xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บันทึก “ที่สุด” ประวัติศาสตร์ เลือกตั้ง 62 “ตระกูลดัง - บิ๊กเนม” สอบตกระเนระนาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - 8 ปีที่รอคอยการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ถึงแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ แต่ต่างก็รู้กันถ้วนทั่วแล้วว่า พรรคไหนได้คะแนนมากที่สุด พรรคไหนได้ ว่าที่ ส.ส.มากที่สุด ในความที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีรายการสุดเซอร์ไพรส์ สุดพลิกล็อก และเกิดปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งควรค่าแก่การบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง 24 มีนาฯ 2562

อันดับแรกสุด คือ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจาก กกต. ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด 137 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมด 350 ที่นั่ง โดยมีคะแนนนิยม หรือป๊อปปูลาร์โหวต รวม 7,920,630 ล้านคะแนน ซึ่งเป็นการนับรวมคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้จากการส่ง ส.ส.ลงสมัคร 250 เขตทั่วประเทศ

ส่วนพรรคที่ได้คะแนนนิยมทั่วประเทศมากที่สุด เป็นพรรคน้องใหม่ที่รวบรวมบรรดา ส.ส.หน้าเก่าเข้ามาไว้ในคอกในระดับที่ถือว่ามากที่สุด คือ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน8,433,137 คะแนน แต่ได้ ส.ส.เขต 97ที่นั่ง จากการส่งผู้สมัครเลือกตั้ง 350 เขตทั่วประเทศ

และพรรคที่ได้ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุด อย่างไม่เป็นทางการ คือ พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ประมาณ 50 ที่นั่ง มีคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต 6,265,950 คะแนน

การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.แถลงมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 74.69% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 51,205,624 คน ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 80% แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีบัตรเสียมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 5.57% หรือประมาณ 2,130,327 ใบ จากเป้าของ กกต. ไม่เกิน 2% และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 1.58% หรือประมาณ605,392 ใบ

ยังมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ หรือใช้สิทธิ์ครั้งแรก ถึง 7.3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

นอกจากนั้น ยังเป็นการเลือกตั้งที่ กกต.ใช้งบประมาณเลือกตั้งมากที่สุดอีกด้วย โดยในการเลือกตั้ง 6 ม.ค. 2544 จำนวน 2,000 ล้านบาท, 6 ก.พ. 2548 จำนวน 1,500 ล้านบาท, 2 เม.ย. 2549 จำนวน2,159 ล้านบาท, 23 ธ.ค. 2550 จำนวน 2,521 ล้านบาท, 3 ก.ค. 2554 จำนวน 3,300 ล้านบาท, 2 ก.พ. 2557 จำนวน 3,885 ล้านบาท หากรวมงบ6 ครั้งที่ กกต. ใช้จัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่าใช้งบกว่า 15,365 ล้านบาท ส่วนครั้งที่ 7 กกต.จัดเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ใช้งบพุ่งสูงสุด 5,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี บันทึกเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ 24 มีนาคม 2562 ต้องมีเรื่อง “ล้มช้าง ช้างล้ม” ด้วยว่าบรรดาบิ๊กเนม นักการเมืองเก๋าเกม รุ่นลายคราม สอบตกกันเป็นทิวแถว แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ หากแต่ตามผลคะแนนที่นับคะแนนไปแล้ว 95% ก็พอจะเห็นว่าที่ ส.ส.ทั้ง 350 เขตทั่วประเทศไปเรียบร้อยจากการประกาศในเบื้องต้นของ กกต.

ที่น่าสนใจคือ ด้วยการออกแบบการเลือกตั้งแบบพิสดารทำให้ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้แต่คนเดียว แต่อานิสงส์ก็ไปตกอยู่กับ “อนาคตใหม่” ที่กวาดปาร์ตี้ลิสต์เข้ามาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจนทำให้ยอดรวม ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการพุ่งไปถึงราวๆ 80 คน

เซอร์ไพรส์สุดเห็นจะเป็นเรื่องบิ๊กเนม 10 อันดับแรกในระบบบัญชีรายชื่อของเพื่อไทยที่ตั้งโต๊ะรวมพลซดน้ำแห้วอดเข้าสภา นั่นคือ เบอร์ 1 พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค 2.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค 3.นายชัยเกษม นิติสิริ 4.นายภูมิธรรม เวชชยชัย 5.นายเสนาะ เทียนทอง 6.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 7.นายปลอดประสพ สุรัสวดี 8.นายโภคิน พลกุล 9.นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และ 10.นายเกรียง กัลป์ตินันท์

