ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นนโยบายของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่สั่งการให้กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ไปสำรวจ"หอกระจายข่าว" ทั่วประเทศ ว่ายังใช้การอยู่ได้ไหม
ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา มท.1 เอาตัวอย่าง "หอกระจายข่าวระดับหมู่บ้าน" มาให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ดูระหว่างเป็นเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการสร้างการรับรู้สู่ชุมชน
นายกฯพูดในวันนั้นว่า "หอกระจายข่าว"ต้องใช้สร้างการเรียนรู้ นำข่าวสารนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลสู่ประชาชน "ไม่ใช่เอาอะไรพูดไปเรื่อย" หรือพูดประมาณว่า ใครก็ตามจะใช้หอกระจายข่าว เอาไปหาเสียงไม่ได้
ดังนั้น "หอกระจายข่าวหมู่บ้าน" ที่มีอยู่กว่า 7 หมื่นแห่ง "อย่าให้เสีย เลือกกระจายข่าวให้ทั่วถึงทั่วประเทศ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ต้องนำไปถกแถลงในเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง หรือปลูกฝังเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะอาจจะส่งผลเสียมากมายทั้งที่บางเรื่องไม่ใช่ข้อเท็จจริง"
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญเพื่อใช้สร้างการรับรู้เรื่องประชาธิปไตยก่อนการเลือกตั้ง โดยได้จัดเตรียมคนทั้งระดับท้องที่และท้องถิ่น มาสร้างความเข้าใจ และซักซ้อมก่อนจะไปพูดคุยให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย
หอกระจายข่าว ถือว่เป็นเครื่องมือ หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ทุกกระทรวง เร่งประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของรัฐบาล
โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีช่องทางในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลการดำเนินงาน ที่เข้าถึงประชาชนในระดับฐานราก คือ หอกระจายข่าว โดยมอบหมายให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกแห่ง สำรวจหอกระจายข่าวที่อยู่ในความดูแลทุกพื้นที่ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ สามารถใช้งานได้หรือไม่ หากชำรุดและมีความจำเป็นต้องซ่อมแซม ก็ให้ดำเนินการโดยด่วน หากอยู่ในความดูแลของหน่วงยงานอื่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็สามารถใช้งบสนับสนุนซ่อมแซม หากหมู่บ้านใดยังไม่มี ก็ให้ดำเนินการจัดทำ และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้ ภายในเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา
"เพราะหอกระจายข่าว จะเป็นตัวชี้วัดของผู้ว่าราชการจังหวัด กับกระทรวงมหาดไทยด้วย"
อย่างไรก็ตาม หอกระจายข่าวเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย ที่ทุกคนในชุมชน หมู่บ้านสามารถรับฟัง หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย และเป็นช่องทางการขยายผลการดำเนินงานของรัฐบาลอีกช่องทาง และจะเป็นช่องทางการสื่อสารภายในชุมชนเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในเวลาเดียวกันด้วย
กลับมาที่ข้อมูลทั่วไปของ"หอกจะจายข่าวระดับหมู่บ้าน" ที่กรมการปกครอง สำรวจตรวจสอบ “หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน / อบต./ เทศบาลตำบลเทศบาลเมือง และเทศบาลนคร”ทั่วประเทศ ที่ใช้เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่สำคัญ รวมถึงการแจ้งเตือนกรณีเกิดสาธารณภัยและภัยพิบัติในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน
