xs
xsm
sm
md
lg

สามพรรคใหญ่ปรับยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อชนะเลือกตั้งและช่วงชิงการนำจัดตั้งรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งการต่อสู้เพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมยิ่งมีความเข้มข้น แต่ละพรรคต่างคิดค้นยุทธศาสตร์ที่ประเมินว่ามีประสิทธิผลในการเอาชนะใจประชาชนและพิชิตคู่แข่งได้ขึ้นมาใช้ในสนามการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ที่กำหนดและใช้ในช่วงต้นของฤดูการแข่งขันเลือกตั้ง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขและบริบทของการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป และด้วยเหตุที่การแข่งขั้นเลือกตั้งครั้งนี้มีพลวัตสูง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การหาเสียงของแต่ละพรรคจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เริ่มจาก กลุ่มพรรคเพื่อไทย ในช่วงเริ่มต้นพรรคเพื่อไทยใช้ยุทธศาสตร์พรรคดาวกระจาย โดยสร้างพรรคเครือข่ายเพื่อกวาดคะแนนทั่วประเทศ แต่เมื่ออดีตผู้นำพรรคที่ยังทรงอิทธิพลอยู่ทั้งในพรรคหลักและพรรคเครือข่ายตัดสินใจแบบสุ่มเสี่ยงในการกำหนดให้ พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคเครือข่ายที่สำคัญเสนอชื่อบุคคลที่มีสถานภาพสูงของสังคมไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยประเมินว่าการตัดสินใจแบบนั้นเป็น “ยุทธศาสตร์ที่คาดไม่ถึง” (surprise strategy) ที่จะนำชัยชนะมาสู่พรรค “ตระกูลเพื่อ” ทั้งมวลโดยหากรวมพรรคเครือข่ายทุกพรรคจะได้ที่นั่ง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่ผลลัพธ์ของการตัดสินใจแบบนั้นกลับออกมาในทิศทางที่ “แกนนำเบื้องหลัง” ของพรรคตระกูลเพื่อคาดไม่ถึงแทน เพราะทำให้พรรคไทยรักษาชาติต้องล่มสลายไป จากการถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคด้วยข้อหามีการกระทำเป็นปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักษาชาติทั้งในบัญชีรายชื่อและแบบเขตเลือกตั้งต้องสิ้นสภาพการเป็นผู้สมัครทั้งหมด ยุทธศาสตร์ดาวกระจายเพื่อกวาดคะแนน จึงพบกับจุดจบ

ความหวังที่จะได้จำนวน ส.ส. เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรของพรรคตระกูลเพื่อ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย และจากการสำรวจของโพลหลายสำนักในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทยอันเป็น “สำนักงานใหญ่” ของ “พรรคตระกูลเพื่อ” จะได้จำนวน ส.ส. ไม่เกิน ๑๕๐ ที่นั่งมีสูง และแม้ว่ามีการใช้ยุทธวิธีถ่ายโอนคะแนนเสียงของผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติไปสู่พรรคอื่นๆในเครือข่ายก็ทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และหากทำจริงก็ล่อแหลมต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอีกด้วย หากสภาพเการณ์เป็นเช่นนี้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ความหวังของพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นเแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ริบหรี่ลงไป

การเสียขบวนของ “พรรคตระกูลเพื่อ” ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเน้นที่ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลแทน และหันมาใช้ยุทธศาสตร์สร้างพันธมิตรจับมือกับพรรคขนาดกลาง เช่นพรรคภูมิใจไทย แนวทางหลักของยุทธศาสตร์นี้คือ “สลัดขุน” หรือเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแก่พรรคพันธมิตรโดยอาจเสนอยกเก้าอี้นายกฯ ให้กับ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อแลกกับการเข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตาม การจะจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น การมีเพียงพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคพันธมิตรพรรคเดียวอาจยังไม่เพียงพอที่ทำให้ได้เสียงเกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องมีพรรคขนาดกลางพรรคอื่นมาร่วมด้วยอย่างน้อยอีกหนึ่งหรือสองพรรค

สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเริ่มต้นของการหาเสียงใช้ยุทธศาสตร์การหาเสียงโดยเน้นการนำเสนอนโยบายเพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมเป็นหลัก ขณะที่ยุทธศาสตร์เชิงจุดยืนทางการเมืองก็ไม่ค่อยชัดเจนนัก ด้วยเหตุผลที่ว่าแกนนำของพรรคยังไม่ตกผลึกความคิดทางการเมือง เพราะอาจยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ยังไม่แจ่มชัดเพียงพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดได้

ในช่วงต้นของฤดูการหาเสียงเลือกตั้ง มีนักการเมือง นักวิชาการและสื่อมวลชนบางกลุ่มร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์แบ่งขั้วการเมืองขึ้นมา โดยขุดแบบแผนของกระแสการเมืองแบบดั้งเดิมและผลิตเป็นวาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย กับ ฝ่ายเผด็จการ” ออกมาเผยแพร่ วาทกรรมชุดนี้ถูกกระจายแพร่หลายพอสมควรในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักการเมือง นักวิชาการและสื่อมวลชนอีกบางกลุ่มพยายามรื้อฟื้นวาทกรรม “ระบอบทักษิณ” ขึ้นมาเพื่อตอบโต้วาทกรรมชุดแรก สนามการต่อสู้ของวาทกรรมเชิงจุดยืนทางการเมืองจึงเป็นปฏิสัมพันของวาทกรรมสามชุด อันได้แก่ วาทกรรมระบอบทักษิณ วาทกรรมประชาธิปไตย และวาทกรรมเผด็จการ

นักการเมืองฝ่ายระบอบทักษิณพยายามสถาปนาและอ้างว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ผลักเอาฝ่ายที่ไม่สนับสนุนตนเองให้กลายเป็นฝ่ายเผด็จการ การแบ่งขั้วเช่นนี้เป็นการแบ่งแบบมีอคติและละเลยความเป็นจริงทางการเมืองในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือในสังคมมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ทั้งไม่สนับสนุนระบอบทักษิณเพราะไม่คิดว่านักการเมืองระบอบทักษิณจะเป็นประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนเผด็จการและการสืบทอดอำนาจของ คสช.ประชาชนกลุ่มนี้จึงตกอยู่ในภาวะที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด

ครั้นเมื่อแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์สถานการณ์ได้ชัดเจนและเห็นภูมิทัศน์ทางการเมืองแจ่มชัดขึ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงออกมาประกาศยุทธศาสตร์เชิงจุดยืนทางการเมืองอันเป็นทางเลือกที่สามขึ้นมา “แบบไม่เกรงใจใคร” โดยประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน และประกาศว่า พร้อมเป็น “แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล” พร้อมทั้งผลิตวาทกรรมชุดใหม่ขึ้นมาว่า “ไม่เอาพรรคที่ทุจริต และพรรคที่สืบทอดอำนาจ” เพื่อต่อสู้กับวาทกรรมชุดเดิม

ยุทธศาสตร์การสร้างทางเลือกที่สามจึงนับว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปลายฤดูการแข่งขั้นเลือกตั้ง ผลกระทบของยุทธศาสตร์นี้มีทั้งสองด้าน ด้านบวกคือ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สลัดหลุดจากการเป็นเงาหรือลูกไล่ของพรรคพลังประชารัฐและเงาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นการเพิ่มโดดเด่นขึ้นมาเทียบเท่าพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐในฐานะผู้แข่งขันการจัดตั้งรัฐบาล และยังทำให้ประชาชนกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งไม่นิยมทั้งพรรคเครือข่ายของระบอบทักษิณ และพรรคเครือข่ายการสืบทอดอำนาจ ได้มีทางเลือกเพื่มขึ้น และอาจหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับผลกระทบด้านลบก็คือ อาจทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน แต่มีใจนิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ด้วยไม่พอใจกับการประกาศจุดยืนดังกล่าว และหันไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐแทน และผลสืบเนื่องอีกอย่างจากการประกาศจุดยืนแบบนี้ของพรรคประชาธิปัตย์คือ อาจทำให้สมการทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมีความซับซ้อนและยากลำบากมากขึ้นก็เป็นได้

