ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร้อนฉ่าไปทั้งตลาดหลักทรัพย์และแวดวงการบินเลยทีเดียว เมื่อ “สันทัด สงวนดีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบิน “แอร์เอเชีย” เบอร์ 1ในกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ(Low Cost) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทมีความสนใจและอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุนเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้น “บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน)” หรือ NOK จาก “กลุ่มจุฬางกูร” จริง เพียงแต่ยังไม่ได้มีข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งยังไม่ได้กระทำการใดๆ ที่มีผลผูกพันเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นนกแอร์แต่อย่างใด
นี่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ “นกแอร์” ที่จำต้องจับตามองหลังเผชิญวิกฤตทางการเงินมาเป็นเวลานาน ถ้าจะใช้คำว่าอยู่ในขั้น “ร่อแร่” หรือ “งบพัง” ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท มียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 5,276 ล้านบาท และอัตราหนี้สินต่อทุน 5 เท่า
ทั้งนี้ ตัวเลขที่สะท้อนว่านกแอร์วิกฤตนั้น ต้องย้อนไปปี 2558 นกแอร์เคยมีส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินในประเทศถึง 24.8% ใกล้เคียงกับเบอร์ 1 ของตลาดอย่างไทยแอร์เอเชียที่มีส่วนแบ่ง 28.5% ส่วนเบอร์ 3 ของตลาดอย่างไทยไลอ้อนแอร์อยู่ห่างออกไป มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 13.9%
ผ่านไปแค่ 2 ปีกว่า ณ เดือน พ.ค.ปี 2561 นกแอร์เหลือส่วนแบ่ง 18.8% ส่วนไทยแอร์เอเชีย ทิ้งห่างไปเป็น 33.1% โดยมีไทยไลอ้อนแอร์จี้มาติดๆ ที่ส่วนแบ่ง 17%
ต้องยอมรับว่าปัญหาของนกแอร์เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงของผู้บริหารยุค “พาที สารสิน” ที่ท้ายที่สุดต้องทำการเพิ่มทุน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่จากเดิมการบินไทย มาเป็นกลุ่มจุฬางกูรนำโดย “ณัฐพล-ทวีฉัตรและ“หทัยรัตน์ จุฬางกูร” หรือคิดเป็น 55.13% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นการบินไทย 15.94% ดร.ธรรม์ จิราธิวัฒน์ 0.51% และพาที สารสิน 0.51% เช่นกัน โดยการบินไทยให้เหตุผลที่ปฏิเสธซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 198.15 ล้านหุ้นว่า แผนการดำเนินธุรกิจยังไม่มีควมชัดเจนมากพอ อาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการอนุมัติเพิ่มทุนได้
แต่การเพิ่มทุน 2 รอบรวม 2.9 พันล้านบาทในช่วงระยะเวลา 3 ปี(2559-2561) ก็ไม่ได้ช่วยให้นกแอร์ ฟื้นคืนชีพ หนำซ้ำยังเกิดเหตุการณ์เกาเหลา ระหว่างผู้บริหารและนักบิน จนไปกระทบงานบริการอาทิเครื่องขัดข้องบ่อย เที่ยวบินไม่ตรงเวลา นำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ใช้บริการ ท้ายที่สุด “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ต้องควักกระเป๋าตัวเอง ซื้อตั๋ว B/E บริษัทมูลค่า 500 ล้านบาท เพื่อพยุงฐานะสายการบินนกสกู๊ตซึ่งถือเป็นช่องทางหารายได้หลักให้นกแอร์ ขณะที่บริษัทก็หันมาเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจโดยเน้นการสร้างรายได้ และลดต้นทุนการดำเนินงานเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า แม้นกแอร์จะขาดทุน แต่ก็มี “ยอดขาย” ที่เติบโตมาโดยตลอด กล่าวคือ ปี 2558 อยู่ที่ 13,752 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 16,225 ล้านบาท