ข้อมูลปี 2560 ได้มีการสั่งการให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตรวจสอบสภาพของ “หอกระจายข่าว”ในส่วนของหมู่บ้าน เขต อบต. และเขตเทศบาลตำบล รวมถึงให้นายอำเภอ สำรวจเพิ่มเติมหอกระจ่ายข่าวของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลนครในพื้นที่ที่ไม่มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และจัดทำรายละเอียดหอกระจายข่าวที่ใช้การไม่ได้ รวมถึงให้ประเมินราคาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม ส่งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พบว่ามี หอกระจ่ายข่าวในส่วนภูมิภาค มีทั้งหมด 81,318 แห่ง ใช้การได้ 73,793 แห่ง ใช้การไม่ได้ 7,525 แห่ง อยู่ในหมู่บ้าน 58,531 แห่ง อยู่ใน อบต./เทศบาลตำบล ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 11,320 แห่ง เป็นของส่วนราชการอำเภอ 482 แห่ง ของเทศบาลนคร 2,070 แห่ง เทศบาลเมือง 8,992 แห่ง และเทศบาลตำบล ที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 503 แห่ง และอื่นๆ 2,420 แห่ง
ตามรายละเอียด สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง ได้รับรายงานจากจังหวัดต่าง ๆ ประกอบด้วย
"หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน" 72,481 แห่ง ใช้การได้ 66,137 แห่ง ใช้การไม่ได้ 6,344 แห่ง โดยมีหน่วยงาน/องค์กร ที่เป็นเจ้าของดูแล ได้แก่ หมู่บ้าน 58,531 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11,320 แห่ง ส่วนราชการอำเภอ 482 แห่ง และอื่น ๆ (ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ/ตำรวจ/ทหาร/สาธารณสุข 2,148 แห่ง) คราวนั้น จังหวัดได้ตั้งงบประมาณ ปรับปรุง ซ่อมแซม 6,344 แห่ง วงเงิน 213,690,674 บาท
"หอกระจายข่าวระดับหมู่บ้าน 4,520 แห่ง ตั้งงบซ่อมแซม 167,005,224 บาท "หอกระจายข่าว ระดับ อปท." ตั้งงบซ่อมแซม 45,610,450 บาท และอื่น ๆ 51 แห่ง ตั้งงบซ่อมแซม 1,075,000 บาท
"หอกระจายข่าวในส่วนของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล (เพิ่มเติม)" 8,486 แห่ง พบว่า ใช้การได้ 7,339 แห่ง ใช้การไม่ได้ 1,147 แห่ง เป็นของเทศบาลนคร 2,040 แห่ง เทศบาลเมือง 5,719 แห่ง เทศบาลตำบล 488 แห่ง (ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และอื่น ๆ 239 แห่ง
ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินงานหอกระจ่ายข่าวประจำหมู่บ้าน พ.ศ. 2547 จะมีการแต่งคณะกรรมการบริหารการดำเนินงานหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และชุมชน มีหัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัด หรือนายช่าง เป็นที่ปรึกษา มีผู้บริหารท้องถิ่น 3 คน ประชาคมหมู่บ้าน ตามสมควรเป็นกรรมการ มีประธาน รองประธาน และ เลขานุการ ดูแล“หอกระจายข่าว”หากพบว่า ชำรุดให้แจ้ง อปท. เพื่อซ่อมแซม
โดยส่วนใหญ่มีการตั้งงประมาณในส่วนของครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ และตั้งงบประมาณ เช่น จัดซื้อพร้อมติดตั้งหอกระจายข่าวไร้สาย ราคาประมาณ 40,000 บาท ถึง 1.5 แสนบาท ประกอบด้วย ชุดแม่ข่าย เครื่องส่งสัญญาณ เครื่องส่งสัญญาณวิทยุระบบ UHF/FM เครื่องจ่ายไฟ เครื่องสำรองไฟอัตโนมัติ เครื่องควบคุมระบบการทำงานออกอากาศ เครื่องรับวิทยุ AM/FM คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ในคราวนั้น อปท.หลายแห่งมีการตั้งงบประมาณ ซ่อมแซม เช่น จัดซื้อ ซ่อมแซม เครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงซ่อมแซมอาคาร บางแห่งใช้งบสูงถึง 100,000 บาท หลังจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งเป้าต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 24 ต.ค.61
ล่าสุด ข้อมูล 20 พ.ย.61 ที่ กรมการปกครองได้รับมา พบว่า ใน 74,655 อปท. มีหอกระข่าว 74,441 แห่ง ใช้การได้ 63,290 แห่ง ใช้การไม่ได้ 11,151 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างซ่อมแซม 9,681 แห่ง และหมู่บ้าน/อปท. ได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง ดำเนินการ "หอกระขายข่าว"แล้ว อีก 3,729 แห่ง**
ยังมีข้อมูลด้วยว่า 1,958 อปท. ไม่เคยมี "หอกระจายข่าว"
โดย อปท. สามารถดำเนินการตามหนังสือ มท.ลงวันที่ 3 ส.ค.61 เช่น หากมีงบประมาณให้ดำเนินการได้ทันที หรือให้โอนเปลี่ยนแปลงงบได้หากไม่มีการตั้งงบประมาณ หรือให้ตั้งงบประมาณได้โดยนำเงินสะสมมาใช้จ่าย โดยผ่านความเห็นชอบจาก "สภาท้องถิ่น"