xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สนามเลือกตั้ง กทม. “เปลี๋ยนไป”!!! “พลังประชารัฐ” แชมป์ “ปชป.” สูญพันธุ์ “อนาคตใหม่ มาแรง จับตา “ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ” สนุกแน่ๆ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งสำคัญเลยทีเดียวสำหรับ “สนามกรุงเทพมหานคร(กทม.)” ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เมื่อเจ้าของพื้นที่อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)” สอบตกในทุกเขตการเลือกตั้ง หรือไม่ได้รับเลือกให้เข้ามาเป็น ส.ส.แม้แต่คนเดียว

ขณะที่พรรคที่เป็นเจ้าของ “แชมป์” ในครั้งนี้ตกเป็นของ “พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)” ที่สนับสนุน “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยจำนวน ส.ส. 12 คน เฉือนเอาชนะ “พรรคอนาคตใหม่(อนค.)” ภายใต้การนำทัพของ “เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่มาแรงแบบหยุดไม่อยู่ด้วยจำนวน ส.ส.9 คน

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” พรรคหลักของระบอบทักษิณ เที่ยวนี้ก็ยังคงสามารถรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจพอสมควร โดยมีจำนวน ส.ส.9 คนเช่นกัน

หลังปิดหีบเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนดำเนินไปอย่างสูสีระหว่างพลังประชารัฐ เพื่อไทยและอนาคตใหม่ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มี “เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นแกนนำนั้น ตัวเลขการขานชื่อนับคะแนนหายไปจนน่าตกใจและในที่สุดผลก็ปรากฏออกมา “ช็อก” อารมณ์และความรู้สึกของสังคมไม่น้อย

โดยผลปรากฏออกมาให้เห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ แถมหลายเขตเลือกตั้ง คะแนนผู้สมัคร ปชป.ยังถูกทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว ยิ่งเมื่อเทียบกับ “พรรคอนาคตใหม่” ที่มาแรงในทุกเส้นทางแล้วก็ยิ่งน่าตกใจ เพราะในเขตที่ไม่ได้ ส.ส.คะแนนก็เบียดกับที่ 1ชนิด “ลมหายใจรดต้นคอ” เลยทีเดียว

ในสนาม กทม.เที่ยวที่แล้วคือปี 2554 ซึ่งมีจำนวน 33 เขตเลือกตั้ง “ค่ายสีฟ้า” เป็นเจ้าของแชมป์ด้วยจำนวน ส.ส.24 ที่นั่ง ที่เหลือตกเป็นของ “ค่ายสีแดง” อีก 9 ที่นั่ง ส่วนเที่ยวนี้ที่หดเหลือ 30 เขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเลือกส่งเฉพาะเขตที่หวังผลแค่ 22 เขต ส่วนอีก 9 เขตไม่ส่งตัวผู้สมัคร และเติมเต็มด้วยผู้สมัครในสีเสื้อ “พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.)” ตามยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน” ก่อนที่จะกระทำการส่อเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรค ขณะที่ประชาธิปัตย์ส่งเต็มอัตราศึก

เห็นชื่อเห็นตัวผู้สมัครแล้ว กูรูการเมืองมีความเห็นตรงกันว่าประชาธิปัตย์น่าจะรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้พอสมควร ถ้าจะน้อยก็น้อยกว่าเดิมนิดหน่อย โดยเพื่อไทยอาจตีตื้นขึ้นมาได้สัก 1-2เขต ส่วนพลังประชารัฐก็คาดหมายว่าจะได้มาบ้างเพราะบางเขตบางพื้นที่ก็ดึงเอา ส.ก.เก่ามาลงสนาม ขณะที่อนาคตใหม่ไม่มีใครคาดหวังว่าจะได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียวเนื่องด้วยล้วนแล้วแต่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่

ทว่า เอาเข้าจริง สถานการณ์ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือและหักปากกาเซียนกันเป็นทิวแถว

กล่าวสำหรับผลการเลือกตั้ง(อย่างไม่เป็นทางการ) เที่ยวนี้ปรากฏดังนี้

เขตเลือกตั้งที่ 1 พระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, ดุสิต (ยกเว้นแขวนถนนนครไชยศรี) ชัยชนะตกเป็นของ “น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ” จากพรรคพลังประชารัฐ 22,446 คะแนน ทิ้งห่างเจ้าของพื้นที่อย่าง “เจิมมาศ จึงเลิศศิริ” จากพรรคประชาธิปัตย์ไปไกลลิบ

เขตเลือกตั้งที่ 2 ปทุมวัน, บางรัก, สาทร น.ส.พัชรินทร์ ชำศิริพงษ์ จากพรรคพลังประชารัฐ โผล่พรวดขึ้นมาเป็น ส.ส. ด้วยคะแนน26,909 เสียง เขี่ย “มาดามตุ๋ย-อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์” จากประชาธิปัตย์ไปแบบสบายๆ โดยมี น.ส.พัสวี ภัทรพุทธากร จากอนาคตใหม่เบียดมาติดๆ

เขตเลือกตั้งที่ 3 บางคอแหลม, ยานนาวา น.ส.วรรณรวี ตะล่อมสิน จากพรรคพลังประชารัฐ28,494 คะแนน เขี่ย “ลูกหม่อมเต่า” ม.ล.อภิมงคล โสณกุล จากประชาธิปัตย์ที่หลุดไปเป็นที่ 3 แบบสบายๆ

เขตเลือกตั้งที่ 4 คลองเตย วัฒนา นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา จากพรรคพลังประชารัฐ 27,620 คะแนน สามารถเขี่ยอดีตคนกันเองคือ “เสี่ยเจมส์ อนุชา บุรพชัยศรี อดีต ส.ส.2 สมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปด้วยคะแนนครึ่งต่อครึ่ง โดยมี “นายกรณ์ จตุวิมล” จากอนาคตใหม่เบียดมาเป็นที่ 2

เขตเลือกตั้งที่ 5 ดินแดง ห้วยขวาง งานนี้ “ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ” จากพรรคเพื่อไทย สามารถจับจองเก้าอี้เอาไว้ได้ด้วยคะแนน 27,897 เสียง แต่ก็เฉือนคู่แข่งจาก “พลังประชารัฐ” และ “อนาคตใหม่” ไปแบบหวิวๆ ส่วน “ธนา ชีรวินิจ” จากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็น “คู่แข่ง” หลักหลุดไปจากวงโคจรอย่างไม่น่าเชื่อ

เขตเลือกตั้งที่ 6 พญาไท ราชเทวี จตุจักร(เฉพาะแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล) น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ จากพรรคพลังประชารัฐ แหกโผมา28,690 คะแนน เขี่ย “คู่ชิงหน้าเดิม” คือ “เสี่ยตุ๋น” ประพนธ์ เนตรรังษี จากเพื่อไทยและ “เสี่ยเอ๋”-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากประชาธิปัตย์ ตกเวทีไปแบบเจ็บกระดองใจ

เขตเลือกตั้งที่ 7 บางซื่อ ดุสิต(เฉพาะแขวงนครไชยศรี) น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ จากพรรคพลังประชารัฐ 25,180 คะแนน มาแบบเหนือความคาดหมาย ทำเอาตัวเต็งอย่าง “ผู้กองมาร์ค” ร.ต.อ.วัฒนารักษ์ สุรนาทยุทธ์ จากเพื่อไทยตกกระป๋องไปพร้อมๆ กับสุดหล่อ “หมอเอ้ก” นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ จากประชาธิปัตย์

เขตเลือกตั้งที่ 8 ลาดพร้าว วังทองหลาง(ยกเว้นแขวงพลับพลา) นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ จากพรรคพลังประชารัฐ 29,090 คะแนน โค่น 2 ตัวเต็งคือ “หมวดเจี๊ยบหวานใจเสี่ยไก่” ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง จากพรรคเพื่อไทย และ “ดร.ต๋อย” สรรเสริญ สมะลาภา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งขึ้นชั้นประธาน ภาค กทม.แบบเนิบๆ

เขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่ จตุจักร(ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล) เขตนี้มีปัญหาพอสมควรโดยมีปัญหาการนับคะแนน เนื่องจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิมีน้อยกว่าบัตรลงคะแนนที่นับได้ ทำให้ไม่สามารถรวมคะแนนได้ ทำให้ต้องมีการตรวจสอบกันใหม่ อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาสำนักงานเขตหลักสี่ได้แจ้งผลการนับคะแนนเป็นที่เรียบร้อย โดย นายสิริ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ 33,321 คะแนน กลับมาพลิกชนะผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยคือ “เสี่ยอ๊อบ-นายสุรชาติ เทียนทอง” ทายาท “ป๋าเหนาะ” ตัวเต็งที่ได้ 30,564 คะแนน ขณะที่ “รองแต้ม-พล.ต.วิชัย สังข์ประไพ” เจ้าของฉายา “มือปราบหูดำ” จากประชาธิปัตย์ที่เพิ่งลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกและถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญ แพ้ไปตามระเบียบ

เขตเลือกตั้งที่ 10 ดอนเมือง เขตนี้เป็นไปตามคาด เพราะไม่มีใครสามารถเป็นคู่ต่อกรของ “จอมกระโดดถีบ” อย่าง “นายการุณ โหสกุล” ได้ โดยเที่ยวนี้มีคนกาบัตรให้ “เสี่ยเก่ง” ไปทั้งสิ้น 30,800 คะแนน

เขตเลือกตั้งที่ 11 สายไหม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พรรคเพื่อไทย 34,679 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 12 บางเขน นายอนุสรณ์ ปั้นทอง พรรคเพื่อไทย 30,254 คะแนน สองเขตนี้ ไม่มีพลิกโผ

เขตเลือกตั้งที่ 13 บางกะปิ วังทองหลาง(เฉพาะแขวงพลับพลา) น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 47,489 คะแนน ทำเอาหนุ่มหล่อ “นิวเด็ม” อย่าง “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานน้ามาร์ค - อภิสิทธิ์ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็น ส.ส. หลุดไปจากวงโคจรแบบไม่มีลุ้นพร้อมกับตัวเต็งจากเพื่อไทยคือ “เสี่ยปุ๊น” ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ที่เข้าป้ายมาเป็นที่ 2

“ ขอบคุณประชาชนชาวไทยทุกคน ที่บอกให้เราได้ยินชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ในหลายทิศทาง เราควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสมานั่งถอดบทเรียนกับ หลายปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าใจอย่างแท้จริงว่าพรรคต้องเดินไปในทิศทางไหน ผมเพียงหวังว่าในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่ง ผมจะได้มีโอกาสช่วยพรรคเลือกเดินก้าวต่อไปในทิศทางที่ถูกต้องและซื่อตรงต่ออุดมการณ์พรรค และมีโอกาสร่วมสร้างบ้านหลังนี้ใหม่ ที่คงจำเป็นต้องปรับทั้งโครงสร้างและกระบวนการทำงานหลายอย่างให้เข้ากับโลกยุคใหม่มากขึ้น ก่อนที่พวกเราจะกล้ากลับมาเสนอตัวเองเป็นทางเลือกหลักของคนไทยในภายภาคหน้า” ไอติมโพสต์ยอมรับความพ่ายแพ้ในการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกของเขา
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานอภิสิทธิ์ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็น ส.ส. หลุดไปจากวงโคจรแบบไม่มีลุ้น
ถัดมาโซนตะวันออก พื้นที่อิทธิพลของ “พรรคเพื่อไทย” ที่บรรดา ส.ส.เก่าลงสมัครพร้อมหน้าพร้อมตา ก็ต้องถือว่า “พลาดเป้า” ไปพอสมควร เพราะต้องแบ่งเก้าอี้ไปให้พลังประชารัฐและอนาคตใหม่หลายพื้นที่ทีเดียว เริ่มจาก
เขตเลือกตั้งที่ 14 บึงกุ่ม คันนายาว(เฉพาะแขวงรามอินทรา) นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ 31,445 คะแนน ทิ้งคู่แข่งคือ “เสี่ยพรหม” พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ จากประชาธิปัตย์หล่นไปไกล

