ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ข้าพุทธเจ้าจะรักษามรดกของพระองค์เท่าชีวิต ข้าพุทธเจ้าจะรักษามรดกของพระองค์เท่าชีวิต ข้าพุทธเจ้าจะรักษามรดกของพระองค์เท่าชีวิต
ข้าพเจ้าจะรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า เกียรติยศและศักดิ์ศรีของทหาร
ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะสนับสนุนรัฐบาลที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความจงรักภักดี และมีธรรมาภิบาล
ข้าพเจ้าจะดูแลช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส และจะปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว ด้วยความเมตตาและเป็นธรรม"
เสียงปฏิญาณตนของเหล่าทหารหาญนับร้อยชีวิตดังกระหึ่ม กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
โดยมี “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นต้นเสียง นำเหล่าผู้บังคับหน่วยระดับกองพัน ระดับผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล ผู้บัญชาการกองพลทหารบก จากทั่วประเทศ ปฏิญาณตน ก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ครั้งที่ 2/2562 วาระพิเศษ
โดยทุกนายมารวมตัวอย่างพร้อมเพรียงบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ หน้าหอประชุมกิตติขจร ในท่าคุกเข่า ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์ จะเป็นผู้นำกล่าวปฏิญาณตน
ใครต่อใครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยปรากฏประเพณีเช่นนี้มา
กิจกรรมที่ร่วมกันปฏิบัติขึ้นเป็นครั้งแรกของ ทบ.นั้น ไม่ได้เพียงแค่ต้องการแสดงออก หรือตอกย้ำให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ที่ไร้ข้อเคลือบแคลงในกองทัพ แต่ยังส่ง “นัย” บางประการไปถึงสังคมภายนอกกองทัพ พุ่งเป้าไปที่ “ฝ่ายการเมือง” โดยตรงอย่างแน่นอน
เพราะเป็นการ “ผลสะท้อน” ตีกลับจากแรงกดดันที่ “ฝ่ายการเมือง” สาดซัดใส่ “กองทัพ” ไม่หยุดหย่อน
พิธีการปฏิญาณตนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยการนำของ “บิ๊กแดง” จึงถือเป็น “แอ็กชัน” ที่สมควรแก่การ “ถอดรหัส” ว่าต้องการบ่งบอกอะไร โดยเฉพาะ “คำสำคัญ” ที่มิอาจมองข้ามอย่าง “เกียรติยศ-ศักดิ์ศรีของทหาร” ที่ “ฝ่ายกองทัพ” ตีโต้กลับไปยัง “ฝ่ายการเมือง” สดๆร้อนๆ
แน่นอน ต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก “วีรบุรุษนาแก” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่ง “ออกงิ้ว” ใส่ เจ้าหน้าที่ทหารที่มีหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ ในระหว่างที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ลงพื้นที่ช่วยลูกพรรคหาเสียงที่บริเวณหน้าศาลพระหลักเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
และกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจนวงกว้าง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่คลิปเหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์ต่อ และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เป็นเหตุการณ์ที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เข้าไปตำหนิเจ้าหน้าที่ทหารว่า “ผมเป็นประชาชน คุณกินภาษีของผม อย่ามารบกวน อย่ามายุ่งกับผม ผมมาหาเสียง ไม่ได้ทำความเดือดร้อน ไปบอกนายคุณด้วย ให้ทำหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ เป็นรั้วของชาติ ขอให้ทำหน้าที่ของตัวเอง ผมมาหาเสียง ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร ไปรบกวนคนอื่นได้แต่ผม พล.ต.อ. อย่ามาทะลึ่ง”
รุ่งขึ้นวันที่ 5 มีนาคม 2562 ก็มีรายงานข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ข้อหาหมิ่นประมาท “ในนามส่วนตัว” เนื่องจากกรณีการให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อ พูดถึงเครื่องหมายติดอยู่บนเครื่องแบบทหารของ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วยข้อความไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเสียหาย ถือเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นอดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ย่อมรู้ความหมายของเครื่องหมายต่างๆ ดีว่าหมายถึงอะไร มีที่มาอย่างไรโดยเฉพาะเครื่องหมายพระราชทาน
นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ยังมอบหมายฝ่ายกฎหมาย คสช.แจ้งความดำเนินคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กระทำความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังนำข้อความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปโพสต์ในเพจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ รวมถึงการแจ้งความข้อหาดูหมิ่นดูแคลนเจ้าพนักงาน จากกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไล่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์และรักษาความปลอดภัย ที่ จ.ปราจีนบุรี ด้วย
ก่อนที่วันที่ 6 มีนาคม 2562 พ.ท.ปกิจ ผลฟัก อายุ 54 ปี หัวหน้ากองกิจการ มณฑลทหารบกที่ 12 (ผบ.มทบ.12) ค่ายจักรพงษ์ ในฐานะบังคับกองร้อยรักษาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในปราจีนบุรี (ผบ.ร้อย.รส.กกล.รส.จ.ปราจีนบุรี ) ซึ่งเป็นผู้ที่ถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พร้อมด้วย พล.ต.ชัยวัฒน์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการ มทบ.12 และนายทหารพระธรรมนูญ จะได้เดินทางเข้าแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ไว้เป็นหลักฐาน
“ปกติผมได้รับมอบหมาย มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ร้อย.รส.กกล.รส.จ.ปราจีนบุรี มีภารกิจหน้าที่โดยเฉพาะ รับผิดชอบโดยตรงอำเภอเมือง อำเภอบ้านสร้าง ในช่วงนี้ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนเข้ามาหาเสียง ผมก็ต้องเข้ามาดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์อะไรที่มันรุนแรงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในครั้งนี้มันเป็นหน้าที่ของผมได้รับแต่งตั้งโดยตรง มันต้องมาดูแล เรื่องในวันนั้นท่าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถามว่าผมมาทำอะไรผมมาชี้แจงท่านว่าผมมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับแต่งตั้งผู้บังคับกองร้อย ไม่ได้ตอบโต้อะไร ที่แจ้งว่าผมมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ ถ้าหากว่าสิ่งที่ผมทำเป็นการรบกวน ผมก็ขออภัยท่านด้วย วันนี้แจ้งข้อหามาปฏิบัติหน้าที่ถูกใช้ถ้อยคำดังกล่าว เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของผมเป็นเจ้าหน้าที่แต่ถูกใช้ถ้อยคำวาจาที่ดูหมิ่นลักษณะ อย่างนั้น”
“สิ่งที่ดีที่สุดที่ ผมทำได้ ในขณะนั้นยืนตรงเท้าชิด ให้ความเคารพ ในฐานะที่เป็นพลตำรวจเอก และเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” พ.ท.ปกิจ พูดถึงเหตุการณ์ที่ถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ดูหมิ่น
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม หลังนำนายทหารระดับสูงปฏิญาณตนแล้ว พล.อ.อภิรัชต์ ยังถือโอกาสมอบประกาศนียบัตรให้ พ.ท.ปกิจ พร้อมกล่าวชื่นชมว่า มีความอดทนอดกลั้น สามารถควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี จากการถูกยั่วยุที่ถูกหมิ่นประมาท ขณะปฏิบัติหน้าที่
“การปฏิบัติหน้าที่ของพ.ท.ปกิจนั้น ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง ก็ขอให้ผู้บังคับบัญชาทุกท่านชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาฟัง เรามีสมบัติผู้ดี เราถูกฝึกอบรมสั่งสอนมา เราเป็นหนึ่งเดียวกัน อยู่ในเบ้าหลอมเดียวกัน จากนี้ไปยิ่งต้องมีความระมัดระวัง ที่สำคัญเราต้องรักษาเกียรติความเป็นทหารอาชีพของเราให้ดี เมื่อใดที่เราแตกกัน ไม่รัก ไม่สามัคคีกัน ประเทศชาติอยู่ไม่ได้ และคงจะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก ก็ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกันให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ ให้ประชาชนเห็นว่าเราเป็นทหารอาชีพ เรามีความอดทนอดกลั้น” คือคำหล่าวของ พล.อ.อภิรัชต์
แล้วยังมีถ้อยแถลงออกจาก พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ตอบโต้กรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุให้ ผบ.ทบ.กลับไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน ด้วยว่า “...เพลงหนักแผ่นดิน เป็นเพลงที่มีความหมายเตือนสติในหลายอย่าง เป็นการเตือนสติสังคม ไม่ใช่เฉพาะเพลงนี้อย่างเดียว ยังมีบทเพลงอื่นๆรวมถึงหนังสือ ต่างๆ เช่น หนังสือสมบัติผู้ดี ก็เป็นหนังสือที่น่าอ่าน ถ้ามีโอกาสอยากให้หลายภาคส่วนได้ลองไปอ่านดู...”
