ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในปีงบประมาณ 2562 ที่ใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท ได้ผ่านการ "ทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน" คาดหวังว่า หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ภาคเรียนที่ 1/2562 จะมีการประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ (เปิดภาคการศึกษาในวันที่ 16 พ.ค. 62)
จากงบประมาณ "นมโรงเรียน" ย้อยหลัง 3 ปี พบว่า ปีงบประมาณ 2562 ได้รับโอนงบประมาณ เป็นเงินอุดหนุนอาคารเสริม (นมโรงเรียน) 10,450,026,500 บาท ปี 2561 สนับสนุนวงเงิน 10,604,028,300 บาท และ ปี 2560 สนับสนุน จํานวน 10,818,498,700 บาท
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี ชุดปัจจุบัน ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน และให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ
การปรับปรุงโครงสร้างระบบบริหาร ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการ โดยแยกโครงสร้างการบริหารออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ตาม พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ร่วมเป็นกรรมการ จำนวน 15 คน
ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนขึ้นมาใหม่ โดยมีปลัดฯเกษตร เป็นประธาน มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ แทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งภายใต้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนจะมีคณะอนุกรรมการรับผิดชอบภารกิจต่าง ๆ คือ คณะอนุกรรมการบริหารกลางนมโรงเรียน คณะอนุกรรมการรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) และคณะอนุกรรมการอื่น ๆ ที่จำเป็น
ให้ อ.ส.ค. ทำหน้าที่แทนองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย เช่นเดิม แต่ให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระบบ Big Data มาใช้บริหารจัดการนมทั้งระบบ
ให้งบประมาณกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและหน่วยจัดซื้อเช่นเดิม แต่ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบบริหารจัดการ ไม่น้อยกว่า 3% ของงบนมโรงเรียนทั้งหมดให้กรมปศุสัตว์และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
ให้ท้องถิ่นและหน่วยงานที่ได้รับงบจัดซื้อนมโรงเรียน จัดซื้อจาก อ.ส.ค. โดยวิธีกรณีพิเศษเช่นเดิม ซึ่งปัจจุบันเรียนว่า วิธีเฉพาะเจาะจง ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ให้ผู้ประกอบการทำประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance) เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล
การปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการ มีหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโดยให้ยึดหลัก ดังนี้ ปริมาณน้ำนมดิบตามพันธสัญญาที่มีผลบังคับใช้กฎหมาย คุณภาพนมดิบและนมโรงเรียน ศักยภาพการผลิต/การตลาด ระบบโลจิสติกส์/การขนส่ง ประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมา และความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยให้ความสำคัญกับผู้มีศูนย์รวบรวมน้ำนมโคเป็นของตนเอง หรือมีแผนการตลาดรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี และรับผิดชอบตลอด 365 วัน ทั้งนี้ ในรายละเอียดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนด
นอกจากนี้ เกษตรกร/ศูนย์รวมนม/ผู้ประกอบการ ต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น 3 ระบบ คือ ระบบทะเบียนฟาร์ม ระบบซื้อขาย และระบบตรวจสอบย้อนกลับ อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญในคุณภาพมาตรฐานนมโรงเรียนให้มีมาตรฐานตามเกณฑ์ อ.ย. เพิ่มความเข้มงวดการติดตามตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนในระดับพื้นที่ และพัฒนารูปแบบนมโรงเรียนและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์นมเพิ่มสารอาหารจำเป็น และบรรจุภัณฑ์ Milk in box dispenser โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ ได้แก่
กลุ่มที่ 1 (เขต 1) ผู้ว่าฯ สระบุรี เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่มที่ 2 (เขต 2 และเขต 3) ผู้ว่าฯนครราชสีมา เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์นครราชสีมา เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่มที่ 3 (เขต 4 ) ผู้ว่าฯขอนแก่น เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่มที่ 4 (เขต 5, 6) ผู้ว่าฯเชียงใหม่ เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์เชียงใหม่ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่ม 5 (เขต 7,8,9) ผู้ว่าฯราชบุรี เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
ขณะที่ มิลค์บอร์ดมีฐานะกำกับดูแลแต่ละกลุ่มให้เป็นไปตามมติ ครม. อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมคุณภาพดี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีหลักประกันตลาดที่แน่นอน ที่สำคัญ งบประมาณรัฐจะต้องประหยัดและคุ้มค้าที่สุด รวมถึงการพิจารณาบทลงโทษที่ลดผลกระทบต่อเกษตรกร เช่น เรียกเบี้ยปรับ เป็นต้น