นี่เท่ากับว่า ช้างล้ม แม้แต่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคส่งเข้าชิงทั้ง 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ นายชัยเกษมและนายชัชชาติ ก็ยังชวดเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

บิ๊กเนมของเพื่อไทย หลุดวงโคจร นั่นยังเป็นเหตุเป็นผลจากการออกแบบระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วน แต่สำหรับ “พรรคสีฟ้า” ประชาธิปัตย์ เป็นเหตุจากความนิยมตกต่ำลงชนิดที่ว่า “เสาไฟฟ้า” ล้มระเนระนาด เหนือความคาดหมาย หักปากกาเซียนโดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์ ซึ่งเหนียวแน่นมายาวนาน ด้วยเหตุดและปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็น่าจะเป็นผลมาจากการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของคนกรุง และความนิยมในอนาคตใหม่ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่มี ส.ส.กรุงเทพฯ แม้แต่คนเดียว ส่วนภาคใต้ก็ต้องยอมรับเช่นกันมีผลมาจาก “ความเบื่อหน่าย” ของคนในพื้นที่เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้

ในบรรดาขาใหญ่ คนดัง ของพรรคสีฟ้า ที่ไปไม่ถึงดวงดาวในสนามเลือกตั้งระบบเขต เช่น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จ.พิษณุโลก เขต 1 มือปราบทุจริตจำนำข้าว พ่าย “หมออ๋อง-นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ และตามหลังผู้สมัครจากพลังประชารัฐ ที่ได้อันดับสอง จนออกมาตีโพยตีพายก่นด่าหัวหน้าพรรคตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก ขณะที่นายวิรัช ร่มเย็น กรรมการบริหารพรรค อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ จ.ระนอง พ่ายแพ้ นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ หรือ “นายกเอ” อดีตนายก อบจ.ระนอง ทายาท “ลูกชิ้นฮั้งเพ้ง” ที่สังกัดพรรคภูมิใจไทย ไปแบบขาดลอย โดยนายคงกฤษได้ 36,361 คะแนน ขณะที่นายวิรัชมีเพียง 17,606 คะแนนเท่านั้น

ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.8 สมัย ที่เที่ยวนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ภาคใต้พ่ายแพ้ยับเยิน ในเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.พัทลุง โดยนายฉลอง เทอดวีระพงษ์ พรรคภูมิใจไทย เต็งหนึ่งขึ้นมาแทนที่ ส่วน นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช หลายสมัย สอบตกในศึกเลือกตั้งปีนี้ พ่ายแพ้ให้กับนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง จากภูมิใจไทย เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมี นายศิริโชค โสภา คนดังแห่ง “แก๊งไอติม” สอบตกเขต 7 สงขลา พ่ายแพ้ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ผู้สมัครจากภูมิใจไทย เป็นต้น

หากมองปรากฏการณ์ “ช้างล้ม ล้มช้าง” ตามรายภาคจากผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ในหลายจังหวัด บรรดาตระกูลการเมืองดังต้องพับฐานไปหลายพื้นที่
“กอล์ฟ - ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” (ซ้าย) | นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์  “ว่าที่ ส.ส.ม้ง” คนแรก (กลาง) | นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ หรือ “เม่น ไทยแลนด์” นักกีฬาเทเบิ้ลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย (ขวา)
เริ่มจาก ภาคกลาง ตระกูลใหญ่ที่พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งคราวนี้ ที่ล้มดังสุด ต้องโฟกัสไปยังตระกูลสะสมทรัพย์ แห่ง จ.นครปฐม ซึ่งย้ายจากไปเพื่อไทย ไปสังกัดชาติไทยพัฒนา ผลปรากฏว่า จากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 5 เขตนั้น “สะสมทรัพย์” รักษาที่มั่นไว้ได้เพียงเขตเดียวคือ เขต 2 นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ส่วนเขต 1 ตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ นายสินธพ แก้วพิจิตร เขต 3 อนาคตใหม่ นายสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา เขต 4 พลังประชารัฐ นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ และเขต 5 อนาคตใหม่ น.ส.จุมพิตา รัตนขจร