ถือเป็นการตีโต้ที่รับกันมาเป็นทอดๆ และตีความเป็นอื่นไม่ได้ว่า เจาะจงไปที่ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ ทั้งฟังเพลงหนักแผ่นดิน และอ่านหนังสือสมบัติผู้ดี เป็นการย้ำคำของ ผบ.ทบ.ให้หนักแน่นขึ้นอีกระดับ
ต้องย้อนกลับไปว่า เหตุที่ทำให้ “กองทัพ” องศาร้อน ปรอทแตกเช่นนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น หรือไม่ใช่จู่ๆ มาเดือดดาลจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มีนาคมเท่านั้น แล้วก็ไม่ใช่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นคู่กรณีเพียงแค่คนเดียวด้วย
ก่อนหน้านี้ “ฝ่ายการเมือง” ได้พยายามพาดพิงกระทบมาถึง “ฝ่ายกองทัพ” ในหลายกรณี โดยเฉพาะในช่วงปราศรัยหาเสียง หรือประกาศนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ หรือลดงบประมาณด้านความมั่นคง
ที่ชัดเจนที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ ภายใต้การนำของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ที่วางตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ทหาร-กองทัพ” อย่างชัดเจน โดยเป็นพรรคการเมืองแรกที่กล้าประกาศนโยบายจะปรับลดงบประมาณกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และลดจำนวนนายพล ที่ถือว่าเรียกเสียงเฮจาก “ติ่งธนาธร” ได้เป็นอย่างดี
คงเห็นว่าเล่นเรื่องนี้แล้วกระแสดี ทาง “พรรคเพื่อไทย” นำโดย “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ก็จุดพลุนโยบายเอาใจ “วัยโจ๋” โพล่งออกมาว่าจะลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมราว 10% หรือ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น โดยเฉพาะการตั้ง “กองทัพเถ้าแก่ใหม่” ส่งเสริม-สนับสนุนธุรกิจแนวใหม่ หรือสตาร์ทอัพ ที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วงนี้
ทำให้เพลง “หนักแผ่นดิน” กลับมาฮอตฮิตอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวพับการที่พรรคการเมืองแสดงนโยบายที่ต้องการตัดงบประมาณกองทัพ และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ย้อนถามกลับว่า “เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ ก็เพลงหนักแผ่นดินไง”
เมื่อถูกถามย้ำถึงประเด็นเดิม พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า “ก็ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินไง”
เป็นช่วงเดียวกับที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ เกี่ยวกับการเสนอชื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ใอวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562
เดิมที พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผู้มีชื่อเล่นและนามเรียกขานว่า “บิ๊กตู่” เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็วาง “คาแรกเตอร์” ของตัวเองในฐานะ “ไม้เบื่อไม้เมา” กับ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด มีการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล และวิพากษ์นายทหาร ที่ล้วนแล้วแต่เป็นรุ่นพี่-รุ่นน้องนักเรียนนายร้อยฯหลายรายใน คสช.ด้วยถ้อยคำรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
