xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องตลาดเบียร์ 0% ปั่นดรามา ปลุกกระแสเปรี้ยงปร้าง!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตามองอยู่ไม่น้อย สำหรับกรณีบริษัทน้ำเมาออกผลิตภัณฑ์ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์” แต่โฆษณาเป็น “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” ทั้งทุ่มงบโฆษณาทั้งทีวี โซเชียลฯ Out-of-Home Media ฯลฯ แถมยังมีข่าวแว่วมาอีกว่า 2 ค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่เมืองไทย เตรียมลุยตลาดเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ สินค้าชนิดนี้สามารถโฆษณาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกรมควบคุมโรค ออกโรงในทันที เพราะเกรงว่าจะเกิดการเลี่ยงบาลี - เลี่ยงกฎหมาย สร้างเข้าใจสาระสำคัญในผลิตภัณฑ์แบบผิด และย้ำว่า  “เครื่องดื่มมอลต์สกัดไม่มีแอลกอฮอล์ ต้องโฆษณาตามชื่อเท่านั้น ห้ามโฆษณาเชื่อมโยงไปถึงเบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เครื่องดื่มที่มาขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารตามกฎหมายของ อย. กำหนดให้มีแอลกอฮอล์หลงเหลือไม่เกิน 0.5% หรือ 0.5 ดีกรี โดยต้องเป็นแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในการผลิต ไม่ใช่การเติมแอลกอฮอล์ลงไป หากเกินจากนี้ ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายของกรมสรรพสามิต

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก และเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มาขึ้นทะเบียนรับเลขสารบบอาหารจาก อย. มีจำนวน 23 รายการ ซึ่งเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้น การโฆษณาจะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน

โดยหลักการคือ ต้องห้ามโฆษณาเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะเข้าข่ายโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญได้

อย่างไรก็ตาม อย. ตรวจสอบพบว่า เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกฮอล์ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครม ที่มีการโฆษณาว่าเป็น “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” มีการรีวิวซึ่งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพราะเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้ขออนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท รวมทั้ง เข้าข่ายโฆษณาสรรพคุณคุณภาพอาหารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แน่นอนว่า อย. ส่งเทียบเชิญเพื่อมาเปรียบเทียบ ส่วนจะมีการเชื่อมโยงว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ต้องพิจารณาข้อมูลเนื้อหา อาทิ มีการว่าจ้างชัดเจน ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทหรือไม่ บริษัทเป็นผู้โฆษณาหรือไม่ ฯลฯ

ทั้งนี้ มีการโฆษณาทำนองว่า “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ว่า ดื่มแล้วไม่เมา ดื่มได้ทุกที่ ทุกเวลา”

แน่นอนว่า เป็นการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจสาระสำคัญผิด นพ.ธเรศ กล่าวถึงการโฆษณาว่าต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องแสดงข้อความ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ สกัดแอลกอฮอล์ออก” คู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์

ขณะที่ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นสำคัญคือ บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มตามกฎหมายอาหาร แล้วใช้สัญลักษณ์ของเครื่องดื่มอาหาร มาโฆษณาแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นช่องว่างของกฎหมาย

ในต่างประเทศจะมีกฎหมายห้ามนำตราสัญลักษณ์ที่คล้ายคลึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้ในเครื่องดื่มอื่น แต่ของไทยตอนนี้ยังไม่สามารถแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้ จึงต้องหาวิธีการและมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาก่อน ตรงนี้เหมือนกับ น้ำดื่ม โซดา ที่ใช้โลโก้คล้ายกัน แต่เจตนาโฆษณาเบียร์ ดังนั้น อาจต้องใช้กฎหมายอาหารเข้ามาดำเนินการแทน โดยดูว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้อยู่ที่เจตนา หากโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยตรงเลย ก็จะไม่มีปัญหา แต่การมาโฆษณาว่าเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ ต้องมีการตรวจสอบต่อไป

