ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เสียวกันสันหลังวาบ
หลัง “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) น้องเลิฟ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไล่ “บางพวก” ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนี้
สะดุ้งไปถึง “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งออกมาจุดพลุเสนอนโยบายตัดงบทหาร10 เปอร์เซ็นต์ และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไปหยกๆ
ถอดรหัสที่ “บิ๊กแดง” ใช้คำว่า “ฮิต” คงไม่ได้หมายถึงแค่ “เจ๊หน่อย” คนเดียว แต่พูดถึงบรรยากาศการหาเสียงการเมืองในช่วงที่เข้มข้น สาดโคลนกันไปมา โดยเฉพาะ “ฝ่ายการเมือง” ที่เอาล่อเอาเถิดกันสนุกปาก จนถึงจุดที่ใกล้กับคำว่า “อย่าล้ำเส้น” ที่ “บิ๊กแดง” เคยฮึ่มเตือนฝ่ายการเมืองเอาไว้มาแล้วรอบหนึ่ง
อาการงัดเพลง “หนักแผ่นดิน” มากรอกหูฝ่ายการเมือง ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงที่กำลังเข้มข้น ถือเป็นโทนเตือนที่ทุกคนต้องหยุดฟัง เพราะเพลงคลาสสิกดังกล่าวนอกจากชื่อเพลงที่รุนแรง ที่มาและสัญลักษณ์ของเพลงยังน่าขนลุกขนพอง
มีการย้อนความว่า เพลงหนักแผ่นดิน เคยถูกใช้เป็นเพลงปลุกใจของ “รัฐ” ในการต่อสู้กับฝ่าย “คอมมิวนิสต์” เมื่อตอนความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2518เพลงเก่าคร่ำครึ แต่ถูกพูดถึงใหม่ใน พ.ศ.นี้ ย่อมมี “นัยสำคัญ”
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันคอมมิวนิสต์ที่เปิดเผยตัวไม่มีแล้ว มีแต่พวกแนวความคิด “ซ้ายจัด”ที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะช่วงหลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ “วันประวัติศาสตร์” ที่พวกแนวคิดคล้ายคลึงดังกล่าวกล้าเปิดตัวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กกันเยอะ
สำหรับนายทหาร เรื่องการปกป้องสถาบันสูงสุดเป็นสิ่งที่ใครไม่อาจมาแตะต้องหรือจาบจ้วงได้ ยิ่งเป็น “บิ๊กแดง” แล้วด้วยนี่คือ เรื่องที่กระตุกอารมณ์ได้ง่าย ตามคิวที่เคยประกาศมาแล้วตอนรับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า จะกวาดล้างพวกหมิ่นสถาบันมาเข้าซังเต
นอกจากเรื่องดังกล่าว อีกเรื่องคือ “กองทัพ” การมาล่วงล้ำหรือทำลายเกียรติภูมิ ในฐานะผู้นำองค์กรย่อมต้องเทกแอ็กชันออกมาปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ได้ใครมาดูหมิ่นดูแคลน นโยบายหลายพรรคการเมือง ที่จงใจลากกองทัพเข้าไปลงสนามการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าในฐานะผู้นำ “บิ๊กแดง” คงไม่โอเคอย่างแรง
เอาเข้าจริงพรรคเพื่อไทย ถือว่าไม่ใช่ต้นทางของนโยบายปฏิรูปกองทัพ อีกทั้งยัง “เว้นระยะห่าง” เลี่ยงกระทบกระทั่งกับ “ขั้วสีเขียว” ที่ไม่ใช่ คสช.อยู่พอสมควร
หากแต่ “หัวหมู่” วาระนี้ มีการตอกย้ำมาเรื่อยโดย พรรคอนาคตใหม่ ของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ที่เปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกองทัพอย่างถึงพริกถึงขิงมาโดยตลอด และใช้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักในการหาเสียงด้วย
เช่นเดียวกับ “บิ๊กตู่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย สายฮาร์ดคอร์ ที่หาเสียงแบบท้าชนกับกองทัพ เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพตลอด เรียกว่าไต่บันไดอยากปะทะกับคนชื่อเดียวกันที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เรื่อย
เพียงแต่ฟางเส้นสุดท้ายมาขาดพึงเอาเมื่อผู้เล่นหลักอย่าง “เจ๊หน่อย” คว้ามาเป็นประเด็นเล่นบนเวทีปราศรัยใหญ่ใน กทม.ของพรรคเพื่อไทย จะมองว่า พยายามใช้เป็นนโยบายเอาใจชนชั้นกลาง-คนรุ่นใหม่ ในการตัดงบกลาโหม 10% หรือ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ไปตั้งกองทุนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ทำกิจการ หรือ “กองทัพเถ้าแก่”
