ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่เพียงแต่พลิกไปพลิกหลายตลบระหว่างความเป็น “แพะ” กับความเป็น “แกะ” ของ “ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร” หรือ ศรีบุญหอม อดีตข้าราชการครู ที่ผู้คนในสังคมต่างให้ความสนใจติดตามข่าวสารกันทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะคราวนี้คดีมีความคืบหน้าไปอีกขั้นถึงขนาดต้อง “ติดคุกติดตะราง” กันเลยทีเดียว
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนครพนมได้มีคำพิพากษาหลังมีการออกหมายจับและแจ้งความดำเนินคดีกับครูจอมทรัพย์และพวก โดยตัดสินจำคุก “ครูจอมทรัพย์” เป็นเวลา 8 ปีในข้อหา “สร้างหลักฐานเท็จ”
ด้าน นายสุริยา นวนเจริญ หรือ “ครูอ๋อง” เพื่อนซี้ของเธอก็มีอันต้องติดคุกติดตะรางไปด้วยเป็นเวลา 7 ปีกับอีก 9 เดือน ขณะที่ “อดีตผัว” คือนายนิรันดร์ แสนเมืองโคตร เจอเข้าไปเบาะ 2 เดือน ด้วยข้อหาเดียวกัน ส่วนคนอื่นๆ คือ นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ จำคุก 2 ปี 19 เดือน นางทองเรศ วงศ์ศรีชา จำคุก 2 ปี 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลยที่ 6-8 คือนายเสน่ห์ สุพรรณ นางรจนา จันทรัตน์ และ น.ส.วาสนา เพ็ชรทอง
สำหรับคดีอันโด่งดังนี้สืบเนื่องจากกรณีนางจอมทรัพย์ตกเป็นจำเลยในคดีขับรถชน นายเหลือ พ่อบำรุง เสียชีวิต เมื่อปี 2548 ที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2556 ตัดสินจำคุก 3 ปี 2 เดือน กระทั่งเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2558 ได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำกลางนครพนม รวมถูกจำคุก 1 ปี 6 เดือน หลังพ้นโทษได้ร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้กระทรวงยุติธรรมช่วยรื้อฟื้นคดีใหม่ โดยอ้างว่าตกเป็นแพะ
วันที่ 9 ม.ค.60 พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดยุติธรรม พร้อมด้วยนายนิธิต ภูริคุปต์ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้เข้าไปช่วยเหลือ “ครูจอมทรัพย์”ใ นการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยนางจอมทรัพย์ ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุนางจอมทรัพย์อยู่กับครอบครัวที่บ้าน ซึ่งอยู่ที่ จ.สกลนคร ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.59ตามที่“ครูจอมทรัพย์” ร้องขอ เนื่องจากเห็นว่าคำร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ เนื่องจากนางจอมทรัพย์ มีหลักฐานว่า ได้มีนายสับ วาปี ยื่นคำร้องขอชำระเงินแทนนางจอมทรัพย์ ในวันที่10 มิ.ย 57 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นางจอมทรัพย์ ชำระเงิน 170,000บาท ให้กับบุตรผู้ตาย และนายสับ ยังให้ข้อเท็จจริงกับนางจอมทรัพย์ ว่า นายสับ เป็นคนขับรถชนผู้ตายและได้หลบหนี แต่ต่อมาทราบว่านางจอมทรัพย์ ถูกลงโทษจำคุกทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำ จึงสำนึกผิด
กระทั่งศาลจังหวัดนครพนมนัดสืบพยานตามที่นางจอมทรัพย์ร้องขอใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. 2560 โดยอ้างชื่อนายสับ วาปี ที่ออกมายอมรับว่าเป็นคนขับรถชนคนตายตัวจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับรื้อฟื้นคดี
กรณีของ “นายสับ วาปี” จึงมีความสำคัญต่อคดีนี้เป็นอย่างมาก เพราะนั่นเท่ากับว่า ครูจอมทรัพย์ไม่ได้ขับรถชนคนตาย
และงานนี้ “ตำรวจ” ตกเป็นจำเลยของสังคมในฉับพลันทันที พร้อมกับเสียงก่นด่าที่ดังอื้ออึงไปทั่วทั้งประเทศ
เดิมพันของคดีในครั้งนั้นถือว่าไม่ธรรมดา เพราะหากครูจอมทรัพย์สามารถรื้อฟื้นคดีได้สำเร็จ ก็สามารถลบล้างมลทินได้ทั้งหมดที่เคยรับโทษมาก่อนหน้านี้ และสามารถกลับเข้าไปรับราชการได้เหมือนเดิม หากเกษียณก็จะได้รับบำนาญตลอดชีวิต
