ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (ศาสตราจารย์ระดับ 11)
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
E-mail: pongpiajun@gmail.com
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
E-mail: pongpiajun@gmail.com
ช่วงสองสามวันที่ผ่านมาระดับความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 รวมทั้งค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ หรือ AQI ที่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจนติดอันดับหนึ่งของโลกมาสองวันติดต่อกัน สำหรับคนเชียงใหม่และคนในอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะจำต้องทนสูดดมกับควันพิษมานานนับสิบปีแล้ว แต่เหตุใดปีนี้ฝุ่น PM2.5 จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมากต่อรัฐบาลตลอดทั้งเรียกความสนใจให้กับสื่อมวลชนอย่างชนิดที่ว่าไม่เคยมีปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมใดที่สื่อหลายสำนักเกาะติดสถานการณ์แบบวันต่อวันเช่นนี้มาก่อน?
มีกรณีดราม่าเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฉีดน้ำลดฝุ่นจากตึกสูง การใช้โดรนในการพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่น การสั่งห้ามการปิ้งย่างเพราะคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งในการเพิ่มปริมาณฝุ่น PM2.5 การระงับการก่อสร้างและกิจกรรมในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งความพยายามในการให้พนักงานขององค์กรและหน่วยงานภาครัฐทำงานที่บ้านเพื่อลดปริมาณยานพาหนะซึ่งคาดว่าเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของมลพิษทางอากาศให้น้อยลง การปฏิเสธเรื่องมลพิษข้ามพรหมแดนของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ ฯลฯ ซึ่งช่องว่างระหว่างข้อเท็จจริงทางวิชาการกับทัศนคติของหน่วยงานภาครัฐรวมทั้งความเชื่อของสาธารณะได้มีนักวิชาการหลายท่านรวมทั้งตัวผมเองได้ ออกมาแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงทางวิชาการให้กับประชาชนมาหลายครั้งแล้วจึงขออนุญาตไม่กล่าวซ้ำแต่จะขอหยิบยกบางประเด็นที่น่าสนใจ เผื่อพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศจะนำไปสานต่อเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรคและสิ่งที่สำคัญคือแต่ละพรรคควรออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ เช่น
1.หากพิจารณาตัวเลขงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2561 จะพบว่ายุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้รับงบประมาณเพียง 4.3% ของงบประมาณทั้งหมดหรือคิดเป็นจำนวนเงิน 125,459.4 ล้านบาทซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์อื่นๆเช่น ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง (วงเงิน 273,954 ล้านบาท หรือ 9.5% ของงบประมาณทั้งหมด) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (วงเงิน 476,596.6 ล้านบาท หรือ 16.4% ของงบประมาณทั้งหมด) และยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (วงเงิน 575,709.8 ล้านบาทหรือ 19.9% ของงบประมาณทั้งหมด) พรรคการเมืองใดมีนโยบายที่จะให้ความสำคัญโดยมีการเพิ่มสัดส่วนเรื่องงบประมาณการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศบ้าง?
2.ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ล้วนแล้วมีกฎหมายอากาศสะอาดหรือ Clean Air Act เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือแม้แต่ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายอากาศสะอาดด้วยเช่นกัน พรรคการเมืองของไทยมีจุดยืนอย่างไรต่อการผลักดันการร่างกฎหมายอากาศสะอาดสำหรับประเทศไทย? จริงอยู่ที่ประเทศไทยมี พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศและเสียงมีเพียงแค่ 4 มาตราเท่านั้นคือ มาตรา 64-68 ซึ่งยังขาดความละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์เมื่อเทียบกับ กฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งถูกร่างขึ้นมาเพื่อควบคุมและลดปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ
2.วิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างของภาครัฐ เช่น กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ได้เพียงแค่รายงานสถานการณ์มลพิษรายวัน แต่ยังขาดอำนาจในการลงไปบังคับใช้กฎหมาย เช่นอำนาจในการสั่งปิดโรงงานผู้รับผิดชอบต่อการปลดปล่อยมลพิษเป็นอำนาจโดยตรงของกรมโรงงานอุตสาหกรรมสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้รับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนน้ำมันจากยูโร4 เป็น ยูโร5 ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับคุณภาพอากาศของประเทศคือ กรมธุรกิจพลังงานสังกัดกระทรวงพลังงาน พรรคการเมืองของไทยเห็นด้วยหรือไม่กับการที่จะตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ โดยยุบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งแฝงอยู่ตามกระทรวงต่างๆให้ขึ้นตรงกับสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ?
