (Gimmicks) เพื่อให้ผู้ชุมนุมเลิกประท้วง นั่นคือ เขาเสนอให้ประชาชนนำปัญหาหนักอกมาถกเสนอในการประชุมแบบ Townhall คือจัดตามศาลาว่าการต่างๆ ทั่วประเทศ และรวมทั้งครม.ของเขาจะไปนั่งฟัง

ให้ประชาชนนำปัญหามาพูดจากัน และเสนอทางออก ซึ่งได้ระดมจัด Great Debate นี้มาตั้งแต่ช่วงปลายมกราคมต้นปีนี้เอง

ตอนนี้ครบรอบ 3 เดือนที่ปธน.มาครงลงทุนถลกแขนเสื้อไปนั่งฟังการเปิดอกหลายครั้ง ซึ่งจัดไปกว่า 1 หมื่นครั้งทั่วประเทศ

แน่นอนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่

สิ่งที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสสะท้อนออกมามากที่สุดคือ ฝรั่งเศสเก็บภาษีในอัตราที่สูงเกินไป โดยมีตัวเลขอัตราภาษีถัวเฉลี่ยที่คนฝรั่งเศสจ่ายนั้น น่าจะสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับ GDP สูงกว่าในยุโรปเหนือเสียอีก (ฝรั่งเศสอยู่ยุโรปใต้)

ตัวเลขจาก OECD (ปี 2017)

ฝรั่งเศสเก็บภาษีสูงถึง 46.2% ของ GDP

เดนมาร์กเก็บภาษีสูงถึง 46% ของ GDP

สวีเดนเก็บภาษีสูงถึง 44% ของ GDP

ขณะนี้รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังพิจารณาว่าจะลดภาษี (โดยเฉพาะที่เก็บกับคนรายได้น้อย) ลงมาอีก เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น

แต่เขาไม่คิดจะขึ้นภาษีคนรวย ซึ่งเป็นข้อเสนอของศ.สติกลิตซ์ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่า ฝรั่งเศสจะสามารถแก้ปัญหาหรือลดปัญหาที่คนจนกำลังไม่พอใจลงได้หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น