และปี 2560 อยู่ที่ 19,572 ล้านบาท และในงวด 9 เดือนปี 2561 อยู่ที่ 14,820 ล้านบาท อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) อยู่ที่ 86% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่อัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเพิ่มขึ้นจาก 7 ชั่วโมงบินต่อวันเป็น 10.4 ชั่วโมงบินต่อวัน จำนวนผู้โดยสาร 8.78 ล้านคน มีจำนวนเที่ยวบิน 67,811 เที่ยวบิน ด้วยจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการ 30 ลำ มีอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 1,465 บาท
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า นกแอร์มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เพียงแต่ “ไร้ประสิทธิภาพ” ในการบริหารจัดการต้นทุนภายในของบริษัท จนทำให้ต้องมีการนำเงินจากการเพิ่มทุนในช่วงที่ผ่านมาเพื่อช่วยพยุงธุรกิจเท่านั้น
คำถามก็คือ ทำไม กลุ่มจุฬางกูรจึงอาจตัดสินใจ “ทิ้ง” นกแอร์
และทำไม “แอร์เอเชีย” ถึงให้ความสนใจเข้ามาฮุบ “นกแอร์”
ตระกูลจุฬางกูรนั้น เป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่าหลายหมื่นล้านชื่อ “ซัมมิท กรุ๊ป” ซึ่งคนไทยคุ้นหูกันดีผ่านบุคคลสำคัญ 2 คนคือ สรรเสริญ จุฬางกูร พี่ใหญ่ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทเครือซัมมิท นักธุรกิจที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ มูลค่านับหมื่นล้านบาท และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายคนที่ 4 ของสรรเสริญ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยุคทักษิณครองเมือง(สรรเสริญเปลี่ยนจาก “แซ่จึง” เป็น “จุฬางกูร” แทนที่จะใช้นามสกุล “จึงรุ่งเรืองกิจ”)
ขณะที่แอร์เอเชียนั้น เมื่อตรวจสอบผู้ถือหุ้นก็พบว่า มีความน่าสนใจเช่นกัน กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งคือ นาย ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ จำนวน41.32% ตามด้วย บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 7.26% อันดับ 3 กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว จำนวน4.79% อันดับ 4 นาย ธนรัชต์ พสวงศ์ จำนวน 3.73% อันดับ 5 นาย อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา จำนวน 2.68% อันดับ 6 กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 จำนวน 2.11% อันดับ 7 กองทุนเปิด กรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผล จำนวน 1.17% อันดับ 8 กองทุนเปิด บัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ จำนวน 1.16 % อันดับ 9 กองทุนเปิด บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ จำนวน 0.96% และอันดับ 10 กองทุนเปิด บัวแก้ว จำนวน 0.8 %
ก่อนหน้าที่จะมีข่าวคราวกับ “แอร์เอเชีย” มีกระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในนกแอร์พอสมควร โดยเต็งหนึ่งก็คือ “สกู๊ต” ซึ่ง “สิงคโปร์แอร์ไลน์” ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเคยร่วมหอลงโรงกับนกแอร์จัดตั้ง บริษัท สายการบิน นกสกู๊ต จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินราคาประหยัดระหว่างประเทศมาแล้ว
อย่างไรก็ดี เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ “กลุ่มจุฬางกูร” อาจตัดสินใจทิ้ง “นกแอร์” น่าจะเกิดจากการ การบินไทยตัดสินใจไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจนทำให้มีกระแสข่าวลือออกมาตลอดว่า กลุ่มจุฬางกูร ซึ่งถือหุ้นอันดับ 1 ต้องการขายหุ้นออกไปเพื่อลดภาระที่แบกรับเอาไว้ ประกอบกับผลการดำเนินงานของนกแอร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็เข้าขั้นบักโกรก ขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาจไม่คุ้มค่าในการทำธุรกิจอีกต่อไป ซึ่งการที่แอร์เอเชียให้ความสนใจ ก็ถือเป็นเรื่องที่ประจวบเหมาะและลงตัวพอดิบพอดี