3.พรรคการเมืองท่านมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องคุณภาพอากาศของประชาชนที่อยู่อาศัยในจังหวัดภาคเหนือตอนบนซึ่งต้องทนสูดดมควันพิษในช่วงฤดูหนาวมานานนับสิบปีอย่างไร? ขอทราบมาตรการจัดการปัญหาคุณภาพอากาศใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างเป็นรูปธรรม
4.ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สวีเดน ออสเตรเลีย มีค่ามาตรฐานสำหรับควบคุมสารก่อมะเร็ง โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือสาร พีเอเอช (PAHs) ในชั้นบรรยากาศ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ (รวมทั้งสารก่อการกลายพันธุ์อย่างเช่นสารไดออกซิน (Dioxins)) นอกจากนี้การควบคุมค่าโลหะหนักในชั้นบรรยากาศมีเพียงแค่ตะกั่วเท่านั้น ทั้งที่ยังมีโลหะหนักอีกหลายประเภทที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น ปรอท แคดเมี่ยม และสารหนู พรรคการเมืองของท่านมีนโยบายในการออกมาตรการควบคุมสารพิษดังกล่าวหรือไม่? หากมีท่านจะอ้างอิงค่ามาตรฐานใดมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนด?
คำถามทั้ง 5 ข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพของประชาชนผมได้ตั้งกระทู้ถามไปยังตัวแทนพรรคการเมือง 7 พรรคที่เข้าร่วมเวทีสาธารณะ พรรคการเมืองกับนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2562 ที่หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ โดยมีเจ้าภาพคือสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายต้นไม้ในเมือง เครือข่ายเพื่อนแม่น้ำ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย รวมทั้ง เครือข่ายไทยพร้อม (Thai Prompt) เป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดแสดงจุดยืนในแต่ละประเด็นได้อย่างชัดเจนครบถ้วน หนำซ้ำพรรคการเมืองซึ่งคาดว่าจะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งและสองกลับไม่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมเสวนาทั้งที่มีประเด็นสำคัญอื่น ๆ เช่นการบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะพิษ โรงไฟฟ้าถ่านหิน มลพิษในทะเล สารพิษตกค้างในอาหาร การจัดการพื้นที่มักกะสัน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น
นักปรัชญากรีก เพลโต เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่ฉลาดเกินกว่าจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จะถูกลงโทษด้วยการถูกคนที่ด้อยกว่าปกครอง (One of the penalties of refusing to participate in politics is that you end up being governed by your inferiors)” ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่จะชี้ชัดว่า คนไทยจะสามารถฝากความหวังด้านการจัดการคุณภาพอากาศไว้ให้กับพรรคการเมืองที่มีสำนึกความรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หรือ พอเข้าหน้าหนาวปลายปี 62 ก็จะออกมาดราม่าเรื่องฝุ่นกันอีกรอบ โดยที่รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่สามารถหาทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประชาชนได้เช่นเคย? กลุ่ม “ไทยเฉย” ที่ไม่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะถูกปกครองด้วยนักการเมืองที่ไร้จิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมและไร้สมรรถนะในการบริหารชาติ ดังที่ เพลโต เคยนิยามไว้สั้นๆว่า “ด้อยค่า” หรือไม่ หลังวันที่ 24 มีนาคม 2562 คาดว่าทิศทางการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคงมีความชัดเจนมากขึ้น