xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ระเบิดใต้ขยายวง “พัทลุง-สตูล” กำเนิดใหม่สัญญาณอันตรายท้าทายรัฐไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรื่องโดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกไม่น้อยสำหรับเหตุระเบิดที่ “สตูล” และ “พัทลุง” เมื่อวันที่ 9 มีนาคมต่อเนื่องวันที่ 10 มีนาคม 2562 เนื่องเพราะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความรุนแรงขยายวงออกจาก “พื้นที่เดิมๆ” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา จนนำมาซึ่งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ที่สำคัญคือ รูปแบบการก่อเหตุไม่ต่างอะไรกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

การก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นจึงมีความน่าสนใจ เพราะถ้าจะว่าไปทั้ง “สตูล” และ “พัทลุง” ไม่น่าจะเกิดความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวได้แม้ว่าลักษณะประชากรจะคล้ายกับจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาสก็ตาม

และด้วยความผิดปกติดังกล่าวกระมังจึงทำให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ไม่เป็นสุขและจำต้องเดินทางไปในพื้นที่ในวันรุ่งขึ้นเพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

เวลา 22.30 น.วันที่ 9 มี.ค. ระเบิดลูกแรกถูกวางไว้บริเวณถังขยะหน้าทางเข้า สภ.จ.สตูล และอีกเพียง 15 นาที ระเบิดลูกที่สองก็ทำงานตรง “จุดจอดรถของกลาง” สภ.เมืองสตูล ห่างจากจุดแรกราว 20 เมตร เรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการ “เย้ยหยัน” ฝ่ายความมั่นคงกันแบบไม่ไว้หน้าเลยทีเดียว เพราะเป็นการวางระเบิดบริเวณสถานีตำรวจ

แรงระเบิดนอกจากสร้างความเสียหายให้แก่ สภ.เมืองสตูลแล้ว ยังแรงถึงขั้นมีคำสั่งเด้งด่วน พ.ต.อ.พชรพล ณ นคร ผกก.สภ.เมืองสตูล ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับฝ่ายอำนวยการจังหวัดปัตตานีทันทีในเช้าวันที่ 11 มี.ค.

ยังไม่ทันครบวัน ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 10 มี.ค. เสียงระเบิดลูกที่ 3 ลูกที่ 4 ก็ดังขึ้นอีก ที่ร้านขายของชำตรงข้ามห้างแม็คโครสตูล ห่างจากจุดแรกไปประมาณ 9 กิโลเมตร โชคดีที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ลูกที่ 5 ได้ที่จุดนี้ แต่ยังไม่หมด เพียงอีกไม่กี่ชั่วโมง ก็พบระเบิดอีกลูกที่ร้านขายของชำตรงข้ามปั้ม ปตท.หัวสะพานตายาย ไม่ห่างจาก 2 จุดแรกมากนัก รวมเหตุระเบิดใน จ.สตูลทั้งสิ้น 3 จุด พบระเบิด 6 ลูก กู้ได้เพียง 1 ลูกเท่านั้น

“จังหวัดสตูลไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้”จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลกล่าว

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ จ.สตูล เท่านั้น ปฏิบัติการดังกล่าวยังเกิดอีกหลายจุดที่ จ.พัทลุง ชุดแรกเกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. วันที่ 10 มี.ค. บริเวณร้านขายของชำ 3 แห่งใน ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน เวลาไล่เลี่ยกันก็เกิดระเบิดขึ้นอีกหลายจุดในเขตเทศบาลตำบลปากพะยูน จุดแรกบริเวณถังขยะหลังโรงเรียนอนุบาลปากพะยูน จุดที่ 2 ภายในร้านขายจักรยานยนต์ จุดที่ 3 ทิ้งไว้ในกอดอกไม้บริเวณหน้าสุสานริมถนนสายหารเทา-ปากพะยูน จากนั้น ในเวลา 10.00 น. ยังพบระเบิดอีกลูกบนเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีรถไฟหารเทาและสถานีรถไฟโคกทราย บริเวณบ้านไทรพอน ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน น้ำหนัก 15 กิโลกรัม ภายในบรรจุสะเก็ดระเบิดและมีอานุภาพรุนแรง โชคดีที่ไม่ทำงาน

ที่น่าสนใจคือ ระหว่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงกำลังประชุมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งเครียดภายในห้องประชุม สภ.ปากพะยูน ห่างไปเพียง 50 เมตร ก็เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้ง เสียงระเบิดดังไปทั่วพื้นที่ เหมือนจะเป็นการประกาศส่งเสียงต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาเยือน รวมในพื้นที่ อ.ปากพะยูน เกิดเหตุระเบิดทั้งสิ้น 8 ลูก!

ขณะที่ในตัวเมืองพัทลุงเอง ในช่วงก่อนเที่ยงวันเล็กน้อย ก็เกิดระเบิดขึ้นกลางเมือง บริเวณสวนสาธารณะ ร.๙ ถึง 2 ลูก ระยะเวลาห่างกันประมาณ 20 นาที รวมที่ จ.พัทลุง มีระเบิดทั้งสิ้น 11 ลูก วันเดียวใน 2 จังหวัด สตูล-พัทลุง เจอเหตุระเบิดรวมทั้งสิ้น 17 ลูก!

รัฐบาล โดย “บิ๊กป้อม”- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “ยอมรับ” ว่า เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดคล้องกับ “บิ๊กป๊อก”- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน

“เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รถจักรยานยนต์ที่ใช้ก่อเหตุก็มาจากจังหวัดชายแดนใต้ ที่เขาขึ้นมาก่อเหตุที่ พัทลุง และ สตูล เพราะเขาไม่สามารถก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง”บิ๊กป้อมกล่าว

ขณะที่ “ปณิธาน วัฒนายกร” ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หน่วยข่าวกรองได้แจ้งเตือนเหตุดังกล่าวล่วงหน้ามา 1-2 วันแล้ว โดยเฉพาะวันที่จะมีการแสดงคอนเสิร์ต ที่ จ.พัทลุง เนื่องจากหน่วยข่าวกรองกังวลว่า จะมีคนมาร่วมงานจำนวนมาก

“จากการสืบสวนและการข่าว สันนิษฐานคนร้ายว่ามีจำนวน 2 คน แต่ไม่เกิน 6 คน และเป็นกลุ่มที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่คนในพื้นที่เกิดเหตุ ส่วนระเบิดมีการประกอบจากพื้นที่อื่นและนำเข้ามาก่อเหตุ ลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดนางเงือกที่ จ.สงขลาแล้วยังคล้ายคลึงกับเหตุความไม่สงบอีกหลายเหตุการณ์ใน จ.นราธิวาส ย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ยังตอบไม่ได้ว่าคนที่ก่อเหตุเป็นระดับปฏิบัติการหรือระดับสั่งการ แต่ยอมรับว่าเหตุระเบิดที่ จ.สตูล และพัทลุง การข่าวทราบล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ ”พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.รายงานความคืบหน้า

ก่อนหน้าที่จะเกิดระเบิดปูพรม 2 จังหวัด ประมาณ 1 เดือน มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาหลบซ่อนตัวในพื้นที่ อ.ปากพะยูน ได้ นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่น่าจะเกี่ยวข้องกัน นั่นคือ ช่วงกลางดึกคืนวันที่ 6 มี.ค. กลุ่มก่อความไม่สงบได้พ่นสีข้อความ “PATANI MERDEKA” และ “PATANI 110” ทั้งหมด 8 จุด ใน 3 อำเภอชายแดนของ จ.สงขลา คือ อ.สะบ้าย้อย เทพา และจะนะ ข้อความดังกล่าวมีความหมายถึง “กู้เอกราชรัฐปัตตานี” และ 110 หมายถึง 110 ปีที่มีการลงนาม “สนธิสัญญาบางกอก” (Bangkok Treaty of 1909) ระหว่างอังกฤษกับสยาม เพื่อยกไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ และหลังเหตุการณ์ระเบิด ก็มีการขึงป้ายและพ่นสีข้อความดังกล่าวอีก 3 จุดใน จ.ยะลา พร้อมกับวางระเบิดปลอมไว้ด้วย

คำถามที่ตามคือ แสดงว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพพอที่จะวางระเบิดในพื้นที่ไหนก็ได้ ตั้งแต่ใต้สุดอย่างยะลาจนถึงใจกลางประเทศอย่างกรุงเทพมหานครได้ ใช่หรือไม่? วันนี้ ทำให้นอกจากระเบิดที่สตูล-พัทลุงแล้ว หลายจังหวัดทั่วภาคใต้ต้องเฝ้าระวังกันชนิดวางใจไม่ได้ แล้วการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของหน่วยงานรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ทำให้เหตุการณ์ดีขึ้นหรือน้อยลงเลยหรือไม่?

เป็นคำถามที่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบต้องตอบ ไม่ใช่เพียงบอกว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เราเฝ้าระวังกันดีมาก จนทำอะไรไม่ได้ จนต้องออกมาก่อเหตุนอกพื้นที่!

ที่น่าสนใจ ในอดีต จ.สตูล และ จ.พัทลุง ถูก “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ใช้เป็นสถานที่สำหรับ“หลบภัย”หรือเป็นแหล่ง “ผลิตเอกสาร” โดยเฉพาะสตูลเป็นเส้นทางขนอาวุธจาก จ.อาเจะ ของประเทศอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากทั้ง 2 จังหวัดมีสิ่งที่ “เกื้อกูล” กับการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ ได้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือมี “โรงเรียนสอนศาสนา” จำนวนมาก ทำให้แนวร่วมสามารถที่จะ “แทรกซึม” เข้าไปได้ง่ายกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้

ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมบีอาร์เอ็นฯ จึงได้ไปเปิดปฏิบัติการทางทหารด้วยการก่อการร้าย ท้าทายหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ดังกล่าว

ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่า เกี่ยวข้องกับการ “หาเสียง” เลือกตั้งที่ดำเนินไปอย่างดุเดือดนั้น แม้พอจะมีข้อมูลให้น่าสงสัยอยู่บ้าง เนื่องจากทั้งสตูล-พัทลุงถือเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันสูงระหว่าง 2 พรรคการเมืองคู่แข่ง และไม่อาจตัดปัจจัยดังกล่าวไปได้เสียทีเดียว แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ก็คงมีเปอร์เซ็นต์ที่ไปในทิศทางนั้นไม่มากเท่าใดนัก และดูเหมือนว่าหน่วยงานความมั่นคงจะไม่ติดใจในประเด็นนี้

แต่ที่น่าจะพอมีเค้าไม่น้อยก็อาจจะเป็นกรณีการสร้างสถานการณ์ทำลาย “ความน่าเชื่อถือ” ของรัฐบาลในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะระเบิดในทั้ง 2 จังหวัดนั้น ได้ตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ และสามารถใช้ในการดิสเครดิตทางการเมืองของ “รัฐบาล คสช.” ได้ไม่น้อยเช่นกัน.




กำลังโหลดความคิดเห็น