นอกจากนี้ครูจอมทรัพย์ยังจะได้รับค่าเยียวยาจากการถูกคุมขังวันละ 500 บาท ซึ่งครูจอมทรัพย์ติดคุก 1 ปี 6 เดือน เป็นเวลา 545 วัน จะได้เงินเยียวยา 272,500 บาท ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย แก่จำเลยในคดีอาญา ฉบับใหม่และยังมีสิทธิที่จะขอค่าเยียวยาจากกระทรวงศึกษาธิการได้ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ รวมทั้งยังสามารถฟ้องร้องทางแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งทำให้ตนเองขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพอีกด้วย
ทว่า เรื่องราวก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อ พ.ต.ท.ทงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ออกมายืนยันว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมไว้ เชื่อมโยงได้ทุกขั้นตอนไม่มีเลศนัย ไม่ได้เรียกร้องรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้ใดทั้งสิ้น ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต
ขณะที่ พล.ต.อ. ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น ออกมายืนยันว่า กรณี “ครูจอมทรัพย์”ขอรื้อคดีพบสิ่งผิดปกติหลายอย่างและมี“ขบวนการรับจ้างรับผิด”โดยมีผู้ร่วมขบวนการประมาณ 6 คน เป็นข้าราชการ อดีตข้าราชการ และพลเรือนแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อหาประโยชน์จากเงินเยียวยา และมีพยานสำคัญที่ตำรวจได้สอบปากคำ คือ อดีต ส.ว.มุกดาหารที่เคยได้รับการติดต่อว่าจ้างให้ทำหน้าที่ทนายความ “คดีครูจอมทรัพย์” และยังพบว่า ขบวนการนี้เริ่มเคลื่อนไหว หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องครูจอมทรัพย์ คล้ายกับเห็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ และการสืบสวนยังพบอีกว่า ขบวนการนี้ทำมาแล้วหลายครั้ง ในพื้นที่ภาคอีสาน มีทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จส่วนในความเคลื่อนไหวของครูจอมทรัพย์ มีการรับและจ่ายเงินให้คนในขบวนการบางส่วนแล้ว
ต่อมาวันที่ 17 พ.ย. 60 ศาลฎีกาได้ออกนั่งบัลลังก์ พิจารณายกคำร้องของนางจอมทรัพย์ หลังพยานหลักฐานต่างๆ ไม่น่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งความดำเนินต่อขบวนการจ้างแพะช่วยแกะ เริ่มจากนายสับเข้ามอบตัว พร้อมยอมรับว่าไม่ได้ขับรถชนคนตายตามที่ให้การต่อตำรวจในตอนต้น แต่มีนายสุริยา หรือครูอ๋อง มาติดต่อและรับปากจะให้เงิน 4 แสนบาท แลกกับการรับผิดแทน แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินกัน
เท่ากับว่ายังคงคำพิพากษาเดิมที่ให้จำเลยมีความผิด มีผลทำให้ไม่ต้องดำเนินกระบวนการรื้อฟื้นคดีอาญาเพื่อพิจารณาใหม่อีกต่อไป
ครูจอมทรัพย์จึงเปลี่ยนสภาพจาก “แพะ” กลายเป็น “แกะ” นับจากวันนั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี คดียังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อศาลจังหวัดนครพนมได้อนุมัติหมายจับครูจอมทรัพย์และพวกในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ในคดีซ่องโจร และให้การเท็จต่อศาลฯ และต่อมา วันที่ 25 พ.ย. 2560 เจ้าหน้าที่บุกจับกุมครูจอมทรัพย์ที่บ้านพักใน จ.สกลนคร พร้อมฝากขังศาลจังหวัดนครพนม โดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่ครูอ๋องเผ่นหนีออกจากบ้าน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ที่สถานีรถไฟหลักสี่ กทม. ส่วนจำเลยรายอื่นๆ ถูกดำเนินคดีตามที่หลักฐานพยานโยงไปถึง
วันนี้ คำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีบทสรุปตอกย้ำให้เห็นกันอีกครั้งว่า “ครูจอมทรัพย์” คือ “แกะ” ไม่ใช่ “แพะ” พร้อมตัดสินให้ต้องติดคุกติดตะราง เพียงแต่ยังมีโอกาสต่อสู้อีกรอบในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกากันต่อไปเท่านั้น.