ล่าสุด "นายกฤษฎา บุญราช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด่วนที่สุดถึง นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดเกษตรและสหกรณ์, นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์, นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมทั้งผู้ประกอบการเอกชนเกี่ยวกับนมโรงเรียน ได้เกิดความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามการบริหารโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน พร้อมจัดทำแนวทาง (คู่มือ) การปฏิบัติงานตามขั้นตอนของโครงการอาหารเสริม (นม) ในโรงเรียนให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดประชุมชี้แจงผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ให้เกิดความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันและสามารถปฏิบัติงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้จริง ไม่บกพร่อง รวมทั้งขอให้เร่งรัดการเตรียมงานต่าง ๆ ให้ทันกับการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาที่ 1/2562 ด้วย
ทีนี้มาดูมหากาพย์นมโรงเรียน ในช่วงปี 2552 เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด คณะรัฐมนตรียุคนั้น มีนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตร สมัยนั้น ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยให้ อ.ส.ค. เป็นกลไกของรัฐ ในการรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกินนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน
28 ม.ค. 2552 เห็นชอบในหลักการให้ อปท.หรือ หน่วยงานรัฐ ที่มีงบประมาณจัดซื้อนมพร้อมดื่ม จัดซื้อจาก อ.ส.ค. ได้ โดยวิธีกรณีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้ อ.ส.ค. ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือนก.ย. 52
10 มี.ค. 52 ยกเลิกระบบการกำหนดเขตพื้นที่ (โซนนิ่ง) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดซื้อนมโรงเรียน โดยให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องตรวจสอบให้ผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด
อนุมัติงบประมาณการจัดซื้อนมพร้อมดื่มให้แก่นักเรียน ตั้งแต่ชั้นก่อนวัยเรียนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 2,573.45 ล้านบาท ให้กับ อ.ส.ค. จัดซื้อนม ยู.เอช.ที. ให้กับโรงเรียนประถมศึกษาปีที่ 5-6 โดยตรง และงบประมาณส่วนที่เหลือให้ อปท. ที่มีศักยภาพและความพร้อมทางการเงินการคลังจัดซื้อนมโรงเรียน โดยใช้เงินของ อปท. ไปก่อน แล้วขอเบิกจ่ายคืนในภายหลัง ส่วน อปท. ใดไม่มีงบประมาณให้ของบประมาณจากรัฐบาลคราวนั้น ยังมีการให้งบกลางเร่งด่วน 510.54 ล้านบาท ให้ อ.ค.ส.
13 พ.ค. 52 เห็นชอบให้ อปท. จัดซื้อนม ยู.เอช.ที. สำหรับนักเรียน ป.5- ป.6 โดยวิธีกรณีพิเศษ จาก อ.ส.ค. และผู้ประกอบการนม ยู.เอช.ที. อีก 4 ราย ที่ช่วยรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกินตามแผนการดื่มนมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 ก.ย. 52
23 มิ.ย. 52 เห็นชอบให้ทบทวนมติครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.52 (ตามข้อ 2.1.2) ในประเด็นเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณส่วนที่เหลือ 2,062.91 ล้านบาท
โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 604 ล้านบาท ให้แก่ อ.ส.ค. เพื่อจัดซื้อนม ยู.เอช.ที. จำนวน 80 ล้านกล่อง ส่งมอบให้เด็กก่อนวัยเรียนชั้น ป. 4 ดื่มเป็นเวลา 15 วัน สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ และจำนวนกว่า 1,458 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยนำไปจัดสรรให้ อปท. 1,389.89 ล้านบาท และกระทรวงศึกษาธิการ 60.09 ล้านบาท นำไปจัดซื้อนมโรงเรียนให้เด็ก ป.5- ป.6 ให้ครบถ้วน
15 ธ.ค.52 เห็นชอบในหลักการแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน (แบ่งโครงสร้างบริหารจำนวน 5 ข้อ และแนวทางการบริหาร จำนวน 4 ข้อ) ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ครั้งที่ 8 /2552 เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 52 และครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 52
มีโครงสร้างบริหารนมโรงเรียนให้มีองค์กรกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลาง 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ ฝ่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูป และผู้แทนฝ่ายจัดซื้อ รวม 19 คน เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการระบบนมโรงเรียน โดยให้ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการขององค์กรกลาง เป็นผู้แทนในการบริหารจัดการ (คณะกรรมการกลาง เป็นคณะอนุกรรมการในกำกับการดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม)
16 ก.พ. 53 รับทราบมติคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ เกี่ยวกับแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ทุกหน่วยงาน ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อจัดซื้ออาหารเสริม (นม)โรงเรียน จัดซื้อจาก อ.ส.ค. โดยวิธีกรณีพิเศษ หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีวิธีการทำนองเดียวกันได้ ตามนัยระเบียบว่าด้วยพัสดุที่หน่วยงานนั้น ๆ ถือปฏิบัติ ทั้งนี้ ให้ อ.ส.ค. ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. 56
เฉพาะในปี 2553 นี้ มีการลงนาม MOU ใหม่ มีงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 14,000 ล้านบาท โดยขยายจากชั้น ป..5- ป.6 และโรงเรียนเอกชนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย มีกลุ่มเป้าหมายถึง 8.4 ล้านคน
ล่าสุด 26 มี.ค.62 รื้อ "โครงสร้างมิลล์บอร์ด" ปิดทางผู้มีส่วนได้เสียเป็นกรรมการมอบอำนาจ อ.ส.ค.จัดสรรโควตา "คุมขบวนการลักไก่"โควตา
ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้ทบทวนคณะทำงานชุดต่าง ๆ ภายใต้การทำงานของ "มิลค์บอร์ด"ในอดีต.