นับเป็นปรากฏการณ์ที่ช็อกเซียนการเมืองนครปฐมที่อนาคตใหม่ ล้มแชมป์เก่า อย่างนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเขต 5 ส่วนเขต 4 นายอนุชา สะสมทรัพย์ หรือ “เฮียหมวย” รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็พลาดท่าเสียเก้าอี้เหนือความคาดหมายเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ที่ จ.เพชรบุรี ฐานที่มั่นของ “เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เจอฤทธิ์พลังประชารัฐ กวาดทั้ง 3 เขต ทำให้อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายอรรถพร พลบุตร เพชรบุรี เขต 1 น้องชายเสี่ยจ้อน พ่ายยับ รวมถึง “ยุทธพล อังกินันทน์” แห่งชาติไทยพัฒนา ที่ถูกลบชื่อไปจากสารบบการเมืองเป็นครั้งแรกแม้จะมีฐานเสียงสำคัญจากการเมืองท้องถิ่นก็ตาม

ภาคตะวันออก ต้องบอกว่าเกิดมหกรรมพลิกล็อกถล่มทลาย ช้างล้มระนาว ทั้งตระกูลดัง ส.ส. หลายสมัย นักการเมืองรุ่นเก่า พ่ายแพ้ยับเยิน

ไล่จาก จ.ชลบุรี เขตเลือกตั้งที่ 5, 6 และ 7 ที่มีตัวเต็งอย่างอดีต ส.ส.เก่าจาก “บ้านใหญ่ซุ้มบางแสน” จากพรรคพลังชล ที่เปลี่ยนมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ อย่าง “อิทธิพล คุณปลื้ม” อดีต ส.ส.ชลบุรี และอดีตนายกเมืองพัทยา ที่ลงชิงชัยในเขต 6 เช่นเดียวกับเขต 7 ที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี บุตรชาย นายสันต์ศักดิ์จรูญ งามพิเชษฐ์ อดีต รมช.สาธารณสุข ชิงชัยกับผู้สมัครจาก “พรรคภูมิใจไทย” นายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา

ผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า เขต 5 ส.ส.หลายสมัย อย่าง นายพันธุ์ศักดิ์ เกตุวัฒนา ลูกหม้อพลังชล ที่ย้ายมาพลังประชารัฐ รวมทั้งผู้สมัครเขต 6 และ 7 ต้องพ่ายให้แก่ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ และเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ โดยเขต 5 นายขวัญเลิศ พานิชมาศ เขต 6 นายจรัส คุ้มไข่น้ำ และเขต 7 น.ส.กวินนาถ ตาคีย์

สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา มีช้างล้ม 2 เขต ทำให้เห็นว่า พรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ สามารถคว่ำอดีต ส.ส.เก่า และคนในตระกูลดังในพื้นที่ล้มระนาว ตั้งแต่อดีต ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยมีฐานเสียงเหนียวแน่น แต่เมื่อย้ายพรรคไปซบพลังประชารัฐ ก็ต้องสอบตกทั้ง 2 เขตเลือกตั้ง โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ทั้ง 4 เขต ปรากฏว่าเขตที่พลิกล็อก คือ เขต 1 นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ พรรคอนาคตใหม่ ชนะคะแนน ดร.บุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ว.ฉะเชิงเทรา และอดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 สมัยที่ผ่านมา และยังชนะอดีต ส.ส.เขต 2 ฉะเชิงเทรา พรรคภูมิใจไทย คือ นายณัชพล ตันเจริญ ซึ่งเป็นคนตระกูลดัง ที่ได้เพียง 22,761 คะแนน

ส่วนอีกเขต คือ เขต 4 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ผู้สมัครโนเนมจากพรรคอนาคตใหม่ มีคะแนนมากถึง 42,342 คะแนน นำ พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส.เก่าจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งย้ายมาลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ

จ.ตราด นายศักดินัย นุ่มหนู จากพรรคอนาคตใหม่ มีชัยชนะเหนือนายธีระ สลักเพชร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ที่ครองใจชาว จ.ตราด มาอย่างยาวนาน ด้วยเสียง 36,744คะแนนต่อ 30,624 คะแนน