ทว่าด้วยปม “หนักแผ่นดิน” ก็ลากเอา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาเปิดหน้าชกผ่านสื่อกับ พล.อ.อภิรัชต์ เมื่อตอบคำถามสื่อมวลชนในวันเดียวกันว่า “ผบ.ทบ.ควรไปฟังเอง พ่อเขา (พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ) ยึดอำนาจมาเขาจึงชอบ พล.อ.อภิรัชต์เทียบกับผมแล้วเป็นเด็กเมื่อวานซืน” และตั้งคำถามถึงความร่ำรวยของ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ บิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่อดีตเป็นประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วย
แม้ยังไม่มีเสียงตอบโต้จาก พล.อ.อภิรัชต์ ในขณะนั้น แต่คำดูหมิ่น “เด็กเมื่อวานซืน” ก็รุนแรงไม่น้อย เมื่อคนที่ถูกกล่าวถึง มีตำแหน่งเป็น “ผู้นำเหล่าทัพ” พลันที่มีเหตุการณ์ของ พ.ท.ปกิจ ที่ จ.ปราจีนบุรี จึงโรมรันพันตูกลายเป็น “จุดแตกหัก” ผ่านการยั่วยุของทั้งฝ่ายกองทัพ และฝ่าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์
และสำคัญตรงที่ฉายภาพ “เกมสร้างคะแนนนิยม” ของสองฝ่ายให้ชัดแจ้งขึ้น
ในมุมของ “บิ๊กแดง” ที่วันนี้เป็นผู้นำเหล่าทัพก็ย่อมต้องรักษาเกียรติยศ-ศักดิ์ศรี ของกองทัพ ผ่านแอคชั่นต่างๆ เพื่อปกป้องและซื้อใจลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมทั้งข่มพวกที่ต้องการเล่นเกมใต้ดินทั้งช่วงหรือหลังเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าทหารพร้อมเสมอหากมีสถานการณ์
ขณะที่ในมุมของ “เสรีพิศุทธ์” ก็ต้องถือเป็นสถานการณ์ที่สร้าง “ความนิยม” ให้กับตัวเองและพรรคเสรีรวมไทยได้อย่างดี โดยมีตัวอย่างชัดจากคลิปสัมภาษณ์หนึ่งที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ซึ่งเป็นที่กล่าวขาน และถูกแชร์ต่อในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เพราะถูกอกถูกใจ “ฝ่ายแอนตี้ทหาร” เป็นอย่างมาก
บางกระแสว่า การที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พยายามเอาล่ออาเถิดกับ พล.อ.อภิรัชต์ นั้น เป็น “แค้นฝังหุ่น” มาตั้งแต่รุ่นพ่อ ครั้งที่ “บิ๊กจ๊อด” นำ รสช.หลังยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ขณะนั้น “เสรีพิศุทธ์” หรือ “พล.ต.ต.เสรี เตมียเวส” ชื่อเดิมและยศในขณะนั้น มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม เป็นนายตำรวจคู่บารมีของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย
จึงถูก พล.อ.สุนทร เรียกรายงานตัวที่ศูนย์บัญชาการ รสช. สนามเสือป่า โดยมีภาพประวัติศาสตร์ ขณะที่ “เสรีพิศุทธ์” ในเครื่องแบบนายพลตำรวจ เดินเข้ากลางดงทหารอย่างโดดเดี่ยว เข้าไปรายงานตัวกับพล.อ.สุนทร แม้ไม่ได้ถูกดำเนินคดีร้ายแรงใด แต่ก็จำต้องหลุดจากตำแหน่ง “ผู้การกองปราบ”
สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาในวันนี้ อาจจะเป็น “แค้นสั่งฟ้า” ที่สุมอกมากว่า 30 ปีก็เป็นได้