แต่สิ่งที่สื่อออกไปในโทนเดียวกับ “ธนาธร - เสรีพิศุทธ์” ถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณของพวกที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ขอชักธงรบกับ “กองทัพ” ก็ไม่ผิด
เพราะนั่นเท่ากับคือ การดิสเครดิต และบั่นทอนกองทัพ ทำให้ประชาชนเกลียดชัง ไม่ใช่นโยบายหาเสียงที่ต้องการปฏิรูป หากแต่จงใจแสดงให้เห็นว่า “กองทัพ” ฝักใฝ่ฝ่ายการเมือง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย ถือเป็นการเปิดฉากใส่โดยไม่เกรงใจกัน
ตลอดสัปดาห์ก่อนหน้า เคยมีข่าวลือ ข่าวลวงเรื่อง “รัฐประหารซ้อน” ออกมาเพื่อเสี้ยมรัฐบาลกับ คสช. เพิ่มน้ำหนักหลัปรากฏการณ์ 8 กุมภาพันธ์ด้วย จน “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กแดง” ต้องควงกันไปดูการซ้อมรบที่ จ.ลพบุรี เพื่อสยบข่าวดังกล่าวโดยเร็ว แต่ฝ่ายการเมืองกลับไม่หยุด ยังคงพุ่งเป้าโจมตีความเคลื่อนไหวและการดำเนินการของกองทัพไม่เลิกรา
เมื่อฝ่ายการเมืองแสดงตัวว่า ไม่เกรงกลัว “บิ๊กแดง” จึงต้องสำแดงเดชบางอย่างในจุดที่ไม่อยากทำนั่นคือ ส่งสัญญาณสู่ “ความอึมครึม” อีกรอบด้วยการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” กระตุกขวัญนักการเมืองที่ห้าวเป้งตั้งแต่ คสช.ปลดล็อกให้มีอิสระมากขึ้น พร้อมปลุกเร้าวาทกรรมรักชาติให้แผ่ซ่านออกไปในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยคำสั่งให้เปิดเพลงแนวหนักแผ่นดินในทุกกรมกองของ “กองทัพบก”
มีหลายฝ่ายที่หวาดผวา เมื่อเห็นสัญญาณดังกล่าว โดยเฉพาะ “จตุพร พรหมพันธุ์” กองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ที่ออกมาแสดงความเห็นว่ากลิ่นตุๆ ว่าอาจไม่มี 24 มีนาคม ให้เข้าคูหา แต่ฝ่ายองคาพยพอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย กลับไม่ได้ขนลุกขนพองกับการเขียนเสือให้วัวกลัว
ขณะที่บรรดา “คนอยากเลือกตั้ง” ก็ร่วมผสมโรง “ยั่วประสาททหาร” โดยผนึกกำลังสมาชิกพรรคอนาคตใหม่-คนเสื้อแดง บุกไปที่หน้า บก.ทบ. ถนนราชดำเนิน เปิดเพลง “ประเทศกูมี” และกดดันให้เลิกเปิด หนักแผ่นดิน พร้อมหิ้วตุ๊กตาหมี เพื่อจะไปแขวนคอ ล้อสถานการณ์ในอดีตอย่าง6ตุลาคม2519
แกนนำก็เป็นคนหน้าเก่าๆ อย่าง นายเอกชัย หงส์กังวาน นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ นายอนุรักษ์ ฟอร์ด เจนตวนิชย์ แกนนำเสื้อแดงราชประสงค์ เป็นต้น
คนไม่เยอะ และนับๆ ดูแล้ว อยู่แค่ “หลักสิบ” แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบที่มาติดตามสถานการณ์ยังมากกว่าเสียด้วยซ้ำไป ทว่า ก็ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ข่าวสารออกไปได้อย่างกว้างขวาง
และไม่ใช่แค่ปฏิบัติการ “บนดิน” เท่านั้น หากแต่ ปฏิบัติการ “ใต้ดิน” ก็เร่งเกมเข้าใส่ “บิ๊กแดง” อย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ เว็บไซต์ JOOKTHAI.COM โพสต์ข่าวหัวข้อ “บิ๊กแดงแจง! ปมบ้านหรู 3 ไร่ทำงานแลกมา ลั่นเงินเดือนทหารมันเยอะ พวกหนักแผ่นดินไม่ควรรู้” กล่าวหา “บิ๊กแดง” แบบไร้ข้อเท็จจริง โดย มั่วซั่วอ้างว่ามีบ้านหรู 3 ไร่ มูลค่า 240 ล้านบาท แถมอ้างชื่อนักข่าวสายทหารที่ชื่อว่า “กำจาย ศรีแผ่นดิน” ให้สัมภาษณ์อีกต่างหาก
สถานการณ์ตอนนี้เหมือนไม่มีใครกลัวใคร เพราะเหมือนฝ่ายอำนาจในปัจจุบันเอง ก็ไม่ยอมให้โดนลูบคม เหยียดหยามอยู่ฝ่ายเดียว มีการตอบโต้อย่างหนักหน่วง บรรดาคดีความของฝ่ายที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” เริ่มมีความเคลื่อนไหวออกมาแบบผิดสังเกต
