xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าวิกฤต “ไฟป่า” แห่งทศวรรษ วาระแห่งชาติจากฝีมือ “ลูกอีช่างเผา” เผาปลูกข้าวโพด เผาหาเห็ดหอบ-หญ้าหวาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่รุนแรง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิกฤตหมอกควันไฟป่ายังคงรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลต่อสุขภาพและกระทบภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัด ภาคเหนือของประเทศไทย ขณะที่ทั่วประเทศพบจุดความร้อน (Hotspots) เกิดไฟป่าพุ่งสูงทำลายสถิติปีที่ผ่านมาอย่างน่าตกใจและกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นการเร่งด่วนเพื่อมิให้เกิดปัญหาซ้ำซากอย่างที่เห็น

แน่นอน เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่า 99 เปอร์เซ็นต์นั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์ ไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการ “เผาป่า” ทั้งเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ ทำไร่เลื่อนลอย รวมทั้งการเผาป่าที่มีนัยทางการเมือง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ดังข้อเท็จจริงจากปาก พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ซึ่งเปิดเผยว่าปัจจุบันปรากฏมี “กระบวนการลอบเผาป่าอย่างมีนัยเพื่อใช้ในการโจมตีทางการเมือง” โดยเอาสุขภาพของประชาชนเป็นเครื่องล่อเป้า รวมทั้ง มีกระบวนการทางระบบโซเชียลโจมตีการทำงานของภาครัฐ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า (National Aeronautics and Space Administration : NASA) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปีเป็น “ฤดูไฟป่าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้” โดยจะมีไฟป่าจุดเล็กๆ เกิดจำนวนมากในพื้นที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศทำให้ไฟลุกง่าย

ขณะที่ข้อมูลจากกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า จุดความร้อนทั่วประเทศ หรือ Hotspot ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 - 2 มีนาคม 2562 มีจำนวนรวม 15,118 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน โดยแบ่งเป็นจุดความร้อนในเขตป่า 4,854 จุด ทั้งพื้นที่ป่าคงสภาพและพื้นที่เกษตรในเขตป่า และจุดความร้อนนอกเขตป่า 10,264 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในเขตป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ทั้งนี้ มีพื้นที่ป่าเสียหายจากไฟป่าแล้วกว่า 127,569 ไร่ และเป็นพื้นที่เกษตร 921 ไร่
เจ้าหน้าที่กำลังเร่งดับไฟ

ตัวอย่างของความรุนแรงที่ชัดเจนคือกรณีไฟป่าที่ “ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่” ซึ่งไฟลามต่อเนื่องหลายวัน ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระดมเจ้าหน้าที่ อาสา ทหาร และใช้เฮลิคอปเตอร์ขนน้ำดับไฟ จนไฟมอดสงบลงทิ้งควันไฟฝุ่นควันให้ลอยคลุ้งในอากาศ โดยเบื้องต้นประเมินความเสียหาย 400 ไร่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก โดยเฉพาะ “กวางผา” สัตว์ป่าสงวนหายาก และดอกไม้หายากบนดอยหลวงเชียงดาว

ที่น่าจับตาคือ วิกฤตไฟป่าในเมืองไทยในปีนี้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆ มา ส่งผลกระทบในวงกว้าง อีกทั้งเป็นสาเหตุสำคัญของ “ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” เกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตั้งแต่ จ. เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และตาก

มลพิษจากวิกฤตหมอกควันไฟป่าในภาคเหนือยังส่งผลให้ “ค่าฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่สูงติดอันหนึ่งของโลก” อ้างอิงจาก AirVisual เว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศแย่ของโลก ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อสุขภาพและภาคการท่องเที่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับสาเหตุการเกิดไฟป่าทั่วประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2558 - 2560 สาเหตุการเกิดไฟป่า อันดับ 1 หาของป่า อันดับ 2 ล่าสัตว์ อันดับ 3 เผาไร่ และอันดับ 4 สาเหตุ อื่นๆ ได้แก่ อุบัติเหตุ ประมาท เลี้ยงสัตว์ การลักลอบทำไม้ นักท่องเที่ยว ความขัดแย้ง

ขณะที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ยอมรับว่าวิกฤตหมอกควันไฟป่า โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งการเผาป่าเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ป่า การเผาป่าเพื่อเปิดพื้นที่การเกษตร ประกอบกับปีนี้หน้าแล้งมาเร็วแล้วนาน ไม่มีฝนลงมา และเชื้อเพลิงสะสมมีมาก และช่วงที่รัฐห้ามเผาไม่สามารถควบคุมชาวบ้านห้ามเผาในพื้นที่ได้เลย