หากพรรคประชาธิปัตย์คาดหวังจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขแรกที่ต้องทำให้ได้คือ ต้องชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องได้ลำดับสองเป็นอย่างน้อย และจะต้องแสวงหาพรรคพันธมิตรที่เหนียวแน่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าพรรคนั้นคือพรรคภูมิใจไทย เพราะเคยร่วมจัดตั้งรัฐบาลในอดีตมาแล้ว ในกรณีพรรคภูมิใจไทยนั้น หากวิเคราะห์จากจุดยืนทางการเมืองแล้ว ความเป็นไปได้ที่จะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์มีสูงกว่าพรรคเพื่อไทย แต่หากพรรคเพื่อไทยใช้ยุทธศาสตร์เสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ความไม่แน่นอนของความเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก็อาจเกิดขึ้นได้

มาดู พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเริ่มจัดตั้งพรรคด้วยการใช้ยุทธศาสตร์ระดมดูดอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงเข้ามาเป็นฐานในระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายช่วงชิงชัยชนะส.ส.ในระดับเขตเลือกตั้ง และตามมาด้วยยุทธศาสตร์เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ มาเป็นคะแนนของพรรค แต่ด้วยยุทธศาสตร์แบบนี้เองที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐถูกตีตราว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจเผด็จการ
ต่อมาเมื่อพรรคพยายามที่จะให้พลเอกประยุทธ์เข้าร่วมรณรงค์หาเสียงให้แก่พรรค เพราะมีความเชื่อว่าผู้เลือกตั้งไทยตัดสินใจลงคะแนนโดยพิจารณาตัวผู้นำทางการเมืองเป็นหลัก ดังนั้นหากพลเอกประยุทธ์ซึ่งประชาชนนิยมชมชอบอยู่ไม่น้อยสามารถรณรงค์หาเสียงให้แก่พรรคได้ ก็จะช่วยให้พรรคได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น พรรคพยายามขอให้พลเอกประยุทธ์ขึ้นเวทีปราศรัยของพรรค แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า การกระทำดังกล่าวเสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง และอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ถูกนำมาโจมตีในภายหลังได้ การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์จึงสร้างผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย เพราะขาดพลังสำคัญในการดึงดูดคะแนนนิยมจากประชาชนไป

อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้เงื่อนไขการตรวจราชการลงพื้นที่จังหวัดสำคัญหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น และนครราชสีมา ปราศรัยพูดจากับประชาชนเกี่ยวกับผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลและการสืบทอดการทำงานในอนาคต รวมทั้งการแสดงบทบาทอย่างมีสีสันเชิงการละคร เช่น การพูดทักทายกับประชาชนโดยการใช้ภาษากวี เอ่ยวจีทักทายเป็นบทกลอน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สามารถเป็นข่าวได้

ถึงกระนั้นสถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐในช่วงท้ายฤดูการแข่งขันก็ไม่สู้ดีนัก โดยดูจากผลโพลล์ของ ส.ส. เขตของสำนักข่าวบางแห่ง ซึ่งอยู่ในลำดับที่สามตามหลังพรรคประชาธิปัตย์อยู่หลายช่วงตัวทีเดียว โอกาสที่จะขยับขึ้นเป็นลำดับสองนั้นหรือได้จำนวน ส.ส.ถึง ๑๕๐ คน ตามที่หัวหน้าพรรคคาดหวังเอาไว้ดูจะกลายเป็นความฝันที่ยากบรรลุถึงได้ และหากพรรคพลังประชารัฐได้ชัยชนะในลำดับที่สามจริง โอกาสที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและมีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีน้อยลงตามลำดับ แต่ก็ไม่ถึงกับไม่สามารถร่วมรัฐบาลได้ โอกาสการร่วมรัฐบาลก็ยังมีอยู่ แต่ในฐานะพรรคร่วมไม่ใช่แกนนำของรัฐบาล ยกเว้นเสียแต่ว่า กลุ่มอำนาจรัฐจะยอมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรโดยสั่งให้ สว. ลงมติสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หากเป็นกรณีนั้น รัฐบาลหลังเลือกตั้งก็จะตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพ แต่ก็สามารถซื้อเวลาให้แก่กลุ่มอำนาจรัฐได้ช่วงหนึ่ง

สามพรรคการเมืองใหญ่ต่างปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะเลือกตั้งและช่วงชิงการนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตลอดเวลาในระหว่างฤดูการหาเสียงเลือกตั้ง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร พรรคไหนจะสามารถยึกดุมชัยชนะเอาไว้ในท้ายที่สุดเป็นเรื่องที่ต้องจับตามมองอย่างใกล้ชิดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น