นอกจากนั้น คดีที่ทุกคนแทบไม่ได้สนใจและลืมไปแล้ว กลับคืบหน้าไม่ว่าจะเป็นคดีที่ศูนย์ปราบปรามอาชาญากรรมทางเทคโนโลยี และ บก.ปอท. ออกหมายเรียก “เสี่ยไนท์” ฤภพ ชินวัตร” รองหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) จากกรณีเรื่องค่าฝุ่นมลพิษพีเอ็ม 2.5 ที่ออกมาระบุว่า สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์แห่งหนึ่งผ่านเพจพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อหาว่าบริเวณพื้นที่ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครมีค่า PM 2.50 แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่เป็นจริงตามที่ได้ระบุไว้
รวมไปถึงกรณีที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ในฐานะตัวแทนของ คสช.แจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) กับ “ธนาธร” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค และ จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค วิจารณ์กระแสข่าวกรณีพลังดูดของ คสช. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ทนายความผู้รับมอบอำนาจฯได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน ว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ต้องส่งสำนวนคดีให้แก่พนักงานอัยการภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ และนัด “ธนาธร” พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คน ให้ไปพบพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนคดีต่อไป ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก
ที่เผอิญเป็นวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักษาชาตินัดแรกเสียด้วย
ขณะเดียวกันตัว “ธนาธร” เองก็ถูกลากไส้ถึงอดีตในวันวาน โดยเฉพาะชุดความคิดและจุดยืนเกี่ยวกับมาตรา112 ตลอดจนเรื่องแนวคิดที่เหมือนดูถูกคนไทยเรื่องรอยยิ้ม ซึ่ง “นักรบไซเบอร์” ฝ่ายต่อต้านการจาบจ้วงสถาบัน และฝั่งตรงข้ามทักษิณ ออกมาขยี้ “ธนาธร” แบบเป็นพิเศษ
แม้แต่เพจของกองทัพและที่สนับสนุนกองทัพ ยังออกมาปกป้อง รวมถึงอธิบายสาเหตุว่า ที่ทหารต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะนักการเมืองเองต่างหากที่เป็นต้นเหตุความขัดแย้งทำให้ “ท๊อปบูต” ต้องออกมาแก้ปัญหา และรักษาอธิปไตยของชาติ
คดีกลับมารวดเร็วฉับไว จนหลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือน หากฝ่ายการเมืองยังคงห้าวเป้ง ลามปามกองทัพ แบบไม่หยุดหย่อน พยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้งตามลำดับ
“กองทัพ” เตือน “ฝ่ายการเมือง”ไม่กลัว สถานการณ์ภายในประเทศ มวลชนทั้งสองฝ่ายต่างขยับเขยื้อนออกมาปกป้อง ทำให้การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกลับมาคุกรุ่นอีก หลังจากเงียบหายไปนาน
ขณะที่ปลายสัปดาห์ แม้ “บิ๊กแดง” จะถูกลามปามเยอะ แต่ก็ไม่ได้หวาดหวั่น ที่สำคัญการออกมาปรากฏตัวแต่ละครั้ง เป็นที่จับตา อย่างล่าสุดเรื่องการทดสอบร่างกายประจำปี ที่ 5เสือ ทบ.ออกมาพร้อมกันหมด ซึ่งมีคนพยายามตีความว่า เป็นนัยอะไรบางอย่างได้เช่นกัน
ประมาณว่า ถ้ายัง “ยั่วยุ” ล้ำเล้นกันไม่หยุด อาจถึงจุด “ล้มกระดาน” อีกรอบ หรือไม่ อย่างไร
และก็ไม่แน่นักว่า การเปิดเกมอย่างโฉ่งฉ่างราวกับเป็น “สายล่อฟ้า” ด้วย “เพลงหนักแผ่นดิน” ของ “บิ๊กแดง” อาจหวังผลในเรื่องของการ “หย่อนเบ็ด” เพื่อให้พวก “ซ้ายจัด” เปิดเผยตัวตนออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้รู้ว่า “ใครเป็นใคร”
แน่นอน ถึงที่สุดแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า ปฏิบัติการยั่วยุทหารเกิดขึ้นภายหลังจากความพ่ายแพ้ในการส่งชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของ “พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.)”