ส่วนในมุมมองของผู้เฝ้าติดตามปัญหามลพิษทางอากาศมายาวนาน นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊กSonthi Kotchawat สะท้อนสถานการณ์ฝุ่นควันและไฟป่าปัญหาเรื้อรังที่กำลังลุกลามในพื้นที่ภาคเหนือ ความว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัดที่รุนแรงช่วงนี้สาเหตุหลัก 5 ประการคือ 1. ประชาชนเผาตอซังฟางข้าวและตอซังข้าวโพดพร้อมกันเพื่อเตรียมการเพาะปลูกใหม่ในฤดูฝนที่จะมาถึง2. ประชาชนลักลอบเผาป่าเพื่อเก็บหญ้าหวาน เห็ดเผาะหรือเห็ดหอบ(ราคาแพงเป็นที่นิยม)ซึ่งจะงอกออกมาหลังการเผาป่าและเพื่อไล่จับสัตว์ป่าไปขายรวมทั้งชาวบ้านบางส่วนแอบเผาเพราะไม่พอใจที่ภาครัฐเข้มงวดไม่ให้เข้าไปหาของป่าในช่วงนี้ 3. การเกิดไฟป่าขึ้นเองเนื่องจากความแห้งแล้งของอากาศที่เกิดขึ้นย่างต่อเนื่อง4. หมอกควันจากการเผาตอซังข้าวโพดและพืชไร่จำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านลอยข้ามมาที่ภาคเหนือ และ5. สภาพของเมืองเช่น เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เป็นแอ่งกระทะภูเขาสูงล้อมรอบ ประกอบกับอากาศนิ่งและความกดอากาศสูงจากประเทศจีนพัดเข้ามาปกคลุมฝุ่นควันจึงฟุ้งกระจายอยู่ในแอ่งกระทะ”

นอกจากนี้ นายสนธิ ยังได้โพสต์ข้อความถึงหลักการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ความว่า

“..การจัดการที่เป็นหัวใจคือ1.ต้องทำความเข้าใจและเข้าถึงประชา ชนรากหญ้าที่ทำการเผาทุกพื้นที่โดยต้องทราบถึงปัญหาของเขาอย่างแท้จริงและถ้าไม่เผาจะร่วมมือกับรัฐอย่างไร รัฐจะช่วยเหลืออะไร ซึ่งต้องอาศัยกลไกของอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านในระดับกำนันและผู้ใหญ่บ้านต้องขับเคลื่อนดูแลพื้นที่ตนเองรวมทั้งใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดด้วยโดยมีตัวชี้วัดคือจำนวน hotspot ต้องลดลง 2. ต้องหารือและจัดการกับทุนใหญ่ไม่ให้รับซื้อข้าวโพดและพืชไร่ที่มาจากพื้นที่ที่ทำการเผาทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งตรวจสอบหากพบว่าผู้ประกอบการรายใดสนับสนุนและอยู่เบื้องหลังการเผาต้องแอนตี้สินค้าและดำเนินคดี

3. หากสถานการณ์รุนแรงมากก็ควรที่ประกาศเขตภัยพิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อมีงบประมาณเพียงพอในการจัดการและสามารถกระจายความรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาลงไปในระดับพื้นที่ทุกแห่ง4. ประเทศไทยต้องอาศัยกลไกในการเป็นประธานอาเซียนนำเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นวาระสำคัญในการพิจารณาของอาเซียนตลอดจนรัฐบาลไทยต้องจัดให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้”

ทั้งนี้ สถานการณ์หมอกควันไฟป่าถือเป็นวิกฤตข้ามชาติ โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ลาว ซึ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาหมอกควันในภาคเหนือตอนบนของไทยอย่างไม่อาจหลบเลี่ยง หากจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องเร่งประสานความร่วมมือ
เฮลิคอปเตอร์เร่งขนน้ำไปดับไฟ
เช่นเดียวกับเมื่อครั้ง ประเทศสิงคโปร์จมอยู่ในควันไฟจากการเผาป่าเพื่อแปรสภาพเป็นสวนปาล์มนํ้ามันบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นด้วย และเป็นจุดเริ่มต้น “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน” (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution : AATHP) ปี 2545ระหว่างชาติสมาชิกในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ท้ายที่สุดการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดนไม่คืบหน้านัก เพราะประเทศต้นของปัญหาในขณะนั้นไม่เข้าร่วมข้อตกลง

จวบจนล่าสุด การประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับมลพิษหมอกควันข้ามประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 14( 14th Meeting of the Technical Working Group on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region : TWG Mekong) เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สถานการณ์หมอกควันข้ามประเทศถูกจับตามองเป็นพิเศษอีกครั้ง ในประเด็นการขับเคลื่อน “อาเซียนปลอดหมอกควัน ในปี 2563 หรือ Haze - Free 2020” อันสืบเนื่องจากข้อตกลง AATHP ข้างต้น

ทั้งนี้ สถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อปัญหารุนแรงโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ที่ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 พุ่งสูงรั้งอันดับ 1 ของโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่กระทรวงมหาดไทยกลับไม่ยอมประกาศเป็น “เขตภัยพิบัติ ประสบปัญหาหมอกควัน” เพราะหวั่นกระทบต่อท่องเที่ยว

ส่งผลให้ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักเคลื่อนไหวในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้องโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศเตือนด้วยตัวเอง โดยระบุว่า