อย่างไรก็ดีในภาพรวมแล้ว ด้วยที่ทั้งคู่เป็น “ผู้หลักผู้ใหญ่” และมีหรือผ่านตำแหน่งแห่งที่สำคัญ ก็ต้องมองว่ายุทธวิธีของทั้ง “ฝ่ายกองทัพ-ฝ่ายเสรีพิศุทธ์” ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดต่อส่วนรวม ทั้งยังตอกลิ่มให้เห็นภาพขัดแย้ง นำเอา “กองทัพ” ที่ควรวางตัว “เป็นกลาง” กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับ “ฝ่ายการเมือง” ไปด้วย
อย่าลืมว่า 4-5 ปีมานี้ หรือตั้งแต่ 12 ปีที่แล้วกับการรัฐประหาร 2549 ในยุคทหารครองเมือง เป็นรัฐบาลคณะรัฐประหาร ก็จำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งทหารไปติดตามนักการเมือง-ผู้มีอิทธิพล ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันมา
เมื่อมีปฏิบัติการของทางทหารเช่นนั้น “ฝ่ายแอนตี้กองทัพ” ก็ใช้จุดนี้ย้อนศรให้เกิด “กระแสชิงชัง” ทหารมากขึ้น มีการสร้างไวรัล ข่าวเท็จ ข่าวเกินจริงต่างๆ โจมตีกองทัพเป็นระยะ ผนวกกับนักการเมืองที่พยายามเอาใจ “กลุ่มแอนตี้ทหาร” ผ่านนโยบาย หรือวาทกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ตามหน้าเสื่อ “ฝ่ายกองทัพ” ที่เป็นหนึ่งในองค์กรหลักของประเทศ ควรทบทวนยุทธวิธีให้มี “สุขุมลุ่มลึก” มากกว่าการไปยืนซดกับ “ฝ่ายการเมือง” ที่หวังสร้างกระแสความนิยมให้กับตัวเอง เช่นการส่งเจ้าหน้าที่ติดตามนักการเมืองระหว่างหาเสียง ก็ควรมีการเปิดเผยว่า เท่าเทียมกันทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ หรือกระทั่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่า เป็นฝ่ายเดียวกัน
เพื่อปิดจุดบอดไม่ให้ถูกโจมตีว่า “เลือกปฏิบัติ” รวมทั้งทำให้เห็นว่าพรรคอื่น หรือบุคคลอื่น ไม่ได้มีปัญหากับการสังเกตการณ์ของทหารแต่อย่างใดด้วย
ในมุมเกียรติยศศักดิ์ศรี จึงถือว่า “ฝ่ายกองทัพ” จำต้องปรับเกมเสียใหม่ ไม่ควรลงไปคลุกน้ำเน่าบ่อเดียวกับ “ฝ่ายการเมือง” อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ไม่ใช่จ้องแต่จะปะดาบกันจนพังกันไปข้างเช่นนี้
ขณะที่ “ฝ่ายเสรีพิศุทธ์” เอง ว่ากันตามตรง ดูเหมือนจะได้ “มากกว่าเสีย” จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรียกว่าดีกว่าไปเดินดุ่ยๆ หาเสียงแบบเดิมก็คงจะได้ เพราะช่วยสร้าง “ราคา” และปลุก “กระแส” ให้คนหันมามอง “พรรคเสรีรวมไทย” ให้มีที่มีทางทางการเมืองมากขึ้น
ยิ่งในยามที่ “พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.)” ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ก็ยิ่งได้รับอานิสงส์จากคะแนนที่มีโอกาสเทมาสู่ “ พรรคเสรีรวมไทย” จาก “ฝ่ายแอนตี้ทหาร” อีกกระบุงโกย
โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ชอบฝ่ายระบอบทักษิณ และก็ไม่ชอบฝ่ายนิยมทหารในคราวเดียวกัน
เอาเป็นว่า เวลานี้ ใครๆ ก็พูดถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวชกันทั่วบ้านทั่วเมืองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.