สำหรับ เครื่อมดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่คุ้นเรียกกันคุ้นปาก เป็นผลิตภัณฑ์เจาะเทรนด์นักดื่มรุ่นใหม่ “คีพคูล-เฮลท์ตี้” เข้าสังคมได้แบบไม่มึนเมา ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ สร้างทางเลือกสำหรับนักดื่มที่ชอบรสชาติของเบียร์ แต่ไม่อยากให้แอลกอฮอล์กระทบไลฟ์สไตล์นั่นเอง

ข้อมูลเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาค่ายเบียร์หลายค่ายผลิตเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำเข้ามาทำตลาดเป็นระยะๆ อาทิ ไทเกอร์ แรดเลอร์ แอลกอฮอล์ 2% (กลุ่มบริษัททีเอพี) เชียร์ส Siam Weizen แอลกอฮอล์ 4% (กลุ่มบริษัททีเอพี), ยูเบียร์ แอลกอฮอล์ 4.5% (สิงห์), มายเบียร์ แอลกอฮอล์ 4.5% (สิงห์), สโนว์วี่ ไวเซ่น by est.33 แอลกอฮอล์ 4% (สิงห์) ฮันทส์เมน Cloudy Wheat Beer แอลกอฮอล์ 4% (ไทยเบฟ) และแบล็ค ดราก้อน เบียร์แดง แอลกอฮอล์ 4% (ไทยเบฟ)

สำหรับ เบียร์ 0% ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลเผยว่า ในช่วงปี 2010 - 2015 ตลาดเครื่องดื่มเบียร์นอนแอลฯ มีการเติบโต 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

เมาด์ ฮา.เก. เมย์โบม์ ฟาน เวิล ผู้อำนวยการแบรนด์ Heineken ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ครื่องดื่มมอลต์ไร้แอลกอฮอล์ ของ Heineken ความว่า ต้องการฉีกกรอบจากตลาดแบบเดิมๆ ใช้นวัตกรรมที่ผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติ มีความหวานจากกระบวนการผลิตโดยที่ไม่ได้มีการเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวาน และให้พลังงาน 69 แคลอรีต่อขวด จับกลุ่มคนรักสุขภาพได้

จากผลสำรวจเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ได้พบว่า กลุ่มคน Millennial ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักชอบความพอดีในการใช้ชีวิต ไลฟสไตล์การดื่มก็พบว่าคนกลุ่มนี้ชอบสังสรรค์ แต่ไม่ชอบดื่มจนเมา เพราะรับไม่ได้กับการที่ต้องเจอภาพตัวเองหลุดบนโซเชียลมีเดีย เป็นการรักษาภาพลักษณ์ตัวเองอย่างหนึ่ง และคนรุ่นใหม่กังวลเรื่องน้ำตาลเรื่องแคลอรี่จึงงดดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาสุขภาพรักษารูปร่าง

อย่างไรก็ตาม เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นสร้างกำไรยิ่งกว่าขายเบียร์ที่จำหน่ายทั่วไป ด้วยกรรมวิธีการผลิตแทบจะเหมือนกับเบียร์มีแอลกอฮอล์ปกติ เพียงแต่ช่วงสุดท้ายจะมีการสกัดแอลกอฮอล์ทิ้งไปนั่นเอง ทำให้ผู้ผลิตได้กำไรส่วนต่างกว่าเบียร์ปกติ ไม่เพียงไม่ต้องไปเสียภาษีบาป ยังทุ่มโฆษณาได้แพร่หลาย เพราะเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั่งเอง

คงต้องรอดูกันว่า ตลาดเครื่อมดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือที่เรียกกันติดปาก “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอร์” จะเติบโตสักแค่ไหน เพราะปีนี้แค่เริ่มต้นเท่านั้น และต้องบอกว่าความปรารถนาดีของภาครัฐที่เข้ามาปราบปรามเครื่องดื่มชนิด ยิ่งกระพือให้ “เบียร์ 0%” ตกเป็นเป้าสนใจ กระตุ้นให้นักดื่มอยากลองลิ้มชิมรส




กำลังโหลดความคิดเห็น