“ทางกระทรวงสาธารณสุข ต้องการให้ประกาศเขตภัยพิบัติ ประสบปัญหาหมอกควัน แต่ฝ่ายมหาดไทยไม่ยอม กลัวเสียภาพพจน์การท่องเที่ยว”

“...ด้วยอำนาจของประชาชน ขอประกาศให้เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ พื้นที่ประสบสาธารณภัย ประกาศไว้ ณ วันที่ 23 มี.ค. 2562 พร้อมกับลงชื่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษี”

ด้าน นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ ยอมรับว่าหากประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติก็อาจกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าปัญหาฝุ่นละอองในเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่ท่องเที่ยวผ่านกรุ๊ปทัวร์ในช่วงสงกรานต์ 2562 ลดลงจากปีที่แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ตัดสินใจซื้อทัวร์ในระยะใกล้จะเปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่น
สัตว์ป่าที่ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนไม่น้อย

มนุษย์คือต้นเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่า
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องไฟป่า คือ ส่วนควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหน้าที่บูรณาการในด้านต่างๆ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีส่วนท้องถิ่นถือเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันเฝ้าระวังระงับไฟป่า ตามยุทธศาสตร์/มาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่า กรมอุทยานฯ อาทิ การส่งเสริมความรู้การเกษตรอินทรีย์ปลอดการเผา กำหนดเขตควบคุมไฟป่าในพื้นที่จังหวัดที่มีความเสี่ยง การลาดตระเวนตรวจปราบปราม ตรวจติดตามข้อมูล Hotspots เพื่อใช้ในการวางแผนการดำเนินงานในพื้นที่ การจัดท้าแนวกันไฟ การชิงเผาจัดการเชื้อเพลิงในทางวิชาการ ด้วยการเผาตามกำหนด (Prescribed Burning) การนำวัชพืชในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาเพิ่มมูลค่า เช่น การแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง ฯลฯ รวมทั้ง ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนการแก้ปัญหาวันนี้ประเทศไทยเพิ่มความเข้มข้น โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแม่งานประสานความร่วมมือเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ร่วมกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีการนำเฮลิคอปเตอร์บรรทุกน้ำเข้ามาสนับสนุนการดับไฟป่าในพื้นที่ที่เข้าถึงยากเป็นภูเขาสูงร่วมกับอากาศยานของกองทัพบกและกองทัพอากาศ รวมทั้ง ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และให้ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่จุดไฟเผาป่า และเปิดสายด่วน 1362 เพื่อรับแจ้งเหตุไฟไหม้ป่า หรือการเผาในที่โล่งแจ้งตลอด 24 ชั่วโมง

รวมทั้ง ยกระดับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังไฟป่า จัดชุดเฉพาะกิจ ทหาร ตำรวจ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กระทรวงเกษตรฯ และฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ในจุดที่มีปัญหาการเผา รวมทั้ง ให้เจ้าหน้าที่สามารถออกคำสั่งทำจับได้ทันที หากพบการเผาป่า เผาพื้นที่การเกษตร ตามข้อบัญญัติภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ทั้งกฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยานฯ พ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งถือเป็นการยกระดับการแก้ปัญหาที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อนุญาตให้คนอยู่ในป่าตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 และหลังคำสั่ง คสช. 2557 ที่กำลังอนุญาตให้ทำกินเขตป่าอย่างผิดกฎหมาย ถ้าเจอว่าเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้จะถูกตัดสิทธิ์ทำกินทันที เพราะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ โดยภาครัฐเดินเครื่องคลี่คลายปัญหาจัดตั้ง “กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือในพื้นที่ 9 จังหวัด” ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพภาค 3 บูรณาการร่วมกันทุกพื้นที่ ในการเข้าพื้นที่ควบคุมไฟป่าและหมอกควัน อาศัยความร่วมมือกับชุมชน บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมนำยุทโธปกรณ์เข้าพื้นที่ปรับใช้เข้ากับสถานการณ์ อาทิ เฮลิคอปเตอร์ MI17 ของศูนย์การบินทหารบก ซึ่งสามารถบรรทุกน้ำเพื่อนำไปดับไฟป่าในพื้นที่

ขณะที่ บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. บินตรงสู่เมืองเชียงใหม่ สั่งการใกล้ชิดแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือให้คลี่คลายโดยเร็ว สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มความเข้มงวดในการใช้กฎหมายดำเนินการต่อผู้กระทำความผิด รวมทั้ง การปลูกสำนึกในหัวใจของคน

“เราต้องแก้ด้วยจิตสำนึก ทุกคนจะต้องไม่เผาป่า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่ง

สำหรับ “วิกฤตการณ์หมอกควันไฟป่า” นับเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างยั่งยืนโดยเร่งด่วน พร้องทั้งวางมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือเกิดน้อยที่สุดในปีต่อๆ ไป.

ขอบคุณภาพประกอบ FB : dnpforestfire, กรมอุทยานแห่งชาติฯ, Pijakkana Meechaiudomdaj และอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น