จ.สระแก้ว ทีม “ป๋าเหนาะ” พ่ายพลังประชารัฐ ในทุกเขตเลือกตั้ง โดยงวดนี้ตระกูล เทียนทอง แต่แตกออกเป็น 2 ก๊ก ระหว่าง นายเสนาะกับลูกที่ยังสังกัดพรรคเพื่อไทย กับน้องและหลานที่ย้ายไปสังกัดพลังประชารัฐ (พปชร.) ผลปรากฏว่า พปชร. กำชัยชนะยกจังหวัด 3 เขต โดยเขต 1 นายฐานิสร์ เทียนทอง เขต 2 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เขต 3 นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ ชนะนายสรวงศ์ เทียนทอง บุตรชาย นายเสนาะ เทียนทอง

ภาคใต้ โฟกัสไปที่ จ.สุราษฎร์ธานี บ้านเกิดของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พบว่า รปช. พ่ายให้กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยกจังหวัดรวม 6 เขต แม้ส่งคนตระกูล “เทือกสุบรรณ” ลงสนาม 3 เขต ก็ตาม

ทั้งนี้ 3 พี่น้องตระกูลเทือกสุบรรณ คะแนนแพ้ทั้ง 6 เขต โดยเขต 1 นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย น้องชายนายสุเทพ ที่ย้ายไปอยู่ รปช. กับพี่ชาย คะแนนหลุดไปอยู่อันดับ 4 ขณะที่เขต 4 นายเชน เทือกสุบรรณ พรรครปช. อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย น้องชายนายสุเทพ อีกคน ได้ 13,214 คะแนน ซึ่งอันดับ 1 คือ นายสมชาติ ประดิษฐพร จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ไป 45,078 คะแนนส่วนเขต 6 นายภูมิ เทือกสุบรรณ หลานชายนายสุเทพ พรรค รปช. อดีตสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี เขต อ.ท่าชนะ ได้ 16,528 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 1 คือ นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ไป 40,360 คะแนน

สำหรับพื้นที่ จ.กระบี่ การเลือกตั้งรอบนี้คนกระบี่ตัดสินใจกาคะแนนให้แก่นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ชนะขาดในเขต 2 ทำให้ตระกูลเอ่งฉ้วน สูญพันธุ์ทางการเมืองในระดับชาติในรอบหลายปี ส่วนเขต 1 พรรค ปชป. นายสาคร เกี่ยวข้อง ยังครองเก้าอี้เหนียวแน่น เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของกระบี่ ที่มี ส.ส.ตระกูล “เกี่ยวข้อง” ทั้ง 2 เขต

หรือที่ จ.ตรัง เกิดพลิกล็อกอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเป็นพื้นที่บ้านเกิดของนายชวน หลีกภัย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าของพื้นที่มาอย่างยาวนาน แต่ครั้งนี้พ่ายให้กับพรรคพลังประชารัฐ โดยนายนิพันธ์ ศิริธร อดีตรองผู้ว่าราชการ จ.ตรัง ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ (37,849 คะแนน) ชนะ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.ตรัง (36,297 คะแนน) แชมป์เก่าเจ้าของพื้นที่หลายสมัย เล่นเอา หมอสุกิจถึงกับประกาศยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิงทีเดียว

หรือแม้กระทั่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีต ส.ส.จอมเก๋าอย่าง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” อดีต ส.ส.4สมัย อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งใน “กระเป๋าเงิน” คนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ร่วงไปเหมือนกัน แถมยังแพ้แบบเจ็บใจอีกต่างหากโดยแพ้ไปแค่เพียง 106 คะแนนเท่านั้น

สรุปก็คือ พื้นที่ภาคใต้เจ้าของแชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์เสียที่นั่ง ส.ส.ไปเกินครึ่ง กล่าวคือจากเก้าอี้ ส.ส.50 ที่นั่ง ประชาธิปัตยืได้มาเพียง 22 เขต โดนพลังประชารัฐจัดไป 13 เขต ภูมิใจไทยได้ไป 8 เขต พรรคประชาชาติของ “อาจารย์วันนอร์” หยิบไป 6 เขต และพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) ของ “ลุงกำนัน” ได้ไป 1 เขตคือ “ชุมพร” โดยเป็นเก้าอี้ของ “ลูกช้าง” นายสุพล จุลใส และเป็น ส.ส.ระบบเขตเพียงคนเดียวของพรรคนี้