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวที่ได้รับการยืนยันว่า มีการเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นของกลุ่มจุฬางกูรทั้งหมดในนกแอร์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยการเจรจามีความคืบหน้าไปเป็นลำดับ ก่อนที่จะมีข่าวออกมาจากทางแอร์เอเชียเองว่าให้ความสนใจเข้าไปซื้อหุ้นนกแอร์จริง
อย่างไรก็ดี ถ้า “ดีลลงตัว” ตามข่าวที่ปรากฏสิ่งที่จะเกิดขึ้นในขั้นต่อไปคือการทำ “เทนเดอร์ ออฟเฟอร์” เพราะมีการเสนอซื้อหุ้นเกิน 25% และก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างการบินไทยก็อาจเทขายหุ้นที่เหลือราว 15% ออกไปเช่นกันหากได้ราคาที่ดีพอ
สำหรับแอร์เอเชียนั้น การได้นกแอร์มาอยู่ในมือย่อมเป็นการเติมเขี้ยวเล็บทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี เพราะวันนี้ทั้งนกแอร์และแอร์เอเชียไม่ได้บินทับเส้นทางกันอยู่แล้ว แถมทั้งสองสายการบินก็ทำการบินที่เดียวกันคือ “สนามบินดอนเมือง” ทำให้ความเสียเปรียบที่เคยมีให้กับ “ไลออนแอร์” ซึ่งเป็นคู่แข่งทาง การบินในตลาดโลว์คอสต์ที่สำคัญหมดไป
ทว่า ปัญหาที่ต้องไม่ลืมก็คือ นกแอร์คือสายการบินที่รัฐได้ตั้งขึ้นเพื่อทำการบินในประเทศแทนการบินไทย โดยอยู่ใน “ไทยกรุ๊ป” ร่วมกับ การบินไทยและไทยสไมล์ ซึ่งที่ผ่านมานกแอร์ได้สิทธิพิเศษทางการบินหลายประการ เนื่องด้วยมีการบินไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และการบินไทยก็จัดเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เสมือน การบินไทยก็คือนกแอร์ นกแอร์ก็คือการบินไทย ก่อนที่การบินไทยจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไปเป็นลำดับและไม่ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในนกแอร์อีกต่อไป
ด้วยเหตุดังกล่าว ถ้าหากการบินไทยตัดสินใจเทนกแอร์ออกไปจริงๆ สถานะของ “นกแอร์” คงต้องมีการทบทวนใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับเงื่อนไขต่างๆ ก่อนหน้านี้ เช่น เรื่องการซ่อมบำรุง เพราะแอร์เอเชียก็คงเข้ามาดู่แลในส่วนนี้แทน
แล้วการบินไทยเองจะทำอย่างไรในตลาดโลว์คอสต์ เพราะถ้าไม่มีนกแอร์ก็หมายความว่า แอร์เอเชียจะกวาดเอาผู้โดยสารในตลาดนี้ไปเกือบหมด จะตั้งสายการบินต้นทุนต่ำขึ้นมาใหม่ ก็เป็นไปไม่ได้ แม้จะมี “ไทย สไมล์” แต่ไทยสไมล์ ก็อยู่ในอีกตลาดหนึ่ง คือ ตลาดที่แพงขึ้นมาหน่อย และบินระหว่างประเทศ ในภูมิภาค
นี่นับเป็นโจทย์ที่ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าจะมีบทสรุปเยี่ยงไร และดีลนี้จะมีปัญหาจาก “ภาครัฐ” หรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ดี น่าจะมีคำตอบในระดับหนึ่งแล้วว่า “รัฐ” จะ “ไม่ก้าวล่วง” ดังคำให้สัมภาษณ์ของ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” ที่บอกว่า “หากมีการเจรจาซื้อขายกันจริงก็เป็นสิทธิที่นกแอร์ และผู้ถือหุ้นจะทำได้ เนื่องจากสายการบินนกแอร์ เป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามการตัดสินในการดำเนินการทางธุรกิจของบริษัท
กระนั้นก็ดีคงต้องติดตามกันต่อไปว่า “ดีล” นี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และถ้าเกิดจริง โฉมหน้าของธุรกิจการบินของประเทศไทยไปในทิศทางไหน...และอย่างไร