เขตเลือกตั้งที่ 15 มีนบุรี คันนายาว (ยกเว้นแขวงรามอินทรา) เขตนี้ต้องถือว่า “ล็อกถล่ม” เพราะแรกเริ่มเดิมทีคาดว่า “วิชาญ มีนชัยนันท์” จากพรรคเพื่อไทยน่าจะแข็งโป๊ก แต่ที่ไหนได้กลับพ่ายนายชาญวิทย์ วิภูศิริ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ 31,551 คะแนนไปเสียอย่างนั้น ส่วน “เสี่ยลูกนัท” ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย จากประชาธิปัตย์ แห่งค่ายโนเบิล ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย ไม่ต้องพูดถึงคะแนนให้ปวดใจ

เขตเลือกตั้งที่ 16 คลองสามวา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย ได้ 31,481 คะแนน คู่แข่งจากพลังประชารัฐและอนาคตใหม่ยังโค่นไม่ลง ส่วนน้องสาวสุรินทร์ พิศสุวรรณอย่าง “ฮูวันดีย๊ะ พิศสุวรรณ” ก็เป็นไปตามกระแสของพรรคประชาธิปัตย์ต้นสังกัด

เขตเลือกตั้งที่ 17 หนองจอก นายศิริพงษ์ รัสมี พรรคพลังประชารัฐ 25,329 คะแนน โค่นแชมป์เก่าจากเพื่อไทยคือ “นายไพโรจน์ อิสระเสรี” ชนิดเซียนอยู่รู หมูอยู่ตึก เพราะแทบฟอร์มตอนแรกแล้วไม่สูสีเลยก็ว่าได้

เขตเลือกตั้งที่ 18 ลาดกระบัง น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย ได้ 35,361 คะแนน หัก “อาแท้ๆ” อย่าง “นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์” ที่ใส่เสื้อพลังประชารัฐไปแบบได้คะแนนห่างกันครึ่งต่อครึ่ง

เขตเลือกตั้งที่ 19 สะพานสูง ประเวศ (ยกเว้นแขวงหนองบอน) นายประสิทธิ์ มะหะหมัด พรรคพลังประชารัฐ เข้าป้ายอย่างเฉียดฉิว 28,203 คะแนน เฉือนคู่แข่งจากอนาคตใหม่ไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด แต่ที่ยังงงไม่หายคือ “มาดามกุ๊ก” นาถยา (แดงบุหงา) เบ็ญจศิริวรรณ จากประชาธิปัตย์ที่จบเกมไปแบบน้ำตาตกใน

เขตเลือกตั้งที่ 20 สวนหลวง ประเวศ(เฉพาะแขวงหนองบอนและแขวงดอกไม้) นายมณฑล โพธิ์คาย พรรคอนาคตใหม่ ได้ 40,462 คะแนน เขี่ยตัวเต็งคือ “นายสามารถ มะลูลีม” จากประชาธิปัตย์ และ “นายธันวา ไกรฤกษ์” จากพลังประชารัฐไปด้วยพลังของ “คนรุ่นใหม่” อย่างแท้ทรู

 เขตเลือกตั้งที่ 21 บางนา พระโขนง ตัวเต็งคือ “นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์” จากประชาธิปัตย์สอบตก โดยฝีมือของ นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ จากพรรคอนาคตใหม่ปักธงมาด้วยคะแนน 35,702 เสียง