ภาคอีสาน ฐานที่มั่นหลักของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แห่งพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ที่ จ.นครราชสีมา ปรากฏว่า เลือกตั้งรอบนี้ ชพน. เหลือที่นั่งเพียงหนึ่งเดียว ส่วนที่เหลือตกเป็นของ พปชร. 6 เขต ภท. 4 เขต พท. 3 เขต เรียกว่า แทบจะปิดตำนานอดีตตัวเต็งรัฐมนตรีอย่างนายสุวัจน์กันเลยทีเดียว

สำหรับ จ.ขอนแก่น นายวัฒนา ช่างเหลาประธานสโมสรฟุตบอลขอนแก่น ยูไนเต็ด ลูกชายของ “เอกราช ช่างเหลา” แห่งพรรคพลังประชารัฐ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เอาชนะ “นางอรอนงค์ สาระผล” ภรรยา “นายภูมิ สาระผล” เจ้าของพื้นที่หลายสมัย อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ติดคุกจากคดีทุจริตจำนำข้าว

นอกจากนั้น ผลการเลือกตั้งในจ.ขอนแก่น เขต 1 ก็หักปากกาเซียนเช่นกัน เพราะแชมป์เก่า 4 สมัยอย่าง “เสี่ยเต๋า” นายจักริน พัฒน์ดำรงจิตร อดีต ส.ส.เพื่อไทย ถูกล้มด้วยม้ามืดโนเนมจากพรรคอนาคตใหม่ ในสนามเลือกตั้งอย่าง นายฐิตินันท์ แสงนาค

ภาคเหนือ มีช้างล้มที่ จ.เชียงราย โดย 2 ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ สามารถแจ้งเกิดในเขต 1 และเขต 6 ชนิดหักปากกาเซียน เนื่องจากเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ถอดด้าม ทั้งที่ จ.เชียงราย เป็นพื้นที่สีแดงและพรรคเพื่อไทย ยึดครองมาอย่างยาวนาน โดยเขต 1 นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ “หมอเอก” สามารถคว่ำนายสามารถ แก้วมีชัย แชมป์เก่าจากพรรรคเพื่อไทย และนางรัตนา จงสุทธนามณี จากพรรคพลังประชารัฐ ส่วนเขต 6 นายพีรเดช คำสมุทร พรรคอนาคตใหม่ ชิงเก้าอี้ ส.ส.มาครองโดยล้มช้างอย่างนายอิทธิเดช แก้วหลวง จากพรรคเพื่อไทย

หรือที่ จ.แพร่ ซึ่งอนาคตใหม่ก็กวาดเรียบไปทั้งสองเขต โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 นายเอกการ ซื่อทรงธรรม พรรคอนาคตใหม่ ได้ 70,608 นางธนินจิตรา ศุภศิริ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 57,221 ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 14,974 คะแนน ขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 2 นายกฤติดนัย สันแก้ว พรรคอนาคตใหม่ ได้ 47,714 นายวิตติ แสงสุพรรณ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 26,366 นายคณาธิป มุดเจริญ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 13,197 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ยังมีบิ๊กเนม ตระกูลดังหลายกลุ่มที่ยังรักษาฐานที่มั่นทางการเมืองเอาไว้ได้ เช่น บุรีรัมย์ บ้านเกิดของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้มากบารมีของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พบว่า ภท. ชนะยกจังหวัด 9 เขต ส่วนสุพรรณบุรี บ้านเกิดของ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ นั้น พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ชนะยกจังหวัด 4 เขต และเชียงใหม่ ฐานที่มั่นของตระกูลชินวัตร บ้านเกิดของนายทักษิณ พรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะยกจังหวัด 9 เขต เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย “ที่สุด” ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ “ว่าที่ ส.ส.ม้ง”คนแรกสุดในการเลือกตั้งของประเทศไทย หรือ นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ หรือ “เม่น ไทยแลนด์” นักกีฬาเทเบิ้ลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย เหรียญเงิน เอเชียนพาราเกมส์ 2018 โดยเป็นผู้ที่พิการทางร่างกายเพียงคนเดียวที่ได้เข้าสู่สภา รวมถึง “กอล์ฟ - ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” โดยทั้ง 3 คนเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ดี คงต้องรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ กกต.จะประกาศภายใน 9 พ.ค. 2562 ซึ่งอาจมีพลิกโผไปจากที่เห็นก็เป็นได้ เนื่องด้วยยังมี “ใบแดง ใบส้มและใบเหลือง” รออยู่อีกเป็นจำนวนไม่น้อย




กำลังโหลดความคิดเห็น