เป็น “ยุทธวิธีใหม่” ที่มีเป้าหมายใหญ่ซึ่งสังคมสงสัยว่า ต้องการปูทางให้ “ล้มการเลือกตั้ง” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ย้อนกลับคืนสู่ระบอบทักษิณอีกครั้งหลังพ่ายแพ้และถูกตีให้ถอยร่นไปสู่มุมกระดานชิงอำนาจจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์
เป็นยุทธการ “ยั่ว” เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในศึกการเลือกตั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า ไม่มีทางได้จัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นสู้ทำให้ “พัง” ไปด้วยกันเสียดีกว่า
เป็น “ยุทธวิธีย้อนศร” ที่กำลังดำเนินไปอย่างลุ่มลึก ดังจะเห็นได้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นแกนนำในการเปิดเกม ก่อนที่จะมีการผสมโรงจากพรรคแนวร่วมอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย โดยเฉพาะจาก พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) ที่ทำท่าจะร่อแร่ไปไม่รอดก็กระโดดขึ้นมาสู่สนามนี้กับเขาด้วยอย่างไม่ยี่หระต่อความผิดในปฏิบัติการแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครั้งก่อน
“เดอะอ๋อย-จาตุรนต์ ฉายแสง” ประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ทษช.ไปขุดเอาตัวเลขงบประมาณกระทรวงกลาโหมในแต่ละปีออกมาโชว์ให้เห็นกันจะๆ ว่า “มโหฬาร” ขนาดไหน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตั้งใจท้ารบกับกองทัพ รวมทั้งพรรค ทษช.เองที่กลับมาเปิดหน้าต่อสู้กับคดียุบพรรคที่ กกต.ชงเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นที่น่าผิดสังเกต
“จากกรณีนี้มีคนถามว่า แล้วนักการเมืองจะกลัวจะหงอหรือไม่ เมื่อพูดไม่ถูกต้อง เราก็ต้องกล้าที่จะพูดว่า ผบ.ทบ.พูดอย่างนี้ไม่ได้ ควรไปปรับปรุงตัวเสียใหม่”เดอะอ๋อยท้ารบ
นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ก็กระแส พรรคพลังประชารัฐ ที่ปรารณาตัวเป็น “นั่งร้าน” ให้ “ลุงตู่” ได้ควงกะเป็นนายกฯอีกสมัย ชักไม่เปรี้ยงปังอย่างที่คาด เผลอๆ จะมี ส.ส.อยู่ในมือน้อยกว่าพลังอนาคตใหม่เสียด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังประกาศหนุน “ลุงตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคแต่เพียงผู้เดียว
ผลที่ตามมา ภาพลักษณ์ความเป็นพรรคนักบริหารมืออาชีพ ก็ถูกกลืนไปเป็น “พรรคทหารอาชีพ” แม้จะไม่มีแกนนำเป็นนายทหารแม้แต่คนเดียวก็ตาม
สำทับด้วยคิวตรวจราชการเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ที่ “ลุงตู่” ควง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ คสช. และ “ลุงป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รอง คสช. ไปลงพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ทำเอาคนผวากับภาพที่ออกมา ว่า ถ้ามี “ลุงตู่” ก็ต้องพ่วงด้วย “ลุงป้อม-ลุงป๊อก” อย่างนั้นหรือ
อีกทั้งการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯคนเดียวนั้น ตามประสงค์ของ “ลุงตู่” และทีมงาน เสธ.ข้างกาย ถือเป็น “ความเสี่ยง” ในทางยุทธศาสตร์ หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน อย่างกรณีที่ชื่อ “ลุงตู่” ถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายมีการร้องให้ตีความสถานะว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เนื่องจากยังมีตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” ที่กูรูกฎหมายจำนวนไม่น้อยมองว่า เป็นข้าราชการของรัฐอยู่ ซึ่งหากเรื่องไปถึงขั้นตีความ แล้วเลวร้ายถึงตัดสิทธิการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ไม่มี “แผนสอง” หรือแคนดิเดตสำรองในมือ
ทำกันมาแทบตาย จู่ๆ ต้องไปล้วงเอา “นักการเมือง” ที่มีอยู่ในตะกร้ามาเป็นนายกฯซะอย่างนั้น ใครมันจะยอม
เหมือนหมากกำลังจะเข้าฮอส แล้วดันถูกปรับฟาลว์ พาลเอาคนเล่นอยากล้มกระดานเริ่มใหม่กันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ความชุลมุนวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้น ได้นำมาซึ่งคำถามเดิมๆ ว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในวันที่ 24 มีนาคมจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ เพราะวันนี้ สังคมไทยเดินย้อนกลับมาถึง “จุดเปราะบาง” อีกครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.