เขตเลือกตั้งที่ 22 คลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี(ยกเว้นแขวงดาวคะแนอง แขวงบุคคโลและแขวงสำเหร่) ต้องถือว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะเที่ยวนี้ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตกร นักคราฟต์เบียร์ชื่อดังจากพรรคอนาคตใหม่ ได้ 34,368 คะแนน คว่ำเจ้าของพื้นที่อย่าง “ทพ.สุรันต์ จันทร์พิทักษ์” จากประชาธิปัตย์ไปแบบม้วนเดียวจบ จนเจ้าตัวถึงกับโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความรู้สึกว่า “ผมและพรรคประชาธิปัตย์ทำผิดอะไร จึงลงโทษกันรุนแรงขนาดนี้ครับ”
  “ทพ.สุรันต์ จันทร์พิทักษ์” ถึงกับโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความรู้สึกว่า “ผมและพรรคประชาธิปัตย์ทำผิดอะไร จึงลงโทษกันรุนแรงขนาดนี้ครับ”
ขณะที่ “เท่าพิภพ” โฟสเฟซบุ๊กเช่นกันว่า “สวัสดีครับ ผลเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ค่อนข้างเหนือความคาดหมายมาก “พวกเราชนะครับ” การที่ผลจะออกมาเป็นเเบบนี้ได้ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนเเละได้มอบคะเเนนเสียงนั้นเพื่อสนับสนุนพรรคเเละตัวผมเอง วันนี้ชาวคลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี ได้เเสดงให้เห็นเเล้วว่า พวกเราพร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่อนาคตใหม่ที่ดีกว่า อนาคตที่ #คนธรรมดา ก็ทำการเมืองได้ เราจะเริ่มขีดเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ไปด้วยกัน ทุกท่านครับการเดินทางก่อนหน้านี้เเม้จะเหนื่อยล้ากันมามากแล้ว เเต่คงเทียบไม่ได้กับสิ่งที่จะต้องเจอในหนทางข้างหน้า ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า การเมืองทำเองคนเดียวไม่ได้ เราต้องช่วยกัน ผมเป็นได้เพียงตัวเเทนของทุกคนที่จะเข้าไปแสดงความเห็นในสภา เเต่ความคิดเห็นของทุกคนนั้นคือสิ่งสำคัญ โปรดอย่าถามว่าผมจะทำอะไรให้เขตนี้ จะเเก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะเราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก ผมพร้อมจะรับฟังและเข้าใจปัญหาของทุกท่าน เพื่อนำเข้าสู่สภาต่อครับ ขอบคุณอีกครั้งที่ร่วมสร้างปาฏิหาริย์ทางการเมืองร่วมกันครับ”
  “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” จากอนาคตใหม่โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความดีใจกับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของอนาคตใหม่
เขตเลือกตั้งที่ 23 จอมทอง ธนบุรี(เฉพาะแขวงดาวคะนอง แขวงบุคคโลและแขวงสำเหร่) นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี พรรคอนาคตใหม่ ได้ 27,651 คะแนน คว่ำ “เมียเฮียล้าน” นันทพร วีรกุลสุนทร จากประชาธิปัตย์ไปสบายๆ โดยมีผู้สมัครจากพลังประชารัฐและเพื่อไทยตามมาติดๆ

เขตเลือกตั้งที่ 24 ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ นายทศพร ทองสิริ จากพรรคอนาคตใหม่ก็สร้างความฮือฮาอีกแล้วครับท่านด้วย 38,409 คะแนน ส่งผลให้คู่แข่งคนสำคัญคือ สาทร ม่วงศิริ จากประชาธิปัตย์ และ ไกรเสริม โตทับเที่ยงจากพลังประชารัฐ สอบตกไปตามระเบียบ

เขตเลือกตั้งที่ 25 บางขุนเทียน น.ส.ณัฐชา บัญไชยอินสวัสดิ์ พรรคอนาคตใหม่ ได้ 38,340 คะแนน เขี่ย “ม่วงศิริ” อีกคนคือ สากล ม่วงศิริ จากประชาธิปัตย์ไปด้วยคะแนนห่างกันพอสมควร

