xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เดินเครื่องเก็บภาษีความหวาน ก๊อก 2 จับตา “น้ำอัดลด ชาเขียว กาแฟกระป๋อง” ขึ้นราคา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ขณะนี้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับหน้าร้อนทำให้น้ำอัดลมขายดี นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวาน ช่วยทำให้รายได้มากขึ้น เห็นได้จากก่อนนี้กรมสรรพสามิต มีรายได้เพียง 18,000 ล้านบาทต่อปี แต่พอขึ้นภาษีน้ำหวานเดือนกันยายน 2560 กรมฯ จัดเก็บรายได้เงินเพิ่มถึง 22,000 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท” นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต ให้ภาพการจัดเก็บภาษีจากค่าความหวานที่ได้ทั้งเม็ดเงินเข้ารัฐ รวมทั้งส่งผลทำให้คนไทยมีสุขภาพดี

การขึ้นภาษีความหวานระลอกใหม่ ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีความหวานเกินกำหนดจะต้องเสียภาษีมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้ง น้ำอัดลม, ชาเขียว, นม, น้ำผลไม้, เครื่องดื่มชูกำลัง, กาแฟกระป๋อง, เครื่องดื่มปรุงแต่งต่างๆ ฯลฯ

ทั้งนี้ หลังจากประกาศใช้อัตราภาษีเครื่องดื่มตามระดับความหวานตาม พ.ร.บ .ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เมื่อช่วงเดือน ก.ย. ปี 2560 กรมสรรพสามิตเตรียมปรับอัตราภาษีความหวาน รอบที่ 2 ในช่วง 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เครื่องดื่มกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม ยกเว้นการเก็บภาษี
เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ เสียภาษี 0.10 บาทต่อลิตร
เครื่องดื่มกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.5 บาท/ลิตร
เครื่องดื่มกลุ่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 3 บาท/ลิตร จากเดิม 1 บาท/ลิตร
และเครื่องดื่มกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัม จะต้องเสียภาษี 5 บาท/ลิตร

ในส่วนของราคาจำหน่ายในเร็วนี้จะปรับขึ้นราคาหรือไม่อย่างไร หากปรับขึ้นต้องสอดคล้องกับอัตราภาษี กล่าวคือมีสองทางให้ผู้ประกอบการเลือก หากไม่ปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลลง ก็ต้องปรับขึ้นราคาขายผลักภาระให้ผู้บริโภคกลายๆ

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางส่วนเลือกปรับตัวบ้างปรับลดน้ำตาลแทนการขึ้นราคา ซึ่งการปรับขึ้นภาษีความหวานระลอกใหม่ เป็นที่น่าจับตาว่าภาคเอกชนจะปรับกลยุทธ์การตลาดอย่างไร มีการปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มชนิดใดบ้าง ขณะเดียวกันการขึ้นภาษีความหวานจะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด

มีข้อมูลเปิดเผยว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 100 กรัม/คน/วัน ขณะที่องค์การอนามัยโลก เคยแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัม/คน/วัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพลดความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องดื่มนั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าแสนล้าน การจัดเก็บภาษีความหวานแบบขั้นบันไดย่อมสร้างรายได้เข้ารัฐจำนวนไม่น้อย

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีฯ เปิดเผยต่อไปว่า สภาพอากาศร้อนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การจัดเก็บน้ำอัดลมขายดี ทำให้การจัดเก็บภาษีน้ำอัดลมสูงขึ้น โดยพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบ 2562 คือ ระหว่าง ต.ค. 2561-ก.พ. 2562 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีจากน้ำหวาน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในเครื่องดื่มประเภทน้ำสี-น้ำอัดลม เพิ่มขึ้นจากประมาณการ 300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 - 3 เปอร์เซ็นต์

และคาดว่าปลายปี 2562 หลังจากการปรับขึ้นภาษีน้ำหวานอีกครั้งในช่วงเดือน ต.ค. จะจัดเก็บภาษีรวม 25,000 ล้านบาทต่อปี จากปี 2561 จัดเก็บภาษีได้ 22,000 ล้านบาทต่อปี

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าการปรับขึ้นภาษีความหวานในวันที่ 1 ต.ค. 2562 จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามขั้นบันได ทำให้เครื่องดื่มที่มีความหวานเกินกำหนดจะต้องเสียภาษีมากขึ้น การปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาด ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร และจะปรับเพิ่มรอบใหม่ 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2564 ดังรายละเอียดข้างต้นตามลำดับ

โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีความหวานเพิ่มขึ้นตามขั้นบันได ลำดับถัดไป 1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2566 จะปรับขึ้นอีกครั้ง รายละเอียดดังนี้ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร เว้นภาษี น้ำตาลผสม 6-8 กรัม เสีย 0.30 บาท เครื่องดื่มน้ำตาลผสมเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

จากนั้น 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ 6 กรัม เว้นภาษี เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขให้เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของพืชทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ได้ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ปรับเพิ่มเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะได้รับการลดภาษี เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง

สถานการณ์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยปรับลดปริมาณความหวานลงเพื่อให้สอดคล้องกับภาษี มีค่าเฉลี่ยความหวานอยู่ที่ 12 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จาก 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร น้ำอัดลมบางส่วนก็มีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาล

ขณะที่กลุ่มน้ำอัดลมสีดำ อาทิ โค้ก เป๊ปซี่ ไม่มีการปรับสูตร เนื่องจากเป็นสูตรเป็นมาตรฐานทั่วโลก ต้องคงรสชาติและปริมาณความหวานให้คล้ายกันทั่ว ซึ่งกลุ่มน้ำดำได้มีการออกผลิตภัณฑ์ประเภทซีโร่ หรือสูตรไม่มีน้ำตาลอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก

ข้อมูลคณะกรรมการน้ำตาล ระบุว่า น้ำตาลถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมากที่สุด ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากที่สุดกลุ่มในอาเซียน หากเทียบกับ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

หลังจากกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำหวาน ตั้งแต่ช่วงปี 2560 สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย ออกมาเปิดเผยว่า การบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศภาพรวมมีการชะลอตัวลงเล็กน้อย เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องดื่มส่วนใหญ่เริ่มหันมาปรับกระบวนการผลิตที่เน้นลดการใช้น้ำตาลทรายลงเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำหวานที่เพิ่มขึ้น

ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายสูตรในการคิดอัตราภาษีความหวานไว้ว่าเป็นในลักษณะของเซิร์ฟวิงไซส์ (Serving Size) คือ วัดค่าน้ำตาลตามหน่วยบริโภค ยกตัวอย่างน้ำหวานเข้มข้นจะคิดหลังจากผสมน้ำตามสัดส่วนที่กำหนดแล้ว เช่น ผสมออกมาเป็น 1 แก้ว 200 มิลลิลิตร มีน้ำตาลอยู่เท่าไรก็นำมาคิดภาษีตามอัตราใหม่ที่กรมสรรพสามิตกำหนด

ขณะเดียวกัน อย. มีข้อกำหนดในเรื่องของฉลากโภชนาการด้านหลังของผลิตภัณฑ์แสดงข้อมูลส่วนผสมของเครื่องดื่ม เพื่อให้กรมสรรพสามิตทราบถึงส่วนประกอบทั้งหมดภายในผลิตภัณฑ์นั้นและจัดเก็บภาษีง่ายขึ้น

การคิดภาษีความหวานจะคิดแบบน้ำตาลทั้งหมดแบบโทเทิลซูการ์ (Total Sugar) คือ น้ำตาลทั้งหมดในเครื่องดื่ม ไม่มีการแยกว่าเป็นน้ำตาลที่เกิดจากวัตถุดิบของเครื่องดื่มหรือปรุงแต่งเพิ่ม เพราะการตรวจสอบทำได้ยากและค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงใช้วิธีการคิดน้ำตาลทั้งหมดในเครื่องดื่มแทน

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาลสูงส่งผลกระต่อสุขภาพ เป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นสัญญาณที่ดีของการลดปัญหาโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ

สถิติระหว่างปี 2548 - 2552 พบว่าคนไทยบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งเครื่องดื่มในประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีปริมาณน้ำตาลมีผสมอยู่ค่อนข้างสูง ระหว่าง 9 - 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร โดยมาตรฐานไม่ควรเกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องโรคอ้วนและโรคเรื้อรังต่างๆ

ขณะที่ในหลายประเทศทั่วโลกมีการจัดเก็บภาษีความหวาน โดยให้เหตุผลทั้งลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ เช่น ฝรั่งเศส, เม็กซิโก, นอร์เวย์, ออสเตรเลีย, กัวเตมาลา ฯลฯ

“ภาษีความหวาน” เป็นการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาสร้างกลไกส่งเสริมสุขภาพดีของประชาชน ส่วนจะส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น