เขตเลือกตั้งที่ 26 บางบอน หนองแขม(เฉพาะแขวงหนองแขม) งานนี้ “เสี่ยวัน-วัน อยู่บำรุง” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ “เป็ดเหลิม-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” เจ้าของสโลแกน “ใจถึง พึ่งได้” เข้าวินด้วยคะแนน 16,433 คะแนน ส่วน พ.ต.อ.นพ.สามารถ ม่วงศิริ จากประชาธิปัตย์สอบตก งานนี้ เรียกว่า “ม่วงศิริ” แพ้ทุกเขตที่ลงสมัครเลยทีเดียว

เขตเลือกตั้งที่ 27 ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน(เฉพาะแขวงตลิ่งชันและแขวงฉิมพลี) หนองแขม(ยกเว้นแขวงหนองแขม) นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ พรรคอนาคตใหม่ 29,545 คะแนน ลบชื่อ “เสี่ยขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ค่ายประชาธิปัตย์ออกไปจากสารบบพร้อมกับ พ.ต.ท.วันชัย ฟักเอี้ยง อดีต ส.ก.ตลิ่งชัน พรรคประชาธิปัตย์ที่ย้ายค่ายไปอยู่เพื่อไทย

เขตเลือกตั้งที่ 28 บางแค นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พรรคอนาคตใหม่ ได้ 29,593 คะแนน กะซวก “เสี่ยไก่” นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยไปแบบสบายๆ

เขตเลือกตั้งที่ 29 ภาษีเจริญ ตลิ่งชัน(ยกเว้นแขวงตลิ่งชันและแขวงฉิมพลี) นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา พรรคเพื่อไทย เข้าป้ายด้วยคะแนน 28,765 เสียงดับฝัน “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” จากประชาธิปัตย์ไปแบบไม่น่าเชื่อ

และเขตเลือกตั้งที่ 30 บางพลัด บางกอกน้อย นายจักรพันธ์ พรนิมิต พรรคพลังประชารัฐ ได้ 30,229 คะแนน ทำเอา “ดร.กานต์” รัชดา ธนาดิเรก” คนสวยแห่งพรรคประชาธิปัตย์น้ำตานองหน้า

เห็นตัวเลขข้างต้นแล้วต้องบอกว่า “เซอร์ไพรส์” ไม่น้อยกับการแจ้งเกิดของ “อนาคตใหม่” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร งานนี้ ถึงกับมีการคิดกันไปไกลว่า ถ้า “พรรคส้มหวาน” ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)” คงสามารถหยิบเก้าอี้มาครองได้ไม่ยาก ทำเป็นเล่นไป เผลอๆ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่สอบตกจาก “ปาร์ตี้ลิสต์” พรรคเพื่อไทยและเคยประกาศสนใจในสนามนี้ อาจแพ้ราบคาบก็เป็นได้

ส่วน “ประชาธิปัตย์” ที่สูญพันธุ์ใน กทม.เที่ยวนี้ ต้องบอกว่ามีปัจจัยแทรกซ้อนพอสมควร และไม่ใช่ว่าจะเป็นเพราะท่าทีของ “หัวหน้ามาร์ค” ประการเดียว เนื่องจากเสียงที่เทลงไปให้ พปชร.มีเรื่องของเหตุผลทาง “ยุทธศาสตร์การเมือง” ของคนกรุงเข้ามาเสริมด้วย ซึ่งปัจจัยนี้อาจแปรเปลี่ยนไปในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้

กระนั้นก็ดี ประชาธิปัตย์ก็มีความจำเป็นต้องทบทวนตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะเสียงที่ไปเลือก “อนาคตใหม่” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางของพรรคไม่โดนใจ “คนรุ่นใหม่” เลยก็ว่าได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น